คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วีระพล ตั้งสุวรรณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 188 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งต่อความเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงินจากอุบัติเหตุทางสัญญารับขน
ป.พ.พ. ลักษณะ 8 หมวด 2 ว่าด้วยการรับขนคนโดยสารไม่ได้กำหนดไว้ว่าความเสียหายที่ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดชอบต่อคนโดยสารมีเฉพาะความเสียหายที่เป็นตัวเงินเท่านั้น ผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินด้วย โจทก์ซึ่งเป็นคนโดยสารจึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากโจทก์ไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102-1103/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกสัญญาสิทธิคืนสู่ฐานะเดิม เบี้ยปรับลดได้
เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว แต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงต้องใช้คืนเงินที่โจทก์ชำระหนี้บางส่วนแก่จำเลยไปแล้วให้แก่โจทก์ แต่โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้ในสัญญาให้ริบเงินที่ชำระไปแล้วโดยไม่ต้องใช้คืนข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลจึงชอบที่จะสั่งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ยกเว้นข้อผิดพลาดในกระบวนพิจารณาภายในกำหนดเวลา ทำให้จำเลยไม่สามารถโต้แย้งได้อีก และศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกา
ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ที่แถลงด้วยวาจาอันไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 275 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามมาตรา 27 วรรคแรก จำเลยต้องยกขึ้นกล่าวไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตามมาตรา 27 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 487/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเฉลี่ยทรัพย์ในคดีบังคับคดี: เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องเป็นผู้มีสิทธิร้องขอ
แม้ที่ดินพิพาทที่ถูกยึดไว้ในคดีนี้มีชื่อ ม. ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้องเป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง และโจทก์ในคดีนี้ได้ยึดไว้ทั้งแปลงอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่ ม. ได้มาในระหว่างสมรส อันเป็นสินสมรสระหว่าง ม. กับลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 485/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายทอดตลาด: ประเด็นเวลาการยื่นคำร้อง, การแจ้งวันนัด, และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม บัญญัติว่า "การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น..." และมาตรา 296 วรรคสี่ บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้...(2) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ใช้เงินเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตามมาตรา 318 มาตรา 319 มาตรา 320 มาตรา 321 หรือมาตรา 322 แล้วแต่กรณี..." ตามบทบัญญัติมาตรา 296 วรรคสามและวรรคสี่ดังกล่าวบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีในการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โดยสามารถยื่นคำร้องได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีเสร็จลง ซึ่งสำหรับในกรณีการยึดทรัพย์เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้นั้นการจะถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงก็ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้
จำเลยที่ 1 อ้างว่าบ้านเลขที่ 58/2 เป็นบ้านร้าง แต่ตามข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งย้ายทางทะเบียนจากบ้ายเลขที่ 105 หมู่ 6 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาในขณะที่ถูกโจทก์ยื่นฟ้องไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 58/2 เมื่อปี 2545 ภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งให้โจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะปิดบังภูมิลำเนาที่แท้จริงของตนเองเพื่อให้เกิดความยุ่งยากในการบังคับคดี กรณีจึงต้องถือว่าบ้านเลขที่ 58/2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าพนักงานเดินหมายของกรมบังคับคดีนำประกาศขายทอดตลาดไปปิดไว้ที่บ้านเลขที่ 58/2 ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบวันนัดขายทอดตลาดที่ระบุไว้ในประกาศขานทอดตลาดโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 174/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเรื่องฟ้องเคลือบคลุม/ผิดสัญญา & คำให้การขาดอายุความไม่ชัดเจน
จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยมิได้ยกเหตุผลขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 2 ปี และ 5 ปี นับแต่วันชำระเงินครบถ้วน โดยมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าเพราะเหตุใดคดีโจทก์จึงขาดอายุความ จึงเป็นคำให้การที่ไม่แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15018/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขาดนัดยื่นคำให้การ-พิจารณาในคดีมโนสาเร่: ศาลพิจารณาชี้ขาดได้โดยไม่ต้องมีคำขอ
ป.วิ.พ. 193 วรรคสี่ (เดิม) และมาตรา 193 ทวิ วรรคสอง ได้กำหนดหลักเกณฑ์การขาดนัดยื่นคำให้การสำหรับคดีมโนสาเร่ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้น การที่จะถือว่าจำเลยในคดีมโนสาเร่ขาดนัดยื่นคำให้การก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จะนำหลักเกณฑ์การขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 197 และมาตรา 198 ที่ใช้สำหรับคดีแพ่งสามัญมาใช้บังคับแก่คดีมโนสาเร่ไม่ได้ เมื่อคดีนี้เป็นคดีมโนสาเร่และจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงมิต้องยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคสอง แต่อย่างใด
การที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาจึงเป็นการขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาซึ่งบทบัญญัติในคดีมโนสาเร่ได้กำหนดเป็นการเฉพาะให้กรณีที่จำเลยขาดนัดพิจารณาให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวได้ และเมื่อศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยานและพิพากษาคดีจนเสร็จสิ้น กรณีจึงไม่จำต้องให้โจทก์ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคหนึ่ง อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10323/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีได้ แม้ไม่ได้เป็นทนายความ หากเป็นฐานะคู่ความตามกฎหมาย
ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอยู่ในฐานะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) จึงมีอำนาจยื่นคำฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่งคำฟ้องรวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย เพราะมิใช่การว่าความอย่างทนายความตามมาตรา 60 วรรคสองและ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10228/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้รับมอบอำนาจฟ้องแทนและการแต่งคำฟ้องโดยมิได้เป็นทนายความ
การที่โจทก์มอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนต่อจำเลยทั้งสอง ส. ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำกิจการที่ตัวการมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไป ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 1 ได้มีบทวิเคราะห์ศัพท์ คำว่าคู่ความหมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้นๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ ดังนั้น ส. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทน ย่อมอยู่ในฐานะคู่ความมีอำนาจยื่นคำฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่คำฟ้องรวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย และเมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ทนายความฯ มาตรา 33 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นทนายความว่าความในศาลหรือแต่งคำฟ้อง แต่ก็บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่าการเรียงหรือแต่งฟ้องนั้น ไม่ห้ามไปถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ส. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แม้มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง และการเรียงหรือแต่งคำฟ้องแทนโจทก์ก็มิใช่การว่าความอย่างทนายความดังที่ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติห้ามไว้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10154/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับในสัญญากู้ยืม: ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับสูงเกินสมควรได้ แต่ไม่อำนาจงดเบี้ยปรับทั้งหมด
แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาพอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์และต่อมาผิดนัดไม่ชำระหนี้จนเป็นเหตุให้โจทก์ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งการใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกค่าเสียหาย ประกอบกับสัญญากู้ยืมเงินได้กำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับได้ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของจำนวนต้นเงินที่ค้างชำระหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ซึ่งเบี้ยปรับคือ สัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เบี้ยปรับจึงนับว่าเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าเบี้ยปรับตามสัญญาเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ หากเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยไม่กำหนดเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ จึงมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์เสียทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย
of 19