คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 186 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: การครอบครองปรปักษ์, การรุกล้ำที่ดิน, และสิทธิเหนือสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ส่งหลักฐานการชำระราคาที่ดิน ลำพังหนังสือสัญญาขายที่ดิน ไม่อาจรับฟังได้ว่า ส. ชำระเงินให้แก่ ป. แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่า ส. รับโอนที่ดินโดยเสียค่าตอบแทนนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ตั้งเป็นประเด็นในคำให้การว่า ส. รับโอนที่ดินพิพาทจาก ป. โดยมิได้ชำระค่าที่ดินหรือไม่เสียค่าตอบแทน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ส. ซื้อและรับโอนที่ดินจาก ป. โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จึงได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต จำเลยกล่าวอ้างว่า ส. รับโอนที่ดินโดยไม่สุจริต จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หมายถึงการได้มาโดยไม่รู้ว่ามีบุคคลอื่นได้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์มาก่อนแล้ว ถ้าได้มาโดยรู้เช่นนั้นย่อมไม่สุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินซึ่งสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้โดยไม่จำต้องส่งมอบ การครอบครองที่ดินให้แก่กัน ทั้งในทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินก็ระบุชัดว่า ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยได้รับมรดกมาจากบิดา กับไม่มีการจดแจ้งอย่างใด ๆ ว่าจำเลยเป็นเจ้าของตึกแถวที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดิน ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่ ส. จะตกลงซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทในทางทะเบียน โดยไม่จำต้องคำนึงว่า ป. เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริงหรือไม่ ลำพังเพียงพฤติการณ์ที่ ส. ซื้อที่ดินมาในราคาสูงก็ดี ที่ดินอยู่ในทำเลการค้าหรือในที่เจริญก็ดี แต่ ส. ไม่ไปตรวจสอบที่ดินก่อนว่ามีใครเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์และเข้าไปอยู่ในตึกแถวได้อย่างไรในฐานะใด จึงยังไม่พอฟังว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ ส. อันเป็นการซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต จำเลยยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้ ส. ไม่ได้ ส. มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย เช่นนี้ ต่อมาการที่โจทก์ทั้งสองซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจาก ส. ไม่ว่าจะสุจริตหรือไม่ จำเลยก็ไม่อาจที่จะยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง เพราะสิทธิที่จะอ้างข้อกฎหมายดังกล่าวของจำเลยขาดช่วงไปตั้งแต่ที่ ส. ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ป. โดยสุจริตแล้ว โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย การครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของจำเลยจึงต้องเริ่มใหม่นับแต่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ซึ่งนับถึงวันจำเลยฟ้องแย้งยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
การที่ ม. และ ข. ปลูกสร้างตึกแถวในที่ดินของตนเอง ต่อมาแบ่งแยกที่ดินและยกตึกแถวให้แก่บุตร โดยปรากฏในภายหลังว่าตึกแถวเลขที่ 1/12 ซึ่งยกให้ อ. อยู่ในที่ดินพิพาทที่ยกให้แก่ ล. ทั้งแปลงและอยู่ในที่ดินของ อ. เป็นส่วนน้อย จึงต้องถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตมาแต่เดิมและกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้โดยตรง จึงต้องอาศัยเทียบเคียงตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1310 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามมาตรา 4 วรรคสอง อันมีผลทำให้โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของตึกแถวเลขที่ 1/12 แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างตึกแถวเลขที่ 1/12 นั้นให้แก่จำเลยและพวกซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวม ส่วนที่ตึกแถวเลขที่ 1/12 บางส่วนที่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1247 ประมาณ 2 ตารางวา ก็ต้องปรับบทเทียบเคียง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โดยถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตึกแถวเลขที่ 1/12 ส่วนปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยจึงเป็นของโจทก์ทั้งสองด้วย แต่โจทก์ทั้งสองต้องเสียเงินค่าที่ดินส่วนที่รุกล้ำให้แก่จำเลยและพวก การครอบครองตึกแถวของจำเลยจึงไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เพราะจำเลยมีสิทธิครอบครองโดยชอบมาแต่เดิมและโจทก์ทั้งสองยังมิได้ใช้ค่าที่ดินทั้งในสองกรณีให้แก่จำเลย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองต้องไปบังคับแก่จำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องต่อไป ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อทางจราจร: ตัวการตัวแทน & ความรับผิดร่วมกัน
บริเวณทางเชื่อมต่อระหว่างถนนวงแหวนรอบนอกกับถนนบางนา - ตราดมีสัญญาณจราจรเส้นขาวทึบบนผิวทางห้ามมิให้รถที่แล่นมาจากถนนวงแหวนรอบนอกเบี่ยงขวาเข้าสู่ถนนบางนา - ตราดทันที ผู้ขับรถจะต้องขับรถเลยเส้นขาวทึบบนผิวทางไปก่อนจึงเบี่ยงขวาเข้าถนนบางนา - ตราดได้ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนบรรจบกัน ผู้ขับรถจะต้องใช้ความระมัดระวังและผู้ขับรถที่จะเบี่ยงเข้าถนนหลักต้องหยุดรถให้ทางแก่รถที่กำลังแล่นในถนนหลักผ่านไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 หาได้ปฏิบัติตาม การที่จำเลยที่ 1 ขับรถทับเส้นขาวทึบบนผิวทางไปชนรถโดยสารประจำทางของโจทก์ที่ ว. ขับผ่านมาโดยไม่หยุดรถให้ทางแก่รถของโจทก์ที่แล่นผ่านมาในทางเดินรถหลักก่อน จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ
ขณะเกิดเหตุฝนตกปรอยๆ ว. ขับรถโดยสารประจำทางโดยใช้เกียร์ 5 และขับรถด้วยความเร็ว 60 ถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เห็นจำเลยที่ 1 ขับรถลงจากถนนวงแหวนรอบนอก จุดที่เกิดเหตุเป็นถนนวงแหวนรอบนอกบรรจบกับถนนบางนา - ตราดจึงเป็นบริเวณทางร่วมทางแยกซึ่งผู้ขับขี่ที่ขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยกต้องลดความเร็วรถ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 แต่ไม่ปรากฏว่า ว. ชะลอความเร็วของรถลงเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุรถชนกัน ว. จึงมีส่วนขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วย แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายก่อให้เกิดเหตุก่อนโดยขับรถทับเส้นขาวทึบบนผิวทางล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของ ว. และไม่หยุดรถให้ทางแก่รถที่ ว. ขับมาในทางเดินรถหลักผ่านไปก่อน จำเลยที่ 1 จึงประมาทเลินเล่อมากกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17227/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน และผลของการยกคำพิพากษาโดยศาลอุทธรณ์
เดิมศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำคุก มีกำหนด 1 ปี ซึ่งเกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาลงโทษ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว และย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ หากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยังเห็นควรลงโทษจำคุกจำเลยเกินกว่าหกเดือน ย่อมถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 31 (2) ต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะทำคำพิพากษาฉบับใหม่นี้ตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะด้วยตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 (3) โดยไม่อาจย้อนกลับไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะที่มีคำพิพากษาฉบับเดิมลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะทำคำพิพากษาได้ เนื่องจากคำพิพากษาฉบับเดิมได้ถูกยกไปโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16093/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาสำเร็จรูปที่ไม่เป็นธรรม ค่าธรรมเนียมแรกเข้าคืนได้บางส่วนตามความเป็นธรรม
เมื่อสัญญาประกอบอาหาร/เครื่องดื่ม ศูนย์อาหารเรนทรี ฟู้ด สแควร์ เป็นสัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ซึ่งจำเลยที่ 1 นำมาใช้แก่ผู้ค้าที่ประสงค์จะทำสัญญาประกอบอาหาร/เครื่องดื่มในศูนย์อาหารดังกล่าวทุกคน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป ข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมแรกเข้าจึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 โดยมิพักต้องคำนึงว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ค่าธรรมเนียมแรกเข้าจำนวน 720,000 บาท โจทก์ได้จ่ายเพื่อได้สิทธิในการประกอบอาหารในศูนย์อาหารดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี เท่ากับเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท แม้ในการประกอบธุรกิจศูนย์อาหารของจำเลยที่ 1 นี้จะมีค่าใช้จ่ายและค่าบริหารจัดการ และจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากส่วนแบ่งรายได้ของยอดขายอาหารของโจทก์ ก็หาทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาร่วมลงทุนไม่ เมื่อได้ความว่าโจทก์เข้าใช้ประโยชน์ตามสิทธิที่ระบุในสัญญาได้เพียงประมาณ 6 เดือน แล้วมีการเลิกสัญญาและไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 หาผู้มาใช้ประโยชน์ต่อจากโจทก์ไม่ได้ ข้อตกลงในสัญญากำหนดให้โจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าคืนเลยย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์คิดหักค่าใช้ประโยชน์จากศูนย์อาหารดังกล่าวตามระยะเวลาที่โจทก์ได้ใช้สิทธิออกจากเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าแล้วกำหนดให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 600,000 บาท ที่เหลือแก่โจทก์ แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าแก่โจทก์เพียง 515,500 บาท และโจทก์พอใจไม่อุทธรณ์โต้แย้งนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงกำหนดเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนให้แก่โจทก์เท่ากับที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานับเป็นการใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงอำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจและทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญา เพื่อให้ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15591/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดของเจ้าพนักงาน: ออกหมายจับผิดตัว ทำให้เสียหาย ต้องรับผิดชดใช้
การขอออกหมายจับบุคคลใด ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ซึ่งจำต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแน่ใจว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน
คดีนี้แม้การออกหมายจับที่ระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายจะสืบเนื่องมาจากคำให้การของผู้เสียหายและพยาน แต่ผู้เสียหายยังระบุยืนยันว่าคนร้ายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม แต่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นพยานระบุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอดไม่เคยย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครพนม และยังมีภาพถ่ายของโจทก์ปรากฏอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ โดยจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานชี้ภาพถ่ายของโจทก์ว่าใช่คนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนกลับขอให้ศาลออกหมายจับโดยระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายไปเลย แม้การขอให้ออกหมายจับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจะฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมที่ออกหมายจับโจทก์ผิดตัวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15241/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายค้ามนุษย์หลังมี พ.ร.บ. 2551 ทำให้ฟ้องเดิมขาดองค์ประกอบความผิด
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 แม้ความผิดฐานสมคบและรับ หน่วงเหนี่ยว หรือกักขัง ซึ่งเด็ก ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ยังคงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยให้ถือว่าเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ตามมาตรา 6 และมาตรา 9 ก็ตาม แต่องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายใหม่ต้องเป็นการกระทำ "เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" โดยมาตรา 4 นิยามคำว่า "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ฟ้องโจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำ "เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" ตามที่กฎหมายใหม่บัญญัติไว้ ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิด ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามกฎหมายใหม่ได้ เป็นกรณีที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14931/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารมีความรับผิดต่อทรัพย์สินลูกค้าสูญหายจากความประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาตู้นิรภัย
จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าตู้นิรภัยเพื่อเก็บรักษาทรัพย์สินโดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นพนักงานมีหน้าที่ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคง การที่จำเลยที่ 2 เก็บสำเนารหัสและวิธีการเปิดห้องมั่นคงไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน จำเลยที่ 4 เก็บกุญแจห้องมั่นคงไว้ในตู้นิรภัยเล็ก และจำเลยที่ 5 เก็บกุญแจห้องมั่นคงอีกดอกหนึ่งไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานอันเป็นการผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้คนร้ายรื้อค้นพบและนำไปใช้เปิดห้องมั่นคงแล้วลักทรัพย์ของโจทก์ที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยไปจึงต้องถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคงอันเป็นผลโดยตรงต่อเกิดเหตุลักทรัพย์ของโจทก์ มิใช่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ประมาทเลินเล่อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 อีกโสตหนึ่งด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 โดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14785/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาต้องเป็นไปตามข้อร้องทุกข์เดิม การสอบสวนเพิ่มเติมขัดต่อกฎหมาย
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ร่วมร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการขายรถยนต์ใช้แล้วด้วยกัน โดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ออกเงินทุนซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนั้นนำไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อขายได้โจทก์ร่วมจะได้รับเงินทุนคืนพร้อมเงินกำไรร้อยละหกสิบ ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้เฉพาะเงินกำไรร้อยละสี่สิบ โจทก์ร่วมนำรถยนต์ 6 คันตามฟ้องไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อจำเลยทั้งสองขายได้แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นการร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 เมษายน 2549 พนักงานสอบสวน สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ไว้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เพราะมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วมเป็นคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12613/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โจทก์ร่วมไม่ฎีกาคดีส่วนแพ่ง สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายสิ้นสุด
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวก แอบดักซุ่มทำร้ายผู้ตายกับพวก หลังจากมีเหตุวิวาทชกต่อยกันแล้ว โดยได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกบางคนมีมีดเป็นอาวุธ ส่วนคนร้ายที่ไม่มีมีด ก็ตัดต้นไม้ยูคาลิปตัสข้างทางเป็นท่อน ๆ ใช้เป็นอาวุธ เมื่อผู้ตายกับพวกขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกก็วิ่งกรูกันออกมาทำร้าย โดยมิได้เลือกว่าจะทำร้ายบุคคลใดเป็นเฉพาะเจาะจง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกคิดใคร่ครวญวางแผนตกลงที่จะทำร้ายผู้ตายกับพวก โดยประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตน ถือได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันนับเป็นตัวการ ดังนี้ แม้ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ฟันทำร้ายผู้ตาย แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการแล้ว นอกจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะมีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และมีความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเกี่ยวเนื่องกัน เพราะที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเพื่อที่จะไปทำร้ายผู้ตายกับพวก จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำขอส่วนแพ่งที่ขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม แม้โจทก์จะฎีกาในคดีส่วนอาญา แต่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาในคดีส่วนแพ่ง เท่ากับโจทก์ร่วมพอใจในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมจึงเป็นอันยุติไป ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีหุ้น, การรับฟังพยานสำเนาต่างประเทศ, การเพิกถอนการแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้น
จำเลยให้การรับว่าจำเลยดำเนินการเพิกถอนชื่อโจทก์กับพวกออกจากรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้วใส่ชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทชุดเดิมกลับเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้งโดยไม่ปรากฏว่าเป็นการทำแทนบริษัท จึงเป็นการทำโดยพลการ โจทก์ไม่จำต้องฟ้องบริษัทเข้าเป็นจำเลยด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้โจทก์จะมิได้ระบุหนังสือแจ้งการแก้ไขการลงทุนเอกสารหมาย จ.15 ไว้ในบัญชีระบุพยาน แต่โจทก์ก็ได้นำเอกสารดังกล่าวมาประกอบการถามติงในการสืบตัวโจทก์อันเป็นการสืบพยานโจทก์ปากแรกซึ่งจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 มีโอกาสอย่างเต็มที่ในการที่จะนำพยานมาสืบหักล้าง ประกอบกับจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 ก็อ้างมาตลอดว่าหุ้นเป็นของจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 มิใช่ของโจทก์และจำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัท ด. แต่อย่างใด เช่นนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ส่วนที่ว่าเอกสารหมาย จ.15 เป็นเพียงสำเนานั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวได้มีการจัดทำในต่างประเทศทั้งต้นฉบับก็มิได้อยู่ในความครอบครองของโจทก์ พยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานสำคัญที่จะพิสูจน์ถึงผู้มีสิทธิในหุ้นของบริษัท ซ. กรณีจึงจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงนำสืบสำเนาเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) นอกจากนี้ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์ก็ดำเนินการขอให้บริษัท ด. จัดทำหนังสือรับรองความมีอยู่จริงของสำเนาเอกสารหมาย จ.15 มาประกอบการพิจารณาของศาลด้วยแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังเอกสารหมาย จ.15 มานั้น ชอบแล้ว
of 19