คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประชา งามลำยวง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 23 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่คดียาเสพติดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และขยายผลถึงตัวการร่วม
เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 3 ร่วมกับพวกมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดฐานจำหน่ายตาม ป.ยาเสพติด มีจำนวน 2,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 40.445 กรัม แม้ไม่ปรากฏพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ของจำเลยที่ 3 อย่างชัดเจน แต่ปริมาณของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวย่อมบ่งชี้ได้ว่าหากไม่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดเป็นของกลางเสียก่อน จำเลยที่ 3 กับพวกต้องจำหน่าย จ่าย แจกเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไปยังกลุ่มผู้เสพหลายคน โดยสภาพย่อมถือเป็นการก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงต้องด้วยมาตรา 145 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 มากกว่ากฎหมายเดิม เมื่อโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดตามคำพิพากษาก่อนลดโทษหนักกว่าโทษจำคุกตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ศาลต้องกำหนดโทษให้จำเลยที่ 3 ใหม่ตามโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง
จำเลยที่ 3 ซึ่งกำลังรับโทษอยู่ร้องขอให้กำหนดโทษใหม่ และศาลกำหนดโทษให้จำเลยที่ 3 ใหม่แล้ว เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยังรับโทษอยู่ ศาลย่อมกำหนดโทษใหม่สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ด้วยได้ ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) และ ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น แต่ไม่เป็นบันดาลโทสะ และปลอกกระสุนปืนที่ยิงไปแล้วไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน
ปลอกกระสุนปืนเล็กกลขนาด 7.26 มม. Russian 1 ปลอก ที่จําเลยมีไว้ในครอบครองนั้น เป็นปลอกกระสุนปืนที่ใช้ยิงไปแล้ว ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนําสืบให้เห็นว่า จําเลยจะใช้ปลอกกระสุนปืนของกลางไปอัดหรือใช้ประกอบให้อยู่ในสภาพเป็นเครื่องกระสุนปืนสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตหรือวัตถุได้ ดังนั้น ปลอกกระสุนปืนของกลางจึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน การที่จําเลยมีไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง แม้จําเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5089/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ปลอมเอกสาร-ใช้เอกสารปลอม-เอาไปเสียซึ่งเอกสาร-ครูหลอกลวงเพื่อนครู ศาลยืนโทษ
ใบถอนเงินฝากมีเพียงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหาย ยังไม่ได้กรอกจำนวนเงินที่ขอถอน ส่วนใบมอบฉันทะด้านหลังก็มีเพียงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหาย ยังมิได้กรอกข้อความว่ามอบฉันทะให้ผู้ใดเป็นผู้รับเงินที่ขอถอน จึงเป็นเอกสารที่ข้อความยังไม่สมบูรณ์ มิใช่เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) การกระทำของจำเลย คงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4798/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจาร: ความผิดแม้เด็กออกจากบ้านเอง และการพิจารณาอำนาจปกครองของบิดามารดา
โจทก์ฟ้องจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำรับสารภาพเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร และศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริง จึงจะลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลย และจำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 หรือแยกผู้เสียหายที่ 1 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่ น. เป็นผู้ติดต่อมาหาจำเลยเพื่อเสนอให้ผู้เสียหายที่ 1 ขายบริการทางเพศให้แก่จำเลย และพาผู้เสียหายที่ 1 มาส่งที่บ้านของจำเลย ในทำนองว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด และอุทธรณ์ของจำเลยมิใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ชำรุด ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาและเรียกเงินคืน พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาเช่ารถยนต์กับโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์รับรถยนต์ไปใช้ปรากฏว่าเกิดเสียงดังในขณะขับรถถอยหลัง เมื่อนำกลับไปให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมหลายครั้งแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าในสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ เป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนหรือในขณะส่งมอบและเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังจากการส่งมอบรถ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซึ่งไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา มิใช่กรณีฟ้องขอให้รับผิดในกรณีชำรุดบกพร่อง บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 จึงไม่นำมาปรับใช้กับคดีนี้ และการฟ้องขอให้รับผิดโดยขอคืนเงินที่ชำระตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันเป็นการผิดสัญญาเช่านั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 190/30
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ซึ่งบัญญัติว่า "การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิก็ดี ผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร" และมาตรา 472 วรรคแรก บัญญัติว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่ารถยนต์นอกจากมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นก่อนส่งมอบและเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากส่งมอบแก่โจทก์ และเสียงที่ดังเกิดที่เบรกรถยนต์ซึ่งเป็นระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับรถยนต์ แม้จำเลยที่ 1 จะซ่อมแซมหลายครั้งแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้ ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลและความไม่เชื่อมั่นในการใช้รถที่เช่า ความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าดังกล่าวจึงถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้ตามปกติ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่าได้ส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะกับการใช้ประโยชน์ตามที่เช่า แม้สัญญาเช่ามีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าอันเป็นการยกเว้นความผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ประกอบมาตรา 472 ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนด ทำให้จำเลยที่ 2 ได้เปรียบโจทก์เกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีผลใช้บังคับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (1) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 2 ด้วยการนำรถกลับไปคืนจำเลยที่ 1 แล้วต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และจำเลยที่ 2 นำรถยนต์ที่เช่าไปขายแก่บุคคลภายนอกแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการคืนเงินค่าเช่าที่ได้รับมาทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทในขณะที่โจทก์ฟ้องคดี ทั้งไม่ใช่ผู้รับชำระค่าเช่าจากโจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเรียกค่าเสียหายภายใต้บังคับของกฎหมายเท่านั้น กรณีไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมชำระเงินดังกล่าวที่โจทก์ชำระไปแล้วคืนให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2478/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินมัดจำต้องส่งมอบในวันทำสัญญา การริบเงินต้องเป็นไปตามกฎหมาย
เงินมัดจำคือเงินที่มอบให้แก่กันในวันทำสัญญา แม้คู่กรณีจะระบุไว้ในสัญญาว่าโจทก์ได้ให้เงินมัดจำแก่จำเลย 1,000,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ งวดแรกชำระในวันทำสัญญา 500,000 บาท แต่ในวันทำสัญญาโจทก์ก็มิได้มอบเงิน 500,000 บาท แก่จำเลย คงให้จำเลยในวันหลัง เงิน 500,000 บาทนี้ จึงหาใช่เงินมัดจำตามกฎหมายไม่ แม้หากฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยก็หาอาจริบเงินดังกล่าวในฐานะเป็นการริบเงินมัดจำได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2297/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเช่าช่วงและขอบเขตความรับผิดของผู้เช่าช่วง แม้สัญญาเช่าเดิมไม่มีผลผูกพัน แต่ผู้เช่าช่วงก็ไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าบ้านและที่ดินพิพาทของโจทก์เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร มีกำหนด 3 ปี มีข้อสัญญาข้อหนึ่งว่า ผู้เช่าจะโอนสิทธิการเช่าหรือนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงไม่ได้เว้นแต่ผู้เช่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาราวเดือนพฤษภาคม 2559 จำเลยที่ 1 นำบ้านและที่ดินไปให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วง เป็นการผิดสัญญาเช่า การที่จำเลยที่ 3 อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้เช่าช่วงแต่เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ระงับ จำเลยทั้งสามสามารถอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ นับว่าเป็นการกล่าวอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยที่ 3 อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นคำให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
แม้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าช่วงบ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นการอยู่และใช้ประโยชน์โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีผลเพียงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิให้เช่าช่วง จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทอีกต่อไป แต่ไม่ทำให้การที่จำเลยที่ 3 ได้อยู่และใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทมาก่อนแล้วนั้น กลายเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดยักยอกทรัพย์ร่วมกัน และการรับของโจร พิจารณาจากเจตนาและการกระทำร่วมกัน
ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกิดจากการกระทำอันเป็นการอุปการะความผิดฐานยักยอกหรือความผิดอื่นดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 357 เช่น ช่วย ซื้อ จำหน่าย หรือรับไว้โดยประการอื่นใด ความผิดฐานรับของโจรจึงต้องเกิดหลังจากมีการกระทำความผิดฐานยักยอก เมื่อ ส. ทำสัญญาซื้อขายดาวน์รถแทรกเตอร์แล้ว จำเลยและ ส. ร่วมกันนำรถแทรกเตอร์ของโจทก์ร่วมไปเป็นการร่วมกันรับมอบการครอบครองรถแทรกเตอร์จากโจทก์ร่วมอันเป็นส่วนหนึ่งในการกระทำความผิดฐานยักยอก เมื่อต่อมาปรากฏว่ารถแทรกเตอร์ดังกล่าวไปอยู่ประเทศกัมพูชา แสดงว่า จำเลยหรือ ส. ขายรถแทรกเตอร์ไปหรือแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นและจำเลยบ่ายเบี่ยงว่ามิได้รับมอบรถแทรกเตอร์ถือว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต จำเลยจึงมีความรับผิดในฐานะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับ ส. ในความผิดฐานยักยอก กรณีมิใช่ ส. ยักยอกรถแทรกเตอร์ของโจทก์ร่วมก่อน แล้วจำเลยกระทำอันเป็นการอุปการะความผิดฐานยักยอก ช่วย ซื้อ จำหน่าย หรือรับไว้โดยประการอื่นใดอันเป็นความผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาทางเช็ค: การยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ และการแก้ไขโทษที่ศาลชั้นต้น
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เท่ากับว่าจำเลยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์มาชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษมาด้วย แม้เป็นฎีกาซึ่งไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกา และไม่อาจรับรองให้ฎีกาได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยหนักเกินไปก็ย่อมมีอำนาจแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรม: อั้งยี่, สมคบฯ, ฟอกเงิน, ฉ้อโกง, และนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย และความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรก็เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งตามองค์ประกอบของความผิดสองฐานนี้ จึงอาจเป็นความผิดต่างกรรมกันได้ แต่เมื่อการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5 (1) และ (2) มีองค์ประกอบของความผิดในลักษณะเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่และความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าการเข้าเป็นสมาชิกหรือการสมคบกันนั้นก็เพื่อจะกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ ความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันและโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ ความผิดฐานต่าง ๆ ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมูลฐานที่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินจึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ ดังกล่าวสำเร็จแล้ว และเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำต่างจากการกระทำความผิดฐานอื่นนั้นได้ จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างกรรมกัน ซึ่งปัญหาว่าการกระทำความผิดเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 3