คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วีระพล ตั้งสุวรรณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 188 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12054/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการเพิ่มเติมโทษโดยศาลอุทธรณ์ที่ขัดต่อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ยกฟ้องข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยเฉพาะข้อหาที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน จึงต้องถือว่าโจทก์พอใจคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนแล้ว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวเป็นไม่รอการลงโทษ และลงโทษปรับด้วย จึงเป็นการไม่ชอบเพราะเป็นการเพิ่มโทษจำเลย อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11765/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานแจ้งความเท็จและใช้เอกสารเท็จเพื่อขอใบแทนโฉนด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นกรรมเดียว
จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรธัญบุรีว่า ได้ทำโฉนดที่ดินเลขที่ 14120 เล่มที่ 142 หน้า 20 ตำบลคำใหญ่ อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ของจำเลยสูญหายไป และแจ้งให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายนั้น เพียงเพื่อนำบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายดังกล่าวไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ สาขาหนองกุงศรี ในการขอรับใบแทนโฉนดที่ดินเท่านั้น การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการกระทำคนละวันและต่อเจ้าพนักงานคนละหน่วยงานกันแต่ก็เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันคือ เพื่อขอรับใบแทนโฉนดที่ดิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11286/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซ่อมแซมรถยนต์ที่เคยเสียภาษีสรรพสามิตแล้ว ไม่ถือเป็นการผลิตรถยนต์ใหม่ จึงไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติม
จำเลยดัดแปลงรถยนต์คันพิพาทที่เคยเสียภาษีสรรพสามิตมาแล้ว แต่ต่อมารถคันพิพาทประสบอุบัติเหตุจนเหลือแต่ซาก จำเลยจึงซ่อมแซมด้วยการตัดต่อคัสซี่ ตัดต่อห้องโดยสารด้านหลัง เปลี่ยนเครื่องยนต์และระบบรองรับน้ำหนักด้านหลัง เป็นการซ่อมส่วนที่เสียหายให้กลับสู่สภาพเดิม มิใช่ทำสิ่งที่ไม่มีหรือไม่เคยมีให้เกิดขึ้น จึงมิใช่เป็นการผลิตสินค้าตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11271/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ำประกันระหว่างบริษัทในเครือ ไม่ถือเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ยืมบริษัทในเครือทั้งสองหลายฉบับในวงเงินจำนวนมาก แต่โจทก์ก็มิได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน และการทำสัญญาค้ำประกันก็เพื่อช่วยเหลือให้บริษัทในเครือทั้งสองได้รับเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ อันเป็นการกระทำเฉพาะในระหว่างนิติบุคคลที่มีส่วนได้เสียผูกพันกันอยู่เท่านั้น แม้โจทก์ต้องใช้เงินให้แก่สถาบันการเงินตามสัญญาค้ำประกันแทนบริษัทในเครือทั้งสองเนื่องจากบริษัทในเครือทั้งสองล้มละลาย ซึ่งโจทก์สามารถหักวงเงินค้ำประกันดังกล่าวเป็นหนี้สูญนำไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ การค้ำประกันของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์โดยการให้บริการค้ำประกันตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5) ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10701/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้จากการพนันหวยใต้ดินเป็นเงินได้พึงประเมิน แม้ผิดกฎหมาย, การแก้ไขการประเมินโดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย
เงินได้จากการเล่นพนันสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) แม้เป็นเงินได้ที่มาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ตามมาตรา 40 (1) ถึง (7) จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)
เงินได้จากการพนันหวยใต้ดินไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่สามารถพิสูจน์ค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ จึงไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ทั้งสามได้ แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้เป็นเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรตามประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมิน และผู้ที่ต้องเสียภาษีอากรได้อุทธรณ์การประเมินไว้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินมิใช่เป็นกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาประเด็นอื่นนอกเหนือจากที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินและผู้อุทธรณ์มิได้อุทธรณ์การประเมิน แต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทำการแก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนของค่าใช้จ่ายให้ถูกต้อง แม้จะมีผลทำให้โจทก์ทั้งสามต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษีพิพาทเพิ่มขึ้นจากที่เจ้าพนักงานประเมินไว้ก็ตาม ทั้งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 31 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสียภาษีอากรเพิ่มขึ้น ผู้อุทธรณ์จะต้องชำระภายในกำหนดเวลาเช่นเดียวกับวรรคก่อน ซึ่งกรณีดังกล่าวคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่จำต้องต้องยกเลิกการประเมินของจำเลยที่ 1 เพื่อให้ทำการประเมินใหม่ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9162/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นข้อพิพาทจำกัดตามคำฟ้อง การอุทธรณ์นอกประเด็น และการนำสืบพยานนอกประเด็น
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยทั้งสองกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายหรือไม่ ก็มีความหมายเพียงว่าลูกจ้าง หรือตัวแทนของจำเลยทั้งสองกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ได้ตรวจดูบัตรจอดรถที่ออกให้แก่ ช. ซึ่งขับรถยนต์คันดังกล่าวเข้าไปจอดบริเวณที่จอดรถของห้างสรรพสินค้า เป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์คันนั้นไปเท่านั้น มิได้มีความหมายรวมถึงเหตุที่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหาย เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ไม่จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเดินตรวจบริเวณลานจอดรถที่โจทก์มิได้อ้างเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้องแต่อย่างใดไม่ และแม้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมีการสืบพยานกล่าวอ้างถึงเหตุดังกล่าวก็เป็นการนำสืบนอกประเด็นข้อพิพาทอันเป็นการไม่ชอบ เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์นั้นเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างคนละเหตุกับคำฟ้องของโจทก์ จึงถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9037/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ภาษีฯ เกิดหลังฟื้นฟูกิจการ ไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ ฟ้องได้เลย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม ทั้งนี้ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมสำเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ให้ผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้า มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ วรรคสามบัญญัติว่า หนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้บริหารชั่วคราวก่อขึ้น หนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดตาม มาตรา 90/12 (8) หรือ (11) และหนี้ภาษีอากรหรือหนี้อื่นอันมีลักษณะเดียวกันซึ่งเกิดตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ... และมาตรา 90/61 บัญญัติว่า เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ตามมาตรา 90/26 หรือมาตรา 90/27 วรรคสาม แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ เว้นแต่ (1) แผนจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือ (2) ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า หนี้ซึ่งมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการนั้นแม้จะยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม หากเจ้าหนี้ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการจะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ เว้นแต่แผนจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเท่านั้น
หนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามฟ้องนั้น แม้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 จะบัญญัติให้ผู้รับประเมินชำระค่าภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน โดยมาตรา 18 บัญญัติให้ ค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วนั้นให้เป็นหลักสำหรับคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมาก็ตาม แต่จำเลยจะต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินก็ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว ตามความในภาค 3 เรื่อง วิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งผู้รับประเมินจะต้องเสียภาษีใน 30 วัน นับแต่วันได้รับการแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง หากพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่แจ้งให้จำเลยทราบจำนวนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำเลยก็ยังไม่ต้องชำระแต่อย่างใด หนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจึงเกิดขึ้นเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินและแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 อันเป็นวันที่จำเลยได้รับแจ้งการประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน และภายหลังที่มีการโฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน เมื่อหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินมิได้กำหนดไว้ในแผน โจทก์จึงสามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลภาษีอากรกลางได้ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8545/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์ของลูกจ้างและการปรับบทลงโทษ - การครอบครองทรัพย์ของนายจ้างชั่วคราว
เหตุเกิดขึ้นระหว่างตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสองถูกจับกุมในท้องที่อำเภอสิเกา จึงเป็นกรณีเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฐานทำให้เสียทรัพย์กระทำในท้องที่ใด พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิเกา ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับจำเลยทั้งสองได้ย่อมเป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) และวรรคสอง (ก)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมผู้เป็นนายจ้าง และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์คือน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วม โดยจำเลยทั้งสองเอาน้ำผสมลงในน้ำมันปาล์ม ทำให้ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดระหว่างเส้นทางตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยเข้าใจได้แล้วว่าเหตุลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางจากตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ถึงเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางดังกล่าว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมจากอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ไปส่งแก่ลูกค้าที่เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยทั้งสองครอบครองน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมขณะเดินทางเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ร่วมไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น การครอบครองน้ำมันปาล์มโดยแท้จริงยังอยู่ที่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยทั้งสองเอาน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมไป จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8238/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นภาษีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุหรือออกจากงานตามระเบียบ ธปท. ที่ พ 42/2547
ระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2547 - 2550 คือข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงาน อันเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงานเพิ่มเติมจากที่กำหนดให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเกษียณอายุงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิตามระเบียบนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกินกว่า 5 ปี เงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โจทก์ฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีอากรที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย เป็นเงิน 1,649,849.07 บาท แต่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีอากรส่วนที่โจทก์ต้องชำระเพิ่มขึ้นตามอัตราภาษีที่สูงขึ้นเป็นเงิน 482,297 บาท อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7016/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนองหลังผู้จำนองเสียชีวิต, เบี้ยปรับภาษีอากร และการประเมินที่ถูกต้องตามกฎหมาย
แม้โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี หลังจากรู้ว่า ก. ตายก็ตาม แต่โจทก์ผู้รับจำนองยังสามารถใช้สิทธิบังคับจำนองได้ เพราะเหตุดังกล่าวไม่ทำให้หนี้ตามสัญญาจำนองระงับสิ้นไปตามที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744
ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี ได้กำหนดบทลงโทษให้ผู้เสียภาษีชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจประเมินให้จำเลยที่ 1 เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 26 อีก
บทบัญญัติใน ป.รัษฎากร มาตรา 89 มิได้มุ่งหมายให้ลงโทษผู้กระทำผิดเรียงตามอนุมาตราไป แต่มุ่งหมายให้ลงโทษตามอนุมาตราที่กำหนดเบี้ยปรับสูงสุดเพียงอนุมาตราเดียว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (2) (3) (4) หรือ (10) เพียงอนุมาตราเดียวซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับได้สูงสุด
สำหรับกรณีเบี้ยปรับตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 (8) และ (9) ทั้งสองกรณี เป็นการเสียเบี้ยปรับที่สามารถแยกจากบทบัญญัติตามมาตรา 89 (2) (3) (4) (10) ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (8) หรือ (9) อีกฐานหนึ่ง
of 19