คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมศรี หรูจิตตวิวัฒน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 42 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6152/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานเชื่อมโยงแผนประทุษกรรมร่วมกันกระทำความผิด แม้ไม่มีการบรรยายฟ้องรายละเอียด
แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่า น. เห็นจำเลยและรับเงินจากจำเลยในการส่งข้าวสาร วันที่ 12 สิงหาคม 2558 แต่ศาลฎีกาสามารถรับฟังข้อเท็จจริงของการกระทำผิดในวันดังกล่าวประกอบกับข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดของวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 ตามฟ้องคดีนี้ได้ เพราะโจทก์ได้นำสืบไว้ในคดีนี้แล้ว ซึ่งสามารถเห็นได้ถึงแผนประทุษกรรมของคนร้าย คือ วิธีการและขั้นตอนในการกระทำความผิดซึ่งซ้ำๆ กัน อันเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนจับกุมคนร้ายพวกของจำเลยได้ ทั้งข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้เป็นเพียงผู้รับจ้างขนถ่ายข้าวสาร แต่เป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกระทำความผิดโดยร่วมกับ ช. และพวกคนร้าย แบ่งหน้าที่กันทำโดยจำเลยทำหน้าที่ช่วยขนย้ายถ่ายเทข้าวสารที่พวกจำเลยใช้กลอุบายลักมาเพื่อให้พ้นการติดตามจับกุมของผู้เสียหายเพื่อเอาไว้ซึ่งข้าวสารนั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนประทุษกรรมนั่นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5225/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสูงเกินควร ศาลลดเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 383 และวินิจฉัยสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญา
เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ทั้งจำเลยทั้งสองยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา 391 วรรคสี่ การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันตามสัญญาเช่าพื้นที่ ข้อ 4.1 วรรคสองว่า หากผู้เช่าผิดนัดชำระค่าเช่า... และหากการผิดนัดดังกล่าวดำเนินไปเกินกว่า 30 วัน ถือว่าผู้เช่าจงใจประพฤติผิดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าฉบับนี้ได้ทันที และผู้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้ให้เช่าริบเงินที่ผู้เช่าได้ชำระให้แก่ผู้ให้เช่ามาแล้วทั้งหมด และที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงกันตามสัญญาบริการ ข้อ 5.3 ว่า ผู้รับบริการยินยอมให้ผู้ให้บริการริบเงินประกันการบริการได้ทันที หากผู้รับบริการผิดข้อสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาบริการฉบับนี้หรือสัญญาเช่าพื้นที่ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบค่าเช่าและค่าประกันการบริการที่โจทก์ชำระในงวดแรกได้ แต่ข้อตกลงตามสัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 ถึงมาตรา 381 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทั้งสองทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้วเห็นสมควรลดเบี้ยปรับในส่วนที่เป็นค่าเช่าพื้นที่ลงเหลือประมาณ 7 ใน 8 ส่วน ค่าประกันการบริการลงเหลือประมาณ 7 ใน 8 ส่วน จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่ริบไว้แก่โจทก์จำนวน 398,816 บาท จำเลยที่ 2 ต้องคืนเงินที่ริบไว้แก่โจทก์จำนวน 17,284 บาท และการที่จำเลยทั้งสองริบเงินที่โจทก์ชำระไปทั้งหมดไว้เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยทั้งสองต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9882/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม การใช้ประโยชน์ที่ดินเกินขอบเขต และค่าเสียหายจากการละเมิด
คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยบรรยายว่า จำเลยใช้ทางพิพาทมาตลอด กว้าง 11 เมตร ยาวจากที่ดินจำเลยไปจดถนนกรุงธนบุรี ยาว 38 เมตร เป็นทางเดิน ยานพาหนะผ่านเข้าออก ที่จอดรถ และขนถ่ายสินค้าถึงปัจจุบันเกือบ 30 ปี ตามแผนผังท้ายคำให้การและฟ้องแย้ง โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นภาระจำยอม ส่วนโจทก์แก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงไม่ใช่ภาระจำยอมของที่ดินจำเลย จำเลยได้ที่ดินมาเมื่อปี 2553 ถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยหาได้ใช้ทางดังกล่าวตลอดมาตามที่จำเลยให้การ ทางออกสู่ทางสาธารณะที่จำเลยใช้ประโยชน์ในที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลง กว้าง 3 เมตร ยาว 38 เมตร เท่านั้น หาได้กว้าง 11 เมตร ตามที่จำเลยฟ้องแย้ง จำเลยอ้างการใช้ทางเต็มพื้นที่ตามเอกสารท้ายคำให้การจึงไม่ชอบ เห็นได้ว่าโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การแก้ฟ้องแย้งเฉพาะเรื่องจำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อออกสู่ทางสาธารณะเพียงบางส่วน มิใช่เต็มพื้นที่ที่ดินโจทก์ และใช้มายังไม่ถึง 10 ปี แต่โจทก์ไม่ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งเรื่องจำเลยใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่จอดรถและที่ขนถ่ายสินค้า จึงถือว่าโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่จอดรถและที่ขนถ่ายสินค้าในที่ดินโจทก์ส่วนที่เกินกว่าความกว้าง 3 เมตร ด้วย
การที่จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 มาตั้งแต่ปี 2528 แม้ได้ขายให้ ว. ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ ว. ขายให้ผู้อื่นแล้วจำเลยซื้อที่ดินมาจากผู้อื่นนั้น จึงต้องนับระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่ปี 2528 หาใช่นับแต่ปี 2553 ที่จำเลยซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากกองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่งดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อนับระยะเวลาจากปี 2528 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เป็นเวลาเกินกว่าสิบปี จำเลยจึงได้ภาระจำยอมโดยอายุความในทางพิพาทเฉพาะเพื่อใช้เดินและเป็นทางพาหนะเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนกรุงธนบุรี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382
ป.พ.พ. มาตรา 1387 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ภาระจำยอมนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น การที่จำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อจอดรถยนต์และขนถ่ายสินค้านั้นเป็นไปเพื่อความสะดวกของจำเลยกับบริวาร และเพื่อการประกอบอาชีพหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลย มิใช่เพื่ออสังหาริมทรัพย์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ของจำเลยแต่อย่างใด ทั้งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ภารยทรัพย์ของโจทก์ด้วย แม้จำเลยและบริวารจะใช้ทางพิพาทเพื่อการดังกล่าวมานานเพียงใดก็ไม่ได้ภาระจำยอม เพราะ ป.พ.พ. ว่าด้วยเรื่องภาระจำยอมมิได้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เป็นเจ้าของสามยทรัพย์ยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ภารยทรัพย์ของผู้อื่นเกินกว่าสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8150/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการคัดค้านทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำกัดเฉพาะเจ้าของทรัพย์สินส่วนตน และความเกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐาน
ผู้มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องที่ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงเท่านั้น เมื่อรถยนต์ตามคำร้องเป็นสินสมรสระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับ ร. ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 กับ ร. มีส่วนเป็นเจ้าของรวมกันคนละครึ่ง แม้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ร. ก็ยื่นคำร้องคัดค้านได้เฉพาะทรัพย์สินในส่วนของตน ไม่อาจยื่นคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับทรัพย์สินในส่วนของ ร. และไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ทรัพย์สินในส่วนของ ร. ตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอสีคิ้ว ไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรือนจำกลางคลองไผ่ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไปพบและพูดคุยกับนักโทษชาย ม. ซึ่งเป็นนักโทษในคดียาเสพติดที่เรือนจำกลางคลองไผ่โดยผิดระเบียบ จึงไม่มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมและแม้ส่อว่าอาจมีข้อพิรุธ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำการอื่นใดที่จะถือว่าเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนักโทษชาย ม. มาก่อนหน้านั้นอย่างไร ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน
ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนักโทษชาย ม. ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ลักลอบส่งโทรศัพท์มือถือไปให้นักโทษชาย ม. เป็นการผิดระเบียบของเรือนจำ และนักโทษชาย ม. นำโทรศัพท์มือถือไปให้นักโทษชาย อ. ซึ่งรู้จักกันมาก่อนและสนิทสนมกัน ใช้ติดต่อจำหน่ายยาเสพติดจากภายในเรือนจำ ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทในการขับขี่และการมีส่วนร่วมของผู้เสียหาย: สิทธิของบิดามารดาในการเป็นโจทก์ร่วม
เหตุคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถกระบะที่อยู่ด้านหน้าล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถของผู้ตาย ซึ่งหากจำเลยไม่ขับรถจักรยานยนต์แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตายเหตุครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็ว ก็อาจเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำความผิดของจำเลย ประการสำคัญขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ในช่องเดินรถของตน การที่ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็วดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน แต่การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน และผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ผู้ตายหามีส่วนประมาทด้วยไม่ ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายย่อมมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4526/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับของโจร: การพิสูจน์วัตถุทางศาสนาเป็นสาระสำคัญในการลงโทษ
โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าองค์เทพเจ้ากิมอ้วงเอี๊ยะ องค์เทพเจ้าเตียงง่วยส่วย องค์เทพซำไซส่วยพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด และมีความเกี่ยวข้องกับทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด อย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าองค์เทพเจ้าทั้งสามองค์พร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนา แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานรับของโจรตามฟ้อง แต่ความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริงจึงจะลงโทษได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาแล้ว ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนรายงานการประชุมจัดตั้งและควบรวมนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันทำรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกของโครงการหมู่บ้านจัดสรรทั้งสี่โครงการเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2548 อันเป็นเท็จ เพื่อดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร การจดทะเบียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทั้งสี่แห่งจึงเป็นโมฆะ ทำให้การจัดประชุมใหญ่ควบรวมนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทั้งสี่แห่งเข้าด้วยกันเป็นจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2549 ย่อมตกเป็นโมฆะไปด้วย ที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องขอเพิกถอนรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกทั้งสองครั้งดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการฟ้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่บริษัทอันผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 และมิใช่การประชุมใหญ่ตามความหมายของกฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบ และการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ.2545 ข้อ 15 โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 1195 และข้อบังคับของจำเลยที่ 4 ข้อ 55 ที่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนมติในการประชุมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติแต่ละครั้งและก็มิใช่เป็นกรณีที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเป็นฝ่ายฟ้องคดีแทนสมาชิกเกี่ยวกับกรณีที่กระทบสิทธิหรือประโยชน์ของสมาชิกตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 4 ข้อ 5.4 ที่ต้องมีมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกโครงการหมู่บ้านจัดสรรอนุญาตให้ฟ้องคดี โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดนำสืบว่า มีการปลอมลายมือชื่อสมาชิกหมู่บ้านจัดสรรที่ลงมติในการประชุมดังกล่าวโดยไม่ชอบ และการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแต่ละโครงการ แต่กลับมีการจัดประชุมร่วมกันทั้งสี่โครงการ ไม่ได้มีการแยกประชุมสมาชิกหมู่บ้านจัดสรรแต่ละโครงการตามกฎหมาย การประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ดังนี้ รายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1 ถึง 4 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2548 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนเฉพาะรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 3 นั้น ไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1, 2 และ4 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2548 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) และต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกหมู่บ้านจัดสรรเพื่อควบรวมนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1 ถึง 4 เข้าด้วยกันเป็นจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบ จำเลยที่ 4 จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. จำเลยที่ 4 หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แทนนั้น ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. จำเลยที่ 4 ด้วย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. จำเลยที่ 4 ได้
คดีเดิมที่จำเลยที่ 4 ฟ้องโจทก์บางคนต่อศาลแขวงธนบุรีนั้น เป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระ แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1 ถึง 4 และรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อควบรวมนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1 ถึง 4 เป็นจำเลยที่ 4 ประเด็นข้อพิพาทในคดีเดิมกับคดีนี้จึงต่างกัน ฟ้องโจทก์ทั้งสิบเอ็ดคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีเดิมดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมกัน: การรับผิดชอบของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย และขอบเขตการบังคับคดี
ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีที่โจทก์ จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันและมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยแล้วพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อพิพาท ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความในคดีรวมทั้ง ก. และ น. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้จะมี ก. และ น. เข้าร่วมตกลงด้วย
การที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง ก. และ น. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอม สัญญาประนีประนอมยอมความจึงชอบด้วยกฎหมาย ผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่ายในสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนคำพิพากษาตามยอมซึ่งพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันเฉพาะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความเว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1), 245 และ 274 และในข้อยกเว้นตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) (2) เมื่อ ก. ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอบังคับคดีแก่ ก. โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมและคำพิพากษาตามยอมคดีนี้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ ก. เป็นคดีต่างหาก แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 11 ระบุว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลงในสัญญายอมข้อใดข้อหนึ่งให้บังคับคดีไปตามสัญญายอมนี้ได้ทันที โดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมของศาลเป็นการแสดงเจตนา พร้อมให้ชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่คู่ความอีกฝ่ายด้วย ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าคู่สัญญาคนใดในสัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญาข้อใดก็ให้บังคับคดีเอาแก่คู่สัญญานั้นตามสัญญาแต่ละข้อเท่านั้น เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้โจทก์ทั้งสองกับ ก. ต้องรับผิดร่วมกันในการชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมิได้ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเอาแก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15310/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตบุริมสิทธิเงินสมทบประกันสังคม/เงินทดแทน: ครอบคลุมหนี้ทั้งหมด ไม่จำกัดปี
ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 บัญญัติให้ เงินสมทบที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม เงินทดแทนที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม มีบุริมสิทธิในระดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตาม ป.พ.พ. โดยมิได้บัญญัติให้เรียกได้ในวงเงินที่ค้างในปีปัจจุบันและปีก่อนหน้านั้นหนึ่งปี แม้ ป.พ.พ. มาตรา 256 จะบัญญัติให้ บุริมสิทธิค่าภาษีอากรใช้สำหรับของบรรดาค่าภาษีอากรที่ยังค้างอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่บัญญัติเอาไว้ในเฉพาะเรื่องบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14953/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลา แม้ศาลอนุญาต ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ครบกำหนดที่คู่ความต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 แต่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนด การนับเวลาที่ขยายออกไปต้องเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2556 อันเป็นวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิม แม้วันดังกล่าวจะเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/7 จึงครบกำหนดที่จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 26 สิงหาคม 2556 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้แล้ว และเมื่อตามคำร้องดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีก 2 ครั้ง จนกระทั่งจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ก็ตาม ก็ถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน เป็นเหตุให้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 5