คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 112 จัตวา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 36 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเงินวางประกันค่าอากร/ค่าปรับ, อายุความ, การคิดดอกเบี้ยทบต้น, การบังคับใช้มาตรา 112 จัตวา แห่ง พ.ร.ก.ศุลกากร
ตามคำพิพากษาของศาลอาญาในคดีหมายเลขแดงที่ 2522/2527 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ บริษัทสุนิสา จำกัด จำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งศาลพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจัดอยู่ในประเภทศุลกากร ประเภทที่ 39.6 ข จึงพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับคดีส่วนแพ่งนั้นจำเลยได้ฟ้องเรียกค่าภาษีอากรโดยอาศัยพิกัดศุลกากรตามที่อ้างให้โจทก์วางประกันค่าอากรและขาดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เป็นกรณีต้องคืนเงินประกันค่าอากรดังกล่าว เพราะเหตุที่ได้เรียกเก็บไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ซึ่งตามมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลากากร พ.ศ.2469 บัญญัติให้คืนพร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้วางเงินประกันค่าอากรจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน
เงินประกันค่าอากรกับเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดตามฟ้องเป็นเงินคนละส่วนกัน และแม้ว่ามาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าปรับ แต่การที่โจทก์ต้องวางประกันค่าปรับดังกล่าวถือว่าโจทก์ต้องเสียหายตั้งแต่วางเงินประกันค่าปรับดังกล่าวโดยไม่สมัครใจ ดอกเบี้ยในเงินประกันค่าปรับตามที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยเข้าลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ปรากฏตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์มิได้ขอวางเงินประกันดังกล่าวเอง แต่ฝ่ายพิกัดกับฝ่ายวิเคราะห์สินค้ามีความเห็นขัดแย้งกัน และต่อมาฝ่ายวิเคราะห์สินค้าส่งเรื่องให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์และให้โจทก์วางเงินประกันค่าปรับดังกล่าว อันเป็นการวางเงินประกันโทษทางอาญาโดยโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ระงับคดีแต่อย่างใด โจทก์ย่อมต้องเสียหายตั้งแต่วันวางเงินประกันค่าปรับดังกล่าวและตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 7 โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนี้นับแต่วันวางเงินค่าปรับเช่นเดียวกับการวางเงินประกันค่าอากรดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น แม้โจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยอ้างมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ก็เป็นกรณีโจทก์ประสงค์ในดอกผลนิตินัยหาใช่กรณีโจทก์มิได้ขอมาในคำฟ้องดังที่จำเลยอ้างไม่
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ ฯลฯ คำว่า ดอกเบี้ยไม่ได้หมายความเฉพาะดอกเบี้ยจากหนี้เงินกู้เท่านั้น อาจเป็นดอกเบี้ยจากหนี้กรณีอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งดอกเบี้ยค้างชำระที่กำหนดอายุความ 5 ปีนี้ หมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันฟ้องคดี แต่อย่างไรก็ตาม กรณีผู้เสียภาษีต้องจ่ายเงินค่าอากรหรือเงินประกันอากร แต่ต่อมามีสิทธิได้คืนเงินอากรหรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่มีการเรียกไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่มเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ต้องเสียภาษี มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงบัญญัติให้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ให้ถือเป็นเงินอากรที่ต้องจ่ายคืน การที่กฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นอากรที่ต้องจ่ายคืนมีผลทำให้ดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ใช่ดอกเบี้ยตาม ประมวลกฎหมายและพานิชย์ ซึ่งมีกำหนดอายุความเพียง 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)
มาตรา 10 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเฉพาะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันนำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี แต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนักและราคาแห่งของใดๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใดๆ นั้น มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้นๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว หรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก หมายถึง ผู้เสียหายที่เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินอากรที่ต้องเสียไว้เกินภายใน 2 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องขอดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าอากร แม้มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ บัญญัติให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ถือเป็นเงินอากรที่ต้องจ่ายคืน แต่กรณีของโจทก์มิใช่กรณีสิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนพึงต้องเสียจริงซึ่งจะอยู่ในบังคับของมาตรา 10 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่สำหรับกรณีดอกเบี้ยเงินวางประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดเป็นดอกเบี้ยในหนี้เงินซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับตาม ประมวลกฎหมายและพานิชย์ โดยมีอายุความ 5 ปี นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2548 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระจากจำเลยย้อนหลังไปเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี คือนับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2543 จนกระทั่งถึงวันที่จำเลยคืนเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดให้แก่โจทก์คือวันที่ 23 มกราคม 2546 เท่านั้น โดยใช้ให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน หรือร้อยละ 7.5 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3798/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินเพิ่มอากรขาเข้า: การสำแดงเท็จและข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 102 ตรี และ 112 จัตวา
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ แต่มิให้เรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวในกรณีที่มีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3" และเมื่อพิจารณาความในมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 แล้ว เห็นว่า กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จ แต่ได้สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าหรือขาออกเป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ความรับผิดของจำเลยในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 112 ตรี อนุมาตรา 3
ส่วนที่ศาลภาษีอากรกลางยกคำขอให้ชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าโดยให้เหตุผลวินิจฉัยคดีประการหนึ่งว่า ตามคำฟ้องและแบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 มิได้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้านั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ที่แก้ไขแล้วตอนท้ายได้บรรยายเกี่ยวกับเงินเพิ่มดังกล่าวแล้วว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนนับตั้งแต่วันตรวจปล่อยคำนวณถึงวันฟ้อง สำหรับแบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 แม้จะมิได้ระบุจำนวนเงินเพิ่มอากรขาเข้าที่จำเลยจะต้องชำระ แต่ความในมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวเมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม โดยมิได้บัญญัติให้ความรับผิดในการเสียเงินเพิ่มดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่อันจะต้องระบุไว้ในใบแจ้งการประเมิน ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะมีการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกก็ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มดังกล่าว ดังนั้นแม้แบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 มิได้ระบุจำนวนเงินเพิ่มอากรที่ต้องชำระ จำเลยก็ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มดังกล่าวโดยผลของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรกรณีสำแดงเท็จ และข้อยกเว้นตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร
การชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 และในการคำนวณเงินเพิ่ม เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน และเงินเพิ่มนั้นให้ถือเป็นเงินอากร จะเห็นได้ว่า กฎหมายมิให้เรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวเฉพาะกรณีที่มีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 เท่านั้น จำเลยสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้าต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายจริง จึงเป็นกรณีสำแดงเท็จตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 2 ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งความนำจับหรือไม่ก็ไม่อาจเป็นกรณีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 เมื่อไม่อาจเป็นกรณีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 จึงเป็นกรณีที่เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่งและวรรคสามได้ แม้จะมิได้ระบุการเรียกเก็บมาในแบบแจ้งการประเมินก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสำแดงราคาสินค้านำเข้าเท็จ การเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร
จำเลยสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้าต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายจริงอันเป็นกรณีสำแดงเท็จตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 2 ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งความนำจับหรือไม่ก็ไม่อาจเป็นกรณีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 เมื่อไม่อาจเป็นกรณีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 จึงเป็นกรณีที่เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่งและวรรคสามได้ แม้จะมิได้ระบุการเรียกเก็บมาในแบบแจ้งการประเมินก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3636/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับการชำระหนี้ค่าอากรและเงินเพิ่มจากหนังสือค้ำประกัน เมื่อลูกหนี้มีหนี้หลายรายการถึงกำหนดชำระพร้อมกัน
เงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา มิใช่ดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทั้งมาตราดังกล่าวมิใช่บทกฎหมายใกล้เคียงอันจะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ โจทก์ไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เพิ่มค่าอากรก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย หนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าอากรเป็นรายที่ตกหนักที่สุดย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้นำเงินของผู้ค้ำประกันไปหักชำระค่าอากรก่อนเป็นการชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับชำระหนี้ค่าอากรและเงินเพิ่ม: เงินเพิ่มไม่ใช่ดอกเบี้ย, ปลดเปลื้องหนี้ค่าอากรที่มีภาระเงินเพิ่มก่อน
จำเลยนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยสำแดงว่าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี และขอวางหนังสือค้ำประกันการชำระค่าอากรขาเข้า เมื่อครบกำหนดจำเลยมิได้นำสินค้ามาผลิตเพื่อส่งออก โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินค่าอากรมาชำระแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงทวงถามไปยังธนาคาร ก. ผู้ค้ำประกันการชำระค่าอากรขาเข้าของจำเลย ซึ่งธนาคารได้นำเงินมาชำระตามที่ได้ค้ำประกันไว้ ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าสินค้ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้า จึงคำนวณค่าภาษีอากรใหม่พร้อมเงินเพิ่มแต่การที่โจทก์นำเงินค้ำประกันไปหักชำระเงินเพิ่มก่อนนั้นไม่ชอบ เพราะเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา มิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าอากรเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ต้องได้รับปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 414/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าอากรกับเงินเพิ่มอากรเป็นคนละมูลหนี้ เงินเพิ่มไม่ใช่ดอกเบี้ย ใช้มาตรา 328 พ.ร.บ.แพ่งฯ ได้
หนี้ค่าอากรเกิดจากการที่โจทก์นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ส่วนหนี้เงินเพิ่มเกิดจากการที่โจทก์มิได้ชำระค่าอากรภายในกำหนด กล่าวคือมิได้เสียในเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบขนสินค้าให้ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าตามมาตรา 112 จัตวา หนี้ค่าอากรกับหนี้เงินเพิ่มจึงมิได้เป็นมูลหนี้รายเดียวกัน และเงินเพิ่มตามมาตรานี้มิใช่ดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 จึงไม่อาจนำมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับได้ กรณีเป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย หนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าภาษีอากรเป็นรายที่ตกหนักที่สุดย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับการชำระหนี้ภาษีและเงินเพิ่ม: หนี้ภาษีมีภาระเงินเพิ่มย่อมได้รับการปลดเปลื้องก่อน
เงินเพิ่มตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา กับเงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ แห่ง ป. รัษฎากร ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นมิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาใช่บทกฎหมายใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มค่าภาษีก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า ๆ กัน ให้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน เมื่อหนี้ค่าภาษีเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ดังนี้ หนี้ค่าภาษีย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง จึงต้องนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระไปหักชำระค่าภาษีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7673/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับการชำระหนี้ค่าอากรและเงินเพิ่มศุลกากร: หนี้เก่ากว่าต้องชำระก่อน
การชำระหนี้สินหลายรายที่ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน ต้องให้รายที่เก่าที่สุดเป็นอันได้ปลดเปลื้องไปก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง แม้ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา วรรคสาม จะบัญญัติให้ถือว่าเงินเพิ่ม เป็นเงินอากร แต่หนี้ค่าอากรเป็นหนี้ที่มีมาก่อนเงินเพิ่ม จึงเป็นหนี้เก่ากว่าหนี้เงินเพิ่ม หนี้ค่าอากรย่อมได้รับการปลดเปลื้อง ไปก่อนหนี้เงินเพิ่ม
เงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง มิใช่ดอกเบี้ยและไม่อาจถือเป็นดอกเบี้ย จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 329 มาใช้บังคับได้ โจทก์จึงไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันนำมาชำระ มาหักจากหนี้เงินเพิ่มก่อนหนี้ค่าอากรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7673/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับการชำระหนี้ค่าอากรและเงินเพิ่มทางภาษีอากร: ค่าอากรเป็นหนี้เก่ากว่าเงินเพิ่ม
จำเลยสั่งซื้อและนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตและส่งออกภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันนำเข้าโดยแสดงความจำนงจะขอคนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ โดยวิธีค้ำประกันรวม44 ครั้ง จำเลยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกัน เมื่อครบกำหนด1 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยนำสินค้ามาผลิตและส่งออกไปเพียงบางส่วนเป็นการผิดเงื่อนไขเจ้าพนักงานของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 ได้ประเมินค่าอากรขาเข้าของสินค้าคงเหลือกับเงินเพิ่มและแจ้งให้ผู้ค้ำประกันนำเงินมาชำระผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันแล้วซึ่งเงินตามสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับมีจำนวนสูงกว่าค่าอากรขาเข้าที่จำเลยต้องชำระแต่น้อยกว่าค่าอากรและเงินเพิ่มรวมกัน ในการชำระหนี้สินหลายรายที่ถึงกำหนดชำระพร้อมกันดังกล่าวต้องให้รายที่เก่าที่สุดเป็นอันได้ปลดเปลื้องไปก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 328 วรรคสอง แม้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาวรรคสาม จะบัญญัติให้ถือว่าเงินเพิ่มเป็นเงินอากรแต่หนี้ค่าอากรก็เป็นหนี้ที่มีมาก่อนเงินเพิ่มจึงเป็นหนี้เก่ากว่าหนี้เงินเพิ่ม ดังนี้ หนี้ค่าอากรย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนหนี้เงินเพิ่ม
เงินเพิ่มที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง มิใช่ดอกเบี้ยและไม่อาจถือเป็นดอกเบี้ยได้ จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 มาบังคับได้
of 4