พบผลลัพธ์ทั้งหมด 262 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6605/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีอาญา: ผู้เสียหายต้องเสียหายโดยตรง การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่เหตุให้ฟ้องแทน
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปความได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณหมู่ที่ 6 บ้านเขายายเที่ยงเหนือ ตำบลคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีเจตนาพิเศษที่จะบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นการยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทำลายป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้ ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ป.ที่ดิน ป.อ. มาตรา 362 โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งห้ามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 คำบรรยายฟ้องดังกล่าวได้อ้างถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าเป็นความผิด แต่ไม่มีข้อความตอนใดที่บรรยายโดยชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งดังกล่าวมาในฟ้อง ซึ่งล้วนแต่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ มิใช่ความผิดที่กระทำต่อโจทก์ทั้งห้าโดยตรง บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้างมา ไม่มีข้อความตอนใดที่ให้สิทธิโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีอาญาได้แม้ไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6603/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ: ศาลใช้บทบัญญัติรื้อถอนตาม พ.ร.บ.การเดินเรือ แม้โจทก์มิได้ขอ
บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 118 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสองที่ว่า "ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 117... ให้เจ้าท่ามีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นให้เสร็จสิ้นโดยถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าท่าปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นและจะห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองนั้นใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดใช้อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือแก้ไขเสร็จด้วยก็ได้ ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และเจ้าท่าได้ปิดคำสั่งไว้ ณ อาคาร หรือสิ่งอื่นใดนั้นครบสิบห้าวันแล้ว ให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้น ถ้าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 117 จริง ในกรณีที่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใด ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้รื้อถอน ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่รื้อถอนตามกำหนดเวลาในคำสั่งศาล หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอน" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นคำขอให้บังคับทางแพ่งก็ตาม แต่การที่ศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงให้ได้ว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 117 จริงหรือไม่ เป็นคดีในส่วนอาญา การบังคับทางแพ่งดังกล่าวจึงถือเป็นผลอย่างหนึ่งของคดีอาญาซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องร้องขอต่อศาลในการที่จะบังคับให้เป็นไปตามบทบัญญัตินี้อยู่ดี เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังได้ว่า มีการฝ่าฝืนมาตรา 117 จริงและยังไม่มีการรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารให้เสร็จสิ้น ประกอบกับเป็นบทบัญญัติที่ให้มีการกำหนดเวลาให้ปฏิบัติตามคำสั่งด้วย อันเป็นการให้กำหนดเงื่อนเวลาการรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารให้เป็นธรรมแก่จำเลยโดยไม่ให้เสียหายแก่ประโยชน์ส่วนรวม ทั้งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวก็เป็นการบัญญัติเปิดช่องให้เจ้าท่ามีสิทธิร้องขอต่อศาลได้เอง จึงไม่ใช่เป็นการบัญญัติให้ศาลจะมีคำสั่งได้เฉพาะแต่กรณีที่โจทก์มีคำขอเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้โดยชอบแล้ว เท่ากับจำเลยยอมรับว่ายังไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายนี้จริง และจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 118 ทวิ นี้อย่างไร จึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัย ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่มีคำขอให้บังคับทางแพ่งดังกล่าวมาก็ตาม ก็อาจเป็นเพราะโจทก์เห็นว่ามีบทบัญญัติข้างต้นเป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ประสงค์ที่จะไม่ให้บังคับตามนั้นแต่อย่างใด ศาลจึงใช้ดุลพินิจบังคับให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ได้ คำพิพากษาส่วนนี้ของศาลล่างทั้งสองหาได้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6043-6044/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งสำเนาอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องและการดำเนินการพิจารณาใหม่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ได้ความตามคำเบิกความของจำเลยประกอบทะเบียนบ้าน และสัญญาเช่าทรัพย์สินว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 55/22 ตรอกวัดใหญ่ศรีสุพรรณ ถนนอินทรพิทักษ์ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถเดินทางไปบ้านดังกล่าวได้ แต่การส่งสำเนาอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยแก้อุทธรณ์ ระบุบ้านที่อยู่ของจำเลยเป็นแขวงบางยี่เรือ ซึ่งเป็นการระบุตามที่ปรากฏในฟ้อง และไม่มีการระบุตรอก เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ส่งหมายส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้เนื่องจากหาไม่พบ กรณีดังกล่าวเป็นการผิดหลงในเรื่องภูมิลำเนาของจำเลย อย่างไรก็ตาม จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้คดีตั้งแต่ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ทนายจำเลยแทน แต่ศาลชั้นต้นสั่งให้รีบส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีโอกาสแก้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนเฉพาะการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้น โดยมิได้พิจารณาสั่งเรื่องการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยว่าชอบหรือไม่ คำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ แม้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังใหม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก็เป็นการพิจารณาพิพากษาโดยมิชอบด้วยเช่นกัน กรณีมีเหตุสมควรให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20741/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความชอบด้วยกฎหมายของคำฟ้องฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ยังไม่มีกฎกระทรวงออกตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์
ตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ เลื่อยโซ่ยนต์หมายความว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง บทบัญญัติดังกล่าว ให้ความหมายของเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ชัดเจนแล้วว่า เลื่อยโซ่ยนต์ หมายถึง เครื่องมือใช้สำหรับตัดไม้ หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และมาตรา 2 ของพระราชบัญญัตินี้ยังบัญญัติให้กฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2545 และสอดคล้องกับความในมาตรา 14 ที่บัญญัติให้ผู้ที่มีเลื่อยโซ่ยนต์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามาขอรับใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 4 เมื่อขณะที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตยังไม่มีกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 3 ดังกล่าวออกมา ไม่ว่ากฎกระทรวงจะมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงลักษณะของเลื่อยโซ่ยนต์ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ยกขึ้นอ้างในฎีกา คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20056/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนังสือค้ำประกันอิสระจากสัญญาหลัก: ศาลฎีกาวินิจฉัยการจำหน่ายคดีไม่ชอบ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนเองโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ หรือผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยจำเลยจะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและโจทก์ไม่จำต้องเรียกร้องให้ผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน ดังนั้น หากเป็นไปตามข้ออ้าง การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันท้ายฟ้องย่อมไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่จำเลยมีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์โดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไขโดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้ และความรับผิดของจำเลยในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของจำเลยร่วม สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของโจทก์และจำเลยตามหนังสือค้ำประกันที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญานี้จะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของจำเลยและจำเลยร่วมตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันที่พิพาท หรือกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของโจทก์และจำเลยร่วมตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันต่างหาก
การเรียกบุคคลมาเป็นจำเลยร่วมเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
การเรียกบุคคลมาเป็นจำเลยร่วมเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18325/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลและการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินและมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในคราวเดียวกัน จำเลยจะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกามายังศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 252 ด้วย ทั้งต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ประกอบมาตรา 247 จำเลยจะเลือกอุทธรณ์เฉพาะคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลไปยังศาลอุทธรณ์เพียงอย่างเดียวหาได้ไม่ กรณีต้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 252
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14804/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจกรมชลประทานร้องขอบังคับคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเขตชลประทาน แม้คดีถึงที่สุดแล้ว
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเขตชลประทานประเภท 2 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485 มาตรา 23, 37 วรรคหนึ่ง และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกจากเขตชลประทานชานคลอง 17 มิใช่กรณีที่พนักงานอัยการขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43, 44, 50 ผู้ร้องซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาเขตชลประทานชานคลอง จึงมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากที่โจทก์สามารถร้องขอได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11437/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องค่าเสียหายจากความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ: พิจารณาจากเจตนาในคำฟ้อง
การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จะใช้อายุความเรื่องละเมิดหรือใช้อายุความทั่วไปนั้น ต้องพิจารณาจากการบรรยายในคำฟ้องของโจทก์เพื่อให้เห็นเจตนาว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องโดยอ้างอิงหรืออาศัยสิทธิตามกฎหมายใดเป็นหลัก ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดโดยตรง หรือฟ้องโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มีหลักสำคัญอยู่ที่การทำให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน กรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิด มักจะต้องบรรยายในคำฟ้องให้เห็นว่า จำเลยจงใจกระทำการใด ๆ หรือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำในคำฟ้องคดีนี้แล้วไม่ปรากฏแจ้งชัดว่าโจทก์ได้ใช้ถ้อยคำที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาฟ้องโดยอาศัยสิทธิในมูลละเมิดโดยตรงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม คำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยกล่าวในตอนต้นให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจหน้าที่ในการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริมและทำนุบำรุงทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในเขตที่รับผิดชอบมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับรวมทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ด้วย ต่อมาจึงบรรยายโดยใช้ถ้อยคำว่าการกระทำของจำเลยโดยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ ก่อสร้าง แผ้วถางป่า โดยตัดฟัน โค่น เลื่อย ชักลากไม้ในป่า อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ดูแลอยู่ ทั้งในตอนท้ายโจทก์ก็บรรยายในคำฟ้องแจ้งชัดว่า การกระทำของจำเลยนั้นทำให้เกิดความเสียหาย โดยโจทก์ขอเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย โดยกำหนดจากหลักเกณฑ์ความเสียหายในทางแพ่งตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งบทบัญญัติในมาตรา 97 ดังกล่าวระบุในทำนองว่า ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้เสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป การบรรยายในคำฟ้องดังกล่าวจึงไม่ใช่การบรรยายฟ้องในเรื่องละเมิดโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นการบรรยายในคำฟ้องให้เห็นว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ด้วย ซึ่งการเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นั้น ไม่ได้มีบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คือ 10 ปี เมื่อจำเลยกระทำความผิดตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 จึงยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11414/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของนายกเทศมนตรีในฐานะตัวแทนของเทศบาลต่อการกระทำผิดของเทศบาล
จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลอันมีฐานะเป็นนิติบุคคล และตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 48 เตรส กำหนดให้นายกเทศมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกเทศมนตรีเป็นผู้แทนของเทศบาลจำเลยที่ 1 ความประสงค์ของเทศบาลจำเลยที่ 1 ย่อมแสดงออกโดยผ่านจำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อเทศบาลจำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยเกิดจากการแสดงออกของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าการกระทำอันเป็นความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วยและไม่อาจปัดความผิดไปให้ผู้อื่นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21848/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลมีหน้าที่สั่งให้แก้ฟ้องก่อน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจเพิกถอนได้
จำเลยแต่งตั้ง บ. เป็นทนายความดำเนินคดีแทนจำเลยเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น การที่ บ. ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียง และผู้พิมพ์เป็นเรื่องฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 ถือเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นรับฟ้องอุทธรณ์ทั้งที่เป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่อยู่ในวิสัยที่จะสั่งให้จำเลยแก้ฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชอบที่จะเพิกถอนการรับฟ้องอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่หรือดำเนินการเสียเองให้จำเลยแก้ให้ถูกต้องก่อนก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่ชอบที่จะด่วนพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฟ้องอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ของจำเลย อย่างไรก็ดีปรากฏว่าในชั้นฎีกาจำเลยยื่นใบแต่งทนายความแต่งตั้ง บ. ให้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาได้แล้ว จึงไม่จำต้องดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีก จึงให้ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี