คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 55

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำวินิจฉัยเครื่องหมายการค้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายและการใช้โดยสุจริต
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง หมายความเพียงว่า ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานอื่นของฝ่ายบริหารต่อไปอีกไม่ได้เท่านั้น แต่หากเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้ โดยศาลมิได้ถูกจำกัดให้พิจารณาเฉพาะกรณีปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อโจทก์โต้แย้งว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55
เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์เป็นอักษรโรมัน เขียนว่า "HIGHER" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เป็นภาษาไทยและอักษรโรมันเขียนว่า "ไฮเออร์ HI - ER" แม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะมีอักษรโรมันเหมือนกันใน 2 ตัวแรก กับ 2 ตัวหลัง แต่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยรวมแล้วมีความแตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมีภาษาไทยกำกับไว้ด้วย และมีขนาดที่ใหญ่เห็นได้ชัดเจนกว่าอักษรโรมันแม้การเรียกขานจะคล้ายกัน แต่โจทก์ได้ขอเปลี่ยนแปลงประเภทของสินค้าที่จะใช้กับเครื่องหมายการค้าพิพาทแล้ว ทำให้สินค้ามิได้เป็นประเภทเดียวกัน ถึงจะยังมีความใกล้เคียงเป็นสินค้าในจำพวกเดียวกันอยู่ แต่โจทก์มีเจตนาใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทโดยสุจริตมิได้มุ่งอ้างอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนจึงไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเนื่องจากการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอันจะพึงห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13