คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 146

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 37 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ถนน-ทางเข้าออก-ละเมิด: เจ้าของรวมใช้สิทธิไม่เกินขอบเขต
บริษัท พ. ซึ่งโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาได้สร้างถนนพิพาทโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่สร้างถนน ฉะนั้นจึงถือได้ว่าถนนพิพาทเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ที่จะไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่มีถนนพิพาทผ่านก็ย่อมมีสิทธิใช้ที่ดินเป็นทางเข้าออกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360
แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่ตั้งถนนพิพาทและมีสิทธิใช้ที่ดินและถนนพิพาทนั้นในฐานะเจ้าของรวมก็ตาม แต่การใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 จะต้องไม่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 421 และ 1360 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อขนดินและวัสดุต่าง ๆ ในการทำโครงการจัดสรรที่ดินและบ้านทำให้ถนนพิพาทเสียหายจึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5582/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเช่า: สิทธิของเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุด
โจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์และตลาดสดลงในที่ดินที่เช่าจากจำเลยที่ 3 ก่อนที่สัญญาเช่าจะสิ้นสุดลง 3 เดือน เป็นการก่อสร้างภายในกำหนดสัญญาเช่า โจทก์มีอำนาจทำได้ตามสัญญาเช่าข้อ 2 หากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อจากจำเลยที่ 3 ไม่ต่อสัญญาให้โจทก์ โจทก์ต้องรื้อถอนอาคารพาณิชย์และตลาดสดออกไปภายในกำหนด 2 เดือน ตามสัญญาเช่าข้อ 5 ดังนั้นอาคารพาณิชย์และตลาดสดจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 เดิม (มาตรา 146)กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องบุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1310 และมาตรา 1311 หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงโจทก์ขอต่ออายุสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เจรจาเพื่อทำสัญญาเช่าใหม่กันโจทก์ได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์และตลาดสดต่อมาจนเสร็จโดยฝ่ายจำเลยไม่ได้ทักท้วง กลับยอมให้โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยที่ 11 ถึงที่ 17เช่าอาคารพาณิชย์และรับค่าเช่าจากผู้เช่าแผงในตลาดสด ทั้งยังรับค่าเช่าจากโจทก์ตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 13 มกราคม 2527 จึงบอกเลิกสัญญา พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินต่อไปเป็นการชั่วคราวในระหว่างเจรจาทำสัญญาเช่าใหม่ในลักษณะเช่นเดียวกับการเช่าบรรดาผลประโยชน์ต่าง ๆที่โจทก์ได้รับจากผู้เช่าอาคารพาณิชย์และผู้เช่าแผงในตลาดสดก่อนที่จะมีการบอกเลิกสัญญาย่อมเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วโจทก์และฝ่ายจำเลยได้เจรจากันหลายครั้งแต่ไม่อาจลงนามในสัญญากันได้ เนื่องจากมีปัญหาข้อขัดข้องหลายประการ จึงฟังได้โดยชัดแจ้งว่าทั้งสองฝ่ายมีความมุ่งหมายที่จะทำสัญญาเป็นหนังสือแต่ยังมิได้ทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาที่โจทก์อ้างจึงยังไม่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสองโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนให้โจทก์เช่าที่ดินตามฟ้อง จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้ว โจทก์ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างคืออาคารพาณิชย์และตลาดสดออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 1โดยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนใด ๆ ทั้งสิ้น การที่โจทก์มิได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาถือได้ว่าโจทก์อยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยละเมิดโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8ทั้งไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 17 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กล่าวอ้างว่า อาคารพาณิชย์เลขที่169/1-8 และตลาดสดเลขที่ 169 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นของจำเลยและฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์พร้อมบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 แต่สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นของโจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิพากษาให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 1 เสียด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินช่วงห้ามโอนเป็นโมฆะ, สิ่งปลูกสร้างเป็นส่วนควบของที่ดิน
การที่ผู้ร้องและจำเลยซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทำสัญญาเพื่อให้มีผลเป็นการโอนสิทธิในที่ดินโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันภายในกำหนดเวลาห้ามโอนนั้นแม้จะเรียกว่าสัญญาจะซื้อจะขายและระบุในสัญญาว่าจะมีการโอนทางทะเบียนเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้วก็ตาม การทำสัญญาเช่นนี้เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายสัญญาจึงเป็นโมฆะ จำเลยจึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว ส่วนบ้านและอาคารซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ร้องปลูกสร้างในที่ดินของจำเลยโดยผู้ร้องมิใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นของจำเลย โจทก์ย่อมสามารถนำยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในอาคารพิพาทที่ก่อสร้างบนที่ดินของผู้อื่น แม้มีข้อตกลงให้กรรมสิทธิ์แต่ต้องจดทะเบียนจึงมีผลต่อบุคคลภายนอก
ข้อตกลงตามหนังสือก่อสร้างต่างตอบแทนว่า โจทก์ตกลงก่อสร้างอาคารพิพาทบนที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์จะได้รับกรรมสิทธิ์ในตัวอาคารพิพาทเพื่อประกอบธุรกิจสถานบันเทิงจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 ข้อตกลงดังกล่าวแม้มีผลทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทตามข้อยกเว้นในเรื่องส่วนควบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 แต่ก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิที่อาจเรียกร้องและบังคับระหว่างกันเองได้เท่านั้น ข้อตกลงที่ให้โจทก์ได้รับกรรมสิทธิ์เหนืออาคารพิพาทเป็นทรัพย์สิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ทำการจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ใน อาคารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ใน อาคารพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินจึงไม่บริบูรณ์ ใช้ยันต่อจำเลยที่ 2 ผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2087/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อตึกแถว แม้กรรมสิทธิ์ที่ดินจะตกเป็นของอื่น สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีผลผูกพัน
โจทก์เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างตึกแถวเก็บผลประโยชน์ตลอดเวลาเช่า เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วโจทก์ยอมให้ตึกแถว ตกเป็นของเจ้าของที่ดิน จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อตึกแถวจากโจทก์ แม้เมื่อครบกำหนดการเช่าที่ดินแล้วกรรมสิทธิ์ในตึกแถวจะตกเป็นของเจ้าของที่ดิน ก็เป็นสิทธิของบุคคลภายนอกที่จะกล่าวกันต่างหาก แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมมีผลผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อ ที่ได้ทำกันไว้ เมื่อจำเลยเข้าอยู่ในตึกแถวโดยอาศัยสิทธิ การเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลย และจำเลยมิได้ผิดสัญญา แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขับไล่จำเลย หรือเรียกค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2684/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายมีผลเมื่อเงื่อนไขสำเร็จ การไม่ชำระหนี้เช่าซื้อไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
ข้อตกลงที่ว่าสัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์พิพาทจะมีผลบังคับได้ต่อเมื่อบริษัทขนส่งจำกัด อนุมัติให้เข้าร่วมวิ่งในเส้นทางกรุงเทพมหานคร-จันทบุรี หรือกรุงเทพมหานคร-ตราด ซึ่งการจะได้รับอนุมัติหรือไม่เป็น เหตุการณ์ ในอนาคตไม่แน่นอน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไข ต่อมา กระทรวงคมนาคมอนุมัติให้รถยนต์พิพาทเข้าร่วมวิ่งกับบริษัทขนส่งจำกัด เงื่อนไขตามสัญญามีผลบังคับคู่สัญญาแล้วเมื่อจำเลยไม่สามารถโอนรถยนต์พิพาทให้โจทก์ได้ เพราะเหตุที่จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ เนื่องจากไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อ บริษัท ค. ผู้ให้เช่าซื้อได้ยึดรถยนต์พิพาทดังกล่าวไป ดังนี้เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ขวนขวายจัดการปัญหาของจำเลยเองให้เรียบร้อย มิใช่ เรื่องนอกเหนืออำนาจจำเลย จึงเป็นความผิดของจำเลย มิใช่เป็นเหตุ พ้นวิสัย หรือสุดวิสัย ซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถของจำเลยจะ ป้องกันได้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1192/2518

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับรองเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อ แม้จำเลยไม่ได้ลงนาม ก็มีผลผูกพันโจทก์
โจทก์ทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อมาสด้าแบบเก๋งจากบริษัทจำเลย และยังได้ทำหนังสือรับรองให้จำเลยยึดถือไว้มีความตอนแรกว่า"...นอกจากข้าพเจ้าจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวแล้วข้าพเจ้าขอรับรองต่อบริษัทฯ ตามเงื่อนไขแห่งข้อความต่อไปนี้อีกด้วยคือ..."และข้อ 2 แห่งหนังสือรับรองก็ว่า "เนื่องจากราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อนี้บริษัทฯ ได้คิดให้ข้าพเจ้าในราคาต่ำกว่าราคาที่ขายทั่วไป ดังนั้นในระหว่างอายุแห่งสัญญาเช่าซื้อยังไม่ครบกำหนด ข้าพเจ้าจะไม่นำรถคันที่เช่าซื้อนี้โอนให้แก่บุคคลภายนอกไม่ว่าโดยนิตินัยหรือพฤตินัยเป็นอันขาด และหากข้าพเจ้าจะต้องออกจากงานของบริษัทไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ข้าพเจ้าจะต้องจัดการชำระค่าเช่าซื้อที่ติดค้างทั้งหมดแก่บริษัทฯ ทันที หรือจะต้องเพิ่มราคาค่าเช่าซื้อตามจำนวนที่บริษัทฯ ได้ลดให้และจัดหาหลักประกันให้แก่บริษัทฯ จนเป็นที่พอใจแล้วแต่กรณี" และในข้อ 3มีข้อความว่า "ให้ถือเอาเงื่อนไขแห่งหนังสือนี้ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งแห่งสัญญาเช่าซื้อฉบับลงวันที่ 11 เดือยเมษายน พ.ศ. 2512 โดยเป็นสารสำคัญอันเป็นเหตุให้บริษัทฯ บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ เดือนเมษายนพ.ศ. 2512 โดยเป็นสารสำคัญอันเป็นเหตุให้บริษัทฯ บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ในกรณีที่ข้าพเจ้าปฏิบัติผิดสัญญานี้" จากข้อความในหนังสือรับรองดังกล่าวแล้วนี้ ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขที่โจทก์สมัครใจยินยอมผูกพันตนกับจำเลยเองและยอมรับเอาผลที่จะเกิดจากการแสดงเจตนาตามข้อความในหนังสือรับรองนั้น ดังนั้นโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหนังสือรับรองดังกล่าว แม้จำเลยจะมิได้เซ็นชื่อในหนังสือนั้นก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยตกลงกับโจทก์ตามนั้น เพราะจำเลยเป็นฝ่ายยึดถือหนังสือรับรองนี้ไว้ และยังถือได้อีกว่าหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นเงื่อนไขอันหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อด้วยเมื่อสัญญาเช่าซื้อสมบูรณ์ ข้อความตามหนังสือรับรองก็ใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ
of 4