พบผลลัพธ์ทั้งหมด 42 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1313/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกระทำอนาจารเด็กและการพรากผู้เยาว์ การบรรยายฟ้องต้องชัดเจนถึงองค์ประกอบความผิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปกอด จูบ ดูดหัวนมและจูบอวัยวะเพศ อันเป็นการพาไปเพื่อการอนาจาร โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม โดยไม่ได้บรรยายว่า มีการขู่เข็ญ หรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้อุบายหลอกลวง ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก ที่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเพิกถอนการขายทอดตลาด ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการ
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ได้กล่าวไว้ชัดแจ้งว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ไม่ว่าในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี การร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นการต่อสู้คดีใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างหนึ่งอันเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 553/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนการขายทอดตลาดที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วันนับจากวันที่ทราบข้อเท็จจริง
ผู้ร้องกล่าวอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องได้เข้าร่วมประมูลที่ดินแปลงที่ 1 และเป็นผู้ประมูลได้ในราคา 605,000 บาท แต่เมื่อผู้ร้องทำสัญญาซื้อขายเจ้าพนักงานบังคับคดีกลับระบุว่าผู้ร้องเป็นผู้ชนะการประมูลที่ดินแปลงที่ 2 เนื่องจากเกิดจากความผิดพลาดในการจดรายงานการขายทอดตลาดและการทำสัญญาซื้อขาย คำร้องดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ร้องต้องเสียหายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตามมาตรา 296 วรรคสาม เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 และผู้ร้องเข้าทำสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีในวันดังกล่าวตามสำเนาสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 เอกสารท้ายคำร้องคัดค้านขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2554 แสดงว่าผู้ร้องทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นแล้วนับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 จึงพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด คำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17523/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาต่างตอบแทนผิดนัดชำระหนี้ จำเลยมีสิทธิไม่ส่งมอบโฉนด ผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง
ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายย่อมมีสิทธิงดเว้นหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่เคยชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินให้แก่จำเลยนับแต่ทำสัญญาเป็นต้นมา การที่จำเลยยอมทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ไปดำเนินการรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินนั้นถือว่าเป็นการผ่อนผันให้โจทก์ติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเบื้องต้น แต่ที่ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 8 ฉบับ ไปด้วยก็สืบเนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสัญญา กรณีจะฟังว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหาได้ไม่
การที่จำเลยฟ้องโจทก์เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง โจทก์จำเลยได้ตกลงขอให้ศาลจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ชำระเงินกู้ 14,000,000 บาท แก่จำเลย แต่แล้วโจทก์เพิกเฉยเป็นเหตุให้จำเลยขอศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินที่จำนองทั้ง 8 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
การที่จำเลยฟ้องโจทก์เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง โจทก์จำเลยได้ตกลงขอให้ศาลจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ชำระเงินกู้ 14,000,000 บาท แก่จำเลย แต่แล้วโจทก์เพิกเฉยเป็นเหตุให้จำเลยขอศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินที่จำนองทั้ง 8 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16390/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งจำหน่ายคดีจากแพ่งทั่วไปไปเป็นคดีผู้บริโภค ศาลใช้ดุลพินิจชอบด้วยก.ม. แม้จะเกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ
เมื่อประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นคดีผู้บริโภคแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความคดีแพ่งทั่วไป แล้วให้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเข้ามาใหม่เป็นคดีผู้บริโภคภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แม้การโอนคดีไปลงสารบบความคดีผู้บริโภคของศาลชั้นต้นจะสามารถกระทำได้ เพียงแต่ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการคดีของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่โจทก์ก็ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด และจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำให้การต่อสู้ในคดีดังกล่าวแล้ว จึงเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งเมื่อคดีมีการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีผู้บริโภคย่อมเกิดความสะดวกในการพิจารณาพิพากษา และเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภคมากกว่าการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความคดีแพ่งทั่วไป แล้วให้โจทก์ฟ้องคดีใหม่เป็นคดีผู้บริโภค จึงเป็นคำสั่งที่มิได้ขัดต่อกฎหมาย ทั้งเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15124/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเช่าพื้นที่: โฆษณาเป็นสาระสำคัญของสัญญา หากไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ผู้ให้เช่าต้องรับผิด
ข้อความที่ระบุในแผ่นพับโฆษณาให้เช่าพื้นที่อาคารของจำเลยที่ 1 เป็นต้นว่า มีร้านค้ากว่า 250 ร้าน โดยชั้นล่างเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้า ชั้น 2 เป็นพื้นที่ศูนย์อาหารและร้านค้า ชั้น 3 เป็นพื้นที่สถาบันสอนภาษาและกวดวิชา ศูนย์อาหาร และสำหรับสถานที่จอดรถมีพื้นที่รองรับได้ร่วม 100 คัน ล้วนเป็นการชักจูงให้ผู้ประกอบธุรกิจสนใจโดยเชื่อมั่นว่าหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ระบุไว้ การเข้าประกอบธุรกิจในสถานที่นี้ย่อมจะบังเกิดผลดีแก่ตน และจำเลยที่ 1 ยังออกบู๊ธประชาสัมพันธ์โครงการ ติดแผ่นป้ายโฆษณา และพนักงานของจำเลยที่ 1 อธิบายต่อผู้สนใจซึ่งรวมทั้งโจทก์ว่า ในศูนย์การค้านี้จะมีร้านค้าที่มีชื่อเสียง รวมตลอดทั้งจำเลยที่ 1 จะทำแผนการตลาดให้ทีมบริหารที่มีความสามารถทำการชักจูงลูกค้าให้เข้าใช้บริการประกอบธุรกิจภายในอาคาร แต่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ดังนี้ สัญญาให้ได้รับสิทธิการเช่าบู๊ธและสัญญาเช่าพื้นที่ในอาคารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้ต่อกัน เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งทั้งสองฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันแม้แผ่นพับโฆษณามิได้แนบรวมอยู่ในสัญญาด้วยก็ตาม ต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่โฆษณาไว้เป็นสาระสำคัญที่จำเลยที่ 1 มีเจตนาชักจูงใจให้โจทก์เข้าทำสัญญาด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่โฆษณา จึงถือมิได้ว่าโจทก์ได้รับมอบพื้นที่ให้เช่าตรงตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินเพื่อให้ได้รับสิทธิในการเช่าแก่โจทก์ รวมทั้งค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายในการตกแต่งสถานที่ที่โจทก์เสียไปในการเข้าดำเนินการตามสิทธิแห่งสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6018/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าขึ้นศาลคดีแพ่ง: การคำนวณทุนทรัพย์และผลของการไม่ชำระค่าขึ้นศาลตามกฎหมาย
การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ในความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 5,000,000 บาท นั้น เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองและโจทก์กำหนดจำนวนค่าเสียหายมาแน่นอนแล้วในขณะยื่นฟ้อง แม้โจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสองชำระนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป แต่ก็ไม่ใช่ค่าเสียหายที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตนอกจากที่ศาลมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งตามมาตรา 142 อยู่แล้ว ตามตาราง 1 (4) ท้าย ป.วิ.พ. ดังนั้น จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง 1 (1) (ก) คดีโจทก์จึงมีทุนทรัพย์ 5,000,000 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามทุนทรัพย์จึงชอบแล้ว เมื่อโจทก์เพิกเฉยไม่ยอมชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นจึงชอบที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ก็มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั่นเอง ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคท้าย คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ก็ชอบที่มีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างและการร่วมกระทำความผิด จำเลยแม้ไม่ใช่ลูกจ้างก็อาจมีความผิดได้หากร่วมกระทำความผิดกับลูกจ้าง
จำเลยมิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้จำเลยร่วมกับ น. ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายลักทรัพย์ของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของ น. จึงไม่มีผลไปถึงจำเลยด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนนิติกรรมเช่าเพื่อคุ้มครองสิทธิเจ้าหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจากการฉ้อฉล
ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เดิมโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินจากเรืออากาศตรีหญิง ว. เมื่อขณะยังมีชีวิตอยู่ ระยะเวลาเช่า 30 ปี ครบกำหนดวันที่ 1 กันยายน 2562 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกของเรืออากาศตรีหญิง ว. จากนั้นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว แล้วโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาผิดสัญญาจะซื้อจะขาย และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ ในระหว่างพิจารณาอันเป็นเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินนั้นไว้จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนการเช่าที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2562 เป็นต้นไป ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ไม่ว่าการเช่าที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำให้สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้เช่าตามสัญญาเช่าเดิมได้รับผลกระทบหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนอยู่อีกด้วย และได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว แม้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย คดีเดิมมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ คดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ เป็นคดีฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยทั้งสอง อันเป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบ ป.พ.พ. มาตรา 237 ที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้เนื่องจากทรัพย์สินของลูกหนี้เหล่านี้ย่อมเป็นหลักประกันการชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 214 มิได้ฟ้องขอบังคับชำระหนี้โดยตรงจากที่ดินพิพาทดังเช่นในคดีก่อนอีกด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคำพิพากษาผูกพันคู่ความหรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่อาจอ้างเอาผลคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่ยังไม่ถึงที่สุดมาผูกพันโจทก์ในคดีนี้ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาดังกล่าวได้ทำสัญญาเช่าที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าที่ดินนั้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องโจทก์ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ก่อนในอันที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลักทรัพย์ในสถานที่ทำงาน: ความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดา มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ
จำเลยเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลซึ่งทำงานในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องเข้าไปทำงานตามหน้าที่ และเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225