คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุพจน์ กิตติรักษนนท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 52 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาตัวแทนร่วมกัน ความรับผิดของตัวแทนแต่ละคนต่อการไม่ชำระหนี้ และการลดค่าเสียหายจากเบี้ยปรับ
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นตัวแทนขายกรมธรรม์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) กับโจทก์ต้องทำการด้วยตัวเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 808 ประกอบกับข้อสัญญาข้อ 8 กำหนดว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วง ดังนั้นการตั้งตัวแทนช่วงให้ขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจของตัวแทน แม้โจทก์ทราบเรื่องแล้วไม่ทักท้วง ก็เป็นเพียงการให้สัตยาบันต่อการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจของตัวแทนอันมีผลทำให้นิติกรรมการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ของตัวแทนช่วงซึ่งไม่ผูกพันโจทก์กลับเป็นผูกพันโจทก์โดยตรง และทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดที่มีต่อบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 แต่ในระหว่างตัวการตัวแทนด้วยกัน จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกิจการที่ตนได้กระทำนอกเหนือขอบอำนาจนั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 812 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่ขายเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุตัวแทนช่วงเป็นผู้ขายกรมธรรม์ พ.ร.บ.มาปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเบี้ยประกันภัยที่ขายเพิ่มเติมจะทำให้โจทก์ได้รับเงินค่าประกันภัยจากการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันถึง 2 ครั้ง เพราะโจทก์มีหนังสือแจ้งตัวแทนช่วงของจำเลยที่ 1 ให้ส่งค่าเบี้ยประกันภัยที่ขายให้แก่โจทก์โดยตรง เป็นทำนองตัวแทนช่วงของจำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัยส่วนนี้แล้วนั้น จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์จัดส่งหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่ทำเรื่องขอเบิกจ่าย และยังมีตารางกรมธรรม์ประกันภัยค้างอยู่กับฝ่ายจำเลย 147,157 ชุด จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า ตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่เบิกมาอยู่ที่ตัวแทนช่วงทั้งหมด มิได้อยู่ที่จำเลยที่ 1 แม้แต่ฉบับเดียว ตามคำเบิกความของ น. พยานโจทก์ การเบิกตารางกรมธรรม์ประกันภัยจะต้องตรวจสอบว่าไม่มีหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยค้างชำระ แต่ในรอบขายเดือน ก.ค. และเดือน ส.ค. 2551 จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเบี้ยประกันภัยตามเช็คธนาคารพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 2,155,704.18 บาท โจทก์คงไม่จัดส่งกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 1 อย่างแน่นอน โดยฎีกาของจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่นำส่งคืนหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์ รวม 147,157 ชุด
ส่วนจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในค่าเสียหายเพียงใดนั้น เห็นว่า ข้อตกลงตามสัญญา ข้อ 6.2 ที่ให้ตัวแทนต้องชำระค่าเสียหายกรณีหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยสูญหาย เสียหาย ชำรุดใช้การไม่ได้ หรือไม่สามารถส่งคือให้แก่โจทก์ได้เป็นเงินชุดละ 300 บาท เป็นค่าเสียหายล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หาใช่ต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาดเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนช่วงหรือทีมขายของจำเลยที่ 1 ได้นำตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ที่ไม่ส่งคืนไปขาย หรือมีลูกค้ารายใดเรียกร้องให้โจทก์รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ พ.ร.บ. ดังกล่าว และโจทก์ไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากยังไม่มีการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายตามศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 รับผิดเป็นเงินชุดละ 50 บาท นั้น สูงเกินไป เห็นสมควรลดลงเป็นจำนวนพอสมควรกับแนวทางปฏิบัติของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่คิดค่ายกเลิกตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. และค่าปรับตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ชำรุด ชุดละ 20 บาท จำนวน 147,157 ชุด เป็นเงิน 2,943,140 บาท
สัญญาที่โจทก์ตกลงแต่งตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ระบุจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ติดต่อเบิกหน้ากรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไปขาย และนำส่งค่าเบี้ยประกันภัยพร้อมสำเนาหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่ขายได้หรือส่งคืนหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังขาดไม่ได้ให้แก่โจทก์ หากผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแก่โจทก์ มีลักษณะเป็นสัญญาอันเดียว ตัวการคนเดียวตั้งตัวแทนหลายคนเพื่อแก่การอันเดียว ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 804 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ตัวแทนจะต่างคนต่างทำการนั้น ๆ แยกกันไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายประกันภัยรถให้โจทก์แยกต่างหากจากกัน ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า ในการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. จำเลยที่ 2 มีตัวแทนช่วงหรือทีมงานรับกรมธรรม์ พ.ร.บ. ไปขายให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยที่ 1 มิได้ขายเอง แต่เมื่อตัวแทนหรือทีมงานขายได้จะส่งสำเนากรมธรรม์และค่าเบี้ยประกันภัยให้จำเลยที่ 2 รวบรวมส่งต่อให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ตามลำดับโดยจำเลยที่ 2 ได้รับค่าใช้จ่ายด้วย ตามพฤติการณ์ถือว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนร่วมกันผูกพันตนในอันที่จะขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ให้แก่โจทก์ เมื่อเกิดความเสียหายจากการทำหน้าที่ตัวแทน จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 297

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการโอนทรัพย์สินในคดีล้มละลาย แม้ผู้รับโอนสุจริตแต่มีส่วนร่วมยักย้ายทรัพย์สิน ยึดหลักสุจริตและเสียค่าตอบแทน
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 (จำเลย) ไปยังผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 เป็นคดีล้มละลายประมาณ 5 เดือนเศษ และต่อมาผู้คัดค้านที่ 4 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 อันเป็นการทำให้เจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 เสียเปรียบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 237 ถือเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีล้มละลายคดีนี้เอง ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีได้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แต่จะนำ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) มาใช้บังคับในกรณีไม่ได้
ส่วนการเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน การโอนนั้นก็ยังชอบด้วยกฎหมายอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามขอ ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17210/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาล้มละลายจากหนี้ค้างชำระสัญญาเช่าซื้อและคำบังคับทวงหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้จึงดำเนินการทวงหนี้ จนศาลล้มละลายกลางออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ โดยจำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งความ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 วรรคสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างแต่เพียงว่าไม่ทราบเรื่องการทวงถามหนี้โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมิได้ปฏิเสธ แต่ก็มิได้โต้แย้งหรือขอให้ศาลเพิกถอนคำบังคับ คำบังคับดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยทั้งสาม โจทก์ไม่จำต้องนำสืบอ้างส่งพยานหลักฐานสัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกัน รายการคำนวณยอดหนี้และรายการค่าเสียหาย ภาระหนี้หลังการขายทอดตลาดแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าหนี้ที่ทวงถามโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขาดอายุความ
ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ครั้งที่สองวันที่ 18 สิงหาคม 2551 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้การส่งครั้งแรกพนักงานไปรษณีย์จะแจ้งเหตุขัดข้องในการนำส่งว่า "ไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า" แต่ก็ปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรท้ายคำแถลงขอจัดส่งคำคู่ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ตามสถานที่โจทก์นำส่งหนังสือทวงถามจริง และในการนำส่งหนังสือทวงถามครั้งที่สอง ก็ปรากฏว่ามีผู้เกี่ยวพันเป็นหลานสาวคือ ส. ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่รับหมายเรียกคดีล้มละลายคดีนี้แทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อรับหนังสือไว้แทน พฤติการณ์แสดงชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหนังสือทวงถาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือและทราบการทวงถามโดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15525/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย เหตุโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อย่างชัดเจน
โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ควรรับฟังพยานหลักฐานเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นเป็นฎีกาทำนองว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว แต่ฎีกาของโจทก์มิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14704/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท: การพิสูจน์สิทธิโดยการส่งมอบการครอบครองและการมีเหตุผลอันสมควร ทำให้ไม่มีเจตนาบุกรุก
โจทก์และจำเลยยังนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทกันอยู่ แม้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 6869 แต่ก็รับว่าไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของที่ดินเดิมโดยการส่งมอบการครอบครอง และมีกรณีฟ้องร้องเพราะเหตุที่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2434 โดยไม่ชอบทับที่ดินของบุคคลอื่นอีกหลายคดี ซึ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์แบ่งแยกมาจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว เท่ากับจำเลยยืนยันโดยมีเหตุผลตามสมควรว่า จำเลยมีสิทธิครอบครอง เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวโต้แย้งกันทางแพ่ง จึงต้องรับฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8379/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานนอกฟ้องและบัญชีพยาน โจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องเอกสารในคดีแพ่ง
พยานหลักฐานที่ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 228 และพยานหลักฐานที่ศาลยอมให้คู่ความฝ่ายที่อ้างว่าคำเบิกความของพยานคนใดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมาไม่ควรเชื่อฟังนำมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 120 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น มิใช่การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด หรือเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่กฎหมายบังคับว่าโจทก์จะต้องบรรยายมาในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) อีกทั้งมิใช่พยานหลักฐานที่คู่ความประสงค์ที่จะนำสืบสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนจะต้องนำสืบในกรณีปกติอันจะอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 หรือมาตรา 173/1 ที่คู่ความจักต้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะฉบับที่สอง ไม่กระทบอุทธรณ์ฉบับแรกที่ศาลรับไว้แล้ว
จำเลยยื่นอุทธรณ์ฉบับแรก ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ไว้แล้ว ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ฉบับที่สอง ศาลชั้นต้นจึงหมายนัดจำเลยและทนายจำเลยมาศาลเพื่อสอบถามว่าจำเลยจะใช้อุทธรณ์ฉบับใด แต่จำเลยและทนายจำเลยเพิกเฉยไม่มาดำเนินการภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด กรณีถือได้ว่าเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เฉพาะอุทธรณ์ฉบับที่สองเท่านั้น ไม่กระทบถึงอุทธรณ์ฉบับแรกที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ไว้โดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3284/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานประกอบกันชี้ชัด จำเลยคือผู้ลงมือสังหาร คำบอกเล่าผู้ตายก่อนเสียชีวิตมีน้ำหนักเชื่อถือได้
แม้ ก. ส. และร้อยตำรวจเอก ว. พยานโจทก์ทั้งสามเป็นพยานบอกเล่า และผู้ตายผู้บอกเล่าไม่ได้ มาเบิกความต่อศาลเพราะถูกยิงถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การที่ผู้ตายบอกแก่พยานโจทก์ทั้งสามทันทีที่พยานโจทก์ทั้งสามพบผู้ตายที่โรงพยาบาลพัทลุงภายหลังเกิดเหตุประมาณ 3 ชั่วโมง ว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนารี และเมื่อร้อยตำรวจเอก ว. ให้ผู้ตายดูภาพถ่ายผู้ต้องสงสัยจากแฟ้มอาชญากรรมรวมทั้งภาพถ่ายจำเลย ผู้ตายก็ชี้ภาพถ่ายจำเลยว่าเป็นคนร้ายทันที แสดงว่าผู้ตายยังมีสติสัมปชัญญะดีและจำคนร้ายได้แน่นอนว่าเป็นจำเลยจริง และคำบอกเล่าของผู้ตายเช่นนี้รับฟังได้ในฐานะที่เป็นคำระบุบอกกล่าวในเวลาใกล้ชิดกับเหตุอย่างมาก อันไม่มีโอกาสที่ผู้ตายจะคิดใส่ความหรือปรักปรำจำเลยได้ทัน จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ เมื่อพิจารณาประกอบบาดแผลของผู้ตายที่มีรอยครูดถลอกที่บริเวณข้อศอกขวาและเข่าขวากับกองเลือดของผู้ตาย รองเท้าแตะ อาวุธมีดที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และสำเนาใบสำคัญการสมรสของผู้ตายที่ยังมีคราบเลือดติดอยู่ซึ่งร้อยตำรวจโท ส. ตรวจยึดไว้จากที่เกิดเหตุ ทำให้น่าเชื่อตามคำเบิกความของ ส. และร้อยตำรวจเอก ว. พยานโจทก์ที่ว่าวันเกิดเหตุผู้ตายไปพบนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนารี โดยนำสำเนาทะเบียนสมรสดังกล่าวไปเป็นหลักฐาน หลังจากนั้นผู้ตายออกมารอรถโดยสารประจำทางที่ศาลาที่เกิดเหตุและมีคนร้ายลงจากรถยนต์มายิงผู้ตายในระยะใกล้แล้วเกิดการต่อสู้กันด้วย ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2369/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของนิติบุคคลอาคารชุดต่อความเสียหายทรัพย์สินส่วนบุคคล: หน้าที่จำกัดเฉพาะทรัพย์ส่วนกลาง
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 วรรคสี่ บัญญัติว่า ทรัพย์ส่วนกลาง หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม ส่วนการจัดการทรัพย์ส่วนกลางต้องเป็นไปตามมาตรา 17, 33, 36 และ 37 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ ต้องมีนิติบุคคลเพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่า นิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคลแต่ประการใด การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ย่อมหมายถึงทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น ไม่รวมไปถึงรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ แม้หลังทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ได้แจ้งระเบียบรักษาความปลอดภัย เช่น การตรวจสอบสติกเกอร์ที่ติดรถยนต์ การรับบัตรอนุญาตจอดรถยนต์ และตรวจสอบการขนของเข้าออกอาคาร ก็เป็นเพียงมาตรการให้เกิดความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยในอาคารชุด หาได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์ส่วนบุคคลไม่ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 ยังมีลักษณะเป็นการทำแทนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทุกคนรวมทั้ง ส. ผู้ครอบครองรถยนต์ของโจทก์ด้วย เงินที่ใช้ในการว่าจ้างก็มาจากเงินที่เจ้าของร่วมทุกคนชำระเป็นเงินกองทุนและเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางนั่นเอง ดังนี้แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์ของโจทก์ไป จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของร่วมในการว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัย ก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์
of 6