คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชวลิต ลีฬหาวงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8141-8145/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมกันมีใช้อาวุธปืนเถื่อน ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น ศาลแก้โทษกระทงความผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น ยิงปืนโดยใช่เหตุ และใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 5 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 3 และที่ 5 ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในความผิดดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ก็มิใช่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ฆ่าผู้ตาย ความผิดข้อหาดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 จึงถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ส่วนความผิดฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและโดยเปิดเผย จำเลยที่ 3 และที่ 5 ไม่อุทธรณ์ ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่อาจฎีกาได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และพิพากษาว่าเป็นคนละกรรมกับฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ เป็นการแก้บทกำหนดโทษ ปรับบทความผิดและพิพากษาแก้เป็นคนละกรรมกัน เป็นเพียงการพิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงให้จำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 5
ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตาม ป.อ. มาตรา 371 และฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ตามมาตรา 376 มีอายุความฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) เมื่อเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 12 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงขาดอายุความ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผยแม้จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง ก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นและฎีกาต้องห้ามตามกฎหมาย และจำเลยที่ 8 มิได้ฎีกา แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 ร่วมกระทำความผิดอย่างไร ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 มิได้ถืออาวุธปืน พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 2 จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 กระทำความผิดหรือไม่ เห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3 และที่ 8 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบมาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวแม้คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จะต้องห้ามฎีกา และจำเลยที่ 8 ไม่ได้ฎีกา แต่ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 กระทำความผิดหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225 และมาตรา 185 ทั้งเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยคดีของจำเลยที่ 3 และที่ 8 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้ในบทมาตราเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 12 ร่วมกันมีอาวุธปืนและใช้อาวุธปืนดังกล่าวเพื่อความประสงค์อันเดียวกันและร่วมกันใช้อาวุธปืนต่อเนื่องจากการร่วมกันมีอาวุธปืน ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 และเป็นกรรมเดียวกับฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และแม้ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 5 เนื่องจากต้องห้ามฎีกาตามกฎหมายและอนุญาตให้จำเลยที่ 9 ถอนฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปตลอดถึงจำเลยที่ 5 และที่ 9 ได้ด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 213 และ 225
เมื่อจำเลยที่ 9 ยื่นฎีกาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา คดีของจำเลยที่ 9 จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การที่จำเลยที่ 9 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา คดีของจำเลยที่ 9 ย่อมเป็นที่สุดนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำสั่งจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งโดยปกติจะย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยที่ 9 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา จึงไม่อาจออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดย้อนหลังไปถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 9 ฟังตามที่จำเลยที่ 9 ขอได้ ให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยที่ 9 นับแต่วันยื่นคำร้องนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5737/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกของลูกจ้าง vs. การเลิกจ้างโดยนายจ้าง สิทธิในการรับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา การบอกเลิกสัญญานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด แม้ตามสัญญาจ้างแรงงานจะระบุว่า ถ้าลูกจ้างประสงค์จะบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ก็ตาม และนายจ้างจะอ้างว่าลูกจ้างยื่นหนังสือลาออกไม่ครบ 30 วัน นายจ้างจึงไม่อนุมัติให้ลาออกนั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของนายจ้างเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาได้ สัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 21 เมษายน 2558 ตามหนังสือขอลาออกของลูกจ้างและลูกจ้างไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำงานให้แก่นายจ้างอีกต่อไป การที่จำเลยอ้างอ้างว่าลูกจ้างขาดงานตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้างนั้น ก็หามีผลตามกฎหมายไม่ เพราะสัญญาจ้างแรงงานได้สิ้นสุดลงไปก่อนหน้านั้นแล้วจึงไม่อาจมีการบอกเลิกสัญญาได้อีกตามข้อบังคับกองทุนเฉพาะส่วนของนายจ้างและข้อบังคับของกองทุนจำเลยมีข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างถูกไล่ออกหรือถูกนายจ้างเลิกจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างลาออกด้วย ดังนั้นเมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างสิ้นสุดลงเพราะลูกจ้างลาออกมิใช่เป็นเพราะถูกไล่ออกหรือถูกเลิกจ้าง ย่อมไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4369/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย พยายามจำหน่าย และขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ศาลฎีกาแก้เป็นจำคุกตลอดชีวิต
จำเลยที่ 1 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนเฟนิลโพรพาโนลามีนซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำเลยที่ 1 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อขายและพยายามขายในวันเวลาเดียวกันต่อเนื่องกันและเป็นจำนวนเดียวกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4 ที่บังคับใช้ในขณะเกิดเหตุกำหนดคำนิยามของคำว่า "ขาย" ให้หมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบหรือมีไว้เพื่อขาย จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เพียงบทเดียว
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 3 (1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ซึ่งความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตามมาตรา 16 ที่ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 118 ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท ต่างจาก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 89 ที่ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ปลอมแปลงเอกสารรถยนต์, พยายามลักลอบนำรถออกนอกประเทศ, และการใช้เอกสารราชการปลอม มีความผิดตามกฎหมาย
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ได้ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ยังบัญญัติว่า การพยายามนำของซึ่งยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นความผิดอยู่ ถือไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ และมาตราดังกล่าวกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ แต่ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ดังนั้น จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3
มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 บัญญัติให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อคดีนี้มีการคืนของกลางให้เจ้าของไปแล้วและศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินค่าปรับและของกลางที่จะสั่งจ่ายเป็นเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 8 ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274-3275/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย เหตุโจทก์มิได้คัดค้านข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง วางหลักในการฎีกาว่า ฎีกาจะต้องคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไร คดีนี้โจทก์ฎีกาโดยคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคน โดยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลขึ้นโต้แย้งว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงมานั้นไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไร ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8878/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา: ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดได้แม้ผู้เสียหายไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา
ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ระบุว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในการกระทำความผิดต่อร่างกาย จิตใจ เสื่อมเสียเสรีภาพและชื่อเสียง เมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวฟังได้เบื้องต้นว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะได้ค่าสินไหมทดแทนที่ตนเองได้รับความเสียหายในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะบิดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโจทก์ร่วม มีความหมายเท่ากับความปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ร่วมถูกกระทบกระเทือนทำนองเดียวกับเสรีภาพของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหาย แต่ได้เขียนคำร้องในฐานะประชาชนที่ไม่เข้าใจกฎหมายถ่องแท้ จึงเขียนทำนองเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนโจทก์ร่วม ทั้งศาลชั้นต้นก็ไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขคำร้องให้ชัดเจนตามมาตรา 44/1 วรรคสอง จะถือเป็นความผิดของผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ ทั้งปัญหาตามมาตรา 44/1 เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจกำหนด ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: การเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ชี้ขาดอำนาจศาล
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ได้บัญญัติไว้ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ถ้าศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลที่ส่งความเห็นให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้นหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลใด และวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวยังบัญญัติให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเองก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดยะลา) ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนเบื้องต้นแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องโจทก์ไว้เป็นไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งฟ้องได้บรรยายถึงการกระทำโดยการใช้อำนาจทางกฎหมายของจำเลยทั้งสองอันเป็นที่มาของการก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) นั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นเองว่าคดีโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก่อนมีคำพิพากษา ซึ่งกรณีนี้ได้แก่ศาลปกครองสงขลา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ศาลชั้นต้นต้องจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองสงขลา หากศาลปกครองสงขลาเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองสงขลา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะโอนคดีไปยังศาลปกครองสงขลา หรือจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองสงขลา แต่ถ้าศาลปกครองสงขลามีความเห็นแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้เป็นไม่รับฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8692/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบเนื่องจากไม่ขออนุญาตฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขใหม่
คดีนี้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าเป็นการยื่นฟ้องจำเลยและบริวารเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ การยื่นฎีกาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 ที่เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" มาตรา 247 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา" และวรรคสอง บัญญัติว่า "การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น..." การที่ผู้คัดค้านยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 2