คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิรุฬห์ แสงเทียน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 895 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1589/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดจากเหตุสุดวิสัย (ธรณีพิบัติภัย) ทายาทผู้เช่าซื้อต้องคืนทรัพย์หรือชำระราคา
กรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อพังเสียหายจากการถูกคลื่นสึนามิซัดเข้าปะทะกับต้นไม้และพลิกตะแคงอยู่กับเศษวัสดุต่าง ๆ ที่แตกหักเสียหายเป็นเหตุให้รถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายใช้การไม่ได้และสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่าหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปตามความจำเป็นและมีเหตุอันสมควรและตามข้อ 11 กำหนดว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุด ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คืน แม้โจทก์ฟ้องเป็นกรณีผิดสัญญาเช่าซื้อโดยทั่วไปก็ตาม แต่ก็พอถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดกรณีสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดจากเหตุที่มิได้เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อด้วย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดังเดิม แต่รถยนต์หาได้สูญสิ้นสภาพไปทั้งหมดยังคงมีตัวทรัพย์อยู่ โจทก์ในฐานะเจ้าของย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้ แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายจากธรณีพิบัติภัยอันเป็นเหตุสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในการส่งมอบรถยนต์คืนตามสภาพที่ใช้การได้ดี แต่ต้องส่งมอบคืนตามสภาพที่เป็นจริงหลังเกิดธรณีพิบัติภัย จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดในการคืนทรัพย์แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ก็ต้องใช้ราคาแทน โดยกำหนดให้ในลักษณะของค่าซากรถเป็นเงิน 20,000 บาท
ตามคำฟ้องของโจทก์ขอเรียกค่าเสียหายใด ๆ อันเนื่องมาจากความรับผิดตามสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการทวงถาม การติดตามทรัพย์ ค่าทนายความหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด จึงไม่กำหนดให้ คงมีเพียงค่าเสียหายจากการที่รถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายโดยสิ้นเชิงจากเหตุธรณีพิบัติภัย แม้โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายตามราคารถยนต์ที่โจทก์ออกเงินลงทุนก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาว่า หากรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ได้เสียหายจากธรณีพิบัติภัยและ ย. ชำระค่าเช่าซื้อครบ 48 งวด โจทก์จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงิน 44,979.37 บาท แต่คดีนี้โจทก์ได้รับผลประโยชน์จากค่าเช่าซื้อที่ ย. ผ่อนชำระแล้ว 8 งวด รถยนต์ก็เสียหายโดยสิ้นเชิงจนมีสภาพเป็นเพียงซากรถ จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ 37,400 บาท เมื่อค่าซากรถและค่าเสียหายที่กำหนดให้เป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว จึงไม่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดในดอกเบี้ยของค่าเสียหายอีก ส่วนค่าใช้ทรัพย์และค่าเช่าซื้อค้างชำระที่โจทก์ขอมานั้น ย. ผู้เช่าซื้อยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันคงต้องรับผิดเฉพาะการคืนทรัพย์แก่โจทก์หรือใช้ราคาแทนและชดใช้ค่าเสียหายดังที่วินิจฉัยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1582/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: การแบ่งความรับผิดและขอบเขตความรับผิดของเจ้าของรถ
การวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งสำหรับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 และเมื่อคดีอาญารับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 มีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตาม ปอ. มาตรา 390 คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ที่ 2 ว่าเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันเกิดจากโจทก์ที่ 2 มีส่วนประมาทด้วยเมื่อความประมาทเกิดจากโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 จะได้รับจึงต้องตกเป็นพับ
เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลและเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นคู่ความในคดี โจทก์ที่ 1 ยังคงกล่าวอ้างได้ว่าโจทก์ที่ 2 มิได้มีส่วนประมาทในเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกัน แต่กรณีรถยนต์เฉี่ยวชนกันเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างทำละเมิดโดยไม่ได้ร่วมกัน โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ที่ 1 ทั้งนี้ ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อทางจราจร: ตัวการตัวแทน & ความรับผิดร่วมกัน
บริเวณทางเชื่อมต่อระหว่างถนนวงแหวนรอบนอกกับถนนบางนา - ตราดมีสัญญาณจราจรเส้นขาวทึบบนผิวทางห้ามมิให้รถที่แล่นมาจากถนนวงแหวนรอบนอกเบี่ยงขวาเข้าสู่ถนนบางนา - ตราดทันที ผู้ขับรถจะต้องขับรถเลยเส้นขาวทึบบนผิวทางไปก่อนจึงเบี่ยงขวาเข้าถนนบางนา - ตราดได้ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนบรรจบกัน ผู้ขับรถจะต้องใช้ความระมัดระวังและผู้ขับรถที่จะเบี่ยงเข้าถนนหลักต้องหยุดรถให้ทางแก่รถที่กำลังแล่นในถนนหลักผ่านไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 หาได้ปฏิบัติตาม การที่จำเลยที่ 1 ขับรถทับเส้นขาวทึบบนผิวทางไปชนรถโดยสารประจำทางของโจทก์ที่ ว. ขับผ่านมาโดยไม่หยุดรถให้ทางแก่รถของโจทก์ที่แล่นผ่านมาในทางเดินรถหลักก่อน จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ
ขณะเกิดเหตุฝนตกปรอยๆ ว. ขับรถโดยสารประจำทางโดยใช้เกียร์ 5 และขับรถด้วยความเร็ว 60 ถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เห็นจำเลยที่ 1 ขับรถลงจากถนนวงแหวนรอบนอก จุดที่เกิดเหตุเป็นถนนวงแหวนรอบนอกบรรจบกับถนนบางนา - ตราดจึงเป็นบริเวณทางร่วมทางแยกซึ่งผู้ขับขี่ที่ขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยกต้องลดความเร็วรถ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 แต่ไม่ปรากฏว่า ว. ชะลอความเร็วของรถลงเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุรถชนกัน ว. จึงมีส่วนขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วย แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายก่อให้เกิดเหตุก่อนโดยขับรถทับเส้นขาวทึบบนผิวทางล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของ ว. และไม่หยุดรถให้ทางแก่รถที่ ว. ขับมาในทางเดินรถหลักผ่านไปก่อน จำเลยที่ 1 จึงประมาทเลินเล่อมากกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990-991/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง การมอบอำนาจ และสิทธิการครอบครองห้องเช่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุด
ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 808 ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจให้ตัวแทนช่วงทำการได้ เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนกับให้มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อกระทำการแทนได้ ดังนั้น บริษัท ซ. มีอำนาจตั้ง ข. เป็นตัวแทนช่วงให้ทำการฟ้องคดีแทนต่อไป แต่ ข. ต้องดำเนินการตามที่ได้รับมอบอำนาจด้วยตนเอง เนื่องจากตามหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุว่า โจทก์ให้อำนาจผู้รับมอบอำนาจช่วงตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนช่วงทำการแทนต่อไปอีกได้ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงมีข้อความว่า ให้ ข. มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อให้มีอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจช่วง ก็เป็นเรื่องนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ ข. ไม่มีอำนาจตั้งให้ อ. เป็นตัวแทนช่วงดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายมานั้นแทนตน อ. ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ร่วมเข้ามาเป็นโจทก์ในคดีนี้เพราะโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และ 549 อันเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเรื่องใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วมไม่ ดังนั้น แม้ฟ้องเดิมโจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมก็เข้ามาในคดีได้
แม้การเช่าของจำเลยถือเป็นการเช่าช่วงโดยชอบเพราะโจทก์ร่วมตกลงให้บริษัท ว. นำห้องเช่าพิพาทออกให้เช่าช่วงได้ แต่เมื่อโจทก์ร่วมกับบริษัท ว. ได้เลิกสัญญาเช่ากันแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในห้องเช่าพิพาทต่อไป เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เช่าช่วงย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าบริษัท ว. ผู้เช่าเดิม และเหตุที่ห้องเช่าพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมก็เป็นไปตามข้อตกลงการเช่า ไม่ใช่เป็นกรณีโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 จำเลยไม่อาจยกสัญญาเช่าช่วงขึ้นอ้างต่อโจทก์เพื่อครอบครองห้องเช่าพิพาทได้ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าพิพาทได้ แต่โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากตามคำร้องขอของโจทก์ร่วมมิได้ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 843/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อทางละเมิด, ความรับผิดของผู้รับประกันภัย, และดอกเบี้ยค่าเสียหาย
การที่ผู้ตายขับรถถอยหลังโดยไม่ดูให้ดีว่ามีรถคันอื่นอยู่ด้านหลังหรือไม่ และในระยะห่างเพียงใด ย่อมถือว่าผู้ตายขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ พฤติการณ์ของผู้ตายที่มีเรื่องเขม่นกันกับคนร้ายมาก่อนแล้วขับรถปาดหน้ากัน ที่ผู้ตายถูกกลุ่มคนร้ายจอดรถขวางหน้าแล้วใช้อาวุธปืนยิงจนผู้ตายต้องขับรถถอยหลังมาชนรถโจทก์ย่อมไม่อาจยกเป็นข้ออ้างได้ว่ามิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทั้งการกระทำของผู้ตายก็มิใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจอ้างเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 449 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าเป็นผู้ให้ความยินยอมผู้ตายนำรถที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไปขับ เมื่อเหตุละเมิดอยู่ในระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องผู้เอาประกันภัยจะมิใช่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เหตุละเมิดเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยและสัญญาประกันภัยมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 3 หาพ้นความรับผิดไม่
ดอกเบี้ยของค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดนับแต่วันทำละเมิด ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 เป็นไปตามสัญญาประกันภัย มิใช่ความรับผิดฐานละเมิด โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 นับแต่วันที่จำเลยที่ 3 ผิดนัดเมื่อถูกทวงถามแล้วเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าสินไหมทดแทนก่อนฟ้อง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจจัดการศพ, ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์, ค่าขาดไร้อุปการะ, และการกำหนดค่าเสียหายที่เหมาะสม
ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่จะมีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตายได้ จะต้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายได้ตั้งไว้ คดีนี้ ปรากฏว่าศาลได้ตั้งโจทก์ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย หาใช่ผู้ตายตั้งโจทก์ที่ 3 ไม่ ดังนั้น โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ที่ 3 จัดการและใช้จ่ายในการปลงศพผู้ตาย โจทก์ที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันจ่ายค่าทำศพให้โจทก์ที่ 3 ส่วนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกจึงเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ
ป.พ.พ. มาตรา 433 บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวศาลจะต้องพิเคราะห์ถึงค่าปลงศพตามประเพณีและตามฐานานุรูปของผู้ตาย มิใช่ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดทั้งหมด
การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะศาลย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 โดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบ และศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิของแต่ละคน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัด, อายุความ, และการบังคับคดีในหนี้เบิกเกินบัญชีและเงินกู้ รวมถึงบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์
คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้นเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี และมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งห้ามิได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ส่วนที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โดยไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งห้าคัดค้านนั้น แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลยทั้งห้าอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นทำให้คู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรมหรือการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าโต้แย้งคัดค้านกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยทั้งห้าเสียหายจึงยังไม่มีเหตุอื่นใดอันสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว
การที่จำเลยทั้งห้าไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธมาในศาลชั้นต้นว่าสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาปลอม และจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจทำสัญญาจำนองแทน ส. จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การที่ ป. และ บ. ลงลายมือชื่อในช่องพยานในสัญญาค้ำประกันเพื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. แม้จะไม่ระบุว่า เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ถือว่าเป็นการรับรองลายพิมพ์นิ้วมือแล้ว การลงลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. จึงถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง และการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 19 ต่อปี นั้น ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินควรศาลย่อมลดเบี้ยปรับได้ แต่เนื่องจากมีการโอนหนี้ของโจทก์คดีนี้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แล้ว สิทธิในการคิดดอกเบี้ยจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18574-18577/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาทางปกครองระหว่างรัฐวิสาหกิจกับเอกชน ไม่เป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือตัวแทน
สัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมใช้ความถี่สื่อสาร โดยในขณะทำสัญญาจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ใช้กิจการสื่อสารมวลชนเป็นสื่อในการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ส่งเสริมคุณภาพและจริยธรรมของคนในชาติและรักษาความมั่นคงของรัฐ ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสในการรับรู้ข่าวที่ถูกต้องและรวดเร็ว ตลอดจนสาระความรู้และสาระบันเทิงที่มีประโยชน์ จึงเป็นการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและปัจเจกชนอันเป็นบริการสาธารณะ การให้บริษัท ท. จำกัด ดำเนินการจึงต้องอยู่ในวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย และสัญญายังเป็นการมอบหมายให้บริษัท ท. จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนดำเนินการรับผิดชอบและเสี่ยงภัยในกิจการนั้นตลอดระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้รับบริการซึ่งเป็นสมาชิกที่รับบริการปลายทางในรูปแบบของการสัมปทานเพื่อจัดการบริการสาธารณะในลักษณะเดียวกันกับการให้สัมปทานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่จะต้องเห็นชอบหรืออนุญาตให้กระทำการใดหรือไม่ให้กระทำการใด รวมทั้งมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานและบอกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียวตามสัญญาดังกล่าวในข้อ 7 อันเป็นข้อกำหนดในสัญญาที่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิของหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล อีกทั้งเมื่อหมดเวลาตามที่กำหนดในสัญญาแล้วบริษัท ท. จำกัด ยังต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาในข้อ 8 ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง มิใช่การตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันในลักษณะแห่งความเสมอภาคของคู่สัญญาในการก่อให้เกิดสัญญา การปฏิบัติตามสัญญา การแก้ไขและการเลิกสัญญาในลักษณะของคู่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
ข้อสัญญาที่กำหนดให้บริษัท ท. จำกัด ต้องจ่ายค่าตอบแทนในการเข้าร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปีก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดอายุสัญญา หากชำระล่าช้าจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งต้องนำหลักประกันจำนวน 5,000,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา เป็นการกำหนดค่าตอบแทนจากการที่ร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาเท่านั้น ไม่ว่าการดำเนินกิจการของบริษัท ท. จำกัด จะมีกำไรหรือไม่ก็ยังต้องจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมิได้เป็นการตกลงเข้ากันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ส่วนการที่บริษัท ท. จำกัด จะต้องโอนหุ้นซึ่งชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้วจำนวนร้อยละ 7 ของหุ้นทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น หรือที่จะต้องให้จำเลยที่ 1 หรือผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการของบริษัท ท. จำกัด ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ก็เป็นเพียงการกำหนดค่าตอบแทนเพิ่มเติมนอกจากเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปี และเพื่อให้มีผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐคอยควบคุมการดำเนินงานในลักษณะของความมีอำนาจเหนือกว่าคู่สัญญาฝ่ายเอกชนนั่นเอง สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด ตามสำเนาสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมิใช่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท
การที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้บริษัท ท. จำกัด จัดการบริการสาธารณะในรูปแบบของการสัมปทาน ซึ่งบริษัท ท. จำกัด จะต้องจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วยทุนทรัพย์และความเสี่ยงภัยของบริษัท ท. จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้บริษัท ท. จำกัด ใช้ความถี่สื่อสารที่ได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติเพื่อดำเนินการเองในนามของจำเลยที่ 1 อันเป็นลักษณะของสัญญาทางปกครองแล้วเช่นนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ตัวแทนหรือตัวแทนเชิดตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 15 ตัวแทน ด้วยเช่นกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท ท. จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18403/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลบังคับใช้สัญญาประกันชีวิตเริ่มนับจากวันที่สาขาประกันภัยได้รับคำขอและเงิน หากไม่ปฏิเสธภายใน 30 วัน
สำเนาใบรับเงินชั่วคราวระบุข้อความเกี่ยวกับการรับประกันชีวิตว่า "การชำระเงินตามใบรับเงินชั่วคราวฉบับนี้พร้อมกับใบคำขอเอาประกันภัย... บริษัทจะพิจารณาออกกรมธรรม์... ให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการได้รับใบคำขอเอาประกันภัยหรือคำร้องขอและได้รับเงินแล้ว หากบริษัทมิได้ออกกรมธรรม์...ให้ภายในเวลาที่กำหนด หรือปฏิเสธการขอเอาประกันภัยหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภัย ให้ถือว่าบริษัทตกลงรับสัญญาหรือคำร้องขอซึ่งบริษัทใช้อยู่ในกิจการหลังสุด โดยให้เริ่มมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลา 30 วัน ดังกล่าวข้างต้น" แม้จำเลยจะนำสืบระเบียบการประกันชีวิตที่ รบ.2-137/2542 ประกอบคู่มือการตรวจใบคำขอเอาประกันภัยว่า สำนักงานสาขาของจำเลยไม่มีอำนาจในการพิจารณาแบบประกันชีวิตของผู้ตายและสำนักงานสาขาของจำเลยต้องส่งให้สำนักงานใหญ่พิจารณาอนุมัติและออกกรมธรรม์ก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องการบริหารภายในระหว่างสำนักงานสาขากับสำนักงานใหญ่ของจำเลยเท่านั้น จำเลยไม่อาจยกขึ้นเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันจึงต้องเริ่มนับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานสาขาของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกัน สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2545 จำเลยจะต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว คือภายในวันที่ 30 กันยายน 2545 แม้จำเลยจะมีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2545 แจ้งผู้ตายว่า ขณะนี้การทำประกันชีวิตของผู้ตายอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของบริษัท ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะแจ้งผลให้ผู้ตายทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ตายได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 2545 อันเป็นเวลาภายในกำหนด 30 วัน ก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการปฏิเสธการขอเอาประกันหรือการแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกัน ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยได้ปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันให้ผู้ตายทราบภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน สัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงมีผลใช้บังคับเมื่อสิ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตาย คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 0.01 นาฬิกา เป็นต้นไป การที่จำเลยมีหนังสือต่อมาอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ปฏิเสธการรับประกันและคืนเงินค่าเบี้ยประกันไปยังผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากวันที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้วย่อมไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นผลไปได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุจมน้ำตายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 23 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18117/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น: ไม่ใช่ข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ
โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอส่วนหนึ่งให้เพิกถอนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวาระที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 อันเป็นการไม่ชอบ เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 ซึ่งบัญญัติว่า "การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้วให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย..." จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า การประชุมและลงมติวาระตามฟ้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ในการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าว ศาลต้องพิจารณาว่ามีเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1195 ที่ศาลจะเพิกถอนมติที่ประชุมอันผิดระเบียบนั้นหรือไม่อันเป็นเรื่องระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทโดยไม่ต้องพิจารณาข้อตกลงในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด คำฟ้องและคำขอบังคับในส่วนนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทตามสัญญาผู้ถือหุ้นซึ่งโจทก์จะต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามสัญญาผู้ถือหุ้นเสียก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีในส่วนนี้
of 90