คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 525

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 276 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินมีเงื่อนไข เมื่อผู้รับบริจาคไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้
หนังสือแสดงความประสงค์เรื่อง การอุทิศที่ดินให้กับทางราชการหรือยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทำขึ้นระหว่างโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้บริจาคกับจำเลยในฐานะผู้รับบริจาค แม้จะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองและจำเลยในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ระบุไว้ในหนังสือแสดงความประสงค์ดังกล่าว เมื่อการยกให้ แก่จำเลยเป็นการยกให้โดยมีเงื่อนไข ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจะตกเป็นของทางราชการและตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ต่อเมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว จำเลยไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ภายในระยะเวลาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสือแสดงความประสงค์ ก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาทยังไม่ตกเป็นของทางราชการและไม่ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การโอนสิทธิและผลของการครอบครองโดยชอบธรรม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา แต่ที่ดินพิพาทกลับมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ และมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับซื้อฝาก เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ส่วนที่ดินพิพาทไม่ใช่แปลงเดียวกับที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลง แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่เมื่อ ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 และแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุ ป. กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อพระภิกษุ ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสละการครอบครองและส่งมอบที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของ ส. ให้แก่ ป. ป. ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตามความจริง จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5418/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ศาลวินิจฉัยกรรมสิทธิ์และส่วนควบของที่ดิน
ที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ติดจำนองธนาคาร ก. ยังไม่มีลู่ทางว่าจำเลยซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพอันใดจะสามารถหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวหรือชำระหนี้สินได้อย่างไรเจ้ามรดกถึงจะได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงคนเดียว ทั้ง ๆ ที่เจ้ามรดกยังมีบุตรคนอื่นอีกเก้าคน คือโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม ที่ ส. เจ้ามรดกยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 30977 และ 30974 จะเห็นได้ว่ามีการจดทะเบียนการให้เป็นหลักฐานยืนยันได้ทั้งสิ้น อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 525 บัญญัติว่า "การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ" แต่ไม่ปรากฏว่าว่าเจ้ามรดกได้ทำหลักฐานหรือได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทแก่ผู้ใด จนกระทั่งเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตาย และมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยจึงมารับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานบนที่ดินพิพาท ที่จำเลยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ให้บริษัท อ. เช่าที่ดิน ก็ผิดวิสัยว่าเหตุใดจำเลยจึงเอาที่ดินส่วนที่ตนเองปลูกบ้านพักไปให้บริษัท อ. เช่าด้วย การทำสัญญาเช่าดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าไว้หักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท อ. เพื่อประโยชน์ในทางภาษีของบริษัท อ. จึงฟังว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม
จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 1748 คดีของโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ
บริษัท อ. เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารโรงงานที่เป็นกิจการของบริษัท อ. กิจการดังกล่าวเป็นของครอบครัวโจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลย โรงงานจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ส่วนบ้านพักอาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทใช้เงินจากการขายบ้านหลังอื่นที่บิดายกให้จำเลยมาใช้ก่อสร้าง นอกจากนี้จำเลยและครอบครัวก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้โดยโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมไม่เคยโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิในบ้านหลังนี้ บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นของจำเลยและไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท
คดีนี้โจทก์ทั้งแปดฟ้องและโจทก์ร่วมร้องสอดขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกที่ดินพิพาท โดยบรรยายฟ้องว่า ทายาทของเจ้ามรดกตกลงใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่ตั้งของบริษัท อ. ที่เป็นกิจการของครอบครัว โดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน และขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งแปด 8 ใน 10 ส่วน และแก่โจทก์ร่วม 1 ใน 10 ส่วน จำเลยให้การต่อสู้ว่า บิดามารดายกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นที่พักอาศัย และต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ขอเช่าที่ดินพิพาทบริเวณด้านหน้าเพื่อก่อสร้างโรงงานของบริษัท อ. ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนและจำเลยต้องโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมหรือไม่เพียงใด ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โรงงานของบริษัท อ. ที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นของบริษัทดังกล่าว แต่บ้านพักอาศัยเป็นของจำเลย ไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทและไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9311/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการโอนมรดก: อายุความ, การครอบครองมรดก, และการให้โดยมิได้ทำเป็นหนังสือ
คดีก่อนโจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกร่วมกันจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้แก่ น. พ. ว. และ ป. จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ในคดีดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26792 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกอีกด้วย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับ น. พ. ว. และ ป. แล้วพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดกทั้งสองแปลงตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 น. พ. ว. และ ป. ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 26791 และเลขที่ 26792 แก่โจทก์ที่ 3 เพื่อให้โจทก์ที่ 3 นำไปจดทะเบียนแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายต่อไป หากไม่สามารถส่งมอบได้ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนแก่โจทก์ที่ 3 ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อไป ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 243492 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60129 และ 60130 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 และ 32095 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 23312 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243491 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60127 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243490 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 60128 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินมรดกทั้งสิบเอ็ดแปลงดังกล่าว แล้วให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อจดทะเบียนแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก หากไม่สามารถส่งมอบได้ ให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวต่อไป ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีทั้งสองเรื่องโดยอ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกและขอให้แบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแก่โจทก์ทั้งสามก็ตาม แต่คดีก่อนนอกจากโจทก์ทั้งสามจะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกแล้ว โจทก์ทั้งสามยังฟ้องบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกรวมมาด้วย โดยมูลคดีเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกนำที่ดินทรัพย์มรดกแปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครนายกโอนขายให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอกที่โจทก์ทั้งสามเห็นว่าได้รับโอนที่ดินมรดกไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกที่จังหวัดนครนายกให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นที่ดินมรดกคนละส่วนกับที่ดินในคดีนี้ ทั้งคดีดังกล่าวมีประเด็นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่ามีเหตุจะเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกหรือไม่ เมื่อเพิกถอนแล้วจึงจะนำมาแบ่งปันกันระหว่างทายาทได้ ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกร่วมกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งแยกและโอนที่ดินทรัพย์มรดกแปลงอื่นซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครให้แก่ตนเองรวมทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกด้วยกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินทรัพย์มรดกที่กรุงเทพมหานครคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งทายาทอื่นที่ไม่มีอำนาจรับโอนที่ดินไว้โดยชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะเป็นที่ดินมรดกต่างแปลงและต่างท้องที่คนละส่วนกับที่ดินมรดกในคดีก่อนและคดีมีแต่เพียงประเด็นแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกันเท่านั้น มิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ตามเอกสารมีข้อความระบุว่า เจ้ามรดกมีความประสงค์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วน เนื้อที่ 26 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนที่เหลือมอบให้จำเลยที่ 2 จัดการเพื่อการกุศล แต่เจ้ามรดกขอเก็บผลประโยชน์ไปก่อนขณะยังมีชีวิต โดยในเอกสารไม่มีข้อความระบุว่าเป็นพินัยกรรมทั้งไม่มีข้อความระบุว่าเจ้ามรดกแสดงเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และมอบให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศลโดยให้มีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วอีกด้วย ทั้งเอกสารมีการจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2541 ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลา 9 เดือนเศษ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกมีอาการป่วยหนักถึงขนาดทราบว่าตนเองจะถึงแก่ความตายแล้ว แต่อย่างใด นอกจากนี้หากเจ้ามรดกมีเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองไว้โดยทำพินัยกรรมแล้ว เจ้ามรดกก็น่าจะระบุถึงที่ดินแปลงอื่นของตนไว้ในเอกสารดังกล่าวให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะยกที่ดินแปลงใดให้แก่ทายาทรายใดให้เสร็จสิ้นไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกในภายหลัง หาใช่ระบุไว้เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 เพียงแปลงเดียวโดยปล่อยให้ที่ดินแปลงอื่นเป็นมรดกตกทอดไปยังบรรดาทายาทโดยธรรมเมื่อตนถึงแก่ความตายดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารไม่ จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกเจตนายกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ทำหนังสือดังกล่าวเท่านั้น โดยยังคงหวงแหนที่ดินแปลงอื่นของตนอยู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ และให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศล จึงไม่เข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 เมื่อการให้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 เข้าไปครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 โดยไม่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อตนเอง ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ จำเลยทั้งสี่ยอมรับว่าโจทก์ทั้งสามรวมทั้งทายาทอื่นมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ทั้งต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกอีกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีหน้าที่ต้องจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกและแบ่งปันให้แก่บรรดาทายาทโดยธรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งปันกันแทนทายาทโดยธรรมรวมทั้งโจทก์ทั้งสามผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ด้วย มิได้ครอบครองที่ดินมรดกตามฟ้องเพื่อตนเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จะไม่ยึดถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทโดยธรรมคนอื่นอีกต่อไป แต่ประสงค์จะครอบครองเพื่อตนเอง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแบ่งทรัพย์สินจากการหย่าโดยความยินยอมมีผลสมบูรณ์ แม้ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีกระทบสิทธิไม่ได้
ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14595/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทิศที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหลังจำนอง และผลกระทบต่อการซื้อขาย
โจทก์และจำเลยต่างโต้เถียงกันว่า ร.ได้อุทิศที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ หากที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยย่อมมีอำนาจหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาตามกฎหมาย แต่ถ้าโจทก์ชนะคดีย่อมมีผลทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ดังนั้น ประโยชน์ที่โจทก์และจำเลยได้รับจากผลคดีย่อมเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นการพิพาทกันด้วยเรื่องความเป็นเจ้าของแห่งที่ดินพิพาทนั่นเอง จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
ป.พ.พ. ลักษณะ 12 จำนอง หมวด 5 สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง มาตรา 736 ถึงมาตรา 743 ได้บัญญัติรับรองถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ ย่อมแสดงว่าผู้จำนองย่อมมีสิทธิโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไปยังบุคคลอื่นได้ในฐานะที่ผู้จำนองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ผู้จำนองจึงมีสิทธิจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งจำนองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และมาตรา 702 วรรคสอง คดีนี้ไม่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิการโอนที่ดินพิพาทจาก ร.ให้แก่ทางราชการ และผู้รับจำนองได้ฟ้องบังคับจำนองและจดทะเบียนระงับจำนองไป กรณีไม่อาจปรับเข้ากับ ป.พ.พ. มาตรา 722 ซึ่งเป็นเรื่องขอให้ลบสิทธิที่จดทะเบียนออกจากทะเบียน หากผู้รับจำนองเสื่อมสิทธิได้รับความเสียหายอย่างใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้รับจำนองต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้จำนองต่อไป ดังนั้น ร. ผู้จำนอง จึงมีสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทให้แก่ทางราชการได้ เมื่อ ร. ได้อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่ทางราชการเพื่อก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมพัฒนาชุมชน ซึ่งต่อมาโอนสิทธิและหน้าที่ให้แก่จำเลย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะนับแต่วันที่ ร. แสดงเจตนายกให้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 การอุทิศที่ดินพิพาทของ ร. ให้แก่ทางราชการจึงชอบด้วยกฎหมายที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น การขายทอดตลาดที่ดินเฉพาะที่ดินพิพาท จึงเป็นการขายทรัพย์สินที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ธนาคาร อ. ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์รับโอนไว้ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทต่อมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนก็ตาม เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14595/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำหน่ายทรัพย์สินจำนองของผู้จำนอง & การเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทำให้การขายทอดตลาดเป็นโมฆะ
ป.พ.พ. ลักษณะ 12 จำนอง หมวด 5 สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง มาตรา 736 ถึงมาตรา 743 ได้บัญญัติรับรองถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ ย่อมแสดงว่า ผู้จำนองย่อมมีสิทธิโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไปยังบุคคลอื่นได้ในฐานะที่ผู้จำนองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ผู้จำนองจึงมีสิทธิจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งจำนองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และมาตรา 702 วรรคสอง คดีนี้ไม่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิการโอนที่ดินพิพาทจาก ร. ให้แก่ทางราชการ และผู้รับจำนองได้ฟ้องบังคับจำนองและจดทะเบียนระงับจำนองไป กรณีไม่อาจปรับเข้ากับ ป.พ.พ. มาตรา 722 ซึ่งเป็นเรื่องขอให้ลบสิทธิที่จดทะเบียนออกจากทะเบียน หากผู้รับจำนองเสื่อมสิทธิได้รับความเสียหายอย่างใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้รับจำนองต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้จำนองต่อไป ร. ผู้จำนองจึงมีสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทให้แก่ทางราชการได้ เมื่อ ร. ได้อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่ทางราชการเพื่อก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมพัฒนาชุมชน ซึ่งต่อมาโอนสิทธิและหน้าที่ให้แก่จำเลย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะนับแต่วันที่ ร. แสดงเจตนายกให้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 การอุทิศที่ดินพิพาทของ ร. ให้แก่ทางราชการจึงชอบด้วยกฎหมาย
ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น การขายทอดตลาดที่ดินเฉพาะที่ดินพิพาท จึงเป็นการขายทรัพย์สินที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ธนาคาร อ. ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์รับโอนไว้ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทต่อมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนก็ตาม เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15123/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างหย่าเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ มีผลผูกพันแม้ไม่ได้จดทะเบียน และมีผลเหนือพินัยกรรม
บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า มีข้อความระบุว่า ล. และ ก. ตกลงยกบ้านเลขที่ 2/12 ซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว 2 ห้องนอน ให้แก่บุตรทั้งสองคนคือ โจทก์และ ก. ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้เยาว์ บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าดังกล่าว นอกจากมี ล. และ ก. เป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้ว ยังมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาระหว่าง ล. และ ก. คือ แทนที่ ล. และ ก. จะแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาด้วยกันเอง กลับยอมให้บ้านเลขที่ 2/12 ตกเป็นของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง หลังจาก ล. และ ก. จดทะเบียนหย่ากัน สัญญาจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 525 แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ย่อมผูกพัน ล. ให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ล. ไม่มีสิทธิจะนำทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมของ ก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4803/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองสินสมรส: สิทธิเจ้าหนี้จำนองสุจริต vs. สิทธิผู้ร้องขอแบ่งสินสมรสหลังหย่า
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับผู้ร้อง เมื่อบุคคลทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันสินสมรสต้องแบ่งให้แก่จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องคนละส่วนเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 จำเลยที่ 1 และผู้ร้องจดทะเบียนหย่ากันโดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่ผู้ร้องแต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้จึงไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังคงเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่าๆ กัน
นับแต่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินสินสมรสเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2517 แก่ ส. ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน ก็ได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนจำนองแก่นิติบุคคลอื่นอีกหลายรายต่อเนื่องกันมาโดยตลอดจนถึงโจทก์ซึ่งจดทะเบียนรับจำนองครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 19 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ใช้สิทธิโต้แย้งการทำนิติกรรมจำนองของจำเลยที่ 1 จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าผู้ร้องได้รับรู้และไม่คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบให้รับฟังได้ว่าโจทก์จดทะเบียนรับจำนองโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จำนองแต่ผู้เดียว ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าโจทก์รับจำนองโดยสุจริต นิติกรรมจำนองทรัพย์สินดังกล่าวจึงมีผลบริบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองได้ทั้งหมดเพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่ผู้ร้องและบุคคลทั่วไป อีกทั้งถือได้ว่าการยื่นคำร้องขอกันส่วนของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิครอบครองที่ดินเพื่อชำระหนี้ การแสดงเจตนาและผลทางกฎหมาย
จำเลยแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตีใช้หนี้และส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 525 ประกอบด้วยมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทมีแต่สิทธิครอบครองจึงถือได้ว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป เมื่อโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่ได้มาตามสัญญายกให้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์
of 28