คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิรุฬห์ แสงเทียน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 895 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18011/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีและการรับฟังพยานหลักฐานสัญญาเช่าซื้อ: การมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และการโต้แย้งสัญญา
ตามหนังสือรับรองโจทก์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า พ. เป็นกรรมการคนที่ 5 มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัทผูกพันโจทก์ เมื่อพิจารณาประกอบหนังสือมอบอำนาจซึ่งระบุให้ ท. และ อ. ฟ้องคดีและมีอำนาจมอบอำนาจช่วง และมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2547 จนกว่าจะได้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่นำสืบให้ได้ความว่าหนังสือมอบอำนาจได้ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเป็นอย่างอื่น เช่นนี้ย่อมฟังได้ว่า พ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และทำหนังสือมอบอำนาจให้ ท. และ อ. ฟ้องคดีต่อมา ท. และ อ. ทำหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ อ1. หรือ ศ. เป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ โดยไม่จำต้องนำสืบหนังสือรับรองโจทก์ที่นายทะเบียนออกให้ ณ วันฟ้องว่า พ. ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อีก โจทก์มีอำนาจฟ้อง
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ คงให้การต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องและค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเท่านั้น ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่าทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ไม่มีการโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ที่จำเลยทั้งสองเพิ่งมายกขึ้นอ้างในฎีกาว่าโจทก์มิได้ส่งสำเนาแบบคำขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินของสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันให้ก่อนสืบพยานและเอกสารดังกล่าวมิใช่ต้นฉบับจึงต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังนั้น เป็นฎีกาที่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16999/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันชีวิตแยกฉบับ-ความรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทน: ข้อเท็จจริงในคดีก่อนไม่ผูกพันคดีหลัง, การพิสูจน์เจตนาของผู้เอาประกัน
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า แม้สัญญาประกันชีวิตที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนและสัญญาประกันชีวิตที่ฟ้องคดีนี้ทำขึ้นในวันเดียวกันและรวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน แต่ก็เป็นสัญญาแยกต่างหากจากกันได้เพราะมิได้มีกฎหมายใดกำหนดให้สัญญาประกันชีวิตแบบพิเศษในคดีนี้เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาประกันภัยแบบสะสมทรัพย์ในคดีก่อน สัญญาประกันชีวิตแต่ละฉบับมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองทั้งสัญญาก็แยกคนละฉบับและเงื่อนไขแยกจากกัน ถือได้ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ดังนี้ แม้ประเด็นแห่งคดีที่ศาลต้องวินิจฉัยทั้งสองคดีมีว่า ผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงและจำเลยบอกล้างสัญญาแล้วจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ก็เกิดจากสัญญาประกันชีวิตคนละฉบับซึ่งมีข้อกำหนดและเงื่อนไขแยกจากกัน ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีก่อนจึงไม่ผูกพันคู่ความในคดีนี้
ป. ไปพบแพทย์หญิง ศ. ที่คลีนิกเพื่อรักษาอาการไอและเป็นไข้ ผลตรวจและเอกซเรย์ปอดพบว่า ป. มีอาการหลอดลมอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนที่ ป. ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพราะต้องได้รับยาฉีดและดูอาการ แสดงว่าโรคที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียทำให้หลอดลมอักเสบมิใช่โรคที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียทำให้เป็นโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องนอนพักรักษาอาการในโรงพยาบาล ส่วนแผลเป็นและก้อนเนื้อที่ปอดเป็นมานานมากแล้ว แพทย์หญิง ศ. ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นวัณโรค ผลตรวจเสมหะไม่พบเชื้อโรค ทั้งไม่มีการตรวจปอดว่าแท้จริงแผลเป็นและก้อนเนื้อที่ปอดเป็นเพราะสาเหตุใด เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตหรือไม่ ป. ตายด้วยโรคโลหิตเป็นพิษและความดันโลหิตต่ำ มิใช่เป็นผลจากแผลเป็นและก้อนเนื้อในปอด ถือไม่ได้ว่าขณะที่ ป. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย ป. รู้อยู่แล้วแต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยความจริงซึ่งอาจจะจูงใจให้จำเลยเรียกเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นหรือบอกปัดไม่ทำสัญญา หรือ ป. รู้อยู่แล้วแต่แถลงข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง
คำสั่งนายทะเบียนที่ 13/2541 ข้อ 1 ระบุว่า เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยที่เพิ่มเติมตามคำสั่งนี้ให้รวมถึงผู้เอาประกันภัยที่บริษัทได้รับประกันภัยไว้ก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับด้วย ฉะนั้น บันทึกสลักหลังแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยตามคำสั่งฉบับดังกล่าวจึงใช้บังคับกับสัญญาประกันชีวิตก่อนวันที่คำสั่งมีผลใช้บังคับด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16994/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจ, สัญญาเช่าซื้อ, ค่าขาดประโยชน์, อายุความ, การมีส่วนผิด
ในขณะที่ ศ. และ อ. ร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. กระทำการต่าง ๆ รวมทั้งอำนาจลงลายมือชื่อทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ ศ. และ อ. ยังเป็นกรรมการของโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ช. ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้แทนโจทก์ได้ตลอดไป
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์รายเดือนที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิด ตามปกติย่อมคิดเทียบได้กับดอกเบี้ยซึ่งผู้ให้เช่าซื้อคิดรวมไว้ล่วงหน้าตามจำนวนปีหรืองวดที่ผ่อนชำระจากราคารถที่เช่าซื้อที่แท้จริง เพราะเงินส่วนนี้คือส่วนที่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไปในแต่ละเดือน รถที่เช่าซื้อเป็นรถเทรลเลอร์ดั๊มเป็นตัวพ่วงไม่มีเครื่องยนต์ การใช้งานจะนำรถเทรลเลอร์ดั๊มไปพ่วงกับรถบรรทุก รถที่เช่าซื้อมิใช่รถยนต์รับจ้างทั่วไปที่อาจนำรถออกไปทำธุรกิจให้บุคคลทั่ว ๆ ไปเช่าเป็นรายเดือนได้ทุกเดือนดังที่โจทก์บรรยายฟ้องมา และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการกลับปล่อยปละละเลยไปนานร่วม 5 ปีเศษ จึงไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายตลอดเวลาจนกว่าจะได้รถที่เช่าซื้อคืน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็สามารถผ่อนปรนความเสียหายโดยการรีบส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ได้ แต่เมื่อโจทก์ละเลยไม่รีบดำเนินการใด ๆ ตามข้อสัญญาภายในเวลาอันควรโดยไม่ปรากฏเหตุข้อจำเป็นหรือเหตุขัดข้องประการอื่นแล้ว ถือว่าโจทก์มีส่วนผิดเช่นกัน การกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดประโยชน์นานถึง 69 เดือน ย่อมทำให้โจทก์จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่ากรณีที่ปฏิบัติตามสัญญาเสียอีก เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้จากการเช่าซื้อและราคารถที่ขายได้ เห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เป็นเวลา 24 เดือน
ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16386/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากผู้ประมาทเลินเล่อในอุบัติเหตุทางรถยนต์
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ตามสัญญาประกันภัยต้องชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่ ว. ผู้นั่งโดยสารรถคันที่โจทก์รับประกันภัย แล้วรับช่วงสิทธิของ ว. มาไล่เบี้ยเอาจากผู้ต้องรับผิดจากการที่รถเกิดเฉี่ยวชนกัน เมื่อเหตุที่รถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันและจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้ ว. เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของ ว. มาเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 25,000 บาท กรณีนี้มิได้นำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 มาใช้บังคับกับ ว. แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16379/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของและตัวแทน: ความรับผิดของตัวการในผลละเมิดของตัวแทน
สัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่จำเลยร่วมยังมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองและบุคคลอื่นด้วย เพียงแต่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนตน ตามข้อความในสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีที่นอกจากจำเลยร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 นั้นก็ยังอยู่ในอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1 ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยร่วมทราบและต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบอำนาจของจำเลยร่วมที่มอบหมายให้ทำการแทน หากจำเลยร่วมทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รับเอาการงานของจำเลยร่วมไปทำโดยเด็ดขาดและอิสระ ดังนั้น ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำแทนนั้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนด้วย สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงมีทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาตัวแทนรวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องใด เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบของคู่ความเข้ากับบทกฎหมายที่ถูกต้องเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16378/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของบริษัทขนถ่ายสินค้าต่อความเสียหายจากการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักไม่สมดุล
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ความเสียหายเกิดจากลักษณะและน้ำหนักของสินค้า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ความเสียหายเกิดจากสินค้ามีน้ำหนักไม่สมดุลและเหวี่ยงตัวเองในขณะแขวนอยู่ในลวดสลิง จึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ แม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 4 มีวิชาชีพเฉพาะในการขนถ่ายสินค้าเพื่อขนส่ง หากพนักงานของจำเลยที่ 4 เห็นว่ารถบรรทุกของจำเลยที่ 2 ไม่เหมาะที่จะใช้บรรทุกสินค้าแล้วต้องปฏิเสธไม่ให้ใช้รถดังกล่าว จะอ้างว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ขนถ่ายสินค้ามิได้เพราะพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้มีความชำนาญการในการขนถ่ายสินค้าเช่นพนักงานของจำเลยที่ 4 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 4 ทราบอยู่แล้วว่าการขนถ่ายสินค้าไม่น่าจะดำเนินการได้โดยปลอดภัย แต่ก็ยินยอมขนถ่ายสินค้าให้จนเกิดความเสียหาย กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15978/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิด vs. ประกันภัย: การกำหนดอายุความที่ถูกต้องสำหรับลูกหนี้ร่วม
การวินิจฉัยว่าคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงก่อนว่าวันที่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องอันเป็นวันเริ่มนับอายุความนั้น เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่าคดีโจทก์ที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อฎีกาของโจทก์ที่ 2 เป็นฎีกาที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา เมื่อโจทก์ที่ 2 เรียกให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 90,000 บาท ซึ่งทุนทรัพย์ระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นมูลหนี้ที่แบ่งแยกจากกันได้ คดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ภายหลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวนว่ามิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท แสดงว่าโจทก์ทั้งสองทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทก่อให้เกิดเหตุในคดีนี้ ทั้งในวันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองได้พบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองที่สถานีตำรวจภูธรหนองแค โจทก์ทั้งสองจึงทราบถึงตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 โจทก์ที่ 1 ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางละเมิดต่อจำเลยทั้งสามได้นับแต่วันดังกล่าว โดยไม่จำต้องรอให้ศาลในคดีส่วนอาญามีคำพิพากษาว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นฝ่ายกระทำโดยประมาทแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงขาดอายุความ
ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง จะนำอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับจำเลยที่ 3 มิได้ เหตุเกิดวันที่ 11 สิงหาคม 2544 โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีวันที่ 12 มีนาคม 2546 คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงไม่ขาดอายุความ ทั้งโจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ละคนต้องชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ทั้งสองโดยสิ้นเชิงเพียงครั้งเดียว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 ซึ่งมาตรา 295 บัญญัติให้กำหนดอายุความของลูกหนี้ร่วมคนใด ก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนี้ แม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยได้ขาดอายุความไปแล้วก็เป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น หามีผลถึงจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไม่ และการที่คดีขาดอายุความสำหรับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เหตุทำให้หนี้ดังกล่าวระงับไป ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ 1 ปี ยกฟ้องถึงจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยด้วยนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ปัญหาข้อที่ว่าจะใช้บทบัญญัติอายุความละเมิดหรืออายุความประกันวินาศภัยมาใช้บังคับนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีประกันภัย: นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยรู้ตัวผู้ละเมิด ไม่ใช่วันที่ผู้รับประกันภัยรู้
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15438-15440/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการตัวแทน ละเมิดจากรถชน: ทายาทต้องรับผิดในผลละเมิดของตัวแทน
ป. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะพา ป. ไปทำธุรกิจที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดย ป. นั่งไปด้วย ย่อมถือได้ว่า ป. เป็นตัวการ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของ ป. ในกิจการนี้โดยปริยาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะไปชนรถแท็กซี่เป็นเหตุให้ ป. กับ ส. ถึงแก่ความตาย และโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยที่ 1 จึงทำละเมิดภายในขอบอำนาจของตัวแทน ป. ซึ่งเป็นตัวการต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำไป จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของ ป. เป็นทายาทโดยธรรมต้องร่วมรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15433/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ: ผลของการสละประโยชน์จากหนังสือบอกกล่าวทวงถาม และการชำระหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดที่ 16 ถึง 18 ภายใน 10 วัน หากเพิกเฉยขอถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 รับหนังสือวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 22 มิถุนายน 2546 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระย่อมถือว่าสัญญาเลิกกัน แต่หลังจากโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามอีกฉบับ เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างเบี้ยปรับและค่าติดตามภายใน 10 วัน หากไม่ชำระจะถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 อีก เท่ากับโจทก์สละประโยชน์จากเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถามในฉบับแรก โดยโจทก์จะถือเอาเงื่อนไขตามการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญาในฉบับที่สองแทน เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินค่างวดที่ 17 และ 18 ไปวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จึงเป็นการวางเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามกำหนด โดยจำเลยที่ 1 มีเหตุจำเป็นและสมควรที่จะต้องวางทรัพย์แทนการนำไปชำระหนี้ที่ภูมิลำเนาของโจทก์เพราะมีปัญหาการชำระหนี้ก่อนหน้าว่าเป็นค่าเช่าซื้อหรือเบี้ยปรับ จึงถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ยอดเงินจะไม่ครบถ้วนตามหนังสือบอกกล่าวโดยขาดเงินเบี้ยปรับและค่าติดตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเบี้ยปรับและค่าติดตามมา ดังนั้น จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาและตามสิทธิที่โจทก์อ้างมาก่อนครบกำหนดหนังสือบอกเลิกสัญญา ฉบับหลังแล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เลิกกัน
ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดสองงวดติดต่อกันโดยมิต้องบอกกล่าวก่อนตามสัญญาข้อ 12 วรรคสอง นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การเลิกสัญญามีผลเมื่อครบกำหนดเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถาม โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือคัดค้านปัญหานี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
of 90