คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิรุฬห์ แสงเทียน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 895 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12458/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานเด็กที่สอบสวนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในชั้นศาล ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้
การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ อ. พยานซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี และบันทึกโดยไม่แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า อ. ให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การไว้จริง ศาลจึงรับฟังตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำให้การดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ และชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 226 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12456/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงท้ากันทางกฎหมาย: ผลผูกพันตามข้อตกลงและการพิจารณาตามจริง
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์และฎีกาว่า วิธีการตรวจสอบที่ตั้งของที่ดินพิพาทของนายอำเภอเขาค้อยังมีเหตุชวนให้น่าเคลือบแคลงสงสัยถึงความโปร่งใส และน่าจะมีการฉ้อฉลเกิดขึ้นในขั้นตอนดังกล่าวนั้น มิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าการตกลงท้ากันเกิดจากการฉ้อฉลของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (1) เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ จึงไม่ก่อสิทธิแก่โจทก์ที่จะฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมาอีก เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
เมื่อคู่ความตกลงท้ากันว่า ให้นายอำเภอเข้าค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตรวจสอบที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 1 ตามแผนที่วิวาทว่า ตั้งอยู่ในเขตตำบลแคมป์สนหรือตำบลทุ่งเสมอ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ หากนายอำเภอเขาค้อตรวจสอบแล้วที่ดินตั้งอยู่ในเขตแคมป์สน โจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยทั้งสองและยอมแพ้คดี แต่หากที่ดินตั้งอยู่ในเขตตำบลทุ่งสมอ จำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์และยอมแพ้คดี เมื่อนายอำเภอเขาค้อตรวจสอบที่ดินของจำเลยที่ 1 (แปลงหมายเลข 2) แล้วน่าเชื่อว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตตำบลแคมป์สน ย่อมมีลักษณะที่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงสมตามคำท้าของจำเลยทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตแคมป์สน โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า แม้นายอำเภอเขาค้อจะใช้คำว่า "น่าเชื่อว่า" ก็หาใช่เป็นเพียงความเห็นที่ยังมิได้เป็นตามเงื่อนไขตามคำท้า ในอันที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ตั้งของที่ดินและมีคำพิพากษาใหม่ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12032/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฝากยาเสพติดเพื่อรอจำหน่าย ไม่ถือเป็นการจำหน่าย แต่ผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย
การที่จำเลยฝากเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ด ไว้ที่ ช. โดยบอกว่าหากมีคนมาขอซื้อก็ให้แจ้งจำเลย แล้วจำเลยจะให้คนมารับ ไม่ใช่เป็นการ "ให้" ตามบทนิยามคำว่า "จำหน่าย" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงไม่เป็นการจำหน่าย แต่จำเลยคงเป็นตัวการผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้เพื่อจำหน่าย จำเลยจึงมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยจะต้องมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก่อนที่จะนำไปจำหน่าย ดังนั้น จึงลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11975/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานกระทำชำเราต้องมีเจตนาเพื่อสนองความใคร่ ฟ้องไม่ครบองค์ประกอบถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบ
ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนและเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง บัญญัติว่า "การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เห็นได้ว่า การกระทำชำเราผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำด้วย เช่นนี้การกระทำโดยมีเจตนาเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดดังกล่าว แต่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดฐานกระทำชำเราเพียงว่าจำเลยใช้นิ้วมือของจำเลยแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่การกระทำเพื่อสนองความใคร่โดยปกติทั่วไป เมื่อฟ้องโจทก์มิได้กล่าวว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาเพื่อสนองความใคร่ของจำเลยด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11837-11838/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินทดแทนกรณีสูญหายจากการทำงาน และอำนาจฟ้องของผู้รับผลประโยชน์ รวมถึงการคำนวณค่าทดแทน
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างคือ (3) บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ 18 ปี แต่ยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีให้ได้รับส่วนแบ่งเงินทดแทนต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ (4) บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย เป็นบทบัญญัติที่ถือเอาอายุ การศึกษา และความทุพพลภาพเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน โดยไม่ได้บัญญัติว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) (4) จึงต้องถือเอาความเป็นบุตรตามความเป็นจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11817/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฆ่าโดยบันดาลโทสะ ศาลลดโทษและรอการลงโทษ พิจารณาจากเหตุผลและภาระครอบครัว
โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ซึ่งความผิดดังกล่าวศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ กรณีจึงไม่มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72, 288

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11720/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาล่วงล้ำอำนาจปกครองและการกระทำอนาจารเด็ก ศาลพิพากษาตามบทลงโทษที่ถูกต้อง
แม้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปที่บ้านเกิดเหตุตามคำชักชวนของ ส. โดยจำเลยมิได้เป็นผู้ชักชวน แต่การที่จำเลยขับรถพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปที่บ้านเกิดเหตุตามคำขอของ ส. ในเวลากลางคืน จากนั้นจำเลยและ ส. ฉวยโอกาสลงมือกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ในเวลาและสถานที่เดียวกัน บ่งชี้ว่าจำเลยและ ส. มีเจตนาล่วงล้ำอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดแก่ผู้เสียหายแต่ละคนเป็น 4 กรรม แม้จำเลยจะกระทำความผิดต่อผู้เสียหายทั้งสี่ในคราวเดียวกัน แต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร 2 กรรม กับฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทอีก 2 กรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยครบทุกกรรมได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11479/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและการส่งตัวดำเนินคดีอาญาเมื่อมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน
ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดหรือเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องมีคุณสมบัติสำคัญว่าจะต้องไม่ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และผลการตรวจพิสูจน์ต้องเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จึงจะมีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หากภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 24 หรือถ้าผลการตรวจพิสูจน์ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานผลการตรวจพิสูจน์ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 22 วรรคสาม หรือในกรณีที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด รวมทั้งการส่งตัวกลับไปดำเนินคดีหากบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติ หรือแม้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ โดยให้อำนาจคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ หรือให้ศาลเป็นผู้พิจารณามีคำสั่งแล้วแต่ข้อเท็จจริงจะปรากฏในขั้นตอนใด โดยไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุว่า เมื่อศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 แล้ว ในการส่งตัวกลับไปดำเนินคดีเพราะเหตุขาดคุณสมบัติหรือเพราะเหตุอื่นจะต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งเท่านั้น ส่วนการพิจารณาสั่งของศาลตามมาตรา 24 เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลเอง หรือศาลได้รับแจ้งจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือพนักงานสอบสวนแล้วแต่กรณี การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดพิษณุโลกตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก จึงส่งตัวจำเลยไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11100/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเงินบำเหน็จเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและการสิ้นสุดสิทธิประโยชน์กรณีถูกลงโทษปลดออก
โรงงานยาสูบเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง (จำเลยที่ 1) ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มีระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 ต่อมาปี 2538 โรงงานยาสูบจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานยาสูบซึ่งจดทะเบียนแล้ว (จำเลยที่ 2) ขึ้น มีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ทำให้พนักงานยาสูบซึ่งเป็นพนักงานอยู่ก่อนการจัดตั้งจำเลยที่ 2 มีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 หรือสมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 แล้วจะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ระบุให้มีการโอนเงินกองทุนบำเหน็จพนักงานยาสูบที่สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 นำมาเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนของจำเลยที่ 2
โจทก์เป็นลูกจ้างของโรงงานยาสูบก่อนการจัดตั้งจำเลยที่ 2 โจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 เท่ากับโจทก์ยินยอมให้โรงงานยาสูบผู้เป็นนายจ้างโอนเงินกองทุนบำเหน็จของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการ จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจและหน้าที่จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีอำนาจออกข้อบังคับใช้ในการจัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยมีข้อบังคับในเรื่องนี้ใช้บังคับมาก่อน ไม่ใช่กรณีการออกข้อบังคับเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 29 วรรคสอง นั้นหมายถึงเฉพาะข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ตามมาตรา 25 ถึงมาตรา 27 และต้องเป็นกรณีการทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกันได้จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 29 วรรคสอง ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันสมาชิกของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11097/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงาน: การโต้แย้งความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง ไม่ใช่การโต้แย้งอำนาจศาล
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ใช่การจ้างแรงงาน โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้าง จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกร้องเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อศาลแรงงานภาค 5 คำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นการยกข้อต่อสู้เพื่อให้ศาลแรงงานภาค 5 วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีว่าจำเลยทั้งสองกับโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างลูกจ้างกัน โจทก์ซึ่งไม่ใช่ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินจากจำเลยทั้งสองต่อศาลแรงงานภาค 5 คำให้การของจำเลยทั้งสองไม่ใช่การอ้างเหตุหรือโต้แย้งอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9
of 90