คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิรุฬห์ แสงเทียน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 895 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7257/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความสัญญาจำนอง: หนี้ที่ค้ำประกันรวมด้วยหรือไม่? ศาลพิจารณาเจตนาจริงและหลักการคุ้มครองลูกหนี้
ปัญหาเกี่ยวกับการตีความการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร และตามมาตรา 11 กรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยไม่ได้ระบุให้รวมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลยไว้ชัดแจ้งในสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองทั้งที่อยู่ในวิสัยทำได้ ดังนั้น คำว่า "หนี้และภาระผูกพันทุกลักษณะและทุกประเภท" ตามสัญญาจำนองจึงหมายถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยโดยตรงในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7109/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยค้ำจุน: ความรับผิดของผู้รับประกันภัยแม้ผู้เอาประกันภัยขาดอายุความฟ้อง
ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ เมื่อเหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่ อ. ผู้ตาย จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครองและเป็นผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 ขับ ไว้กับจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชอบด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 เพราะฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความมิใช่ยกฟ้องเพราะจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7106/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-อายุความ-ความรับผิดทางละเมิด: ศาลแก้ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า ผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องให้เห็นแล้วว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 93 - 3064 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ หลังเกิดเหตุตัวแทนของจำเลยที่ 2 มาที่เกิดเหตุและตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยออกหลักฐาน (ใบเคลม) โดยตัวแทนของจำเลยที่ 2 ระบุเลขกรมธรรม์ 1 - 45 - 2164 ให้แก่โจทก์ในวันเกิดเหตุตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามหลักฐานเอกสารใบตรวจสอบรายการความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ออกให้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของผู้ขับรถที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ให้การโต้แย้งฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบดีถึงเหตุที่เกิดตลอดจนนิติสัมพันธ์ที่จำเลยที่ 2 มีต่อรถบรรทุกคันเกิดเหตุจึงได้ส่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ คำฟ้องโจทก์จึงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาหรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด เหตุเกิดวันที่ 21 เมษายน 2545 เดิมโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงพระนครเหนือวันที่ 13 กันยายน 2545 ภายในกำหนดอายุความ ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งรับฟ้องและส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2546 จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณา เป็นกรณีที่ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลภายหลังจากที่คดีขาดอายุความแล้ว เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด โดยศาลแขวงพระนครเหนือไม่จำต้องมีคำสั่งว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้ภายในหกสิบวันนับแต่คำสั่งศาลแขวงพระนครเหนือถึงที่สุดชอบแล้ว
ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณา จึงเป็นกรณีที่ศาลแขวงพระนครเหนือยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดีแต่อย่างใด ที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้ใหม่ต่อศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์นำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการของรถที่โจทก์ใช้อยู่ ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ผู้ได้รับความเสียหายที่จะกระทำได้ จำเลยที่ 2 จะบังคับให้โจทก์ไปซ่อมรถที่อู่ทั่วไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ 2 หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6690-6692/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานกระทำผิดร้ายแรง: การทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมงานนอกสถานที่ทำงาน แต่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในที่ทำงาน
แม้ จ. จะได้รับบาดเจ็บที่บริเวณดวงตาข้างซ้ายและลำตัวมีรอยฟกช้ำโดยสามารถไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้นและเหตุทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นหลังเวลาเลิกงานและนอกสถานที่ทำงานก็ตาม แต่สาเหตุที่โจทก์ทั้งสามกับ ภ. ร่วมกันทำร้าย จ. ก็เนื่องจากไม่พอใจ จ. เกี่ยวกับการทำงานและในที่ทำงาน หลังเลิกงานโจทก์ทั้งสามกับ ภ. ไปดักทำร้าย จ. ขณะลงจากรถรับส่งพนักงานของจำเลย อันมีลักษณะร่วมกันรุมทำร้าย จ. ฝ่ายเดียวและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันจากภายในที่ทำการของจำเลย ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ทั้งขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสาม ภ. และ จ. ยังคงสวมเครื่องแบบพนักงานของจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามร่วมกันทำร้ายร่างกาย จ. อย่างอุกอาจไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย เป็นการกระทำต่อเพื่อนพนักงานด้วยกันในเรื่องที่มีสาเหตุจากการทำงานต่อหน้าเพื่อนพนักงานที่มากับรถรับส่งพนักงานของจำเลย อันเป็นการทำให้เสียภาพพจน์และทำให้ยุ่งยากในการปกครองบังคับบัญชาพนักงานในองค์กรของจำเลย การกระทำของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5372/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระการพิสูจน์ในสัญญาประกันภัย: จำเลยปฏิเสธสิทธิของผู้อ้างสิทธิ ทำให้โจทก์ต้องพิสูจน์สิทธิของตนเอง
คำฟ้องโจทก์อ้างสิทธิที่เกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับ ศ. ผู้เอาประกันภัย จำเลยให้การต่อสู้ว่า ศ. มิได้เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ หรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันที่เอาประกันภัยกับโจทก์ ซึ่งเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งปฏิเสธว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับ ศ. ไม่มีผลผูกพันตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์โดยมิได้อ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อให้พ้นความรับผิด เช่นนี้ เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง โจทก์จึงมีภาระในการพิสูจน์ หาใช่ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5010/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ และการใช้สิทธิซื้อรถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ โจทก์อาจลงลายมือชื่อโดยกรรมการของโจทก์ตามที่ได้กำหนดในหนังสือรับรองของโจทก์หรือโจทก์อาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นลงลายมือชื่อทำสัญญาแทนได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์สามารถนำสืบได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้นทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนโจทก์ ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง
แม้เนื้อหาของหนังสือแจ้งให้สิทธิซื้อรถยนต์ไม่มีข้อความว่าเพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ก็ไม่พอที่จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4702/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนลูกจ้าง: การตายจากโรคประจำตัว ไม่ใช่จากลักษณะงาน
ป. เป็นลูกจ้างของจำเลย ทำหน้าที่ขับรถรับส่งบุตรหลานพนักงานของจำเลย ป. ถึงแก่ความตายขณะปฏิบัติหน้าที่ในที่ทำการของจำเลย
ป. มีโรคประจำตัวคือภาวะความดันโลหิตสูง มีน้ำตาลในปัสสาวะ ไขมันในเลือดสูง และหัวใจห้องล่างซ้ายโต โดยเฉพาะหัวใจห้องล่างซ้ายโตเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงที่ทำให้หัวใจหยุดทำงานเฉียบพลันได้ ใบแจ้งการตายระบุสาเหตุการตายว่าหัวใจหยุดทำงานฉับพลัน ทั้งลักษณะงานของ ป. มีเพียงขับรถรับส่งบุตรหลานพนักงานของจำเลยไปโรงเรียนเท่านั้น ไม่ใช่งานที่ต้องใช้กำลังแรง ไม่อาจทำให้เกิดโรคหรือเจ็บป่วยถึงตายได้ สาเหตุการตายจึงเกิดจากโรคประจำตัวของ ป. ไม่ได้เกิดด้วยโรคซึ่งเกิดตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นภรรยาของ ป.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับบริษัท และอำนาจฟ้องของผู้ถือหุ้น/กรรมการ
ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้าน โดยไม่มีการขอเรียกประชุมจากจำนวนผู้ถือหุ้นครบตามข้อบังคับ ไม่มีคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้น ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเพียงว่า ได้ส่งหนังสือเรียกประชุม และแจ้งทางโทรศัพท์แก่กรรมการทุกคนแล้ว มิได้คัดค้านโดยชัดแจ้งเลยว่าการประชุมดังกล่าวมิใช่การประชุมผู้ถือหุ้นแต่เป็นเพียงการประชุมคณะกรรมการผู้คัดค้าน ซึ่งไม่ต้องดำเนินการส่งคำบอกกล่าวต่อผู้ถือหุ้นตามข้อบังคับของผู้คัดค้าน คดีจึงไม่มีประเด็นว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมคณะกรรมการบริษัทผู้คัดค้านหรือไม่
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแม้ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านจึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้
ป.พ.พ. มาตรา 1195 บัญญัติว่า การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามฟ้องเป็นการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น การที่ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ หรือส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้าน ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดุลพินิจศาลในการเรียกบุคคลภายนอกเข้าเป็นจำเลยร่วม: พิจารณาความสะดวกในการพิจารณาคดี
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) จะเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่คู่ความในคดีที่จะขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่า ศาลจะต้องอนุญาตตามคำร้องขอในทุกกรณี ศาลย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่า สมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือไม่เรียกเข้ามาในคดี หากจะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา หากศาลไม่อนุญาตให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี คู่ความที่ยื่นคำร้องขอก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลภายนอกดังกล่าวเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีนี้ได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมรับผิดตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียก ศ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้รับผิดต่อโจทก์ เนื่องจาก ศ. เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ตัวแทนทำไว้กับโจทก์ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าไม่สะดวกแก่การพิจารณาเพราะต้องตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเดิม จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องว่ากล่าวกับ ศ. โดยเฉพาะ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องจึงเป็นดุลพินิจในการพิจารณาสั่งคดีของศาลชั้นต้นที่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย ไม่มีเหตุให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี การคิดดอกเบี้ยผิดนัด และการหักชำระหนี้
จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาอายุความขึ้นแล้ววินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกินห้าปีจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 183 ถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ปัญหานี้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในฎีกาโดยตรง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 จากนั้นไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่าธนาคารยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีก คงมีแต่ในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ธนาคารได้นำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้เท่านั้น โดยมีการหักทอนบัญชีกันตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2536 แสดงให้เห็นเจตนาของธนาคารและจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป สัญญาจึงเลิกกันโดยปริยายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2536
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด แม้สัญญาจะระบุให้ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยก็หมายความถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกได้จากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจะระบุให้คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็เป็นการให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าที่คิดตามปกติเท่านั้น ส่วนจะปรับได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสัญญานั้นว่ามีข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้จึงต้องตีความข้อตกลงในสัญญาอย่างเคร่งครัด เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้สูงสุดในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ผิดนัดเท่านั้น
of 90