คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วีระพล ตั้งสุวรรณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 188 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3617/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ: การขายที่ดินติดจำนอง ต้องประเมินราคาตามมูลค่าที่แท้จริงรวมภาระจำนอง
แม้หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ จะจัดให้มีเหตุผลของการประเมินไว้เพียงว่า โจทก์มีรายรับจากการขายที่ดินพิพาท โดยมิได้มีการยื่นแบบและชำระภาษีไว้ เจ้าพนักงานจึงประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย โดยมิได้จัดให้มีข้อกฎหมายที่อ้างอิง รวมทั้งข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจก็ตาม แต่เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือเรื่องขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมินซึ่งได้ระบุข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณา และข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโจทก์ทั้งสามก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะชอบด้วยมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ จำเลยมิได้ให้เหตุผลในการนำคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.82/2542 มาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินธุรกิจเฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยต้องใช้คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.57/2538 ที่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ทั้งสามทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วน การที่หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะระบุถึงคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.82/2542 ก็เป็นการอ้างเหตุผลในการประเมินไปตามคำสั่งฉบับนี้อันเป็นการให้เหตุผลในคำสั่งทางปกครองที่ประเมินภาษีโจทก์ต้องด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่งแล้ว
พฤติการณ์ที่โจทก์ทั้งสามรับโอนที่ดินพิพาทมาจากบิดาแล้วโอนให้แก่บริษัท ว. ซึ่งโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ซื้อหุ้นเพื่อนำไปประกอบกิจการอาคารชุด ทำการโอนภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เป็นการโอนไปเพื่อแสวงหากำไรทางการค้า จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบ พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือกำไร (ฉบับที่ 244) มาตรา 3 (6) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
ป.รัษฎากร มาตรา 91/5 ฐานภาษีสำหรับการประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) รายรับจากการประกอบกิจการคือ รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งมาตรา 91/1 (1) บัญญัติความหมายของรายรับว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ และให้ความหมายของมูลค่าไว้ใน มาตรา 91/1 (2) ว่าหมายถึง ราคาตลาดของทรัพย์สินฯ ยังให้ความหมายของราคาตลาดไว้ใน มาตรา 91/1 (3) ว่าราคาที่ซื้อขายกันหรือที่คิดค่าบริการกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสามโอนที่ดินพิพาทให้แก่บริษัท ว. เป็นการโอนที่ดินพิพาทได้จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ที่บริษัทมีต่อบริษัท อ. เป็นการขายที่ดินโดยติดภาระจำนอง ภาระจำนองย่อมตกติดไปกับตัวทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสองและโจทก์ทั้งสามไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานว่าที่ดินที่โอนไปมีราคาซื้อขายกันจริงในขณะโอนเป็นเงินเท่าใด มีเหตุเชื่อว่าผู้รับโอนคิดหักราคาที่ต้องชำระแก่ผู้โอนตามมูลค่าแห่งภาระจำนองที่ตนเองต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า ราคาที่ดินที่ควรซื้อขายกันจริงขณะนั้นสำหรับกรณีการขายใดติดจำนองมีราคาตามที่ผู้โอนกับผู้รับโอนชำระกันรวมกับจำนวนเงินอย่างน้อยตามวงเงินจำนองด้วย กรณีของโจทก์ทั้งสามไม่ต้องด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 49 ทวิ
เมื่อโจทก์ทั้งสามเข้าชื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแล้วย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในฐานะคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 วรรคสอง ที่ให้นำบทนิยามคำว่า คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลตามมาตรา 77/1 มาใช้บังคับ ซึ่งให้หมายความถึง กิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2619/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีป้ายซ้ำซ้อน ทำให้การประเมินและการวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ ศาลสั่งคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย
พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายซึ่งเป็นป้ายเดียวกันและปีภาษีเดียวกัน โดยยังไม่มีการยกเลิกการประเมินครั้งแรก ดังนั้น การประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในครั้งหลังจึงเป็นการประเมินซ้ำซ้อนให้โจทก์ต้องเสียภาษีสองครั้งในป้ายรายการเดียวกัน จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบและเป็นเหตุให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ครั้งที่สองที่ให้ยืนตามการประเมินให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมไม่ชอบไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 962/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ราคาศุลกากร: ค่าสิทธิเครื่องหมายการค้าไม่รวมในราคาซื้อขาย หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์สั่งซื้อสินค้าลูกกอล์ฟจากบริษัท บ. โดยผ่านทางตัวแทนซื้อคือบริษัท น. โจทก์กับบริษัท น. และบริษัท ก. มีความสัมพันธ์ในการถือหุ้น โดยบริษัท น. เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทโจทก์และบริษัท ก. แต่บริษัทดังกล่าวข้างต้นไม่มีความสัมพันธ์กับบริษัท บ. ผู้ขายสินค้าลูกกอล์ฟให้แก่โจทก์ ดังนั้นการจ่ายค่าสิทธิของโจทก์ให้แก่บริษัท ก. จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขายสินค้าลูกกอล์ฟของบริษัท บ. มูลค่าที่แท้จริงของสินค้าลูกกอล์ฟที่โจทก์นำเข้าจากบริษัท บ. เป็นราคาศุลกากรหรือราคาแห่งของสำหรับสินค้าลูกกอล์ฟนั้น ณ จุดที่เกิดความรับผิดในการเสียอากรขาเข้าตามกฎหมายศุลากากรแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การ, อํานาจฟ้อง, การดำเนินคดีอย่างคนอนาถา, และผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมศาล
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ มีผลเท่ากับเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ถือว่าเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (3) จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ในเมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 วรรคท้าย แต่การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวอาจมีผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต้องเป็นอันถูกยกไป จึงอยู่ในบังคับที่ผู้อุทธรณ์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ปรากฏว่าในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยังได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษามาพร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา อันมีผลทำให้จำเลยไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งรวมถึงเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องนำมาวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 229 การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่างหากจากอุทธรณ์คำพิพากษา โดยยอมชำระค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นอุทธรณ์ไม่อาจแปลว่าจำเลยประสงค์ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเฉพาะในการยื่นฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาอย่างเดียว อันจะมีผลให้จำเลยต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่ง
ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขตามคำร้องของจำเลยข้อแรกที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดๆ และไม่เคยกู้เงินและรับเงินใดๆ จากโจทก์ที่ฟ้องในคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะทำคำให้การต่อสู้คดี จึงนับว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไข ทั้งมิใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะขอแก้ไขภายหลังวันสืบพยานไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ได้
ส่วนข้อความที่จำเลยขอเพิ่มเติมต่อมาที่ว่าโจทก์จดทะเบียนใหม่โดยยังไม่มีประกาศลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ทำให้กรรมการโจทก์ไม่มีอำนาจกระทำนิติกรรม มีผลให้หนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงสิ้นผลไป ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้สืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วโดยคู่ความต่างก็ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจนสิ้นกระแสความแล้ว และศาลชั้นต้นได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยอยู่ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยก็ยกขึ้นอ้างเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไว้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นยกคำร้องในส่วนนี้ จึงมิได้ทำให้จำเลยเสียหาย คดีย่อมไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 614/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมีอาวุธปืนของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและการพาอาวุธปืนในทางสาธารณะ
จำเลยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร แต่เมื่อไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยใช้กระทำความผิดมาเป็นของกลาง จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคสาม
จำเลยด่าว่าผู้เสียหายพร้อมกับขู่ว่าจะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเป็นการกระทำในคราวเดียวโดยมีเจตนาเพื่อดูหมิ่นและทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือตกใจ จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15928/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: แม้คดีแรกยังไม่ถึงที่สุด แต่ฟ้องเรื่องเดียวกันย่อมเป็นฟ้องซ้อน
ป.วิ.พ. มาตา 148 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน..." ความในบทบัญญัติดังกล่าวให้ความหมายชัดเจนว่า คดีแรกซึ่งจะประกอบเป็นเหตุผลให้คดีหลังต้องห้ามมิให้ฟ้องนั้น จะต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ก่อนที่ คดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และก่อนที่ คดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2550 ทั้งสองคดีดังกล่าวจึงอยู่ในระหว่างพิจารณา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงหาต้องด้วยหลักเกณฑ์แห่งข้อห้ามตามบทบัญญัติในประโยคแรกแห่งมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ไม่
ฟ้องของโจทก์คดีนี้ และคดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 และคดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 ล้วนเป็นฟ้องที่โจทก์อ้างสิทธิในการที่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมตามสัญญาว่าจ้างโจทก์พัฒนาโครงการที่พักอาศัยรวม 3 แห่ง เพียงแต่โจทก์แยกฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมแต่ละเดือนเป็นคดีไป คือ เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เดือนมีนาคม 2548 และเดือนเมษายน 2548 อันเป็นการอ้างสิทธิของโจทก์ตามสัญญาทั้งสามฉบับชุดเดียวกัน ฟ้องทั้งสามคดีนี้จึงเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ดังนี้ เมื่อขณะโจทก์ยื่นฟ้อง คดีแรกคือ คดีหมายเลขดำที่ 890/2550 และคดีที่สองคือคดีหมายเลขดำที่ 1417/2550 ซึ่งศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ขณะนั้นจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับเดือนเมษายน 2548 ตามสัญญาทั้งสามฉบับชุดเดียวกันดังที่โจทก์กล่าวอ้างและนำมาเป็นเหตุฟ้องคดีนี้แล้ว ข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างว่าถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิไม่ชำระค่าธรรมเนียมเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคม และเดือนเมษายน 2548 จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ชอบที่โจทก์จะต้องฟ้องรวมกันมาเสียทีเดียว การที่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15786/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดกรรมการสถาบันการเงินจากสินเชื่อที่ไม่ชอบ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน 2551 ใช้โทษที่เบากว่า
ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ออกมาใช้บังคับ และในมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่ในมาตรา 158 ได้บัญญัติให้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ที่ใช้บังคับอยู่เดิมให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติฉบับหลังนี้ ดังนี้ ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก (ฉบับที่ 5) และ (ฉบับที่ 6) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 30 (5) จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ ทั้งพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ยังบัญญัติให้การที่สถาบันการเงินฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นความผิด และกำหนดโทษสำหรับสถาบันการเงินรวมทั้งกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการสถาบันการเงินนั้น ตามมาตรา 46 (5) วรรคหนึ่ง, 125, 132 วรรคสอง แต่ปรากฏว่าโทษที่จะต้องลงแก่กรรมการตามที่บัญญัติในมาตรา 75 วรรคสอง สำหรับความผิดตามมาตรา 30 (5) แห่งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 คือจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท แตกต่างกับโทษที่บัญญัติในมาตรา 132 วรรคสอง สำหรับความผิดเดียวกันตามมาตรา 46 (5) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 125 แห่งพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาทและปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องโดยไม่มีโทษจำคุก โทษตามพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้โทษตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใด ตามป.อ. มาตรา 3 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14286/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีและจำหน่ายยาเสพติดเป็นกรรมเดียว ศาลฎีกาแก้ไขโทษจำคุก
การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อแล้วก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมทันที เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นตัวจำเลยพบผงเมทแอมเฟตามีนติดอยู่ในปลอกปากกาที่จำเลยใช้บรรจุเมทแอมเฟตามีน ผงเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีลักษณะเป็นคราบติดอยู่ด้านใน น้ำหนัก 0.01 กรัม ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก ไม่ชัดแจ้งว่าเป็นเศษของเมทแอมเฟตามีนจำนวนอื่น ต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าเป็นผงเมทแอมเฟตามีนจากเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับ ดังนี้เมื่อจำเลยมีผงเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นจำนวนเดียวกันกับเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายไป จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นความผิดหลายกรรมไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ามีผงเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ถือว่าได้ทำการสอบสวนในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ทั้งความผิดฐานมีผงเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องได้รวมการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13485/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฐานชิงทรัพย์และการทำร้ายร่างกายในกรรมเดียว ศาลแก้ไขคำพิพากษาให้ลงโทษเฉพาะความผิดฐานชิงทรัพย์
ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แม้จะระบุข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแล้วบังคับให้บอกที่ซ่อนทรัพย์และเมื่อได้ทรัพย์จำนวนน้อยก็ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอีก เป็นเพียงการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อให้ครบองค์ประกอบในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามคำขอท้ายฟ้องอันเป็นความผิดกรรมเดียวเท่านั้น เมื่อลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายแล้วจะลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นอีกกรรมหนึ่งไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรม ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12104/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบ หากไม่ชำระค่าทนายความตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พร้อมฎีกา แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาไว้ก็ไม่สมบูรณ์
ค่าทนายความเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ชำระค่าทนายความจำนวน 150,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นหลักเกณฑ์เคร่งครัดที่โจทก์ผู้ยื่นฎีกาจะต้องปฏิบัติตาม เพราะมิใช่หนี้ตามคำพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดี ที่โจทก์จะพึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคหนึ่ง
โจทก์ยื่นฎีกาโดยจงใจนำเพียงค่าขึ้นศาลตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาชั้นอุทธรณ์มาวางศาลพร้อมกับฎีกา เป็นการฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์ที่บทบัญญัติมาตรา 229 กำหนดไว้ จึงเป็นการยื่นฎีกาโดยมิชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับฎีกาได้ทันที เพราะมิใช่กรณีโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาไม่ครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นซึ่งมีหน้าที่ตรวจคำคู่ความจะต้องมีคำสั่งให้โจทก์ชำระให้ครบถ้วนเสียก่อนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้แล้วก็ไม่ถือว่าเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 19