คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 186 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามกรรโชกทรัพย์ การบุกรุกเคหสถาน และการลดโทษทางอาญา
ขณะเกิดเหตุ ร้านเสริมสวยของผู้เสียหายที่ 1 ยังเปิดให้บริการอยู่ ประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสองมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ ไม่ถือเป็นเคหสถาน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าไปในร้านดังกล่าวแล้วร่วมกันพยายามกรรโชก และใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานแก้ไขสำนวนการสอบสวนเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว
จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3024/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางพิพาทในที่ดินเอกชน: การใช้ทางจำเป็น vs. ทางสาธารณประโยชน์
ทางหรือถนนซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ย่อมต้องเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน หาได้หมายความรวมถึงทางหรือถนนอันเป็นทรัพย์ของเอกชนหรืออยู่ในที่ดินของเอกชนด้วยไม่ เว้นเสียแต่เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเอกชนจะได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทางพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 2 แม้มีชาวบ้านใช้ทางพิพาทเข้าออกไปทำนา ทำสวน ทำไร่และขนพืชผลทางการเกษตรมาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่ไม่มีพยานปากใดเบิกความว่า เจ้าของที่ดินได้อุทิศหรือยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว การใช้ทางพิพาทเฉพาะผู้ที่มีที่ดินอยู่ด้านในถัดจากที่ดินของจำเลยที่ 2 จึงเป็นลักษณะการถือวิสาสะหรือการใช้ทางจำเป็นหรือภาระจำยอมเท่านั้น มิใช่เป็นการใช้ทางพิพาทเพื่อการสัญจรไปมาตามปกติของพลเมืองหรือประชาชนหมู่มากโดยทั่วไป ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าทางพิพาทมิได้สิ้นสุดเพียงในที่ดินของจำเลยที่ 2 เท่านั้นหรือเชื่อมต่อกับทางสาธารณประโยชน์อื่นด้วย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) หรือเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เข้าไปทำนาและปลูกต้นกล้วยในทางพิพาทจึงไม่เป็นการร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2739/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต้องรอคำสั่งศาลให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก่อน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย..." หมายความว่าในขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกต้องปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอและตามทางไต่สวนได้ความว่า ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลยังมิได้มีคำสั่งว่า บ. เป็นคนสาบสูญ จึงถือไม่ได้ว่า บ. ถึงแก่ความตายแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 61 และ 62 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. มาพร้อมกับขอให้ศาลสั่งให้ บ. เป็นคนสาบสูญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเป็นผู้จัดการมรดก ความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา และสิทธิในทรัพย์สินที่ทำมาหากัน
เอกสารสำคัญประจำตัวเด็กชาย ว. ทั้งตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน อันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 กับทะเบียนนักเรียนและหนังสือรับรองของโรงเรียนสาธิตอุดมศึกษา ล้วนระบุว่าเด็กชาย ว.เป็นบุตรของผู้ตาย เช่นนี้ เชื่อว่าผู้ตายได้มอบหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตายประกอบการขอออกสูติบัตรของเด็กชาย ว. พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ระบุชื่อผู้ตายเป็นบิดา อันเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลแล้วนั่นเอง แม้ไม่มีหนังสือยินยอมแยกต่างหากก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ตายที่เลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 1 กับเด็กชาย ว.และยินยอมให้เด็กชาย ว. ใช้ชื่อสกุลของผู้ตายอย่างเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการรับรองว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรของผู้ตายแล้ว ส่วนหลักฐานที่แสดงว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของผู้ตายก็ปรากฏชัดตามสูติบัตรอันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ทั้งในการแจ้งเกิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีเอกสารประกอบคำขอทั้งสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ตายกับหนังสือยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายรับว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของตนและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลด้วยความเต็มใจและอย่างเปิดเผย ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่รับรองว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. เป็นบุตรผู้ตาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเด็กชาย ว. เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชาย ว. และผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
หลังจากผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 จดทะเบียนหย่า ผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ยังคงอยู่กินกันฉันสามีภริยาและมีบุตรด้วยกันอีก 6 คน โดยผู้คัดค้านที่ 8 ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องนั้น ย่อมเป็นข้อสนับสนุนว่า ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 มิได้ถือเอาทะเบียนสมรสเป็นสาระสำคัญของความผูกพันเป็นสามีภริยากัน ทั้งความสัมพันธ์ของบุคคลในการอยู่กินกันและทำมาหาได้ร่วมกันซึ่งทรัพย์สินนั้น หาใช่ว่าบุคคลทั้งสองจะต้องอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกันตลอดเวลาและต้องกระทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันในทุกเรื่องทุกราวเสมอไป แม้หากฝ่ายหนึ่งต้องออกไปทำงานนอกบ้านแสวงหาทรัพย์สินเพื่อสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้แก่ครอบครัวตามความรู้ความสามารถ ส่วนอีกฝ่ายเพียงทำหน้าที่คอยดูแลบ้านให้มีระเบียบเรียบร้อยและเลี้ยงดูบุตรอย่างไม่บกพร่อง รวมทั้งการให้คำปรึกษาหารือ ส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจเป็นห่วงเป็นใยและแบ่งปันความทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการอยู่ร่วมกันและช่วยกันทำมาหาได้ซึ่งทรัพย์สินแล้ว ภายหลังผู้คัดค้านที่ 4 ให้กำเนิดผู้คัดค้านที่ 8 ทั้งผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ต่างมิได้มีคู่สมรสใหม่ หากแต่ยังคงร่วมกันเลี้ยงดูบุตรทั้ง 7 คน อย่างไม่มีข้อบกพร่องตลอดมา ย่อมบ่งชี้ว่าผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ยังคงมีความสัมพันธ์กันฉันสามีภริยาเช่นเดิม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 อยู่กินกับผู้ตายจนถึงวันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลพิจารณาฟ้องแย้ง: ทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท ไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวง แม้เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม
แม้ฟ้องแย้งของจำเลยจะเกี่ยวกับฟ้องเดิม ซึ่งทำให้สามารถยื่นเข้ามาในคำให้การได้ แต่ฟ้องแย้งมีลักษณะเป็นคำฟ้อง การเสนอคำฟ้องแย้ง จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาท จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะรับคดีไว้พิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) การจะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 192 วรรคสี่ มาใช้บังคับแก่คดีได้นั้น จะต้องเป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินการย้ายบุคคลเข้าทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ ความผิดหลายกรรมต่างกัน
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) บัญญัติถึงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ฟ้องต้องมี ได้แก่ การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ฉะนั้น แม้ตามมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 บัญญัติว่า พ.ร.บ.นี้จะใช้บังคับแก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทใดและเมื่อใด ให้ตราเป็น พ.ร.ฎ ก็ตาม แต่ข้อที่ว่าได้มีการตราเป็น พ.ร.ฎ. แล้วหรือไม่ มิใช่เป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดที่โจทก์ต้องกล่าวมาในฟ้อง หากแต่เป็นเรื่องการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายซึ่งศาลย่อมต้องรู้เองได้เมื่อปรากฏว่า ขณะเกิดเหตุมีการตรา พ.ร.ฎ. ให้ใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 แก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 โดยให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2546) ดังนี้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 จึงใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้และโดยโจทก์ไม่ต้องกล่าวมาในฟ้อง
พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า การกระทำเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ หมายรวมถึงการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในสามกรณี ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันย้ายบุคคลผู้มีชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยบุคคลผู้มีชื่อทั้งหมดมิได้อยู่อาศัยจริงอันเข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเป็นการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ ย่อมถือเป็นคำฟ้องที่แจ้งชัดและครบถ้วนในการกระทำทั้งหลายที่เป็นองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา 113 พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 เป็นบทบัญญัติเพื่อที่จะให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ โดยบุคคลนั้นมิได้อยู่อาศัยจริงนั้นเป็นการจัดตั้งตัวบุคคลเพื่อที่จะให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่งคนใดอย่างชัดเจน จำนวนของบุคคลที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้านจึงมีผลต่อการเลือกตั้งโดยตรง ดังนั้นแม้การดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยมีเจตนาเดียวเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ แต่เมื่อจำนวนของบุคคลที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้านซึ่งมีสามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้หนึ่งคนต่อหนึ่งคะแนนประกอบกับการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเป็นสิทธิเฉพาะตัวที่ต้องทำเป็นรายบุคคล แม้จะมีการแจ้งย้ายเข้ารวมกันมาในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ใบเดียว ก็ยังต้องถือว่าเป็นความผิดรายกระทงตามจำนวนของบุคคลแต่ละคนที่มีการดำเนินการย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาการออกเช็ค – เช็คเพื่อชำระหนี้หรือประกันหนี้ – พ.ร.บ.เช็ค – พฤติการณ์สัมพันธ์
แม้หนังสือสัญญาเงินกู้และหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน จะมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงและจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย โดยเฉพาะพฤติการณ์แห่งการกระทำทั้งหลายในขณะที่มีการออกเช็ค หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์และการกระทำซึ่งโจทก์ทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ล่วงหน้า โจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ แต่ที่โจทก์ยอมรับเช็คก็เพื่อเป็นประกันหนี้และอาจนำมาฟ้องร้องบีบบังคับจำเลยเป็นคดีอาญาได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือยินยอมชำระหนี้สิ้นสุดเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ไม่ตกทอดเป็นมรดก
ก่อน ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายได้ทำหนังสือให้ความยินยอมให้จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้บัตรเครดิตของ ม. แม้ ม. จะเป็นหนี้จากการใช้บัตรเครดิตของจำเลยครั้งสุดท้ายก่อนวันที่ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและหนี้ดังกล่าวไม่ระงับลงเพราะความตายของ ป. เจ้ามรดกก็ตาม แต่การที่จำเลยจะใช้สิทธิและอำนาจในการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดก จำเลยจะต้องดำเนินการในระหว่างที่หนังสือให้ความยินยอมมีผลใช้บังคับ หาใช่จะใช้สิทธิและอำนาจตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้ เมื่อหนังสือให้ความยินยอมทำขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยออกให้แก่ ม. โดยสภาพจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ป. เจ้ามรดก เมื่อ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หน้าที่และความรับผิดตามหนังสือให้ความยินยอมย่อมสิ้นสุดลงหาเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทไม่ จำเลยจะอาศัยแสวงสิทธิจากหนังสือให้ความยินยอมหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดกหลังจาก ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายหาได้ไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยจะทราบเรื่องที่ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ การที่จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดกชำระหนี้บัตรเครดิตของ ม. จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้: ศาลแก้ไขดอกเบี้ยให้เป็นไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้โดยอาศัยสิทธิใด แต่เมื่อหนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นหนี้เงินและจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี การที่ศาลชั้นต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองรับผิดในอัตราสูงกว่าอัตราที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย อันเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ มาตรา 249 วรรคสอง
of 19