คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ม. 77

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4494/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจจำหน่ายทรัพย์สินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ และผลของการปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายพิเศษ
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีบทบัญญัติให้จำเลยมีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือจำหน่ายหนี้สูญ อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด แม้จำเลยจะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนตามมาตรา 30 เพื่อเข้ามาดำเนินคดีต่อไป ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้จำเลยต้องดำเนินการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยวิธีการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอย่างเดียว แต่จำเลยมีอำนาจดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 75 ถึงมาตรา 82 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้ยกเว้นการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามมาตรา 74 และมาตรา 76 ถูกต้องครบถ้วนแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 82 ซึ่งบัญญัติห้ามเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 การโอนที่ดินพิพาทของจำเลยและจำเลยร่วมจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12754/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายทรัพย์สินด้อยคุณภาพตาม พ.ร.ก. บสท. ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประกาศขายทอดตลาดที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นการรับโอนไม่มีผล
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 บัญญัติว่า "ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ให้ บสท. ดำเนินการโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้า บสท. เห็นว่าการจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์แก่ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้" และมาตรา 77 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การจำหน่ายทรัพย์สินตามมาตรา 76 ให้ บสท. ประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย โดยลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน" โจทก์ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันที่ 16 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 รวมสามวันติดต่อกัน และลงโฆษณาทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์วันที่ 18 กรกฎาคม 2550 โดยกำหนดวันขายทอดตลาดเป็นวันที่ 3 สิงหาคม 2550 ซึ่งตามมาตรา 77 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลงโฆษณาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย ดังนี้ สำหรับการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เมื่อนับจากวันที่สามคือวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 จึงเป็นการประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย แต่สำหรับการลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 แม้หากจะถือว่าการลงโฆษณาดังกล่าวมีผลต่อเนื่องไป วันที่สามก็คือวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเมื่อนับจากวันดังกล่าวไปสิบห้าวัน วันที่ขายทอดตลาดได้อย่างเร็วที่สุดก็คือวันที่ 5 สิงหาคม 2550 ดังนั้น การลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับโอนที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้มาเป็นของตนแทนการจำหน่าย