คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พันวะสา บัวทอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 262 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6202/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานผลิตและครอบครองวัตถุอันตราย ปุ๋ยเคมี และการใช้ชื่อการค้าผู้อื่น ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อเดือนมกราคม 2548 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2548 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ระหว่างวันใดไม่ปรากฏชัด จำเลยผลิตด้วยวิธีการผสมและแบ่งบรรจุวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ของกลาง จากนั้นจำเลยได้ครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ดังกล่าวซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม เพื่อนำออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีคำขอท้ายฟ้องระบุกฎหมายที่จำเลยกระทำความผิดและบทมาตราที่ขอให้ลงโทษในความผิดดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์ได้ระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6034/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระการพิสูจน์องค์ประกอบสินค้าในสัญญาซื้อขาย ผู้ผลิตต้องพิสูจน์ตามที่ระบุ หากพิสูจน์ไม่ได้ ถือผิดสัญญา
โจทก์เป็นผู้ผลิตและระบุองค์ประกอบรวมทั้งแสดงข้อบ่งใช้ไว้ในฉลากย่อมต้องมีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ายาฆ่าเชื้ออัล-ไบโอไซด์ 25 มีส่วนประกอบตามที่ระบุไว้จริง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยมีภาระการพิสูจน์จึงไม่ถูกต้อง และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขและวินิจฉัยไปตามภาระการพิสูจน์ที่ถูกต้องได้
เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ย่าฆ่าเชื้ออัล-ไบโอไซด์ 25 มีสารกลูตารัลดีไฮด์เป็นองค์ประกอบอยู่ 12.5 เปอร์เซนต์ ตามที่ระบุไว้ในฉลากจึงต้องถือว่าโจทก์ส่งมอบสินค้าที่ซื้อไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของสัญญา โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และเมื่อสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระราคาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5228/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกง vs ลักทรัพย์ และรับของโจร: การกระทำที่เข้าข่ายความผิดทางอาญา
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์เพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้ การที่ผู้เสียหายยินยอมส่งมอบรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เนื่องจากถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงให้ทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน เพียงแต่อาศัยสัญญาดังกล่าว เพื่อเป็นช่องทางให้ได้รถจักรยานยนต์ของกลางก็ตาม ก็ถือเป็นส่งมอบการครอบครองโดยสมัครใจ จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง มิใช่ลักทรัพย์
จำเลยที่ 4 รับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณา แม้จะแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวในฟ้องที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ และจำเลยที่ 4 รับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ก็มิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยทั้งสี่มิได้หลงข้อต่อสู้ และไม่ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ การกระทำของจำเลยที่ 4 ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร
จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 มอบกุญแจรถของกลางให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ขึ้นนั่งคร่อมรถจะขับออกไป แต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับทรัพย์ที่ซื้อจากจำเลยที่ 3 ไว้แล้ว เป็นความผิดฐานรับของโจรสำเร็จแล้ว หาใช่เป็นเพียงพยายามรับของโจร การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ และศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฐานร่วมกันฉ้อโกงและลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจร ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเหนือพื้นดิน, การบอกเลิกสิทธิ, การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง, และการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากละเมิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารกับให้รื้อถอนโครงหลังคาเหล็กและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากที่ดินของโจทก์ พร้อมทั้งให้ชำระค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้วว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อโจทก์ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิใดตามกฎหมายที่จะอยู่หรือใช้สอยประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ต่อไป คำฟ้องของโจทก์จึงบรรยายครบถ้วนแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ส่วนที่ว่าโครงหลังคาเหล็กปลูกสร้างตั้งแต่เมื่อใด โจทก์เสียหายอย่างไรและคำนวณค่าเสียหายจากฐานข้อมูลใด รวมทั้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาระผูกพันของเจ้าของที่ดินเดิมนั้นล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
คดีก่อนจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้อง โจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินคดีนี้และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องอ้างว่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและเรียกค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น ทรัพย์ที่อ้างเพื่อเรียกร้องสิทธิแห่งตนจึงเป็นทรัพย์คนละอย่างต่างกันเพราะคดีก่อนโต้เถียงกันว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินและเรียกค่าเสียหายจากการรบกวนการครอบครองสิ่งปลูกสร้าง ส่วนคดีนี้โจทก์รับว่าสิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลยทั้งสองแต่ที่ดินเป็นของโจทก์ ขอให้รื้อถอนออกไปและเรียกค่าเสียหายที่ยังคงอยู่บนที่ดิน คดีทั้งสองนี้จึงมีประเด็นพิพาทไม่เหมือนกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) และมาตรา 144
โจทก์ฟ้องอ้างว่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและเรียกค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสองสร้างสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินได้โดยชอบเพราะมีสิทธิเหนือพื้นดิน ตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดิน คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์ แต่เป็นคำฟ้องที่ขอปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) (2) และ (4)
จำเลยทั้งสองได้สิทธิเหนือพื้นดินจากเจ้าของที่ดินโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์ ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1298 ประกอบมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ต่อมาเจ้าของที่ดินจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างสิทธิเหนือพื้นดินนี้ต่อสู้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4143/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่งในการลดโทษคดียาเสพติด ต้องเป็นข้อมูลที่ช่วยปราบปรามการกระทำความผิดได้จริง
การที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจับกุมจำเลยได้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่บ้านของจำเลยพร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลางอีก 700 เม็ด กับจำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนถึงเส้นทางในการขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นต่อไปด้วยนั้นก็ตาม แต่ของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก ส่วนที่จำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนนั้น ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลในการจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นมาดำเนินคดีโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด ดังนี้ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2554)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3632/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการฟ้องขับไล่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์เมื่อผู้เช่าอ้างสิทธิจากผู้ครอบครองเดิมที่ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์
พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ฯ มาตรา 5 ข้อ 14 บัญญัติให้ผู้จัดการปกครองศาลเจ้ามีอำนาจและหน้าที่จัดการทั่วไปในกิจการเพื่อประโยชน์แก่ศาลเจ้าโดยฐานะและกาลอันสมควร และมีอำนาจหน้าที่เข้าเป็นโจทก์หรือจำเลยในอรรถคดีทั้งแพ่งและอาญาอันเกี่ยวด้วยเรื่องศาลเจ้าทุกประการ ผู้ร้องสอดจึงมีอำนาจดำเนินคดีในฐานะเป็นคู่ความตามกฎหมายได้ตามบทบังคับแห่งกฎเสนาบดีดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามการที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว ผู้ร้องสอดเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอดเป็นการกล่าวอ้างข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องสอด คำร้องสอดของผู้ร้องสอดดังกล่าวจึงเป็นคำร้องสอดเข้าเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองสิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้คำร้องสอดจะกล่าวว่าขอเข้าเป็นคู่ความร่วมก็ตาม และผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 58 วรรคหนึ่ง คำร้องสอดของผู้ร้องถือเป็นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ซึ่งได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าผู้ร้องสอดปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว คำร้องสอดจึงชอบด้วยกฎหมาย
อนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินเอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กัน การอุทิศที่ดินของโจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจึงยังไม่มีผลให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสมบัติสำหรับผู้ร้องสอดโดยสิทธิ์ขาด โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท การที่โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องสอดเพื่อใช้เป็นที่ตั้งแห่งใหม่เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ของผู้ร้องสอด แต่ผู้ร้องสอดกลับนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลภายนอกและจำเลยเช่าโดยให้จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินพิพาท จึงเป็นการขัดต่อเจตนาของโจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ทั้งจำเลยให้การกล่าวแก้ข้อพิพาทโดยอ้างสิทธิการเช่าจากผู้ร้องสอดซึ่งไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยจึงไม่อาจยกสิทธิที่เกี่ยวกับสัญญาเช่าขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างแท้จริงได้ เมื่อจำเลยเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสองในฐานะเจ้าของรวมย่อมใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิสุจริตแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3554/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเช่าซื้อ: สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยหลังคืนรถ และการไล่เบี้ยของผู้ค้ำประกัน
คำพิพากษาของศาลได้กำหนดขั้นตอนการบังคับคดีเกี่ยวกับการส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแทนไว้แล้ว จึงต้องดำเนินการบังคับคดีก่อนหลังกันไปตามลำดับดังที่ระบุไว้ในคำพิพากษา กล่าวคือ หากการบังคับให้คืนรถยนต์ไม่อาจกระทำได้ จึงให้บังคับเอาจากราคารถยนต์แทน เมื่อบริษัท ธ. ผู้ให้เช่าซื้อรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยแล้วโดยไม่ปรากฏว่ารถยนต์ดังกล่าวมีสภาพไม่เรียบร้อยใช้การไม่ได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาในส่วนที่ให้คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่บริษัท ธ. แล้ว บริษัท ธ. จะบังคับคดีให้จำเลยชำระราคารถยนต์แทนอีกไม่ได้ และย่อมไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่คิดจากราคารถยนต์ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัท ธ. ในระหว่างที่จำเลยยังครอบครองใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอยู่ คำพิพากษาของศาลก็ได้กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์แก่บริษัท ธ. ไว้อีกส่วนหนึ่งด้วยแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ว่าบริษัท ธ. ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยจากราคารถยนต์ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยยังไม่ส่งมอบรถยนต์คืนและถือว่าดอกเบี้ยนั้นเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งของหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในส่วนนี้ ดังนั้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งศาลพิพากษาให้ร่วมรับผิดกับจำเลยจะได้ชำระดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 80,185 บาท ไปก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ เพราะการค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคหนึ่ง กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่บริษัท ธ. เอง โจทก์ไม่อาจได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3338/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินไม่มีเอกสิทธิถือเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ การครอบครองจึงเป็นความผิด
พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า "ป่า" หมายความว่าที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน ส่วนแบบแจ้งการครอบครองที่ดินตามที่พยานจำเลยอ้างนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อความระบุว่าเป็นที่ดินที่แจ้งการครอบครองบริเวณใด และไม่ได้ระบุจำนวนเนื้อที่ดิน 70 ถึง 80 ไร่ แต่อย่างใด คงระบุแต่เพียงว่า ช. เป็นผู้แจ้งการครอบครองโดยไม่ได้ระบุว่าครอบครองต่อจากผู้ใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่พิพาทไม่มีเอกสารสิทธิจึงเป็นที่ดินซึ่งยังไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน ที่พิพาทจึงเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ มาตรา 4 (1) การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทมานานแล้วนั้น ก็ถือเป็นการครอบครองโดยมิชอบด้วย ป.ที่ดิน เมื่อที่พิพาทมีสภาพเป็นป่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองจึงเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองไม้หวงห้าม: ครอบครองแทนผู้อื่นก็เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้
คำว่า "ครอบครอง" ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ นั้น หาได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "สิทธิครอบครอง" ตาม ป.พ.พ. ไม่ หากแต่มีความหมายกว้างกว่าโดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้ความหมายจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิดอีกทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามรับจ้างผู้อื่นมาชัดลากไม้สักของกลางก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองไม้สักของกลางแทนเจ้าของผู้ว่าจ้าง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไม้สักของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้จากการขายสิทธิการเช่าและการหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระบุปีภาษี รายละเอียดแสดงการคำนวณภาษี ภาษีที่ต้องชำระ เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ทั้งแสดงเหตุผลที่ประเมินไว้ท้ายหนังสือดังกล่าว สำหรับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายการยอดขายและภาษีขาย ผลการตรวจยอดขายในเดือนพิพาท ยอดขายที่ต้องเสียภาษี ยอดแตกต่างภาษีขาย รายการคำนวณภาษี รายการเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ รวมภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม ทั้งมีเหตุผลประเมินที่ด้านหลังและข้อควรทราบระบุว่า โจทก์มีรายรับถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ และเป็นกรณีประกอบกิจการโดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับคำวินิจฉัย อุทธรณ์วินิจฉัยเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาความว่า โจทก์โอนสิทธิการเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1946 ให้แก่บริษัท น. และบริษัทดังกล่าวตีราคาสิทธิการเช่าเป็นหุ้นให้โจทก์ โดยโจทก์ไม่ต้องนำเงินลงทุนเป็นการแลกเปลี่ยน โจทก์จึงได้รับประโยชน์เท่ากับมูลค่าสิทธิที่ระบุในงบการเงินของบริษัท ถือเป็นเงินได้ของโจทก์ตามมาตรา 40 (8) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าบริษัท น. ให้สัตยาบันเกี่ยวกับสัญญาหรือค่าใช้จ่ายค่ารื้อถอนให้ผู้อยู่อาศัยเดิมก่อนการจัดตั้งบริษัท จึงถือเอารายจ่ายดังกล่าวนั้นมาตีราคาเป็นมูลค่าหุ้นของโจทก์ไม่ได้ เจ้าพนักงานหักค่าใช้จ่ายการโอนสิทธิการเช่าตามหลักฐานที่ปรากฏตามความจำเป็นและสมควร โดยคำนวณเฉลี่ยตามสัดส่วนของเนื้อที่ที่ดินถือว่าเป็นธรรมแล้ว เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์โจทก์นำไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2549 โดยขอเครดิตภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 247) พ.ศ.2534 และเจ้าพนักงานได้ประเมินเงินได้สุทธิโดยหักต้นทุนซื้อ อากรแสตมป์และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนแล้ว เงินได้จากการโอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดิน เจ้าพนักงานประเมินประเมินเงินได้สุทธิโดยหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนของเงินได้ตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับรายจ่าย เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว โจทก์สำคัญผิดในข้อกฎหมาย ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี จึงงดเบี้ยปรับให้ทั้งสิ้น ส่วนเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจงดหรือลดได้ จึงให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน สำหรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มมีความว่า โจทก์โอนสิทธิการเช่าที่ดินเลขที่ 1946 ให้แก่บริษัท น. โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นมูลค่าหุ้น กรณีถือเป็นการขายสินค้าไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1 (8) (9) แห่ง ป.รัษฎากร มูลค่าทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79/3 (1) เจ้าพนักงานประเมินตามมูลค่าที่ปรากฏในงบการเงินของบริษัทเป็นการถูกต้องแล้ว เงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่ง ป.รัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจงดหรือลด โจทก์สำคัญผิดในข้อกฎหมาย ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี จึงงดเบี้ยปรับให้ทั้งสิ้น เห็นได้ว่า หนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจครบถ้วนแล้วตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37
โจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์ถือครองเป็นระยะเวลาสั้นมากไม่ถึง 1 ปี และไม่ปรากฏว่าโจทก์ซื้อมาเพื่อจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญหรือได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินสมกับเนื้อที่ แต่หลังจากซื้อที่ดิน 1 เดือน โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีธุรกิจเฉพาะประเภทการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร เงินได้จากการขายที่ดินของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 48 (4) (ข) โจทก์ไม่มีสิทธิจะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณตามมาตรา 48 (1) และ (2) และไม่อาจหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 165) พ.ศ.2529 แต่ต้องหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 46 แห่ง ป.รัษฎากร และมาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502
ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) มิได้บัญญัติว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกัน โจทก์จึงอ้างถึงเหตุอื่นนอกเหนือจากที่เคยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้
สัญญาเช่าที่ดินมีข้อความว่า ผู้เช่ายอมยกกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ผู้เช่าได้กระทำลงในที่ดินที่เช่าให้แก่ผู้ให้เช่า และผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่านำอาคารพาณิชย์ อาคารอพาร์ตเมนต์และอาคารสรรพสินค้าที่ปลูกสร้างลงในที่ดินที่เช่าออกให้บุคคลอื่นเช่า จึงมีลักษณะต่างตอบแทนเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ถือไม่ได้ว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ป. ได้รับอนุมัติจากกรมการศาสนาเข้าสืบสิทธิการเช่าที่ดินดังกล่าว แม้โจทก์ทำสัญญากับกรมการศาสนาโดยเป็นผู้เช่า ก็เป็นการสืบสิทธิของ ป. เจ้ามรดกผู้เช่าเดิม แต่สิทธิการเช่าดังกล่าวเป็นสินสมรส จึงเป็นมรดกของ ป. เพียงกึ่งหนึ่ง เมื่อโจทก์มีชื่อเป็นผู้เช่าแต่ผู้เดียว และบริษัท น. ออกหุ้นตามมูลค่าสิทธิการเช่าดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการชำระค่าหุ้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินได้ตามมาตรา 61 แห่ง ป.รัษฎากร การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าให้แก่บริษัท น. ถือว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (9) แห่ง ป.รัษฎากร เพียงกึ่งหนึ่ง
ป.ทำสัญญาเช่าตั้งแต่ก่อน จ. และ ฉ. ทำสัญญาร่วมถือสิทธิและลงทุนกับ ป.และจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท น. แสดงว่า ป. ทำสัญญาในฐานะส่วนตัว มิใช่ตัวแทนบริษัทดังกล่าว ความผูกพันตามสัญญาร่วมถือสิทธิและลงทุนเป็นเพียงหน่วยภาษี มิใช่มีสภาพบุคคลที่จะเป็นตัวการดังที่โจทก์อ้าง
ค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่กรมการศาสนาไม่ได้แบ่งแยกเป็นรายโฉนด โจทก์โอนสิทธิการเช่าให้แก่บริษัท น. เฉพาะโฉนดเลขที่ 1946 การที่เจ้าพนักงานประเมินเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนของเนื้อที่ดินแต่ละโฉนดจึงสมเหตุผล ส่วนค่ารื้อถอนให้แก่ผู้อยู่อาศัยเดิมเจ้าพนักงานประเมินยอมให้ถือเป็นรายจ่ายของที่ดินแต่ละโฉนดตามจำนวนเงินและหลักฐานของแต่ละแปลงเป็นวิธีที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสิทธิการเช่าทั้งหมด เจ้าพนักงานประเมินมิได้โต้แย้งว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณภาษี แม้โจทก์มีเงินได้จากการโอนสิทธิการเช่าอันเป็นสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกซึ่งเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้กึ่งหนึ่งของการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าว มาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี (ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ก็มิได้ห้ามโจทก์หักค่าใช้จ่ายเต็มจำนวน การที่เจ้าพนักงานประเมินยอมให้นำรายจ่ายดังกล่าวเต็มจำนวนมาคำนวณภาษีเงินได้จึงเหมาะสมและเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว
มาตรา 42 (9) แห่ง ป.รัษฎากร ที่กำหนดให้เงินได้พึงประเมินซึ่งเป็นการขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นั้น ใช้เฉพาะกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มิใช่เป็นกรณียกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม การที่โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เป็นผลผูกมัดถึงการวินิจฉัยในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โจทก์โอนสิทธิการเช่าให้แก่บริษัท น. สิทธิการเช่าดังกล่าวมีราคาและถือเอาได้ จึงเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจ โจทก์ย่อมเป็นผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1 (5) แห่ง ป.รัษฎากร
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งเป็นทางการค้าหรือหากำไรต้องหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 46 แห่ง ป.รัษฎากร ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ซึ่งไม่มีกรณีหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา โจทก์ต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ว่ามีค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
ค่าเช่าบ้านที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินนั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์อุทธรณ์การประเมินข้อนี้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงนำปัญหานี้มาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางไม่ได้ ตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 แม้ศาลภาษีอากรกลางจะรับวินิจฉัยให้ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา เพราะไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
of 27