คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 ม. 30 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1251/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ป้ายโฆษณาหลังบอกเลิกสัญญา: จำเลยยังคงเป็นเจ้าของและมีหน้าที่เสียภาษีป้าย
ป้ายพิพาทเป็นป้ายที่จำเลยได้รับสิทธิติดตั้งโฆษณาในศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางตามสัญญา เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลย จึงเป็นทรัพย์สินของจำเลยโดยตรง ซึ่งจำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายพิพาทต่อโจทก์ตลอดมา แม้มีข้อตกลงตามสัญญาข้อ 3 ว่า ให้ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางตลอดจนส่วนควบตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ทันทีที่ก่อสร้างเสร็จ แต่ป้ายพิพาทที่จำเลยติดตั้งไว้นั้นไม่มีสภาพเป็นส่วนควบ และแม้จะมีข้อสัญญาระบุว่า ถ้าโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วให้บรรดาวัสดุก่อสร้างและสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทันทีนั้น สิ่งก่อสร้างคือ ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางส่วนวัสดุก่อสร้างคือ วัสดุที่ใช้ก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง แต่ป้ายโฆษณาเป็นสิ่งที่จำเลยนำมาติดตั้งเพื่อโฆษณา หาใช่วัสดุก่อสร้างไม่ จำเลยจึงยังคงเป็นเจ้าของป้ายดังกล่าว หาได้ตกเป็นของโจทก์ไม่ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยในฐานะเจ้าของป้ายพิพาทย่อมมีหน้าที่ต้องรื้อถอนป้ายพิพาทออกไป แต่จำเลยละเว้นเสียยังคงติดตั้งป้ายโฆษณาของตนจนล่วงเข้าปี 2544 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายประจำปี 2544 ตาม พ.ร.บ.ภาษีป้ายฯ มาตรา 7 เมื่อโจทก์แจ้งการประเมินภาษีป้ายให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่อุทธรณ์การประเมินต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีป้ายฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นอันยุติ จำเลยจึงต้องเสียภาษีป้ายตามที่โจทก์ประเมินพร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 25 (3)