คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิรุฬห์ แสงเทียน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 895 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2461/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของห้างสรรพสินค้าต่อการโจรกรรมรถยนต์จากการยกเลิกมาตรการรักษาความปลอดภัย
จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ขายปลีกสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ มีประชาชนเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมาก แม้จำเลยที่ 1 จะต้องจัดให้มีสถานที่จอดรถตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ในการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 มีประชาชนเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการโดยนำรถยนต์เข้าไปในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นปกติ การจัดสถานที่จอดรถที่สะดวกและปลอดภัยนอกจากทำเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าแล้ว ยังเป็นการดึงดูดให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการอันส่งผลต่อรายได้ของจำเลยที่ 1 อีกด้วย ลักษณะการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้าไปจอดในลานจอดรถที่จำเลยที่ 1 จัดไว้เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ดังกล่าวถูกโจรกรรมได้โดยง่าย
จำเลยที่ 1 ยกเลิกการแจกบัตรจอดรถและไม่จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลบริเวณทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าและเครื่องกั้นจราจรสกัดกั้นมิให้ขับรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถได้โดยสะดวก ทำให้คนร้ายฉวยโอกาสนำรถยนต์ออกจากห้างสรรพสินค้าโดยแล่นย้อนศรสวนทางออกไปในช่องทางเข้าผ่านด้านหลังของกล้องวงจรปิดทำให้กล้องวงจรปิดไม่สามารถส่องเห็นใบหน้าคนขับ หากจำเลยที่ 1 จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ในบริเวณทางเข้าและทางออก จำเลยที่ 1 ก็จะตรวจพบความผิดปกติของคนร้ายที่ขับรถย้อนศรออกไปทางช่องทางเข้าได้ในทันที เหตุรถยนต์สูญหายก็จะไม่เกิดขึ้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 งดเว้นการที่จักต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรมเป็นการกระทำด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เมื่อเป็นผลโดยตรงทำให้คนร้ายฉวยโอกาสโจรกรรมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป จึงเป็นการทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ยกเลิกการแจกบัตรจอดรถยนต์ และยกเลิกการจัดพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ดูแลทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าและตามลานจอดรถตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ไปดูแลพื้นที่อื่น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจึงจัดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ไปดูแลบริเวณอื่นอันเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจึงไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันการถูกโจรกรรมอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายรถยนต์จากอุบัติเหตุ: การประเมินความเสียหายสิ้นเชิง และสิทธิเรียกร้องของผู้รับประกันภัย
ค่าประเมินความเสียหายของรถเป็นค่าใช้จ่ายในการตีราคาวินาศภัยซึ่งโจทก์ผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยจึงไม่อาจเรียกร้องเงินดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 878

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าขาดราคาเช่าซื้อเริ่มนับจากวันผิดนัด ไม่ใช่เมื่อขายรถได้
เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2539 และงวดที่ 11 ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 จึงเป็นการผิดนัดสองงวดติดต่อกันตามสัญญา โจทก์จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2539 รวมทั้งค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายประการหนึ่งที่ศาลกำหนดให้ได้ตามพฤติการณ์ความเสียหายซึ่งโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ หาจำต้องรอให้ขายรถยนต์เสียก่อนไม่ อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงจำนวนค่าขาดราคาเพราะหากเป็นกรณีเป็นไปดังที่โจทก์ฎีกาแล้ว กรณีย่อมไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่าโจทก์จะนำรถออกประมูลขายเมื่อใด อันมีผลทำให้โจทก์สามารถกำหนดวันเริ่มต้นที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ซึ่งไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193/12 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 12 มกราคม 2550 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความสิบปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การสละสิทธิ การเลิกสัญญากันโดยปริยาย และผลของการยึดทรัพย์
สัญญาเช่าซื้อข้อ 12 กำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ดี ผู้เช่าซื้อยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อได้กลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าซื้อและ/หรือบอกเลิกสัญญาได้ทันที ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 2 โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินการตามข้อสัญญาดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์รับชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 3 และงวดที่ 4 แสดงว่าโจทก์สละสิทธิตามข้อสัญญานี้ หนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ไม่ถือเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา และยังไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญา ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีผลผูกพันอยู่ การที่ ช. ผู้รับจ้างในการติดตามรถที่เช่าซื้อรถของโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อคืน คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกค่าขาดราคาส่วนที่ขายทรัพย์ที่เช่าซื้อไป หรือราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาข้อ 15 ซึ่งระงับไปแล้วไม่ได้ แม้จำเลยทั้งสี่จะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 50,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 260,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง จำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้พิพากษาตามศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงิน 50,987.20 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระแก่โจทก์ออก ที่จำเลยทั้งสี่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์ 260,987.20 บาท เป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่จำเลยทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำพิพากษาให้สอดคล้องกับเหตุผล - ค่าขาดราคาเช่าซื้อรถยนต์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าค่าเช่าซื้อรถได้รวมดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้ล่วงหน้าตามระยะเวลาค่างวดเช่าซื้อมิใช่มีแต่ราคารถเพียงอย่างเดียว จึงเอาค่าเช่าซื้อค้างชำระมาเป็นเกณฑ์เรียกราคารถพิพาทไม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ารถพิพาทที่แท้จริงมีราคาเท่าไร เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้เป็นเงิน 57,000 บาท ซึ่งสอดคล้องกับคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ในส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าขาดราคาเช่าซื้อจากการขายทอดตลาดเพียงแต่ศาลชั้นต้นลดจำนวนเงินที่โจทก์ขอมาลงเหลือ 57,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แก้ไขคำพิพากษานั้น จึงเป็นการขอแก้ไขเพื่อให้ถูกต้องตรงกับเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่กล่าวไว้ในคำพิพากษาและถือว่าเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย มิใช่เป็นการทำคำสั่งที่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม จึงชอบที่จะมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาด หรือข้อผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2216/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตเนื่องจากผู้เอาประกันภัยปกปิดประวัติการรักษา สัญญาประกันจึงตกเป็นโมฆียะ
ขณะที่ผู้ตายยื่นคำขอทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย ผู้ตายทราบอยู่แล้วว่าตนเข้ารับการตรวจรักษา และหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาก่อนหน้ามาขอทำประกันชีวิตกับจำเลย แต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวเพราะอาจทำให้จำเลยบอกปัดไม่รับทำสัญญาประกันชีวิตให้แก่ตน สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 จำเลยมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตได้ เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับประโยชน์ สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดต่อเนื่อง, อายุความ, อำนาจฟ้อง, ความรับผิดร่วม, ค่าเสียหายจากอาคารและสินค้า
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยยังคงทำละเมิดอย่างต่อเนื่องและโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันฟ้องคดีนี้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด ทำให้อาคารตึกแถวที่โจทก์ครอบครองและสินค้าของโจทก์ที่วางขายที่อาคารตึกแถวได้รับความเสียหาย ขอให้ใช้ค่าเสียหาย โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นทั้งทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกและเป็นผู้จัดการมรดก บ. บ. เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งปลูกสร้างอาคารตึกแถวดังกล่าวตั้งแต่ขณะ บ. ยังมีชีวิตอยู่ และปรากฏว่าศาลตั้งโจทก์กับ ก. เป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ร่วมกัน พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องให้รับผิดในส่วนที่เกี่ยวกับอาคารตึกแถวได้รับความเสียหายในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ บ. ด้วย ซึ่งหากโจทก์ได้รับค่าเสียหายเกี่ยวกับอาคารตึกแถวมาก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทายาททุกคนของ บ. มิใช่เพื่อโจทก์เพียงผู้เดียว โจทก์ผู้เดียวย่อมมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอาคารตึกแถว เช่น ค่าสินค้าของโจทก์ที่เสียหาย และค่าขาดประโยชน์ เป็นต้น เป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์ของโจทก์ผู้เดียว โจทก์ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องอยู่แล้ว ดังนั้น โจทก์ผู้เดียวย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1728/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การบอกเลิกสัญญาเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และการรับชำระหนี้บางส่วนโดยไม่ถือเป็นข้อสำคัญ
สัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อทุกวันที่ 15 ของเดือน โจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อโดยตลอด แต่เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 รับไว้และนำส่วนหนึ่งไปหักเป็นดอกเบี้ยของการชำระค่างวดล่าช้า แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นข้อสำคัญ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 โดยบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่สมควรก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยให้ระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายใน 7 วัน ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 ที่ให้ระยะเวลาชำระหนี้แก่โจทก์พอสมควรแล้ว จึงเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ
โจทก์เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจะขอบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน โดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีต้องผ่านการเลือกตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น การแต่งตั้งโดยกรรมการแล้วขอรับสัตยาบันไม่ชอบ
การตั้งผู้สอบบัญชีมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบบัญชีงบดุลที่บริษัทจัดทำขึ้นโดยตรวจจากสมุดบัญชี เอกสารประกอบการลงบัญชีและหลักฐานอื่น ๆ โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามแนวทางปฏิบัติงานที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีได้กำหนดเป็นมาตรฐานไว้ เพื่อวินิจฉัยและแสดงความเห็นว่า งบการเงินที่จัดทำขึ้นมีความถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่เพียงใด ฐานะและบทบาทผู้สอบบัญชีจึงเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทในการควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหารว่าได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับ มติที่ประชุมคณะกรรมการ มติที่ประชุมใหญ่และตามกฎหมายหรือไม่ ดูแลว่าบัญชีของบริษัทได้ลงไว้ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ทั้งเป็นผู้รับรองฐานะทางการเงินของบริษัทต่อผู้ถือหุ้นว่าฐานะทางการเงินตามที่แสดงไว้นั้นถูกต้อง ผู้สอบบัญชีจึงต้องแยกจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน กล่าวคือผู้สอบบัญชีจะเป็นกรรมการ ตัวแทนหรือลูกจ้างของบริษัทในขณะที่ตนเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทไม่ได้ ผู้สอบบัญชีต้องขึ้นตรงต่อผู้ถือหุ้น กฎหมายจึงกำหนดให้เฉพาะที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเท่านั้น ที่มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนและให้บำเหน็จแก่ผู้สอบบัญชีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1208 ถึง 1211 เว้นแต่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าห้าคนร้องขอให้ศาลตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี ตามมาตรา 1212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหาเสียงที่เกี่ยวกับสิทธิที่ดินและการดูแลประชาชน ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องวิธีการหรือลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ใด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2546 ข้อ 3 (11) ที่กำหนดว่า "การโฆษณาหาเสียงโดยการกล่าวถึงนโยบายในการที่จะเข้าไปบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้กระทำได้แต่ทั้งนี้ต้องเป็นงานที่ได้กำหนดว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ตามกฎหมาย และการดำเนินงานตามนโยบายนั้นจะต้องใช้จ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมีความเป็นไปได้จริง โดยพิจารณาถึงงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ" มีลักษณะเป็นเพียงข้อแนะนำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้พิจารณาประกอบในการที่จะปราศรัยหาเสียง การที่จำเลยซึ่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น อันถือได้ว่าเป็นผู้แทนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้น ได้ปราศรัยนโยบายจะดำเนินการให้ประชาชนผู้ที่ถือสิทธิครอบครองในที่ดินสาธารณประโยชน์ได้มีสิทธิทำกินในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นหน้าที่โดยพื้นฐานของผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนของประชาชนในท้องถิ่นดังกล่าว ภายหลังการเลือกตั้งปรากฏว่าเมื่อจำเลยได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนขนุนก็ได้ดำเนินการประสานงานกับราชการที่เกี่ยวข้องตามที่หาเสียงไว้ จนกระทั่งมีการดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้แก่ประชาชนในท้องที่ ซึ่งในการออกเอกสารสิทธิดังกล่าวนี้ ได้ความจาก ศ. ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเขาชัยสน ว่า ในปี 2548 อำเภอเขาชัยสนได้ประสานงานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลควนขนุนเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หลังจากนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลควนขนุนได้สำรวจและจัดทำบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดินที่เข้าไปทำประโยชน์ในที่สาธารณะ จึงเป็นที่เห็นได้ว่า การที่จำเลยปราศรัยหาเสียงจัดที่ทำกินให้ประชาชนดังกล่าวเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่จำเลยจะต้องเข้าไปรับผิดชอบดูแลโดยตรง คำปราศรัยหาเสียงของจำเลยจึงมิได้เป็นการหาเสียงที่ฝ่าฝืนต่อประกาศการเลือกตั้งแต่อย่างใด
การที่จำเลยกล่าวปราศรัยว่าจะดำเนินการให้ประชาชนที่ครอบครองทำกินในที่ดินสาธารณประโยชน์ให้มีสิทธิทำกินในที่ดินดังกล่าวโดยถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการทำหน้าที่ของผู้แทนปวงชนในท้องถิ่น กรณีดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเรื่องเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ตามความหมายแห่งมาตรา 57 (1) ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545
of 90