คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 69

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 30 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688-1689/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่สมบูรณ์ ขาดรายละเอียดวันเวลาสร้างสรรค์และโฆษณาผลงาน
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งแปดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยทำซ้ำงานศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับขายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) (2) โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบของความผิดในส่วนของการกระทำที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานที่กฎหมายรับรองว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งต้องบรรยายให้ปรากฏด้วยว่างานนั้นได้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อใดและหรือมีการโฆษณางานนั้นครั้งแรกเมื่อใด เพื่อแสดงให้เห็นว่าขณะเกิดเหตุงานดังกล่าวยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 แต่ในส่วนนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ข้อมูลแผนที่ดิจิทัลโดยได้รับโอนมาจากบริษัท จ. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 และข้อมูลแผนที่ดิจิทัลเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม โดยไม่ได้บรรยายฟ้องหรือได้ความจากเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องว่า บริษัท จ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลผู้สร้างสรรค์และโอนสิทธิ์ให้โจทก์ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นเมื่อใดและหรือได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรกเมื่อใด จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นดังกล่าว อันเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ
การขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องปรากฏว่าฟ้องเดิมเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมายมาแต่แรก โจทก์จึงจะขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องได้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบของความผิดอันเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น โจทก์จึงไม่อาจขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10377/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเผยแพร่เพลงละเมิดลิขสิทธิ์: การกระทำต่อซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง
การละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมหรือโสตทัศนวัสดุหรือสิ่งบันทึกเสียงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และมาตรา 28 ต้องเป็นการกระทำโดยตรงแก่งานที่มีลิขสิทธิ์โดยชอบเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำโดยใช้งานที่มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์มาก่อน โดยกรณีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์นั้น กฎหมายบัญญัติแยกลักษณะการกระทำที่จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ต่างหากในมาตรา 31 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์กับการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาแล้วจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน
ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยนำเอาแผ่นซีดีเพลงซึ่งมีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายมาเปิดเผยแพร่เสียงต่อสาธารณชนภายในร้านข้าวต้มของจำเลย โดยจำเลยรู้ว่าแผ่นดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย การกระทำดังกล่าวมิใช่การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 และมาตรา 28 แต่กลับเป็นข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำแก่งานที่บุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงตามมาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 69 ไม่ว่าจะเป็นวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของนักแสดงภายใต้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์: การแสดงต้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรม หรือเกี่ยวข้องกับงานอันมีลิขสิทธิ์
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มีเจตนารมณ์ที่ถือว่าการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงนั้นต้องเป็นการกระทำที่เป็นการแสดงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยเฉพาะงานดนตรีกรรม งานนาฏกรรม และงานวรรณกรรมที่มีลักษณะทำนองเป็นบทพากย์ บทละคร หรือบทที่ใช้แสดงอื่นใดอันอาจนำมาให้บุคคลที่ถือเป็นนักแสดงตามบทนิยามมาตรา 4 แสดง
การได้สิทธิของนักแสดงที่จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ต้องมีองค์ประกอบที่บุคคลที่จะแสดงนั้นเป็นไปตามบทนิยามคำว่านักแสดงในมาตรา 4 และสิ่งที่แสดงหรือการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงที่จะได้รับการคุ้มครองนั้นต้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วยเท่านั้น
โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นเป็นประเด็นให้วินิจฉัยว่า การแสดงการเดินแบบเสื้อผ้าตามฟ้องมีการทำท่าที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวในลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมได้อย่างไร จึงไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยและฟังว่าการแสดงการเดินแบบนี้เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมโดยตัวเองหรือเป็นการแสดงงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมอยู่แล้ว ดังนี้แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นนักแสดงหรือผู้แสดงท่าทางในการเดินแบบ ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าได้สิทธิของนักแสดง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9600/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้รับมอบอำนาจช่วง: ผู้เสียหายต้องมีอำนาจร้องทุกข์เอง พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบใช้ไม่ได้
ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้ออันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่ ร. ว่าจ้างจำเลยให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8366/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์เพลง: การฟ้องละเมิดต้องอ้างสิทธิที่โจทก์มีจริง และการทำซ้ำดัดแปลงต้องมีต้นฉบับจากโจทก์
โจทก์มีสิทธิที่จะนำลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงเพลง "โปรดเถิดดวงใจ" "ปรารถนา" และ "ในฝัน" ขับร้องโดยทูล ทองใจ ไปผลิตเป็นเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียงและแผ่นซีดีเพลงทุกขนาด โจทก์ไม่ได้มีสิทธิที่จะนำเพลงพิพาทไปทำอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงไว้ รวมถึงการทำวีซีดีคาราโอเกะด้วย เพราะการทำวีซีดีคาราโอเกะไม่ใช่การทำซีดีเพลงโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการทำคาราโอเกะ แต่โจทก์ยังไม่ได้ผลิตวีซีดีคาราโอเกะเพลงพิพาท จึงไม่มีงานซึ่งเกิดจากการที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นต้นแบบที่จำเลยจะคัดลอก เลียนแบบ หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จำเลยจึงมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงงานลิขสิทธิ์อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3367/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมในร้านอาหาร: การฟ้องเป็นองค์ประกอบความผิดครบถ้วน และการพิจารณาโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจัดให้นักดนตรีและนักร้องประจำร้านคัดลอกเนื้อร้องและทำนองเพลง ค. อันเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แล้วนำเนื้อร้องและทำนองเพลงดังกล่าวมาบรรเลงและขับร้องให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นสาธารณชนผู้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้าน ย. ได้ฟังเพลงดังกล่าว อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาผลกำไรในทางการค้าและเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 31, 69 และ 70 ซึ่งตามคำบรรยายฟ้องและคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด 2 ข้อหา ข้อหาที่ 1 คือ การละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมของผู้เสียหายโดยการทำซ้ำและดัดแปลง ด้วยการให้นักร้องนักดนตรีประจำร้านของจำเลยคัดลอกเนื้อร้องและทำนองเพลงของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคหนึ่ง ข้อหาที่ 2 คือ การละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมของผู้เสียหายโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อหากำไรในทางการค้า ด้วยการให้นักร้องนักดนตรีประจำร้านขับร้องและบรรเลงเพลงที่ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดนั้นให้แก่ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ข้อเท็จจริงและรายละเอียดในคำฟ้องดังกล่าวพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของผู้เสียหายโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อหากำไรในทางการค้า จึงเป็นฟ้องครบองค์ประกอบความผิด ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่ามีการเรียกเก็บค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากค่าอาหารและเครื่องดื่ม ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์กลายเป็นฟ้องเคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7457/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทลิขสิทธิ์อุลตร้าแมน: ศาลพิพากษาจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์และเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่สมเหตุสมผล
เมื่อข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้แต่งทนายความ โดยระบุในใบแต่งทนายความให้ ม. เป็นทนายความ และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์รวมถึงการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ซึ่งใบแต่งทนายความของโจทก์ดังกล่าวมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกแห่งกรุงโตเกียวรับรองลายมือชื่อผู้แต่งทนายความ และมีหนังสือรับรองเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น และหนังสือรับรองของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว รับรองต่อกันมาตามลำดับ อันเป็นการดำเนินการตามพิธีการแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับเอกสารที่ทำในต่างประเทศครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยทั้งสี่มิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าโจทก์แต่งตั้ง ม. ให้มีอำนาจตามที่ระบุในใบแต่งทนายความจริง เมื่อใบแต่งทนายความระบุให้ ม. มีอำนาจใช้สิทธิในการอุทธรณ์แทนโจทก์ ม. จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียงและผู้พิมพ์ได้
เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นฝ่ายชนะคดี และไม่มีส่วนได้เสียในฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีส่วนได้เสียอันจะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ประกอบกับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้มีคำขอให้บังคับโจทก์ต้องรับผิดแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกเหนือไปจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่บริษัทโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน บัญญัติว่า "ผู้ประพันธ์ ให้กินความถึงผู้แต่งเพลงดนตรี ผู้ทำหรือก่อให้เกิดซึ่งศิลปกรรม เช่น ช่างเขียน ช่างภาพหุ่น สถาปนิก ฯลฯ ด้วย" และมาตรา 10 บัญญัติว่า ผู้ประพันธ์มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำวรรกรรม วิทยาศาสตรกรรมหรือศิลปกรรมของตนเป็นภาพยนตร์แสดงให้ประชาชนดู ดังนั้นในการสร้างงานศิลปกรรมหรืองานภาพยนตร์ การมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดงานศิลปกรรมหรืองานภาพยนตร์จึงเป็นสาระสำคัญของการที่จะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มิได้ให้ความคุ้มครองสิ่งที่เป็นเพียงความคิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ร่วมสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนพิพาท เพียงการที่จำเลยที่ 2 อ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน โดยเสนอความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน อันเป็นการให้ความช่วยเหลือเสนอความคิดในฐานะที่เป็นคนรู้จักสนิทสนมกัน โดยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าได้มีการนำแนวความคิดตามที่จำเลยที่ 2 เสนอไปใช้ในการสร้างผลงานอุลตร้าแมนจริงหรือไม่ ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ลงทุนลงแรงหรือมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดผลงานอุลตร้าแมน และฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตั้งแต่เริ่มแรก
การพิจารณาว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ผลงานอุลตร้าแมนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 เป็นเอกสารปลอมหรือไม่นั้น ต้องนำประเพณีและวิธีการปฏิบัติในการทำธุรกิจเพื่อหาผลประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าอุลตร้าแมน และผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโดยผู้เชี่ยวชาญ และการหาข้อพิรุธจากข้อความที่ปรากฏในสัญญาดังกล่าว กับพยานแวดล้อมอื่นๆ มาพิจารณาประกอบกัน เช่น การที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้สิทธิตามสัญญาพิพาทแสวงหาประโยชน์จากผลงานอุลตร้าแมนในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธินับจากวันทำสัญญาพิพาทล่วงพ้นไปถึง 20 ปี แต่กลับเพิ่งกล่าวอ้างถึงสัญญาพิพาทต่อโจทก์หลังจากที่ น. ซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวถึงแก่ความตายไปแล้วประมาณ 1 ปี ในขณะที่ฝ่ายโจทก์ดำเนินการใช้สิทธิและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาโดยตลอดโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำสัญญาพิพาทมากล่าวอ้างโต้แย้ง การที่จำเลยที่ 2 ขออนุญาตใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนที่ระบุไว้ในสัญญาพิพาทต่อโจทก์อีกหลังจากทำสัญญาพิพาทแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาหลังจากที่ น. ถึงแก่ความตายไม่กี่วัน โดยไม่ได้ระบุถึงลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาท การที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในสัญญาพิพาทเปรียบเทียบกับเอกสารที่มีลายมือชื่อของ น. แล้วมีความเห็นว่า มิใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ข้อพิรุธเกี่ยวกับข้อความในสัญญาพิพาท ทั้งชื่อสัญญา ชื่อผลงานอุลตร้าแมนและรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนตอนที่ไม่ถูกต้อง การไม่กำหนดเวลาและค่าตอบแทนในการโอนลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งผิดปกติวิสัยของการทำธุรกิจ และการทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิย้อนหลังอันจะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก และผิดปกติวิสัยของการทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ เป็นต้น จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่าสัญญาพิพาทเป็นเอกสารที่ถูกทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาอาจมีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาทไม่
แม้โจทก์ฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งมาในคดีเดียวกัน แต่ในคดีส่วนอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยปราศจากความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 พิมพ์เผยแพร่สมุดภาพระบายสีภาพอุลตร้าแมนหลังจากวันที่โจทก์ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.12 หรือ จ.25 ได้ไม่นาน ซึ่งเนื้อความในเอกสารดังกล่าวระบุเกี่ยวกับการอนุญาตให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินรวมทั้งอุลตร้าแมนพิพาทด้วย แม้หนังสือดังกล่าวไม่มีผลเป็นการรับรองสิทธิของจำเลยที่ 2 แต่การทำหนังสือดังกล่าวในระหว่างที่ยังพิพาทกันเรื่องลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลชี้ขาด อาจทำให้จำเลยที่ 2 และจำเลยอื่นเข้าใจได้ว่ามีสิทธิทำซ้ำและดัดแปลงรูปภาพผลงานอุลตร้าแมน ทั้งจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิอย่างเปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสี่ เมื่อข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง และมาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ตามฟ้อง จึงไม่มีค่าปรับที่จำเลยทั้งสี่ต้องชำระตามคำพิพากษา และกรณีไม่อาจสั่งให้ของกลางตกเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนโดยเป็นผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม และสัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากผลงานอุลตร้าแมนโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องแย้งเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ได้
จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้จัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีหาใช่ผู้โอนขายหรือผู้อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดรายได้หรือผลประโยชน์จากค่าตอบแทนการโอนขายลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์และทำให้งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้อยคุณค่าลงจากจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนโดยการจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสี ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี
จำเลยที่ 4 จัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีโดยเข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมน และไม่ได้ความว่าความเข้าใจว่าตนมีสิทธิจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีของจำเลยที่ 4 เป็นไปโดยประมาทเลินเล่อ กับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้รับผลกำไรจากการนี้หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในทางแพ่งฐานกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดประโยชน์อันพึงได้รับจากการจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีออกจำหน่ายเพื่อประโยชน์ทางการค้าจากจำเลยที่ 4 ได้อีก
ค่าใช้จ่ายในการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์เสียไป เป็นผลสืบเนื่องจากการที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่อลูกค้าของโจทก์และบุคคลทั่วไป จึงถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ได้ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64
สำหรับค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วเรียกเก็บเงินจากผู้ขายหรือจำหน่ายสินค้าที่มีตัวอุลตร้าแมนนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้ร้องทุกข์ดำเนินคดี จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว และผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวคือผู้ที่ถูกจำเลยที่ 2 แจ้งความร้องทุกข์และเรียกเก็บเงินหาใช่โจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายนี้
การขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ละเว้นการกระทำต่างๆ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนพิพาทหลังจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นต้นไป เป็นเรื่องการกระทำในอนาคตซึ่งยังมิได้มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเช่นนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานโสตทัศนวัสดุ ศาลแก้ไขบทลงโทษและพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายด้วยการนำแผ่นเพลงซีดีคาราโอเกะเพลงโดเรมี ขับร้องโดย พ. ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกแพร่เสียงภาพให้ประชาชนฟังและชม โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้าย่อมมีความหมายว่า จำเลยได้นำซีดีคาราโอเกะที่บันทึกภาพและเสียงไว้ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณะชนเพื่อการค้า อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (2) แม้โจทก์จะอ้างฐานความผิดและบทกฎหมายผิดไปเป็นว่า จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายเพื่อการค้า อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (3) ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดและบทกฎหมายที่ถูกต้องดังกล่าวข้างต้นได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์: จำเลยเสนอขายงานละเมิดลิขสิทธิ์ ศาลแก้ไขโทษฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
แม้ตามฟ้องของโจทก์ในตอนแรกโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงโดยนำม้วนเทปเพลงจำนวน 20 ม้วน แผ่นเอ็มพีสามจำนวน 2 แผ่น และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะจำนวน 209 แผ่น ที่บันทึกภาพและเสียงเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกวางจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนก็ตาม แต่ฟ้องในตอนท้ายโจทก์บรรยายว่า ตามวันเวลาที่อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดได้ม้วนเทปเพลง แผ่นเอ็มพีสามและแผ่นวีซีดีคาราโอเกะเดียวกันดังกล่าวที่บันทึกภาพและเสียงโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่จำเลยได้เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปดังกล่าวเป็นของกลาง การบรรยายฟ้องในตอนท้ายนี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานที่มีบุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอยู่แล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยนำม้วนเทปเพลง แผ่นเอ็มพีสาม และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย "ออกวางจำหน่าย" มีความหมายเช่นเดียวกับที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนท้ายว่า จำเลย "เสนอขาย" สิ่งของดังกล่าวที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแก่บุคคลทั่วไป แต่การนำออกวางจำหน่ายหรือเสนอขายซึ่งสิ่งที่มิได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ คงมีแต่มาตรา 31 (1) ที่บัญญัติให้การเสนอขายซึ่งสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น ทั้งโจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำใดของจำเลยที่เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 28 ฟ้องโจทก์เป็นเพียงการบรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 31 เท่านั้น
แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27, 28 และ 69 ไม่ได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 31 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์อ้างฐานความผิดและบทมาตราผิด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดและบทมาตราที่ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบด้วยมาตรา 26 และ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์จากการเสนอขายของละเมิด แม้โจทก์ฟ้องผิดฐาน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขโทษให้ถูกต้อง
แม้ตามฟ้องของโจทก์ในตอนแรกจะบรรยายว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงโดยนำม้วนเทปเพลงจำนวน 20 ม้วน แผ่นเอ็มพีสามจำนวน 2 แผ่น และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะจำนวน 209 แผ่น ที่บันทึกภาพและเสียงเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกวางจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนก็ตาม แต่ในตอนท้าย โจทก์บรรยายว่าตามวันเวลาที่อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดได้ม้วนเทปเพลงแผ่นเอ็มพีสาม และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะเดียวกันดังกล่าวที่บันทึกภาพและเสียงโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่จำเลยได้เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปดังกล่าวข้างต้นเป็นของกลาง การบรรยายฟ้องในตอนท้ายเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานที่มีบุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอยู่แล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนแรกว่า จำเลยนำม้วนเทปเพลง แผ่นเอ็มพีสาม และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะและอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย "ออกวางจำหน่าย" มีความหมายเช่นเดียวกับที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนท้ายว่า จำเลย "เสนอขาย" สิ่งของดังกล่าวที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแก่บุคคลทั่วไป แต่การนำออกวางจำหน่ายหรือเสนอขายซึ่งสิ่งที่มิได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด คงมีแต่เฉพาะมาตรา 31 (1) ที่บัญญัติให้การเสนอขายซึ่งสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ต่อสาธารณชนโจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำใดของจำเลยที่เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงแต่อย่างใด ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 ที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นเป็นเพียงการบรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 เท่านั้น ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำม้วนเทปเพลงจำนวน 20 ม้วน แผ่นเอ็มพีสามจำนวน 2 แผ่น และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะจำนวน 209 แผ่น ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาเสนอขายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28 และ 69 ไม่ได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 31 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์อ้างฐานความผิดและบทมาตราผิด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดและบทมาตราที่ถูกต้องได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยมาตรา 26 และ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 400,000 บาท ก่อนลดโทษให้นั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
of 3