คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิรุฬห์ แสงเทียน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 895 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นโดยชอบตามกฎหมาย การไม่จดทะเบียนแก้ไขการโอนหุ้นถือเป็นการโต้แย้งสิทธิ
การโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับ ภ. ได้มีการทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน โดยมีพยาน 2 คน ลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วย จึงถือว่าการโอนหุ้นดังกล่าวได้กระทำตามแบบที่กำหนดไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และตามข้อบังคับของบริษัทจำเลย ก็มิได้กำหนดไว้ว่า การโอนหุ้นต้องได้รับความยินยอมของบริษัท ดังนั้น การโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับ ภ. จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากบริษัทจำเลย ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ตามหนังสือที่ทนายโจทก์แจ้งไปยังกรรมการของบริษัทจำกัด มีข้อความสรุปได้ว่า โจทก์ในฐานะผู้รับโอนขอบอกกล่าวให้บริษัทจำเลยดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย หรือหากไม่ดำเนินการ โจทก์ก็มีความประสงค์ที่จะขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งที่มีความประสงค์จะซื้อ ดังนี้ ตามหนังสือดังกล่าวเห็นได้ว่า ความประสงค์ของโจทก์ก็คือต้องการจะได้หุ้นที่ ภ. โอนให้ โดยให้จำเลยใส่ชื่อโจทก์ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นลำดับแรก ถือว่าโจทก์ได้แจ้งให้บริษัทจำเลยจดทะเบียนแก้ไขการโอนหุ้นนั้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว
การโอนหุ้น โจทก์จะต้องมีเอกสารหลายอย่างมามอบให้จำเลย ต้องมีคณะกรรมการของจำเลยเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุมดำเนินการได้ จำเลยจะต้องตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของเอกสารก่อนนั้น เป็นเรื่องของขั้นตอนการดำเนินการของจำเลยเท่านั้น รวมทั้งไม่ว่าหุ้นดังกล่าวจะเป็นสินสมรสของ ภ. หรือไม่ ก็ไม่ได้ทำให้การโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับ ภ. เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับ ภ. เป็นการโอนที่ชอบ และจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนแก้ไขการโอนหุ้นนั้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นตามที่ทนายโจทก์มีหนังสือแจ้งการกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นโดยชอบและการปฏิเสธการจดทะเบียน: การโต้แย้งสิทธิผู้ถือหุ้น
การโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับ ภ. ได้มีการทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน โดยมีพยาน 2 คน ลงชื่อรับรองลายมือนั้น จึงถือว่าได้กระทำตามแบบที่กำหนดไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยก็มิได้กำหนดไว้ว่า การโอนหุ้นต้องได้รับความยินยอมของบริษัท ดังนั้น การโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับ ภ. จึงไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัทจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ไม่ได้เป็นการโอนหุ้นกันโดยมีเจตนาลวง เมื่อการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับ ภ. เป็นการโอนที่ชอบ และจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนแก้ไขการโอนหุ้นนั้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยดำเนินการแจ้งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จังหวัดปทุมธานี เปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยแทน ภ. จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3594/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การต้องชัดเจนและเฉพาะเจาะจง หากศาลวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท อุทธรณ์ในประเด็นนั้นย่อมต้องห้าม
คำให้การจำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น การที่จำเลยให้การแต่เพียงว่า การบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาของโจทก์เป็นการบอกกล่าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลย โดยไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงว่าการบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุใด ทั้งที่การบอกกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นให้มีการนำสืบและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องนี้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทและการที่จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องนี้เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นเรื่องดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3588-3589/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบประเด็นค่าเสียหายที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้น ถือเป็นการนำสืบนอกประเด็นและต้องห้ามอุทธรณ์
ปัญหาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนค่ารักษาพยาบาล ค่าทนทุกข์ทรมานและค่าเสียหายอื่นหรือไม่ มิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ให้การไว้ จึงไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ว่าโจทก์แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณา จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3433/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีไม่มีข้อยุ่งยาก: การยื่นคำให้การเกินกำหนด ศาลชอบที่จะไม่รับคำให้การได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องและออกหมายเรียกเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าคดีนั้นปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งหรือไม่ ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่เว้นแต่มาตรา 190 จัตวา มาใช้บังคับแก่คดีเช่นว่านั้นได้ภายในบังคับต่อไปนี้ (1) ให้ศาลออกหมายเรียกไปยังจำเลยแสดงจำนวนเงินที่เรียกร้องและเหตุแห่งการเรียกร้องและให้จำเลยมาศาลและให้การในวันใดวันหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดโดยมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดี" จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในคดีไม่มีข้อยุ่งยาก กฎหมายกำหนดให้ศาลออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลและให้การในวันใดวันหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด หมายเรียกคดีนี้กำหนดให้จำเลยทั้งสองมาศาลและให้การแก้ข้อหาแห่งคดีในวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ก่อนถึงวันนัด 2 วัน จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2549 ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก้ข้อหาแห่งคดีและนัดพิจารณาคดีออกไป 60 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ส่วนวันนัดพิจารณาคดีศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้เลื่อน จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ได้จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2549 โดยมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง (1) แล้ว เมื่อถึงวันนัดคู่ความมาศาล ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้วแถลงว่าประสงค์จะเจรจาตกลงกัน ขอให้นำคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้นำคดีเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยของศาล โดยนัดไกล่เกลี่ยวันที่ 18 สิงหาคม 2549 จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนด แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยก็ไม่ทำให้ระยะเวลาในการยื่นคำให้การต้องขยายออกไป นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความในวรรคสอง (2) และ (3) แล้ว เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไม่มีข้อยุ่งยากโดยเร็วเท่าที่พึงกระทำได้ โดยห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอของจำเลยเพื่อเลื่อนเวลายื่นคำให้การหรือเพื่อเลื่อนคดี เว้นแต่จำเลยจะแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่า คำขอของตนมีเหตุผลดีและสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่า จำเลยมีข้อต่อสู้คดีอันสมควร การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในวันที่ 11 สิงหาคม 2549 เป็นการยื่นคำให้การเกินกำหนด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบแล้วและโดยเหตุที่คดีไม่มีข้อยุ่งยากกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นมิได้กำหนดให้ศาลต้องสอบถามคำให้การของจำเลยเหมือนดั่งคดีมโนสาเร่ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ขาดนัดยื่นคำให้การไปก่อนแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่มีหน้าที่ต้องสอบถามคำให้การจำเลยทั้งสองในวันที่ 10 สิงหาคม 2550 ที่มีการสืบพยานโจทก์ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3221/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องเคลือบคลุม-ผู้รับประกันภัยรับผิด: ศาลฎีกาวินิจฉัยฟ้องไม่เคลือบคลุม ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดตามสัญญา
โจทก์บรรยายคำฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วว 3951 กรุงเทพมหานคร ไว้จากจำเลยที่ 1 หรือผู้มีชื่อซึ่งมีข้อสัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกอันเกิดจากการใช้รถยนต์คันดังกล่าวแทน และจำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์โจทก์ถูกชนได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ ซึ่งคำฟ้องดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 และหรือผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย ด้วยเหตุที่มีข้อสัญญาระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้เอาประกันภัย ส่วนจำเลยที่ 1 หรือผู้มีชื่อผู้ใดจะเป็นผู้เอาประกันภัยนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3052/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: จำเลยอุทธรณ์ประเด็นใหม่ที่ไม่เคยยกขึ้นว่ากันในศาลล่าง แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไปแล้ว
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน เมื่อจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ย่อมต้องนำสืบให้ได้ตามคำฟ้อง คดีจึงมีประเด็นตามที่โจทก์ตั้งสภาพแห่งข้อหามาในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เพียงใด ไม่มีประเด็นว่าสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ และสัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมหรือไม่ ทั้งปัญหาว่าสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ และสัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมหรือไม่ มิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จะนำข้อเท็จจริงนั้นไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องได้
จำเลยที่ 1 ถามค้านพยานโจทก์ได้ความว่าเดิมรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ประสงค์จะกู้ยืมเงินโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงโอนชื่อทางทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ หลังจากนั้นโจทก์จึงจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้เห็นว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ จึงไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จำเลยที่ 1 จะฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ เช่นนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: ผลผูกพันและการระงับหนี้เดิม
จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นเงิน 90,543 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะชำระเงิน 5,000 บาท ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2541 ส่วนที่เหลือชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท จนกว่าจะครบภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ชำระโดยไม่ผิดนัดจนครบจำนวนเงิน 50,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีการลดค่าเสียหายจาก 90,543 บาท เหลือเพียง 50,000 บาท และกำหนดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระกับระยะเวลาชำระเสร็จขึ้นใหม่แตกต่างจากข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิมซึ่งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้ตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ากรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงให้ครบ 50,000 บาท ภายใน 1 ปี ด้วย จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไป และก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาเช่าซื้อจึงระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2821/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันวินาศภัย: ความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อความสูญหายจากฉ้อโกง และสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากค่าสินไหมทดแทน
สัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 869 ได้ให้คำนิยาม วินาศภัย ว่า ให้หมายความรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนี้ การที่โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยตามสัญญา จำเลยตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่โจทก์เอาประกันภัย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2 ในเรื่องการชดใช้ความเสียหายหรือสูญหายต่อรถยนต์ในข้อ 2.1 ในกรณีรถยนต์สูญหายจะมิได้กำหนดว่าในเรื่องรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความผิดฐานฉ้อโกง ให้จำเลยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้ก็ตาม ก็เห็นว่าการรับประกันภัยเป็นความรับผิดชอบต่อความสูญหายหรือเสียหายจากวินาศภัยในกรณีต่างๆ อยู่แล้วซึ่งยากที่จะกำหนดให้ครบถ้วนทุกกรณีได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์ข้อ 5 ระบุว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่ทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น ที่จำเลยฎีกาว่ารถสูญหายเป็นผลมาจากการฉ้อโกง กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิด วินาศภัยอื่นที่เกิดขึ้นแม้มิได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย อย่างเช่นความสูญหายของรถยนต์อันเกิดจากการฉ้อโกงดังที่จำเลยฎีกา จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็หาพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หมวดเงื่อนไขทั่วไป ข้อ 4 ความรับผิดของบริษัทเมื่อมีการปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน กำหนดว่า เมื่อมีการเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทและหากบริษัทปฏิเสธความรับผิดไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตามจนเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้เสียหายนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล หากศาลพิพากษาให้บริษัทแพ้คดี บริษัทจะต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้เสียหายนั้น โดยชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยในฐานะลูกหนี้ผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด เห็นว่า ความรับผิดของผู้รับประกันภัยในกรณีที่ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกและผู้เอาประกันภัยได้ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วจึงจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามข้อสัญญานี้ดังที่จำเลยฎีกามา เมื่อข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีผิดสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลอาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยของค่าเสียหายได้นับแต่วันผิดนัด มิใช่บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าความรับผิดของจำเลยดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าค่าเสียหายดังกล่าวเป็นหนี้เงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2666/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกบริษัทจำกัดเนื่องจากหยุดทำการเกินหนึ่งปี และความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น
นอกจากบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันได้เพราะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1236 แล้ว ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดเมื่อปรากฏเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1237 (1) ถึง (4) ซึ่งตาม (2) บัญญัติว่า ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียนหรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม แม้การสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดกรณีนี้จะเป็นดุลพินิจของศาล แต่ศาลก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริงในการหยุดทำการและพฤติการณ์อื่น ๆ ในการดำเนินกิจการค้าขายของบริษัทที่พิจารณาได้ความมาประกอบ การพิจารณาได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้ความว่าหลังจากปี 2543 จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีการจัดทำงบดุลและไม่เคยจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายอีกเลย รวมทั้งได้หยุดดำเนินกิจการมาแล้วเกินกว่าหนึ่งปี เนื่องจากมีข้อขัดแย้งในระหว่างกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าทำการโดยไม่สุจริตในการร่วมลงทุนซื้อขายที่ดินอันเป็นวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ถึงขั้นมีการแจ้งความดำเนินคดีอาญาลักษณะทำนองเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างผู้ถือหุ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งให้บริษัทจำเลยที่ 1 เลิกกันได้เพราะบริษัทหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็มตามมาตรา 1237 (2) ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1237 (2) และให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีเพราะเห็นว่าโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทมีเรื่องขัดแย้งกันจนไม่อาจเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกันได้นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว
of 90