คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 186 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5649/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายยางธรรมชาติ: ลักษณะคำมั่นสัญญาฝ่ายเดียว มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
ข้อความแห่งสัญญาซื้อขายเป็นข้อตกลงกำหนดล่วงหน้าว่า โจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายยางธรรมชาติ จำนวนโดยประมาณ มิใช่เป็นการตกลงซื้อขายยางโดยมีจำนวนและราคาที่แน่นอนแล้ว และจำเลยต้องส่งมอบยางให้แก่โจทก์เมื่อใด อันจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ที่ทั้งสองฝ่ายพึงต้องปฏิบัติต่างตอบแทนกัน จำเลยยังจะต้องรอให้โจทก์มีคำสั่งซื้อและโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยเสียก่อน จำเลยจึงจะส่งยางให้แก่โจทก์ แสดงว่าข้อตกลงจะมีผลเป็นสัญญาซื้อขายก็ต่อเมื่อโจทก์บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จไปยังจำเลยแล้ว จึงมีลักษณะเป็นเพียงคำมั่นที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์ก่อนที่จะมีการซื้อหรือขายว่า จำเลยจะขายยางให้แก่โจทก์ ซึ่งมีผลผูกพันจำเลยฝ่ายเดียวตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคหนึ่ง มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือสัญญาจะขายหรือจะซื้อ
คำมั่นที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์มิได้มีกำหนดเวลา เมื่อจำเลยมิได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ให้ตอบมาเป็นที่แน่นอนภายในกำหนดเวลาพอสมควรว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคสอง เสียก่อน จึงเป็นการบอกเลิกคำมั่นโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5582/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน: การกลับมาทำร้ายผู้เสียหายด้วยอาวุธมีดหลังวิวาท
เมื่อกลุ่มของ ด. กลับมาที่ร้านได้เดินในลักษณะตามหาผู้เสียหายที่ 2 และเรียกถามหาคนที่ใช้มือปัดอาวุธปืน พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกที่ถามหาผู้เสียหายที่ 2 และเมื่อพบผู้เสียหายที่ 2 มีการบอกให้เข้าไปหาผู้เสียหายที่ 2 แล้วจำเลยกับพวกก็เข้าไปใช้อาวุธมีดรุมฟันผู้เสียหายที่ 2 ทันที แสดงว่าจำเลยกับพวกเจตนากลับมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เนื่องจากจำเลยโกรธผู้เสียหายที่ 2 ที่เข้าห้ามมิให้จำเลยกับ ค. วิวาทกันและผู้เสียหายที่ 2 ใช้มือตบอาวุธปืนที่จำเลยชักออกมา การที่จำเลยกับพวกกลับออกไปแล้วกลับมาที่ร้านที่เกิดเหตุอีกครั้งโดยจำเลยกับพวกบางคนนำอาวุธมีดมาด้วย จำเลยกับพวกย่อมต้องได้คิดไตร่ตรองเพื่อทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 แล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การรับรู้ความผิดและตัวผู้กระทำผิดของผู้เสียหายหลายคน
ผู้เสียหายเป็นร้านค้าชุมชนก่อตั้งโดยราษฎรในชุมชนมีสมาชิกประมาณ 700 คน สมาชิกแต่ละคนต้องลงหุ้นคนละ 1 หุ้น ส. เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นประธานกรรมการของผู้เสียหาย ภายหลังจาก ว. พนักงานบัญชีของผู้เสียหายตรวจสอบพบว่า สินค้าในร้านหายไป ว. แจ้งให้ ส. และคณะกรรมการทราบถึงกรณีสินค้าขาดจำนวนภายในเดือนมีนาคม 2553 และคณะกรรมการลงมติให้มีหนังสือถึงจำเลยพนักงานขายของผู้เสียหายให้ไปชี้แจง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ส. และคณะกรรมการรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดภายในเดือนดังกล่าว ส. เป็นสมาชิกของผู้เสียหายโดยเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ส. จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหายักยอกด้วย เมื่อ ส. ไปร้องทุกข์ภายในเดือนสิงหาคม 2553 ซึ่งพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่ ส. และคณะกรรมการรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4938/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราโดยมีเจตนาและร่วมกันกระทำความผิด แม้ไม่สำเร็จความใคร่ก็ถือเป็นความพยายาม
การที่ บ. พาจำเลยมาที่ห้องเช่าของผู้เสียหายซึ่งเป็นคนรักของตนเวลา 4 นาฬิกา และบอกว่าจำเลยไม่มีที่นอนขอนอนที่ห้องของผู้เสียหายด้วย แต่เมื่อผู้เสียหายปิดไฟนอน บ. ก็เริ่มกอดผู้เสียหายต้องการมีเพศสมพันธ์แต่ผู้เสียหายไม่ยอม บ. ขึ้นคร่อมตัวผู้เสียหายแต่อวัยวะเพศไม่แข็งตัว บ. จึงละจากผู้เสียหายแล้วให้จำเลยมานอนตรงกลางแทน บ. จากนั้นจำเลยได้ขึ้นคร่อมตัวผู้เสียหายถอดกางเกงผู้เสียหายและของตนออกสวมถุงยางอนามัยแล้วกระทำชำเราผู้เสียหาย และเมื่อผู้เสียหายดิ้นรนขัดขืน บ. ก็ช่วยจับแขนผู้เสียหายไว้จนจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ หลังจากนั้น บ. พยายามกระทำชำเราผู้เสียหายอีกแต่อวัยวะเพศไม่แข็งตัวจึงไม่สามารถสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายได้ จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยและ บ. มีเจตนาร่วมกันมาหาผู้เสียหายเพื่อร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายมิใช่เพียงมาขอใช้ห้องเพื่อนอน และแม้ บ. ไม่สามารถสอดใส่อวัยวะเพศของตนเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายได้เพราะอวัยวะเพศไม่แข็งตัว แต่การกระทำของ บ. ถือว่าถึงขั้นพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแล้ว ดังนั้น การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3488/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีตั๋วสัญญาใช้เงินหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ & ดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์มีตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ในครอบครองเนื่องจาก บริษัท อ. สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลับมาให้โจทก์เพราะโจทก์ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทนั้นแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะรับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและใช้เงินให้แก่บริษัท อ. หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ แต่ก็ได้ความจาก พ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่งตั้ง ช. เป็นประธานกรรมการของโจทก์ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และหลังจากนั้นองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเคยมีหนังสือแจ้งไปยังประธานกรรมการโจทก์ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้ของโจทก์ การดำเนินกิจการของโจทก์หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการจึงเป็นการเข้าดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน การดำเนินกิจการของโจทก์ดังกล่าวจึงหาเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกระทรวงการคลังไม่
คำสั่งกระทรวงการคลังให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ เป็นคำสั่งที่ใช้บังคับแก่โจทก์โดยเฉพาะมิได้ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป การดำเนินการของโจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. และกระทรวงการคลังที่จะต้องว่ากล่าวกัน หาได้กระทบกระเทือนต่อฐานะความเป็นคู่สัญญาผู้ขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ 1 และฐานะความเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หาทำให้สัญญาขายลดตั๋วเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกตั๋วระงับหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ ทั้งไม่ได้ความว่าการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล เท่ากับการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เป็นไปโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้เงินตามตั๋ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้
สัญญาขายลดตั๋วเงิน มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่โจทก์ประกาศกำหนด โดยโจทก์อ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลดสูงสุด และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีของโจทก์ และหนังสือขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แสดงให้เห็นว่า ขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ไม่ได้เขียนข้อความกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไว้ แต่ ป.พ.พ. มาตรา 968 (2) ประกอบมาตรา 985 บัญญัติให้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ กทช. ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม
โครงข่ายโทรคมนาคมตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มีความหมายว่า "กลุ่มของเครื่องโทรคมนาคมที่ต่อถึงกันโดยตรง หรือโดยผ่านเครื่องชุมสายหรือเครื่องอื่นใด เพื่อการโทรคมนาคมระหว่างจุดหมายปลายทางที่กำหนดด้วยระบบสาย ระบบคลื่นความถี่ ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้าอื่น ระบบใดระบบหนึ่งหรือหลายระบบรวมกัน" กิจการโทรคมนาคมตามบทนิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุมีความหมายว่า "กิจการซึ่งให้บริการส่ง การแพร่หรือการรับเครื่องหมาย สัญญาณ ตัวหนังสือ ตัวเลข ภาพ เสียง รหัส หรือการอื่นใด ซึ่งสามารถให้เข้าใจความหมายได้โดยระบบสาย ระบบคลื่นความถี่ ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้าอื่น หรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบรวมกัน หรือกิจการโทรคมนาคมตามที่มีกฎหมายบัญญัติหรือตามที่คณะกรรมการร่วมกำหนดให้เป็นกิจการโทรคมนาคม" การประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 คือ การให้บริการส่งตัวหนังสือ ตัวเลข หรือภาพ ทางโทรสารไปยังผู้รับในต่างประเทศ โดยจำเลยที่ 1 นำเครื่องมือ Auto Dialer ไปติดตั้งเชื่อมต่อกับสายโทรศัพท์และโทรสารของลูกค้าที่สมัครเป็นสมาชิก เมื่อสมาชิกใช้บริการจะต้องกดหมายเลขโทรศัพท์ 001 ซึ่งเป็นหมายเลขรหัสโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศของการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ตามด้วยหมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับในต่างประเทศ เครื่องมือ Auto Dialer จะส่งสัญญาณไปยังเครื่องมือ Server ของจำเลยที่ 1 เพื่อแปลงสัญญาณเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แล้วส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไปยังเครื่องโทรศัพท์และโทรสารของผู้รับในต่างประเทศ ถือว่าเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามความหมายในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 เครื่องมือ Auto Dialer และเครื่องมือ Server ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มของเครื่องโทรคมนาคมที่ต่อถึงกันโดยผ่านเครื่องชุมสายโทรศัพท์ เพื่อแปลงสัญญาณโทรสารเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แล้วส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไปยังเครื่องโทรศัพท์และโทรสารของผู้รับในต่างประเทศก็ถือได้ว่าเป็นโครงข่ายโทรคมนาคมตามความหมายในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการให้บริการส่งโทรสารไปยังผู้รับในต่างประเทศโดยลูกค้าผู้ใช้บริการจะต้องสมัครเป็นสมาชิกซึ่งจำเลยที่ 1 เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้และมีลูกค้าเป็นสมาชิกถึงประมาณ 500 ราย ผลการประกอบกิจการนับแต่ปี 2546 จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2548 ปรากฏว่ามีรายได้มากถึงประมาณ 11,000,000 บาท บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการแก่บุคคลทั่วไปจำนวนมากโดยไม่จำกัดจำนวนลูกค้าที่ต้องการสมัครเป็นสมาชิก จึงเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองและต้องได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามตามมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
มาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 กำหนดให้สิทธิแก่การสื่อสาร แห่งประเทศไทยและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในการที่จะประกอบกิจการโทรคมนาคมต่อไปในระหว่างเวลาที่ กทช. ยังไม่ออกใบอนุญาตให้ จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้รับสิทธิตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวเช่นเดียวกับหน่วยงานทั้งสองย่อมจะต้องหยุดประกอบกิจการโทรคมนาคมไว้ก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้ง กทช. และจำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตจาก กทช. แล้ว พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยังประกอบกิจการโทรคมนาคมต่อไปนับแต่วันที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ใช้บังคับโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กทช. บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ย่อมจะต้องระวางโทษเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3296/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจจำหน่ายคดีหลังสิทธิใช้ดุลพินิจ: การเปลี่ยนแปลงคำร้องหลังดำเนินกระบวนพิจารณา
พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีกองทุนฟื้นฟูหรือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจแห่งใดแห่งหนึ่งหรือรวมกันเป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วโอนสินทรัพย์ที่จัดเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 ทั้งหมดให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยภายในเวลาที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยกำหนด และวรรคหก บัญญัติว่า "สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ต้องโอนมาตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลโดยศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาด้วย โดยให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เว้นแต่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจะยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่น..." แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นบทบังคับให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในคดีที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลโดยศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ให้สิทธิแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่จะยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่นตามมาตรา 30 วรรคหก ตอนท้าย และเมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยใช้สิทธิตามข้อยกเว้นดังกล่าว ศาลก็ไม่อาจใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามคำร้องขอของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย สำหรับคดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยก็ได้ใช้สิทธิตามข้อยกเว้นนี้ โดยการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามความประสงค์ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยแล้ว เช่นนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปให้แล้วเสร็จ ศาลชั้นต้นไม่อาจย้อนกลับไปใช้อำนาจจำหน่ายคดีได้อีกเพราะอำนาจในการจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมดไปนับแต่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามข้อยกเว้นนี้แล้ว หากให้ศาลชั้นต้นย้อนกลับไปใช้อำนาจจำหน่ายคดีได้อีกย่อมมีผลเท่ากับเป็นการเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเองที่ได้ดำเนินไปโดยชอบตามคำร้องขอของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยก่อนหน้านี้อันเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามคำร้องของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งสำเนาคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดีให้จำเลยที่ 3 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 อีก เพราะไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใดก็ไม่อาจทำให้ผลแห่งคำพิพากษาคดีนี้เปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2709/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุสิทธิบัตรกลไกประตูเลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการปรับปรุงเล็กน้อย ไม่เข้าข่ายการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
ผลิตภัณฑ์กลไกประตูเลื่อนของจำเลยมีลักษณะทางกายภาพที่เป็นรางเลื่อนประตู ด้านบนมีหูหิ้วรางเลื่อนเหมือนกับกลไกประตูเลื่อนของเดิม การที่จำเลยปรับปรุงระบบกลไกประตูเลื่อนสำหรับห้องเย็นซึ่งมีผู้ประดิษฐ์คิดค้นและใช้แพร่หลายอยู่ก่อนแล้วให้มีการทำงานดีขึ้น แข็งแรงและทนทานขึ้น โดยดัดแปลงปรับปรุงระบบกลไกที่มีอยู่เดิมอันเป็นการพัฒนากลไกรางประตูเลื่อนเพียงเล็กน้อยไม่ใช่ส่วนสาระสำคัญ มิใช่เป็นการคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้ผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่ การประดิษฐ์กลไกประตูเลื่อนสำหรับห้องเย็นตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยจึงไม่เป็นการประดิษฐ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 และไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามมาตรา 65 ทวิ (1) การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกอนุสิทธิบัตรแก่จำเลยย่อมไม่ชอบ
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยมีลักษณะใหม่เนื่องจากมีการออกแบบรวมทั้งมีลายเส้นและลวดลายหรือรอยต่าง ๆ เห็นได้ชัดเจนนั้น เห็นว่า จำเลยให้การและนำสืบว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยแตกต่างจากของเดิมและใช้เป็นส่วนประกอบกลไกประตูเลื่อนสำหรับห้องเย็นตามอนุสิทธิบัตร โดยออกแบบให้เวลาเปิดประตูทำให้ยึดแน่นไม่เลื่อน มีแป้นนำร่องป้องกันมิให้ประตูถอยเลื่อนเมื่อใช้งานมาก ทำให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น อันเป็นการให้การต่อสู้คดีว่าการออกแบบของจำเลยเป็นไปในลักษณะเพื่อประโยชน์การใช้งานอันเป็นลักษณะของการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ มิใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2045/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ และขอบเขตการเรียกร้องแย้งเพิ่มเติมหลังมีคำชี้ขาด
การที่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและเรียกร้องแย้งให้ผู้ร้องชำระเงินให้ผู้คัดค้านอีกจำนวน 430,010.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำคัดค้านเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ข้อเรียกร้องแย้งดังกล่าวเป็นประเด็นที่ผู้คัดค้านได้เคยเรียกร้องแย้งในชั้นอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าวไว้แล้ว คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงผูกพันคู่พิพาททั้งสองฝ่ายตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 หากผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการร้องขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า "การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้..." หรือคัดค้านการร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า "ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศใด ถ้าผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์ได้ว่า..." การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องแย้งขอให้บังคับผู้ร้องชำระเงินให้ผู้คัดค้านตามที่ได้เคยต่อสู้และเรียกร้องแย้งไว้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอีกถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 หรือคัดค้านการร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจเรียกร้องแย้งขอให้ศาลบังคับให้ผู้ร้องชดใช้เงินดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับเฉพาะคำคัดค้านคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องแย้ง มีคำสั่งไม่รับในส่วนนี้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องต้องระบุองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 371 อย่างชัดเจน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้แม้ไม่มีการอุทธรณ์
แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้าง มาตรา 371 ไว้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในมาตราดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควร และจำเลยที่ 2 พาอาวุธมีดไปโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 371 มิได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 19