คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิรุฬห์ แสงเทียน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 895 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3657/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: หนังสือเตือนครั้งสุดท้ายและพฤติการณ์ฝ่าฝืนคำสั่งซ้ำ
หนังสือเตือนทั้งสองฉบับในการกระทำความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มีข้อความว่า "ลงโทษโดยเตือนเป็นครั้งสุดท้าย" วิญญูชนย่อมเข้าใจว่าเป็นข้อความเตือนไม่ให้กระทำผิดในประเภทเดียวกันซ้ำอีก ทั้งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุว่าโทษลำดับถัดจากการเตือนเป็นครั้งสุดท้ายคือการเลิกจ้าง โจทก์ย่อมเข้าใจได้ว่าหากกระทำผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซ้ำอีกโจทก์อาจถูกลงโทษสถานหนักโดยการเลิกจ้าง เมื่อโจทก์กระทำผิดในเรื่องเดียวกันซ้ำอีกภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์กระทำผิดตามหนังสือเตือน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3656/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินประกันสังคมกรณีเสียชีวิต: ทายาทตามกฎหมายพิเศษ vs. ทายาทโดยธรรม
เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายนั้น พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้บัญญัติให้จ่ายแก่บุคคลตามมาตรา 73 (2) และทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 77 จัตวา ตามลำดับ เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว อีกทั้งประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายได้มาเนื่องจากความตายหรือได้มาภายหลังที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ประกันตนโดยแท้ ไม่เป็นทรัพย์มรดก
โจทก์เป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ประกันตน ไม่ใช่บุคคลและทายาทผู้มีสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2), 77 จัตวา จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3528/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและดอกเบี้ยค่าชดเชย/วันหยุดพักผ่อนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
ระยะเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 6 อายุความ
ดอกเบี้ยของค่าชดเชยและดอกเบี้ยของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อจำเลยที่ 1 มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยไม่กล่าวถึงดอกเบี้ย จำเลยร่วม (ลูกจ้าง) ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอันเป็นหนี้ประธาน
เงินบำเหน็จและเงินรางวัลประจำปีไม่ใช่เงินอย่างใดอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ที่พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจวินิจฉัยออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 124 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างฟ้องศาลได้ภายในกำหนดอายุความ ไม่อยู่ภายใต้กำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายใน 30 วัน ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสอง (นายจ้าง) ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 อ้างเหตุว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง จำเลยร่วม (ลูกจ้าง) ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ทั้งสองจ่ายเงินรางวัลประจำปีให้แก่ตน เป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ให้ ก.พนักงานของโจทก์ที่ 1 ไปรับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองย่อมทราบดีว่ามีคำสั่งของจำเลยที่ 1 มาถึงตน การที่ ก. รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แต่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ลงทะเบียนรับคำสั่งในวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเหตุที่เจ้าหน้าที่นำคำสั่งมามอบให้ล่าช้าโดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอื่นมาเป็นเหตุปฏิเสธว่าไม่ทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 กรณีถือว่าโจทก์ทั้งสองทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แล้ว โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีวันที่ 16 มิถุนายน 2549 จึงเกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3488/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีตั๋วสัญญาใช้เงินหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ & ดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์มีตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ในครอบครองเนื่องจาก บริษัท อ. สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลับมาให้โจทก์เพราะโจทก์ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทนั้นแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะรับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและใช้เงินให้แก่บริษัท อ. หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ แต่ก็ได้ความจาก พ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่งตั้ง ช. เป็นประธานกรรมการของโจทก์ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และหลังจากนั้นองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเคยมีหนังสือแจ้งไปยังประธานกรรมการโจทก์ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้ของโจทก์ การดำเนินกิจการของโจทก์หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการจึงเป็นการเข้าดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน การดำเนินกิจการของโจทก์ดังกล่าวจึงหาเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกระทรวงการคลังไม่
คำสั่งกระทรวงการคลังให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ เป็นคำสั่งที่ใช้บังคับแก่โจทก์โดยเฉพาะมิได้ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป การดำเนินการของโจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. และกระทรวงการคลังที่จะต้องว่ากล่าวกัน หาได้กระทบกระเทือนต่อฐานะความเป็นคู่สัญญาผู้ขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ 1 และฐานะความเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หาทำให้สัญญาขายลดตั๋วเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกตั๋วระงับหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ ทั้งไม่ได้ความว่าการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล เท่ากับการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เป็นไปโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้เงินตามตั๋ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้
สัญญาขายลดตั๋วเงิน มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่โจทก์ประกาศกำหนด โดยโจทก์อ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลดสูงสุด และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีของโจทก์ และหนังสือขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แสดงให้เห็นว่า ขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ไม่ได้เขียนข้อความกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไว้ แต่ ป.พ.พ. มาตรา 968 (2) ประกอบมาตรา 985 บัญญัติให้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ กทช. ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม
โครงข่ายโทรคมนาคมตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มีความหมายว่า "กลุ่มของเครื่องโทรคมนาคมที่ต่อถึงกันโดยตรง หรือโดยผ่านเครื่องชุมสายหรือเครื่องอื่นใด เพื่อการโทรคมนาคมระหว่างจุดหมายปลายทางที่กำหนดด้วยระบบสาย ระบบคลื่นความถี่ ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้าอื่น ระบบใดระบบหนึ่งหรือหลายระบบรวมกัน" กิจการโทรคมนาคมตามบทนิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุมีความหมายว่า "กิจการซึ่งให้บริการส่ง การแพร่หรือการรับเครื่องหมาย สัญญาณ ตัวหนังสือ ตัวเลข ภาพ เสียง รหัส หรือการอื่นใด ซึ่งสามารถให้เข้าใจความหมายได้โดยระบบสาย ระบบคลื่นความถี่ ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้าอื่น หรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบรวมกัน หรือกิจการโทรคมนาคมตามที่มีกฎหมายบัญญัติหรือตามที่คณะกรรมการร่วมกำหนดให้เป็นกิจการโทรคมนาคม" การประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 คือ การให้บริการส่งตัวหนังสือ ตัวเลข หรือภาพ ทางโทรสารไปยังผู้รับในต่างประเทศ โดยจำเลยที่ 1 นำเครื่องมือ Auto Dialer ไปติดตั้งเชื่อมต่อกับสายโทรศัพท์และโทรสารของลูกค้าที่สมัครเป็นสมาชิก เมื่อสมาชิกใช้บริการจะต้องกดหมายเลขโทรศัพท์ 001 ซึ่งเป็นหมายเลขรหัสโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศของการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ตามด้วยหมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับในต่างประเทศ เครื่องมือ Auto Dialer จะส่งสัญญาณไปยังเครื่องมือ Server ของจำเลยที่ 1 เพื่อแปลงสัญญาณเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แล้วส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไปยังเครื่องโทรศัพท์และโทรสารของผู้รับในต่างประเทศ ถือว่าเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามความหมายในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 เครื่องมือ Auto Dialer และเครื่องมือ Server ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มของเครื่องโทรคมนาคมที่ต่อถึงกันโดยผ่านเครื่องชุมสายโทรศัพท์ เพื่อแปลงสัญญาณโทรสารเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แล้วส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไปยังเครื่องโทรศัพท์และโทรสารของผู้รับในต่างประเทศก็ถือได้ว่าเป็นโครงข่ายโทรคมนาคมตามความหมายในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการให้บริการส่งโทรสารไปยังผู้รับในต่างประเทศโดยลูกค้าผู้ใช้บริการจะต้องสมัครเป็นสมาชิกซึ่งจำเลยที่ 1 เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้และมีลูกค้าเป็นสมาชิกถึงประมาณ 500 ราย ผลการประกอบกิจการนับแต่ปี 2546 จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2548 ปรากฏว่ามีรายได้มากถึงประมาณ 11,000,000 บาท บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการแก่บุคคลทั่วไปจำนวนมากโดยไม่จำกัดจำนวนลูกค้าที่ต้องการสมัครเป็นสมาชิก จึงเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองและต้องได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามตามมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
มาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 กำหนดให้สิทธิแก่การสื่อสาร แห่งประเทศไทยและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในการที่จะประกอบกิจการโทรคมนาคมต่อไปในระหว่างเวลาที่ กทช. ยังไม่ออกใบอนุญาตให้ จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้รับสิทธิตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวเช่นเดียวกับหน่วยงานทั้งสองย่อมจะต้องหยุดประกอบกิจการโทรคมนาคมไว้ก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้ง กทช. และจำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตจาก กทช. แล้ว พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยังประกอบกิจการโทรคมนาคมต่อไปนับแต่วันที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ใช้บังคับโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กทช. บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ย่อมจะต้องระวางโทษเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3296/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจจำหน่ายคดีหลังสิทธิใช้ดุลพินิจ: การเปลี่ยนแปลงคำร้องหลังดำเนินกระบวนพิจารณา
พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีกองทุนฟื้นฟูหรือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจแห่งใดแห่งหนึ่งหรือรวมกันเป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วโอนสินทรัพย์ที่จัดเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 ทั้งหมดให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยภายในเวลาที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยกำหนด และวรรคหก บัญญัติว่า "สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ต้องโอนมาตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลโดยศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาด้วย โดยให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เว้นแต่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจะยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่น..." แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นบทบังคับให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในคดีที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลโดยศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ให้สิทธิแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่จะยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่นตามมาตรา 30 วรรคหก ตอนท้าย และเมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยใช้สิทธิตามข้อยกเว้นดังกล่าว ศาลก็ไม่อาจใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามคำร้องขอของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย สำหรับคดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยก็ได้ใช้สิทธิตามข้อยกเว้นนี้ โดยการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามความประสงค์ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยแล้ว เช่นนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปให้แล้วเสร็จ ศาลชั้นต้นไม่อาจย้อนกลับไปใช้อำนาจจำหน่ายคดีได้อีกเพราะอำนาจในการจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมดไปนับแต่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามข้อยกเว้นนี้แล้ว หากให้ศาลชั้นต้นย้อนกลับไปใช้อำนาจจำหน่ายคดีได้อีกย่อมมีผลเท่ากับเป็นการเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเองที่ได้ดำเนินไปโดยชอบตามคำร้องขอของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยก่อนหน้านี้อันเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามคำร้องของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งสำเนาคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดีให้จำเลยที่ 3 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 อีก เพราะไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใดก็ไม่อาจทำให้ผลแห่งคำพิพากษาคดีนี้เปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องกำจัดหุ้นส่วนออกจากห้างหุ้นส่วนจำกัด กรณีล่วงละเมิดสัญญาหุ้นส่วน และเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 1058 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง ซึ่งตามความในมาตรา 1057 หรือมาตรา 1067 เป็นเหตุให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นมีสิทธิจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ไซร้ ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นยื่นคำร้อง ท่านว่าศาลจะสั่งให้กำจัดหุ้นส่วนผู้ต้นเหตุคนนั้นออกเสียจากห้างหุ้นส่วนแทนสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนก็ได้" กับมาตรา 1057 บัญญัติว่า "ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจสั่งให้หุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้คือ (1) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง (2) เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้อีก (3) เมื่อมีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้" บทบัญญัติสองมาตราดังกล่าวนี้ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนแทนการให้เลิกห้าง จึงได้กำหนดในมาตรา 1058 วรรคหนึ่ง ให้ชัดแจ้งว่าศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนแทนการเลิกห้างเพื่อคุ้มครองผู้เป็นหุ้นส่วนอันจะส่งผลก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โจทก์ทั้งหกบรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งเป็นสัญญาหุ้นส่วน ตามมาตรา 1057 (1) คือ จำเลยได้ยักยอกเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ไป และโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ดังนี้ เมื่อการปรับใช้กฎหมายพึงต้องอนุวัตให้ต้องตามเจตนารมณ์ที่บัญญัติกฎหมายนั้นจึงไม่มีเหตุที่จะแปลกฎหมายในทางที่ไม่ให้อำนาจผู้เป็นหุ้นส่วนขอให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นที่เป็นเหตุให้เรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วนแทนการขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนแต่เพียงอย่างเดียว ผู้เป็นหุ้นส่วนจึงอาจมีคำขอให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นแทนการให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ ตามมาตรา 1058 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง
การที่หุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนฟ้องขอให้หุ้นส่วนอื่นออกจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเนื่องจากมีเหตุอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยหุ้นส่วนอื่นนั้น อันเป็นเหตุให้หุ้นส่วนที่ไม่ได้กระทำผิดนั้นมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาล กรณีจึงเป็นข้อพิพาทโดยตรงในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันโจทก์ทั้งหกจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ หาใช่มีข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนแต่อย่างใด และหากศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้หุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดออกจากห้างแล้ว การดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็สามารถดำเนินการได้โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นยื่นสำเนาคำพิพากษาต่อนายทะเบียนเพื่อดำเนินการต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2818/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาร่วมหุ้นไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน: ลักษณะการแบ่งผลกำไรและประกันผลกำไร ไม่ใช่ค่าจ้าง
สัญญาร่วมหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยข้อ 4 ระบุว่าคู่สัญญาตกลงแบ่งผลประโยชน์ในการดำเนินกิจการฝ่ายละครึ่งหนึ่งของผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละเดือน โดยจำเลยจะจ่ายเงินขั้นต่ำ 35,000 บาท ต่อเดือน ให้โจทก์ภายในวันที่ 15 ของแต่ละเดือนเพื่อเป็นประกันผลกำไรตามที่ได้ตกลงกันไว้เป็นระยะเวลา 28 เดือน และข้อ 6 ระบุว่าหากจำเลยผิดสัญญาข้อ 4 ในเดือนใดก็ตาม เงินที่ค้างจ่ายนั้นจะต้องยกยอดไปเดือนถัดไปบวกกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 หากจำเลยไม่จ่ายเงินประกันผลกำไรเป็นเวลาติดต่อกัน 3 เดือน ย่อมมีผลให้สัญญาร่วมหุ้นนี้สิ้นสุดลงทันที แสดงว่าเงินที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยในแต่ละเดือนมีลักษณะเป็นการแบ่งผลกำไรและประกันผลกำไร และเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสิ้นสุดลงของสัญญา มิได้มีลักษณะเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ใช่นายจ้างและลูกจ้างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจมอบอำนาจช่วง: การมอบอำนาจช่วงต่อเกินขอบเขตทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ตามหนังสือมอบอำนาจ โจทก์มอบอำนาจให้ อ. ดำเนินคดีแทนโจทก์ โดยระบุให้ อ. มีอำนาจทำการแทนโจทก์ในกิจการต่างๆ รวม 10 ข้อ โดยเฉพาะข้อ 10 ระบุว่า ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจช่วง และให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจเช่นเดียวกับผู้รับมอบอำนาจตามข้อ 1 ถึงข้อ 9 ทุกประการ อ. ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจแต่งตั้ง พ. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงเพื่อกระทำกิจการตามข้อ 1 ถึงข้อ 9 แทนโจทก์ได้ แต่ไม่มีอำนาจที่จะมอบอำนาจช่วงต่อได้ พ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจแต่งตั้ง ป. เป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ การที่ พ. แต่งตั้ง ป. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงต่อเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนาของโจทก์ที่แสดงไว้ การมอบอำนาจช่วงต่อให้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงกระทำนอกเหนือขอบอำนาจ ป. ผู้รับมอบอำนาจช่วงต่อไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้าง: การจ่ายเงินผ่านโจทก์ไม่ใช่ค่าจ้าง หากไม่มีอำนาจสั่งการ ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ประกันสังคม
ลักษณะงานของโจทก์ที่เกี่ยวกับแพทย์และพยาบาลที่โจทก์จัดหาเข้าไปดูแลยังสถานประกอบกิจการนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับการทำงานของแพทย์และพยาบาล แพทย์และพยาบาลจะไปหรือไม่ก็ได้ ไม่มีระเบียบเกี่ยวกับการลา เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่แพทย์และพยาบาลนั้นสถานประกอบการเป็นผู้จ่ายโดยจ่ายผ่านโจทก์ซึ่งจะหักเป็นค่าติดต่อแล้วจึงจ่ายส่วนที่เหลือให้แก่แพทย์และพยาบาล เงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับแพทย์และพยาบาลจึงไม่มีลักษณะเป็นนายจ้างลูกจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5
of 90