คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พันวะสา บัวทอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 262 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19074/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล: เจ้าพนักงานตรวจสอบบัญชีได้ แม้โจทก์อ้างสิทธิในการขอคืน
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ก่อนว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโจทก์เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตัวแทนโจทก์ไม่ได้ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี อีกทั้งไม่สามารถให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศทั้งสามบริษัทให้เพียงพอแก่การตรวจสอบได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าบริษัทต่างประเทศทั้งสามจะได้รับคืนภาษีตามจำนวนที่ขอคืนได้หรือไม่ และกรณีของโจทก์มิใช่เป็นการขอคืนชัดแจ้งซึ่งไม่จำต้องตรวจสอบตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ.2539 ข้อ 13.1 แต่เป็นกรณีที่จำเป็นต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้ปรากฏยอดเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ตามข้อ 13.2 การที่จำเลยยังไม่อาจคืนภาษีให้ได้จึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18918/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีออกจากพื้นที่ป่าสงวนหลังคดีถึงที่สุด ไม่อาจอ้างอายุความได้ และการยกเหตุปฏิรูปที่ดินหลังศาลตัดสิน
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และมีคำสั่งให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองตามมาตรา 31 วรรคสาม คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดจึงต้องออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองตามคำสั่งศาลดังกล่าวทันที การยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติต่อมาภายหลังจากคดีถึงที่สุดแล้วยังคงเป็นการยึดถือครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตลอดเวลาที่จำเลยยังไม่ออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว โดยจำเลยไม่อาจอ้างอายุความใด ๆ ที่จะมีสิทธิยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวต่อรัฐได้ ดังนั้น โจทก์ชอบที่จะบังคับจำเลยให้ออกจากป่าสงวนแห่งชาติได้ตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว หาจำต้องบังคับคดีภายใน 10 ปี ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17282/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษบทหนักในความผิดฐานทำไม้และล่าสัตว์ป่า ต้องพิจารณาตามลำดับโทษใน ป.อ. มาตรา 18
การพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักกว่ากันต้องถือตามลำดับที่วางไว้ใน ป.อ. มาตรา 18 และหากเป็นโทษในลำดับเดียวกันให้ถือตามบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เมื่อความผิดฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง กำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงเป็นบทหนักกว่า และเมื่อใช้บทบัญญัติที่มีโทษหนักแล้วก็ใช้บทดังกล่าวเป็นบทลงโทษแต่บทเดียว ถึงแม้บทหนักจะไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่บทเบากว่ามีโทษขั้นต่ำ ศาลก็ชอบที่จะลงโทษตามบทที่หนักโดยไม่ต้องคำนึงถึงโทษขั้นต่ำในบทที่เบากว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 วรรคสอง (3), 54 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13995/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม: การประเมินจากความแตกต่างของยอดซื้อในบัญชี ภ.ง.ด. และ ภ.พ. 30, วิธีการคำนวณที่ถูกต้องตามหลักการบัญชี
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 87/3 และมาตรา 86/12 บัญญัติให้ผู้ประกอบการเก็บและรักษาเอกสารหลักฐาน และกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการ (ผู้ขายสินค้า) ออกใบแทนใบกำกับภาษี หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบการ (ผู้ซื้อสินค้า) ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษี ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการที่เจ้าพนักงานประเมินนำข้อมูลที่ปรากฏตามสำเนาใบกำกับภาษีที่โจทก์นำมามอบให้นั้น เพื่อใช้ตรวจสอบยอดซื้อสินค้าของโจทก์ ซึ่งโดยปกติผู้ขายจะออกใบกำกับภาษีให้โจทก์เมื่อส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์แล้ว ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินสามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อสินค้าดังกล่าว มาพิสูจน์หายอดต้นทุนขายจากการเปรียบเทียบรายได้และรายจ่ายในงบกำไรขาดทุนอันเป็นตัวเลขที่เกิดจากการประกอบการของโจทก์ได้ ดังนั้น การที่โจทก์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุน และได้แสดงหลักฐานในชั้นพิจารณาอุทธรณ์โดยส่งเอกสารเพิ่มเติม และอุทธรณ์อ้างว่าเงินสนับสนุนการขายหรือ SWAP มิใช่เป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่ชอบที่จะนำมารวมคำนวณหาอัตรากำไรขั้นต้น แต่เจ้าพนักงานประเมิน ได้วิเคราะห์งบการเงินจากแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) ในส่วนต้นทุนขาย เทียบกับยอดซื้อในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) จากการคำนวณโจทก์มียอดขายขาดไป 18,540,232.21 บาท ซึ่งเป็นการคำนวณตามหลักการบัญชีที่ยอมรับโดยทั่วไป เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นยอดขายขาดของเดือนภาษีใด เจ้าพนักงานประเมินจึงถัวเฉลี่ยยอดขายขาดเดือนละ 1,545,019.35 บาท และเดือนภาษีธันวาคม 2543 โจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานพิสูจน์ยอดซื้อ และทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าสินค้าของโจทก์สูญหายหรือเสียหายจากอุทกภัยแต่อย่างใด จึงถือว่าเป็นยอดซื้อแจ้งไว้ขาดไป ถือว่าโจทก์ขายสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามคำนิยาม "ขาย" มาตรา 77/1 (8) (จ) เจ้าพนักงานประเมิน ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ เป็นการประเมินภาษีตามที่รู้เห็นหรือพิจารณาว่าถูกต้องตามมาตรา 88/2 (6) จึงเป็นการประเมินที่ชอบแล้ว
เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์ พิสูจน์หายอดต้นทุนขายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทเปรียบเทียบกับยอดขายที่โจทก์แสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ในช่วงดังกล่าว ปรากฏว่ายอดซื้อสุทธิ 60,480,554.29 บาท ได้ต้นทุนขาย 49,070,721.39 บาท แล้วคำนวณหายอดขายตามการตรวจสอบโดยนำต้นทุนขายคำนวณกลับเพื่อหายอดขายจากอัตรากำไรขั้นต้นตามงบการเงินร้อยละ 4.35 ได้ยอดขาย 51,302,374.68 บาท นำไปหักกับยอดขายที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ในช่วง 12 เดือนดังกล่าว จำนวน 32,762,142.47 บาท คงเหลือยอดขายที่ยื่นไว้ขาดไป 18,540,232.31 บาท ซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นยอดขายของเดือนภาษีใด เจ้าพนักงานประเมินจึงถัวเฉลี่ยยอดขายขาด มียอดขายขาดไปเดือนละ 1,545,019.35 บาท วิธีการคำนวณอาศัยข้อมูลทางการเงินจากการบันทึกบัญชีของโจทก์และมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้รับรองและแสดงความคิดเห็นต่องบการเงินว่าได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีทั่วไป ทั้งเป็นข้อมูลทางบัญชีที่โจทก์บันทึกเกี่ยวกับกิจกรรมการประกอบการของโจทก์เอง จึงเชื่อว่าโจทก์แสดงเหตุการณ์ทางบัญชีตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และการที่เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์นำตัวเลขของผู้ประกอบการลักษณะเดียวกันจำนวนถึง 29 ราย ซึ่งประกอบกิจการอยู่ในท้องที่นั้นในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันมาเปรียบเทียบกำไรขั้นต้น ค่าเฉลี่ยที่ได้ย่อมถือว่าได้ตัวเลขที่มีข้อมูลน่าเชื่อว่าเกิดจากการดำเนินงานตามปกติของธุรกิจนั้น ๆ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาโดยชอบและให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13993/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าตอบแทนตามสัญญาบริการในต่างประเทศ มิใช่ค่าสิทธิแฝง การประเมินภาษีไม่ชอบ
เงินได้พึงประเมินที่ได้รับจะเป็นเงินได้ประเภทใดต้องพิจารณานิติกรรมที่เป็นฐานในการก่อให้เกิดเงินได้นั้น และลักษณะเนื้อหางานที่ทำกันจริง ๆ ประกอบกัน โจทก์นำสืบให้เห็นถึงลักษณะงานที่บริษัทผู้รับจ้างปฏิบัติตามสัญญาเป็นเรื่องของการจัดซื้อ จัดจ้างวางโครงสร้างทางการเงิน แสวงหาแหล่งเงินกู้ การทำตลาดในต่างประเทศ พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า ค่าตอบแทนการให้บริการของบริษัทผู้รับจ้างเป็นกำไรจากธุรกิจ มิใช่ค่าสิทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (3) เมื่อโจทก์จ่ายเงินได้ดังกล่าวออกไปให้บริษัทผู้รับจ้างซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย จึงไม่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12760/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากมลพิษโรงงาน: อายุความ และข้อยกเว้น
โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยให้รับผิดจากการที่นำขี้เถ้าแกลบที่เหลือจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงไปกองไว้บริเวณโรงงานของจำเลยที่อยู่ใกล้เคียงกับบ้านพักของโจทก์ทั้งหก นอกจากนั้นจำเลยระบายควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อน้ำทางปล่องระบายควันปล่อยสารเจือปนในอากาศประเภทฝุ่นละอองเข้าสู่บรรยากาศในปริมาณเกินกว่ามาตรฐานประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหาย ดังนี้ กรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกได้รับอันตรายแก่ร่างกาย สุขภาพอนามัย และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหายด้วยประการใด ๆ โจทก์ทั้งหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 ได้ หรือหากเป็นกรณีจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์ทั้งหกโดยผิดกฎหมายให้โจทก์ทั้งหกเสียหายแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก โจทก์ทั้งหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องผู้ทำละเมิดหรือนายจ้างของผู้ทำละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทนได้
การฟ้องเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งหกอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ เมื่อเหตุของการฟ้องร้องคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อจำเลยดำเนินการเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าต้นปี 2547 จนกระทั่งโจทก์ที่ 1 ร้องเรียน และมีการตรวจสอบโรงงานของจำเลยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 โจทก์ทั้งหกฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2549 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8766/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินได้จากการจ้างงานแม้จะโอนให้บุตรก็ยังเป็นเงินได้พึงประเมิน ต้องนำไปยื่นภาษี
โจทก์แสดงความประสงค์ไว้ล่วงหน้าให้นายจ้างโจทก์จ่ายเงินค่าจ้างในปีภาษี 2549 ให้แก่ เด็กชาย จ. บุตรของโจทก์โดยตรง ก็ต้องถือว่าโจทก์มีเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) เพราะโจทก์ย่อมต้องได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวมาก่อนแล้วจึงนำมาโอนให้แก่บุตรของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าตอบแทนจากการทำงานดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8763/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทภาษีอากร: การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และการไถ่ถอนหุ้นกู้
กรณีคำสั่งทางปกครองที่เข้าข้อยกเว้นว่าเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เจ้าพนักงานออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนให้โจทก์นำหลักฐานมาแสดง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปพบเจ้าพนักงานหลายครั้ง เจ้าพนักงานแจ้งผลการตรวจสอบให้โจทก์ทราบ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินตามผลการตรวจสอบนั้น และโจทก์อุทธรณ์การประเมินได้ตรงตามการประเมิน จึงเป็นกรณีที่เหตุผลที่ต้องแสดงนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลอีก
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เป็นกรณีบังคับผู้จ่ายเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ หักภาษีก่อนจ่ายหรือทันทีที่จ่ายเมื่อนำส่งแก่ผู้รับเงินได้พึงประเมิน โจทก์ล้างบัญชีเพราะบริษัท ซ. เจ้าหนี้เลิกกิจการและชำระบัญชีโดยไม่ทวงถามต้นเงินและดอกเบี้ยจากโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์มิได้จ่ายเงินดอกเบี้ยให้แก่บริษัท ซ. ตามการประเมิน และกรณีมิใช่โจทก์และบริษัท ซ. หักกลบลบหนี้กัน เพราะโจทก์ลงทุนถือหุ้นมิได้เป็นเจ้าหนี้บริษัท ซ. จึงไม่มีหนี้ที่จะหักกลบลบกันได้ระหว่างเงินที่โจทก์กู้ยืมกับเงินลงทุนซึ่งบริษัท ซ. ชำระบัญชีไปแล้ว
โจทก์ปลดหนี้ให้แก่บริษัท ท. และนำจำนวนเงินดังกล่าวไปบวกกลับเป็นรายได้เพื่อคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในการเสียภาษีแล้ว แสดงว่าไม่ใช่กรณีโจทก์จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้โดยฝ่าฝืนต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2543)
โจทก์ขายหุ้นบริษัท อ. ให้แก่บริษัทในเครือ หุ้นของบริษัท อ. ที่โจทก์ขายยังอยู่ในกลุ่มบริษัทของโจทก์ตามเดิม มิใช่เป็นการขายให้แก่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกัน เมื่อข้อมูลและวิธีการหามูลค่าที่แท้จริงของราคาหุ้นไม่น่าเชื่อถือ การขายหุ้นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นที่ดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จินให้แก่บริษัทในเครือในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาตามมูลค่าทางบัญชีประเมินภาษีแก่โจทก์จึงมีเหตุผลอันสมควร
การปลดหนี้เป็นผลให้หนี้เงินกู้ระงับไปแล้ว โจทก์ไม่มีรายรับดอกเบี้ยจากเงินกู้ตามการประเมิน จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิมีข้อความระบุรายการที่ประเมิน เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินรายการดังกล่าวจึงเป็นอันยุติตามการประเมิน
หนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล หนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะแต่ละเดือนภาษี มีสภาพเป็นคำฟ้องแต่ละข้อหาไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกออกจากกันได้ คำฟ้องจึงมีหลายข้อหา การที่ศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลแยกเป็นรายการตามข้อหาจึงชอบแล้ว
การที่เจ้าพนักงานเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิขึ้นใหม่ทำให้ผลขาดทุนสุทธิน้อยลงไป หากศาลวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์ในส่วนภาษีนิติบุคคลที่เปลี่ยนแปลงตามรายการนั้นด้วย ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์
การออกหุ้นกู้ของโจทก์เป็นกรณีโจทก์กู้เงินจากผู้ถือตราสารหุ้นกู้และต้องคืนโดยการไถ่ถอนหุ้นกู้ การที่โจทก์ไถ่ถอนหุ้นกู้โดยเจ้าหนี้ยอมรับชำระไม่เต็มจำนวนที่ตราไว้ในตราสารแสดงสิทธิในหุ้นกู้ตามการประเมิน มิใช่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8249/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แม้เป็นไม้ที่ชาวบ้านปลูกเอง ก็ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ
ป่าสงวนแห่งชาติเป็นการกำหนดตามเขตพื้นที่ และไม้ก็หมายถึงไม้ทุกชนิดในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น โดยไม่ได้จำแนกว่าเป็นไม้ที่เกิดขึ้นเองหรือมีคนปลูกขึ้นมา และการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ตัดไม้ยูคาลิปตัสที่ชาวบ้านปลูกเองเป็นความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 เพียงตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน หรือขุดไม้ที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ถือว่าเข้าลักษณะ "ทำไม้" ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 แล้ว และการที่จำเลยทั้งสองตัดไม้ถึง 35 ท่อน แสดงถึงการตัดไม้จำนวนหลายต้น ดังนั้น ไม่ว่าจะอ้างเช่นใด ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการกระทำนี้ไม่มีผลให้เป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7012/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับกิจการสนามกอล์ฟและสนามเทนนิส โดยใช้ค่าเช่าที่ดินเป็นหลักเกณฑ์
โจทก์เช่าที่ดินจากบุคคลอื่นมาก่อสร้างเป็นอาคารสนามฝึกซ้อมกอล์ฟและสนามเทนนิส มีพื้นที่ต่อเนื่องและทางรถวิ่ง อาคารร้านค้า ป้อมยาม สำนักงานฝ่ายบัญชี อาคารเก็บสินค้า บ้านพักพนักงาน และรั้วกั้นลูกกอล์ฟ แต่เป็นกรณีที่ทรัพย์สินนั้นหาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยถือค่าเช่าที่ดินที่โจทก์ชำระแก่เจ้าของที่ดินเป็นหลักในการคำนวณ และคำนึงถึงมูลค่าทรัพย์สิน การใช้ประโยชน์ ตลอดจนอัตราเหมาะสมที่สมควรให้เช่าได้กับเทียบเคียงกับโรงเรือนของบริษัท อ. ซึ่งมีการเช่าที่ดินจากบุคคลอื่นเช่นเดียวกับโจทก์และตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกัน ซึ่งโดยปกติการเช่าที่ดินเปล่ามาพัฒนาแล้วปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ย่อมทำให้ที่ดินที่เช่ามีค่าแห่งที่ดินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้ความว่าเจ้าของที่ดินลดค่าเช่าให้แก่โจทก์ โจทก์เองก็ขอลดค่ารายปี ซึ่งเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 ก็ลดค่ารายปีให้ กรณีย่อมถือได้ว่าค่าเช่าที่โจทก์ชำระแก่เจ้าของที่ดิน ถือเป็นหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งที่นำมาใช้ในการคำนวณค่ารายปีสำหรับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ โดยเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์
โจทก์ทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ โดยผู้ใช้บริการต้องเสียค่าตอบแทน โดยพื้นที่ในส่วนสนามฝึกซ้อมกอล์ฟตั้งอยู่ใกล้กับตัวอาคาร ผู้ใช้บริการยืนอยู่บริเวณตัวอาคารต้องตีลูกกอล์ฟออกไปสู่บริเวณสนาม ดังนั้น สนามฝึกซ้อมกอล์ฟจึงเป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือเพื่อประโยชน์ของพื้นที่อื่นของตัวอาคาร ถือได้ว่าสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนที่ต้องถูกประเมิน ส่วนรั้วกั้นลูกกอล์ฟเนื่องจากบริเวณสนามฝึกซ้อมกอล์ฟมีพื้นที่ไม่กว้างมากนัก โจทก์จำเป็นต้องมีรั้วเหล็กกั้นมิให้ลูกกอล์ฟเลยออกนอกรั้วและเพื่อป้องกันความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้อื่น กับทั้งเพื่อประโยชน์แห่งกิจการของโจทก์โดยตรง รั้วกั้นลูกกอล์ฟจึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องถูกประเมินค่ารายปีเช่นเดียวกัน
การให้บริการสนามเทนนิส สภาพพื้นสนามถือเป็นสิ่งสำคัญในการเล่นกีฬาชนิดนี้ สภาพพื้นสนามเทนนิสจำต้องถูกสร้างขึ้นให้แข็งแรง เหมาะสม และถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ สนามเทนนิส จึงถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องถูกประเมินค่ารายปีด้วย
of 27