คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 79 วรรคสาม (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5552/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายหนี้สูญและการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม การจำหน่ายหนี้สูญไม่เป็นรายจ่ายต้องห้าม แต่ต้องนำกลับมาคำนวณกำไรสุทธิ
โจทก์รับจ้างก่อสร้างอาคารให้แก่ผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างก่อสร้างให้โจทก์เพียงบางส่วนคงเหลือค่าจ้างค้างชำระ 87,602,523.10 บาท ต่อมาโจทก์กับผู้ว่าจ้างทำบันทึกข้อตกลงลดหนี้เงินค่าก่อสร้างลงเหลือ 20,000,000 บาท การลดหนี้ของโจทก์แก่ผู้ว่าจ้างดังกล่าวมิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ป.รัษฎากร มาตรา 79 (1) โดยมิได้ลดให้ในขณะให้บริการ และได้หักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนดังกล่าวออกจากราคาค่าบริการโดยแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการหักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนในใบกำกับภาษีที่ออกให้ จึงถือว่าฐานภาษีคือ มูลค่าทั้งหมดที่โจทก์พึงได้รับจากการให้บริการตามมาตรา 79 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และเมื่อโจทก์ได้ตกลงกับผู้ว่าจ้างลดค่าบริการลงก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์นำรายการและเหตุการณ์ทางการเงินนี้มาบันทึกทางบัญชีแต่อย่างใด แต่ปรากฏตามการจัดทำบัญชีของโจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ว่า โจทก์บันทึกบัญชีว่า เดบิต หนี้สงสัยว่าจะสูญและเครดิต ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 67,602,523.10 บาท ซึ่งเข้าใจได้ว่าโจทก์คาดว่าจะเรียกเก็บเงินจากผู้ว่าจ้างไม่ได้ จึงบันทึกบัญชีปรับมูลค่าเพื่อแสดงรายการหักจากบัญชีลูกหนี้ในงบการเงินเพื่อให้คงเหลือเป็นมูลค่าสุทธิของลูกหนี้สุทธิที่คาดว่าจะเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ยังไม่ได้จำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ทำบันทึกตกลงลดค่าบริการแต่อย่างใด น่าเชื่อว่า หนี้ของผู้ว่าจ้างยังไม่สูญในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ต่อมารอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 โจทก์ได้จำหน่ายบัญชีลูกหนี้ดังกล่าวออกเป็นหนี้สูญ ความรับผิดในการเสียภาษีก็เกิดในรอบระยะเวลาบัญชีของการจำหน่ายหนี้สูญด้วย ดังนั้นต้องถือว่าจุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์เกิดขึ้นแล้วในช่วงนี้ การที่จำเลยประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนธันวาคม 2552 อันเป็นเดือนสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีย่อมเป็นคุณแก่โจทก์ในการต้องเสียเงินเพิ่มน้อย และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2552 โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 มกราคม 2553 กำหนดระยะเวลาในการประเมินจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2553 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ยังอยู่ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 88/6 (1) (ค)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4392/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลดหนี้สูญและผลกระทบทางภาษีมูลค่าเพิ่ม: การลดหนี้ไม่ใช่ส่วนลดแต่เป็นการชำระหนี้ ทำให้เกิดหน้าที่เสียภาษี
โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงลดหนี้ค่าเช่ารถประจำเดือนธันวาคม 2546 ให้แก่บริษัท บ. 35 ล้านบาท แล้วนำเป็นรายจ่ายหนี้สูญในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยไม่ปฏิบัติตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) เจ้าพนักงานประเมินจึงให้โจทก์ปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยนำยอดหนี้จำนวนดังกล่าวบวกกลับเป็นยอดลูกหนี้ค้างชำระดังเดิม ซึ่งเป็นเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น การกระทำของโจทก์ดังกล่าวไม่ทำให้บันทึกข้อตกลงลดหนี้และรับชำระหนี้ ซึ่งมีผลเป็นการปลดหนี้บางส่วนให้แก่บริษัท บ. ยกเลิกหรือสิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้จำนวนดังกล่าวจึงระงับลงเสมือนโจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวครบถ้วนแล้วอันเนื่องมาจากการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โดยถือวันที่ทำบันทึกลดหนี้คือวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เป็นวันที่ได้รับชำระหนี้ค่าบริการ ซึ่งเป็นวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/1 (1) นอกจากนี้การลดหนี้ของโจทก์มิใช่ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนตามมาตรา 79 วรรคสาม (1) ที่ลดให้ในขณะขายสินค้าหรือให้บริการ แต่เป็นการลดหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โจทก์จึงมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท บ. ในวันที่มีการลดหนี้ตามมาตรา 82/4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4878/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ส่วนลดการค้าไม่ใช่ค่าจ้าง – ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และหักออกจากฐานภาษีมูลค่าเพิ่มได้
ในการประกอบกิจการของโจทก์ โจทก์ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าขายปลีกโดยหักส่วนลดให้ทันทีและส่งมอบกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้ลูกค้าไป ลูกค้าของโจทก์จะต้องชำระราคาตามเวลาที่โจทก์กำหนดมิใช่เมื่อขายสินค้าได้แล้ว ลักษณะการประกอบกิจการเช่นนี้จึงเป็นการซื้อขายตามธรรมดา ส่วนลดที่โจทก์ให้แก่ลูกค้าขายปลีกจึงเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (8) มิใช่เงินได้ที่ได้รับจากการรับทำงานให้โจทก์ตามมาตรา 40 (2) โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50
โจทก์ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าขายปลีกโดยหักส่วนลดในทันทีและออกใบกำกับภาษีโดยหักส่วนลดออกจากราคาสินค้าแสดงให้เห็นไว้ชัดแจ้งแล้ว ส่วนลดดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 วรรคสาม (1) แห่ง ป. รัษฎากร โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยหักส่วนลดออกจากราคาสินค้าถูกต้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4878/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ส่วนลดทางการค้ากับภาษีมูลค่าเพิ่ม: การหักส่วนลดออกจากฐานภาษีและการไม่ถือเป็นค่าจ้าง
ในการประกอบกิจการของโจทก์ โจทก์ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าผู้ขายปลีกโดยหักส่วนลดทันทีและส่งมอบกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้ลูกค้าไป และลูกค้าของโจทก์จะต้องชำระราคาตามเวลาที่โจทก์กำหนดมิใช่เมื่อขายสินค้าได้แล้ว ลักษณะการประกอบกิจการเช่นนี้จึงเป็นการซื้อขายตามธรรมดา ส่วนลดที่โจทก์ให้แก่ลูกค้าขายปลีกหรือผู้จำหน่ายอิสระจึงเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจตามมาตรา 40 (8) แห่ง ป.รัษฎากรฯ มิใช่เป็นเงินได้ที่ได้รับทำงานให้โจทก์ตามมาตรา 40 (2) โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
เมื่อส่วนลดที่โจทก์หักออกจากราคาสินค้าไม่ใช่ค่าจ้างหรือเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) แห่ง ป.รัษฎากรฯ จึงต้องถือว่าส่วนลดดังกล่าวเป็นส่วนลดตามปกติในทางการค้า การที่โจทก์ออกใบกำกับภาษีโดยหักส่วนลดออกจากราคาสินค้าไว้ในใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่ออก ส่วนลดดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 วรรคสาม (1) การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยหักส่วนลดออกจากราคาสินค้าจึงถูกต้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1680/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี การใช้อำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) ต้องพิสูจน์ราคาต่ำกว่าตลาด และการตรวจสอบราคาขายต้องถูกต้อง
การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจะใช้อำนาจ ตาม ป.รัษฎากรมาตรา 65 ทวิ (4) ประเมินค่าตอบแทนใหม่ในการขายสินค้าจะต้องได้ความก่อนว่าค่าตอบแทนในการโอนทรัพย์สินนั้นต่ำกว่าราคาในท้องตลาดโดยไม่มีเหตุอันควรหรือไม่ เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเลยว่าเป็นการขายราคาต่ำโดยไม่มีเหตุอันควร แต่นำสืบเพียงว่าโจทก์ขายสินค้าในราคาไม่แน่นอน บางครั้งราคาสูง บางครั้งราคาต่ำเท่านั้น การที่โจทก์ขายสินค้าประเภทเดียวกัน ราคาต่างกันไม่ได้หมายความว่าโจทก์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาในท้องตลาด จำเลยจึงไม่สามารถใช้อำนาจประเมินค่าตอบแทนใหม่ได้
โจทก์ประกอบธุรกิจขายสินค้าหลายชนิดโดยเปิดเป็นร้านค้าขายให้แก่บุคคลทั่วไปเป็นร้านค้าปลีกเข้าลักษณะร้านค้าปลีกตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) โจทก์จึงสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อในการขายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไปได้ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 86/6 วรรคสอง และใบกำกับภาษีอย่างย่อนี้โจทก์ไม่ต้องแสดงส่วนลดหรือค่าลดหย่อนในการขายไว้ในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 79 วรรคสาม (1)