คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 880

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 273 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4075/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน: ผลของการทำบันทึกตกลงและสัญญาประนีประนอมยอมความ
โจทก์ที่ 1 ลงลายมือในเอกสารโดยรู้อยู่แล้วว่าข้อความในเอกสารมีความหมายเช่นไร เมื่อข้อความในเอกสารมีข้อความชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 1 ขอสละสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงหาอาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้ไม่ จำเลยที่ 2 แม้จะเป็นผู้รับประกันภัยในรถจักรยานยนต์ที่บุตรของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับ ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ได้ทำบันทึกขอสละสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ จ. ผู้ละเมิด เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 หรือ จ. โจทก์ที่ 1 จึงหามีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิของผู้รับประกันภัย และความรับผิดของเจ้าของรถที่ให้ผู้อื่นขับขี่
รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี มีข้อความสรุปได้ว่า ส่วนความเสียหายของรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ฌป 7852 กรุงเทพมหานครนั้น พ.ผู้ครอบครองรถยนต์จะใช้สิทธิการซ่อมตามประกันภัยของตน ส่วนความเสียหายจากเหตุดังกล่าวได้เรียกร้อง ป. (จำเลยที่ 1) เป็นเงินทั้งสิ้น 15,000 บาท ซึ่ง ป. ได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ พ. แล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่าย ป. จากข้อความดังกล่าวแสดงว่า พ. ผู้ครอบครองรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ประสงค์ที่จะให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมตามสัญญาประกันภัยที่เจ้าของรถยนต์ได้ทำไว้กับโจทก์ ส่วนความเสียหายจากเหตุดังกล่าวได้เรียกร้องจาก ป. เป็นเงินทั้งสิ้น 15,000 บาท ซึ่ง ป. ได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ พ. แล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่าย ป. นั้น เป็นกรณีที่ พ. เรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถยนต์ที่ พ. จะพึงได้รับจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ข้อตกลงระหว่าง พ. กับจำเลยที่ 1 ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ไม่ทำให้สิทธิในการเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์ อันเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชดใช้ไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของบริษัทรักษาความปลอดภัย: รถเข็นกระเป๋าไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องรับผิดชอบ
สัญญาจ้างให้บริการรักษาความปลอดภัยระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ กลุ่ม ล. ผู้รับจ้างซึ่งมีจำเลยเป็นตัวแทน ข้อ 9.1 ระบุให้จำเลยรับผิดเฉพาะกรณีเป็นทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง หรือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบได้รับความเสียหาย แต่ตามสัญญารับจ้างให้บริการรถเข็นกระเป๋าระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท อ. ผู้รับจ้างซึ่งทำประกันภัยไว้กับโจทก์ เห็นได้ชัดว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ดังนั้น รถเข็นกระเป๋าจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของบริษัท ท. หรือทรัพย์สินที่บริษัท ท. มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ กรณีย่อมไม่เข้าเงื่อนไขตามสัญญาที่จะให้จำเลยต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3397/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิของผู้รับประกันภัยหลังชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และผลของการชำระหนี้บางส่วนโดยจำเลย
คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ก่อวินาศภัย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ถ. ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ยังขาดอยู่ได้
บันทึกการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเพียงข้อตกลงระหว่าง ถ. ผู้เอาประกันกับจำเลยเท่านั้น หาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ แม้มูลหนี้ละเมิดระหว่าง ถ. ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยจะระงับสิ้นไป ตามบันทึกการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ตาม แต่หามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิใช่คู่สัญญาไม่ โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง แต่สิทธิของโจทก์มีเท่ากับสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีประกันภัย: นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยรู้ตัวผู้ละเมิด ไม่ใช่วันที่ผู้รับประกันภัยรู้
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในทางการจ้างและการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากผู้รับประกันภัย แม้มีการจ่ายค่ารักษาไปแล้ว
เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชำระไป เป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19985/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิของผู้รับประกันภัยหลังชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และผลของการลงลายมือชื่อในกรมธรรม์ที่ไม่ครบถ้วน
แม้กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ออกให้แก่ อ. ผู้เอาประกันภัยจะมีกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เพียงคนเดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ ซึ่งไม่ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองก็ตาม กรณีเป็นเรื่องระหว่าง อ. กับโจทก์ เมื่อคู่สัญญาดังกล่าวได้ปฏิบัติไปตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำกันไว้ และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ส. ผู้ให้เช่าซื้อไปครบถ้วนถูกต้องแล้ว โดยไม่มีข้อคัดค้านโต้เถียงเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำกันไว้แต่ประการใด ดังนั้นโจทก์ในฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจาก อ. ผู้เอาประกันภัยในอันที่จะฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยและจำเลยร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 เมื่อโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิที่จะฟ้องจำเลยได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ อ. ลงลายมือชื่อในกรมธรรม์ประกันภัยแต่เพียงผู้เดียว ก็ไม่ทำให้จำเลยและจำเลยร่วมพ้นจากความรับผิดไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประนีประนอมยอมความต้องมีเจตนาชำระหนี้ชัดเจน ไม่ถือเป็นสัญญาหากเพียงตกลงซ่อมแซมเอง คดีมีปัญหาข้อเท็จจริงเกินสองแสนต้องห้ามฎีกา
การประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 นั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีใจความเพียงว่า "ค่าเสียหายในการนี้ คู่กรณีทั้งสองตกลงกันเองได้และจะนำไปซ่อมกันเอง" ไม่มีสาระสำคัญแสดงว่าจำเลยเจรจาตกลงกับ ส. คนขับรถบรรทุกหกล้อที่โจทก์รับประกันภัยไว้ในเรื่องการชำระค่าเสียหายให้ชัดแจ้งแต่อย่างใด จึงไม่มีผลเป็นการประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย มูลหนี้ละเมิดจึงไม่ระงับสิ้นไปเมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยนำรถยนต์บรรทุกหกล้อคันดังกล่าวไปซ่อมจนมีสภาพดีดังเดิม โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศ: การตกลงของผู้ส่งและผลผูกพันตามใบรับขน
เมื่อพิจารณาใบรับขนทางอากาศด้านหน้า ช่องที่ 9 มีผู้ลงลายมือชื่อใต้ข้อความตัวพิมพ์ที่มีข้อความชัดเจนว่า ผู้ส่งตกลงตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศด้านหลังและช่องที่ 3 มีข้อความว่า สินค้าจำนวน 1 กล่อง น้ำหนักรวม 1 กิโลกรัม ช่องให้สำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการศุลกากร (TOTAL VALUE FOR CUSTOMS) ซึ่งจะต้องใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากร มีข้อความว่า "โปรดดูใบกำกับสินค้า" ส่วนช่องสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง (TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE) ระบุตัวเลข 100 โดยไม่แสดงหน่วยเงินแต่อย่างใด พฤติการณ์ที่ผู้ส่งระบุเพียงตัวเลข 100 น่าเชื่อว่า ผู้ส่งทราบดีว่าจำเลยที่ 2 อนุญาตให้ผู้ส่งสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าในหีบห่อไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐและจะจำกัดความรับผิดไว้ในกรณีนี้ไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง 1 ครั้ง หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่าการที่ผู้ส่งกรอกข้อความเช่นนั้น จึงน่าจะเป็นการกรอกรายละเอียดเพื่อให้ผู้ขนส่งคิดค่าระวางขนส่งตามน้ำหนักของสินค้า เพราะหากแจ้งราคามูลค่าสินค้าที่แท้จริงจะต้องเสียค่าธรรมเสียมการขนส่งเพิ่ม และถึงแม้จะเป็นกรณีส่งสินค้าที่มีราคาสูง ผู้ขนส่งก็อนุญาตให้สำแดงราคาไม่เกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ และจำกัดความรับผิดไม่เกินมูลค่าที่สำแดง ผู้ส่งน่าจะทราบเงื่อนไขดังกล่าวจึงได้เอาประกันเพื่อความเสี่ยงภัยสูญหาย เสียหายของสินค้าไว้กับโจทก์เต็มมูลค่าของสินค้า จึงเชื่อว่าบริษัท ซ. ผู้ส่งสินค้ารู้และตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยทั้งสองตามที่ระบุไว้ในด้านหลังของใบรับขนทางอากาศ ดังนั้น ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ส่งสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศ: การแสดงความตกลงชัดแจ้งของผู้ส่ง
บริษัท ว. ใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศกับจำเลยทั้งสองมานาน มีการว่าจ้างขนส่งสินค้าสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือน เดือนละหลายครั้ง จนกระทั่งมีบัญชีประจำกับจำเลยที่ 1 และนอกจากจำเลยทั้งสองแล้ว บริษัท ว. ยังเคยใช้บริการของบริษัทอื่นที่รับขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะ เชื่อว่าบริษัท ว. ทราบถึงความแตกต่างของเงื่อนไขการขนส่งสินค้าและอัตราค่าบริการของบริษัทผู้ประกอบการรับขนส่งสินค้าทางอากาศแต่ละบริษัทเป็นอย่างดี การที่บริษัท ว. ผู้ส่งระบุข้อความในช่องรายการมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้ 500 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่แจ้งราคามูลค่าสินค้าตามจริงก็เพราะทราบถึงข้อจำกัดความรับผิดตามเงื่อนไขการขนส่งของจำเลยทั้งสองเป็นอย่างดี เท่ากับเป็นกรณีที่บริษัท ว. ผู้ส่งเลือกที่จะยอมรับข้อจำกัดความรับผิดด้านหลังใบรับขนทางอากาศและตามเงื่อนไขการขนส่งของจำเลยทั้งสองนั่นเอง โดยทราบดีว่าหากสินค้าสูญหายและจะได้รับชดใช้เท่าใด ทั้งหากบริษัท ว. ผู้ส่งคาดหมายว่า หากเกิดกรณีสินค้าสูญหายจะได้รับชดใช้เต็มตามมูลค่าของสินค้าก็ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องทำประกันภัยสินค้าไว้กับโจทก์อีก นอกจากนี้การที่บริษัท ว. ผู้ส่งระบุมูลค่าสินค้าในช่องมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งกับช่องมูลค่าสินค้าเพื่อพิธีการศุลกากรแตกต่างกันก็คงเป็นเพราะทราบว่าการสำแดงจำนวนมูลค่าสินค้าในแต่ละช่องรายการจะมีผลต่อเรื่องใด ตลอดจนทราบถึงข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งดังกล่าว เชื่อได้ว่าพนักงานประจำแผนกขนส่งของบริษัท ว. ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรงทราบเงื่อนไขการขนส่งต่างๆ เป็นอย่างดี เมื่อพนักงานดังกล่าวลงลายมือชื่อในใบรับขนทางอากาศในฐานะตัวแทนบริษัทผู้ส่ง จึงถือได้ว่าบริษัท ว. ผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งเช่นว่านั้นแล้ว ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวย่อมมีผลบังคับได้ไม่เป็นโมฆะ
of 28