คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ม. 30

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4494/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจจำหน่ายทรัพย์สินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ และผลของการปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายพิเศษ
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีบทบัญญัติให้จำเลยมีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือจำหน่ายหนี้สูญ อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด แม้จำเลยจะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนตามมาตรา 30 เพื่อเข้ามาดำเนินคดีต่อไป ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้จำเลยต้องดำเนินการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยวิธีการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอย่างเดียว แต่จำเลยมีอำนาจดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 75 ถึงมาตรา 82 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้ยกเว้นการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามมาตรา 74 และมาตรา 76 ถูกต้องครบถ้วนแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 82 ซึ่งบัญญัติห้ามเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 การโอนที่ดินพิพาทของจำเลยและจำเลยร่วมจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22779/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินหลังศาลพิพากษา บสท. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือ บสท. ประสงค์จะบังคับจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน สำหรับทรัพย์สินด้อยคุณภาพในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้จำนองตามมาตรา 74 เมื่อผู้จำนองไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา บสท. มีอำนาจดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นได้ โดยวิธีการขายทอดตลาด เว้นแต่ บสท. เห็นว่า การจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ แต่สำหรับกรณีที่ บสท. ดำเนินการยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหก ซึ่งมาตรา 41 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ได้กำหนดว่า ภายใต้บังคับมาตรา 30 ในคดีที่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ฟ้องเป็นคดีต่อศาลเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ บสท. รับโอนมาตามพระราชกำหนดนี้ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ดังนั้นเมื่อ บสท. เลือกที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ แทนที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว บสท. จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปตามมาตรา 41 เมื่อในคดีเดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้ บสท. เป็นฝ่ายชนะคดี บสท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีแล้วจึงต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ การที่ บสท. ไปขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 41

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหนี้สิทธิเรียกร้องไปยัง บสท. ทำให้ศาลต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม พรบ. บสท. 2544
หลังจากธนาคารโจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ได้โอนสินทรัพย์ด้วยคุณภาพจำเลยร่วมให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท) ดังนั้น เมื่อได้มีการโอนหนี้สินรายนี้ซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท) ไปแล้ว ก่อนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะได้มีคำพิพากษา และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท) มิได้ยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ตาม พรก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหนึ่งและวรรคหก