คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พันวะสา บัวทอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 262 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ที่ไม่ชอบเนื่องจากไม่วางค่าธรรมเนียม – ผลกระทบต่อคำพิพากษาเดิม
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ขอให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขและเพิ่มเติมคำให้การ และไม่อนุญาตให้ส่งสำนวนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น หากศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้ว ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นกล่าวคือคำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องถูกยกเลิกเพิกถอนไปในตัว จึงเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั่นเอง ในการอุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ และชอบที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสีย คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2312/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดเกี่ยวกับไม้หวงห้าม เลื่อยโซ่ยนต์ และการนำเข้าหลีกเลี่ยงอากร ศาลพิจารณาองค์ประกอบความผิดและแก้ไขโทษ
เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง การที่โจทก์ไม่ได้อ้างมาตรา 83 แห่ง ป.อ. หาทำให้คำฟ้องบกพร่องจนศาลไม่อาจจะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ไม่ เพราะตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี... (6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด..." ซึ่ง ป.อ. มาตรา 83 มิใช่บทมาตราที่กฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดแล้ว แม้จะไม่ได้ระบุมาตรา 83 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานตัวการร่วมกันกระทำความผิดได้
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดองค์ประกอบความผิด แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษฐานดังกล่าว โดยอ้างมาตรา 4, 19 แห่ง พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ ฯ มาด้วย ศาลฎีกาไม่สามารถลงโทษได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพและมิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2205/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ผู้ถูกล่อซื้อเป็นเครื่องมือของเจ้าพนักงาน ย่อมไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด
การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมไปซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 มาให้เจ้าพนักงานตำรวจครั้งนี้ก็เพราะหวังค่าจ้าง ซึ่งไม่ว่าค่าจ้างนั้นจะเป็นกรณีตามที่โจทก์นำสืบว่าค่าจ้าง คือ แบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวนครึ่งเม็ดหรือไม่มีค่าจ้าง จำเลยที่ 1 คงจะไม่ไปดำเนินการซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 มาให้ และการที่เจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 1 ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 เช่นนี้ ถือเป็นการอาศัยจำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือ เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้เริ่มมิใช่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มในการไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 ส่วนการที่เจ้าพนักงานตำรวจมอบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อให้จำเลยที่ 1 ก็ดี หรือการที่จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางมามอบให้เจ้าพนักงานตำรวจก็ดี เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานตำรวจที่เคยให้สายลับไปดำเนินการ ซึ่งโดยปกติเจ้าพนักงานตำรวจก็มักจะให้ค่าตอบแทนแก่สายลับ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในสถานะเดียวกับสายลับ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1777/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความร้องทุกข์ยักยอกทรัพย์: การรู้เรื่องความผิดและตัวผู้กระทำผิด
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง จ. เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแล้วย่อมถือว่า จ. เป็นตัวแทนของทายาททั้งหมด มีหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์มรดก ทั้งดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อผู้ที่กระทำความเสียหายแก่กองมรดกด้วย ดังนั้นเมื่อ จ. นำคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไปดำเนินการที่ธนาคาร ก. สาขาวังทอง เพื่อขอรับเงินในบัญชีของเจ้ามรดก แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่าจำเลยนำคำสั่งศาลแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมารับเงินในบัญชีไปแล้ว ย่อมถือว่า จ. รู้เรื่องผู้กระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว และต้องถือว่าโจทก์ร่วมในฐานะทายาททราบเรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วด้วย
แม้วันสุดท้ายที่โจทก์ร่วมมีสิทธิร้องทุกข์ จะตรงกับวันหยุดราชการ แต่การร้องทุกข์สามารถกระทำได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ โจทก์ร่วมไม่ร้องทุกข์ในวันสุดท้าย คดีจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1737/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิดนิติบุคคล: เริ่มนับเมื่อผู้แทนตามกฎหมายทราบการละเมิด
โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล มีอธิบดีเป็นผู้แทนตามกฎหมายซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบของราชการ รวมทั้งเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ฉะนั้นการนับอายุความละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่อธิบดีผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่ออธิบดีผู้แทนโจทก์ทราบเรื่องที่ตัวแทนจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 นับถึงวันที่ 10 กันยายน 2547 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ป. และ น. มีตำแหน่งเป็นนายช่างแขวงการทางชัยนาท ส่วน ธ. เป็นนิติกรประจำกองนิติการซึ่งเป็นเพียงข้าราชการในกรมของโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้แทนของโจทก์โดยตรง แม้เจ้าหน้าที่ของโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ปี 2537 แล้วก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอันจะเป็ฯเหตุให้ต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันเวลาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์มรดกโดยทุจริตของผู้จัดการมรดกและผู้สนับสนุนความผิดฐานยักยอกทรัพย์
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตอันเป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353,354 ประกอบด้วยมาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชัดเจนของฟ้องอาญา: การบรรยายฟ้องแยกกรรมความผิดชัดเจนเพียงพอ ศาลพิพากษาลงโทษหลายกรรมได้
คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า ระหว่างเวลาที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้องข้อ 2 และข้อ 2.2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า อันเป็นความผิดตามกฎหมายกรรมหนึ่ง และข้อ 2.3 โจทก์บรรยายฟ้องตอนต้นว่า "หลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันบุกรุกครอบครองป่าและป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำไม้โดยการใช้มีดพร้าตัด ฟัน กาน ต้นไม้หวงห้ามรวม 92 ต้น ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า ตามวันเวลาที่โจทก์ระบุไว้ในข้อ 2 แต่เป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้บุกรุกเข้าไปครอบครองป่าและป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอีกกรรมหนึ่ง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชัดแจ้งว่า เมื่อวันเวลาใด จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานใดบ้าง อันเป็นความผิดต่างกระทงต่างกรรมกัน มิใช่เป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องอาญาในศาลแขวงต้องระบุองค์ประกอบความผิดครบถ้วน แม้เป็นคดีฟ้องด้วยวาจาก็ตาม
โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำไม้เคลื่อนที่โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีใบเบิกทางกำกับจากพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39 ซึ่งการนำไม้เคลื่อนที่จะต้องมีใบเบิกทางตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39 นั้น ต้องเป็นการนำไม้เคลื่อนที่เข้าในลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 38 (1) ถึง (4) ดังนั้น เมื่อโจทก์เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำไม้กระถินเคลื่อนที่ไปตามถนนวังม่วง - พัฒนานิคม โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีใบเบิกทางกำกับเท่านั้นโดยมิได้บรรยายฟ้องข้อความตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 38 อนุมาตราใดอนุมาตราหนึ่งแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39 แม้คดีนี้จะเป็นการฟ้องด้วยวาจาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 ซึ่งไม่เคร่งครัดเรื่องฟ้องเคลือบคลุมเหมือนการบรรยายฟ้องเป็นหนังสือในคดีอาญาทั่วไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ก็ตาม แต่เรื่ององค์ประกอบความผิดนั้นยังเป็นหลักการสำคัญที่โจทก์จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนั้น เมื่อบันทึกฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามฆ่า: การยิงด้วยอาวุธปืนแม้ไม่ถึงแก่ชีวิต ถือเป็นการเล็งเห็นผลถึงความตายได้
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในห้องที่ผู้เสียหายนอนอยู่ กระสุนปืนถูกที่แขนของผู้เสียหาย กระดูกต้นแขนซ้ายหัก จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธร้ายแรงสามารถใช้ยิงคนถึงแก่ความตายได้ แม้จะยิงผ่านฝาหรือประตูห้องเข้าไปถ้าถูกอวัยวะที่สำคัญก็ถึงแก่ความตายได้ เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญและผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15771/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีความผิด พ.ร.บ.การชลประทานหลวง: ความผิดต่อรัฐ ไม่ต้องมีผู้เสียหายโดยตรง
การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้แม้จะไม่มีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (1), 120 และ พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (1) โดยมิต้องคำนึงว่าผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจะเป็นผู้เสียหายแท้จริงหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
of 27