คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปรัชญา โกไศยกานนท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทค่าเสียหายจากการทำงานก่อสร้าง การหักกลบลบหนี้ และอายุความฟ้องแย้ง
เมื่องานที่โจทก์ทำให้จำเลยชำรุดบกพร่อง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้นั้น ถูกต้องแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยังคงต้องวินิจฉัยให้จำเลยชำระค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์อีก เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7394/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายนมขัดต่อระเบียบ อ.ส.ค. และขัดต่อความสงบเรียบร้อย โมฆะ
จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการผลิตนมจำหน่ายคาดหมายว่าองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จะซื้อผลิตภัณฑ์นมจากจำเลยและมอบอำนาจให้จำเลยนำไปจำหน่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อในนามของ อ.ส.ค. ตามระบบที่เคยกระทำมาก่อน จึงทำสัญญาพิพาทขายสิทธิการจำหน่ายนมดังกล่าวให้โจทก์ล่วงหน้าในลักษณะเป็นคำมั่นที่จำเลยให้โจทก์ไว้ก่อนที่จำเลยจะได้รับสิทธินั้นมาแม้ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. ว่าด้วยการซื้อขายตามบรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 1 ซื้อขายก็ตาม แต่ตามสัญญาพิพาทไม่ปรากฏข้อกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องทำสัญญาขายนมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อในนามของจำเลยในฐานะตัวแทนของ อ.ส.ค. ไม่มีหลักฐานที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายนมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อในฐานะที่โจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยมาแสดง มีผลเท่ากับจำเลยไม่ได้ขายนมให้ อ.ส.ค. เพื่อให้ อ.ส.ค. นำไปขายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อ และแม้ต่อมาจำเลยจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของ อ.ส.ค. ในการจำหน่าย จำเลยก็ไม่ได้ขายนมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อในฐานะตัวแทนของ อ.ส.ค. สัญญาพิพาทจึงเป็นเรื่องที่จำเลยขายสิทธิการจำหน่ายอาหารเสริม (นม) โรงเรียนตามจำนวนที่จำเลยจะได้รับจัดสรรและได้รับมอบหมายจาก อ.ส.ค. ให้เป็นตัวแทนในการจำหน่ายนมดังกล่าวให้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์นำไปจำหน่ายแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อในเขตพื้นที่ที่ อ.ส.ค. กำหนดในนามของโจทก์เอง ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีและระเบียบราชการฝ่ายบริหารที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อจะต้องเป็นคู่สัญญาซื้อจาก อ.ส.ค. เพียงรายเดียว ไม่อาจเป็นคู่สัญญาซื้อจากบุคคลอื่นได้และพฤติการณ์ตามทางนำสืบเห็นได้ว่าโจทก์ทราบระเบียบดังกล่าวแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยนอกจากจะเป็นสัญญาที่คณะกรรมการจำเลยในฐานะตัวแทนจำเลยกระทำต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจขอบวัตถุประสงค์ ข้อบังคับและข้อสัญญาที่จำเลยกระทำกับ อ.ส.ค. ไม่มีผลผูกพันจำเลยซึ่งเป็นตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 แล้ว ยังมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่อาจใช้บังคับได้อีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6292/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ - ดอกเบี้ยทบต้นขัดต่อกฎหมาย - การใช้กฎหมายไทยในสัญญา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 ผู้คัดค้านในฐานะผู้ถูกบังคับตามคำชี้ขาดจึงอาจยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 43 ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุตามมาตรา 43 (1) ถึง (6) ที่จะไม่บังคับตามคำชี้ขาดหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ากรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
สัญญาซื้อขายหุ้นกำหนดว่า ความสมบูรณ์ การตีความ และการดำเนินการตามสัญญานี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการขัดกันของกฎหมาย การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายหุ้นของอนุญาโตตุลาการจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยทบต้นรายวัน ซึ่งก็คือให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยได้นั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 224 วรรคสอง และเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ของอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านทั้งสองจึงคงรับผิดชำระดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5689/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดจากละเมิด: การคำนวณดอกเบี้ยสำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังวันละเมิดและค่าเสียหายในอนาคต
ดอกเบี้ยจากค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามวินิจฉัยข้างต้นว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดค่าเสียหายจากจำเลยนับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 ถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยกระทำละเมิด โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่โจทก์ขอมา ส่วนที่โจทก์ขอค่าเสียหายรายเดือนหลังวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากทรัพย์พิพาทนั้น ค่าเสียหายรายเดือนภายหลังวันฟ้อง โจทก์ทั้งสองมีคำขอในลักษณะค่าเสียหายในอนาคต จึงมิใช่หนี้เงินผิดนัดที่โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5686/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการซื้อขายที่ดินจากเจตนาลวง และอายุความฟ้องเพิกถอนเมื่อผู้ซื้อไม่สุจริต
การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 กรณีต้องเป็นเรื่องที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น อันเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส. ผู้ขาย กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ เกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 แม้ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 1061/2556 ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่าง ส. กับจำเลยก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริต จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5238/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์: การแจ้งคู่กรณีสำคัญต่อการคุ้มครองความเสียหาย
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย หน้า 10 ข้อ 1 ระบุข้อตกลงคุ้มครองไว้ว่า "บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาประกันภัยต่อรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ตามที่ระบุไว้ในตาราง อันมีสาเหตุมาจากการชนกับยานพาหนะทางบก ทั้งนี้ความเสียหายดังกล่าวให้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้อันมีสาเหตุโดยตรงจากการชนกับยานพาหนะทางบก ไม่ว่าจะเกิดจากความประมาทของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยหรือคู่กรณี และผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้" ข้อความที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองเฉพาะภัยของบริษัทประกันภัยรวมถึงจำเลยด้วย ซึ่งตามคู่มือตีความหน้าที่ 3 อธิบายถึงความเสียหายต่อรถยนต์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ว่า จะคุ้มครองเฉพาะ 1. รถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากการชนกับยานพาหนะทางบก และ 2. ผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อ โดยการแจ้งให้ทราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้ความหมายรวมถึงผู้เอาประกันภัยต้องสามารถแจ้งหมายเลขทะเบียนรถยนต์คู่กรณีให้บริษัททราบ โดยไม่จำเป็น ต้องให้รายละเอียดถึงผู้ขับขี่รถยนต์ ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ระบุว่าขับเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ เป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองเฉพาะภัย จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฟอกเงินจากคดีค้ายาเสพติด: การถอนเงินจากบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
การที่จำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝาก ป. รวม 9 ครั้ง เป็นเงิน 4,173,000 บาท ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก ป. เพื่อนำไปให้ ต. ผู้ที่ขายเมทแอมเฟตามีนให้ ศ. กับพวก ถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (2), 60