พบผลลัพธ์ทั้งหมด 42 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14679/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความล่าช้าในการบังคับคดีเกิดจากเจ้าหนี้ไม่ดำเนินการ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องรับผิด
เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดโดยกำหนดวันนัดขายทอดตลาดไว้ถึง 2 นัด และยังมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้วางเงินค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดอีกด้วย แต่โจทก์เองไม่วางเงินกลับยื่นคำร้องขอให้เลื่อนการขายทอดตลาดออกไป 3 เดือน แสดงว่าโจทก์ยังไม่ประสงค์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทรัพย์พิพาท ดังนั้นวันนัดที่กำหนดไว้จึงเป็นการเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดและการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า งดการขายทอดตลาดไว้ 3 เดือน รอโจทก์แถลงความประสงค์ จึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนตกลงงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (3) เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว หากโจทก์ประสงค์จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป โจทก์ก็ชอบที่จะยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปเนื่องจากระยะเวลาที่ให้งดการบังคับคดีนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้วตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 294 วรรคหนึ่ง โจทก์จะอ้างว่าเป็นความผิดหรือความบกพร่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ตามที่โจทก์ขอให้งดการบังคับคดีไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปทันทีโดยโจทก์ไม่จำต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีใหม่ให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปอีกหาได้ไม่เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะแถลงขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป จะถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ โจทก์มิได้แถลงขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดจนกระทั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งให้โจทก์แถลงความประสงค์ในการบังคับคดีและวางค่าใช้จ่ายเพิ่ม โจทก์จึงวางเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มและแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไป การที่โจทก์ปล่อยระยะเวลาล่วงเลยมาถึง 11 ปีเศษ เช่นนี้ ความล่าช้าในการบังคับคดีจึงเป็นความผิดหรือบกพร่องของโจทก์เอง หาใช่เป็นความผิดหรือบกพร่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14570/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแจ้งข้อกล่าวหาและการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหา
แม้บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุแต่เพียงข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร แต่จำเลยก็แสดงท่าทางและนำชี้จุดที่มีการติดตามไล่ยิงผู้เสียหายทั้งสอง โดยมีคำอธิบายใต้ภาพอธิบายเหตุการณ์และจำเลยลงลายมือชื่อรับรองไว้ แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นอย่างดี และหลังจากนั้นก็มีการแจ้งข้อกล่าวหาพยายามฆ่าผู้อื่นแก่จำเลย จึงถือได้ว่ามีการแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคหนึ่ง ดังนี้ การที่พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปยังสถานที่เกิดเหตุและทำแผนประกอบคำรับสารภาพซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนก่อน แล้วจึงแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบก็ไม่ทำให้การสอบสวนในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14499/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำกัดสิทธิฎีกาแพ่งจากทุนทรัพย์พิพาท และการหักเงินค่าสินไหมทดแทนที่ชำระแล้ว
สิทธิในการฎีกาในคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 70,000 บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ฎีกาของจำเลยโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12906/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย, การคำนวณสารบริสุทธิ์, และการลงโทษปรับตามกฎหมายยาเสพติด
จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 44 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าเมทแอมเฟตามีน 44 เม็ด มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า เมทแอมเฟตามีนของกลาง 169 เม็ด จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีน้ำหนัก 15.192 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.166 กรัม และเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 44 เม็ด ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 169 เม็ด ดังนั้น จึงย่อมสามารถคำนวณหาสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 44 เม็ด โดยคำนวณเทียบกับปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 169 เม็ด ซึ่งคำนวณแล้วปรากฏว่ามีสารบริสุทธิ์ 0.824 กรัม ซึ่งเกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมแต่ไม่ถึงยี่สิบกรัม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษปรับด้วยเสมอโดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ปรับด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษปรับได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 และ 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10811/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติมข้อเรียกร้องและทุนทรัพย์: ศาลรับคำฟ้องได้หากยื่นก่อนกำหนด
สาระสำคัญในคำฟ้องภายหลังที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องคือ โจทก์ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทตามสัญญาจะซื้อขายที่ทำกับจำเลย ให้แก่บริษัท อ. ในราคา 370,000,000 บาท โดยโจทก์รับเงินมัดจำมาแล้ว 20,000,000 บาท การที่จำเลยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไปขายให้แก่บุคคลอื่นทำให้โจทก์ขาดกำไรอีก 169,990,001 บาท รวมค่าเสียหายตามคำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 232,990,001 บาท คำฟ้องภายหลังนี้เป็นการเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไปขายให้บุคคลอื่น ทำให้โจทก์เสียหาย โดยเพิ่มเติมว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องผิดสัญญากับบริษัท อ. และขาดกำไรไปอีก 169,990,001 บาท จึงเป็นการเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ และเพิ่มทุนทรัพย์ที่พิพาทในฟ้องเดิม ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้ก็เกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 (1) (2) และวรรคท้าย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้แก้ไขคำฟ้องโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำฟ้องภายหลังของโจทก์ไว้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินรวมกับคำฟ้องเดิมของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9790/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการครอบครองอาคารของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรง และการฟ้องขับไล่
จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารของโจทก์ ทั้งมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ในขณะทำการก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 หากแต่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่จะได้รับค่าจ้างงวดงานจากโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าจ้างตามงวดงานที่จำเลยที่ 2 ส่งมอบแก่โจทก์ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำมูลหนี้ดังกล่าวฟ้องโจทก์ในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างสิทธิยึดหน่วงเพื่ออยู่ในอาคารและพื้นที่อาคารของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9529/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลบังคับคดีแทน: ศาลมีอำนาจไต่สวนและเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นได้รับมอบหมายจากศาลแขวงพระโขนงให้ดำเนินการบังคับคดี ยึดทรัพย์และขายทอดตลาดแทน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งใด ๆ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อตามคำร้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ไม่ยึดทรัพย์ตามคำร้องขอของโจทก์ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นซึ่งดำเนินการบังคับคดีแทนและอยู่ใกล้ชิดพยานหลักฐานต่าง ๆ ย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนเสียได้ เพื่อให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 16 วรรคสอง หาเป็นการขัดต่อมาตรา 302 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9529/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลบังคับคดีแทน: ศาลมีอำนาจไต่สวนและเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นได้รับมอบหมายจากศาลแขวงพระโขนงให้ดำเนินการบังคับคดี ยึดทรัพย์และขายทอดตลาดแทน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งใด ๆ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อตามคำร้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ไม่ยึดทรัพย์ตามคำร้องขอของโจทก์ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นซึ่งดำเนินการบังคับคดีแทนและอยู่ใกล้ชิดพยานหลักฐานต่าง ๆ ย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนเสียได้เพื่อให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 16 วรรคสอง หาเป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 302 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8741/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์: การใช้เงินค่าธรรมเนียมเดิมสำหรับอุทธรณ์ครั้งใหม่
ในการอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นครั้งแรก จำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์เต็มจำนวน 200,000 บาท ครบถ้วนแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใหม่ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดี จำเลยทั้งสามจึงหาต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ในคดีไม่ แต่ควรเสียอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ 200 บาท การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วมีคำพิพากษาใหม่ให้จำเลยทั้งสามแพ้คดี โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์นั้น คงหมายรวมเฉพาะค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท เท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เหลือต้องสั่งคืนแก่จำเลยทั้งสาม เมื่อเป็นดังนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นครั้งใหม่ โดยขอให้ถือเอาเงินจำนวนดังกล่าวนี้เป็นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ครั้งใหม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เขตปฏิรูปที่ดิน: สิทธิเดิมสิ้นสุดเมื่อเข้าสู่กระบวนการปฏิรูป และสำนักงานปฏิรูปที่ดินมีอำนาจจัดสรรสิทธิ
ที่ดินที่โจทก์ทั้งแปดอ้างว่ามีสิทธินั้นเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้น แม้ว่าโจทก์ทั้งแปดจะครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินก็ตาม แต่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินดังกล่าวให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเมื่อมีการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสามหาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งแปดไม่ โจทก์ทั้งแปดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง