คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 150 วรรคห้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4750-4751/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตาม/เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำบังคับ/ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์เพิ่มเติม
ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) ได้ เมื่อคู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทนั้นไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อสัญญาจ้างเหมางานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมระบุว่า หากคู่สัญญามีข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง หรือข้อเรียกร้องใดๆ ซึ่งเกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญา รวมทั้งปัญหาการผิดสัญญา การเลิกสัญญา หรือความสมบูรณ์ของสัญญา ให้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ โดยสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมิได้มีข้อกำหนดจำกัดขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการเอาไว้ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมางานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรม และได้เสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาด การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทจากพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่นำสืบจึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทภายในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีที่ผู้คัดค้านยกขึ้นโต้แย้งเป็นประเด็นพิพาทไว้ถูกต้องครบถ้วน ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) และ (5) แล้ว ไม่อาจโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด
ศาลจะแทรกแซงกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยการเข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือทำลายคำชี้ขาดไม่ได้ เว้นแต่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง เพราะมิฉะนั้นแล้วระบบอนุญาโตตุลาการย่อมไม่อาจบรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย การที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์โต้แย้งว่า อนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยชี้ขาดว่า ผู้คัดค้านก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกำหนดค่าเสียหายให้ผู้คัดค้านรับผิดชำระแก่ผู้ร้องโดยมิได้วินิจฉัยเชื่อตามพยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่นำสืบว่า ผู้ร้องมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ผู้คัดค้านจึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และอุทธรณ์คัดค้านในประเด็นการกำหนดค่าเสียหายและค่าปรับของอนุญาโตตุลาการ นั้น ล้วนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น หาใช่เป็นการโต้แย้งว่าคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาวินิจฉัยโดยขัดต่อหลักเกณฑ์ของกฎหมายเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไม่ เมื่ออนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการรับฟังพยานหลักฐานของผู้คัดค้านและผู้ร้องและข้อวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่า ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกำหนดค่าเสียหายและค่าปรับภายใต้พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านและผู้ร้องนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการโดยไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 45 (1) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ผู้คัดค้านจะอุทธรณ์ว่าการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้
ตาราง 1 (1) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) จากคู่พิพาทที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้วแต่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว คดีนี้ผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้พิพาทต่างฝ่ายต่างยื่นคำร้องในมูลคดีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเรื่องเดียวกัน โดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่วนผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และต่างฝ่ายต่างเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ข) เป็นเหตุให้ค่าขึ้นศาลดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าขึ้นศาลที่คู่พิพาทเหล่านั้นต้องชำระในกรณีที่มิได้แยกยื่นคำร้องเป็นคนละคดีกัน กรณีจึงมีเหตุสมควรมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่คู่พิพาทเหล่านั้นตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่คู่พิพาทแต่ละคนได้ชำระ ทั้งนี้โดยเทียบเคียงกับ ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6099/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากเหตุรถหายในลานจอดห้างสรรพสินค้า และขอบเขตความรับผิดของผู้รับประกันภัย
จำเลยประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ต้องให้ความสำคัญด้านบริการ ทั้งเรื่องสินค้า ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ดังนั้นจำเลยย่อมมีหน้าที่ดูแลและรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของลูกค้าที่มาใช้บริการรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดบริเวณลานจอดรถด้วย แต่จำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลทรัพย์สินของลูกค้าและไม่มีมาตรการในการระมัดระวังมิให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของลูกค้า คงมีเพียงกล้องวงจรปิดที่ใช้บันทึกภาพรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกับจำเลยร่วมไว้ โดยกรมธรรม์ดังกล่าวระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายของผู้มาเยือนในข้อ 4.8 ว่า ความเสียหายต่อทรัพย์สินจากผลกระทบส่วนบุคคล (รวมถึงยานพาหนะและส่วนที่เกี่ยวข้อง) ครอบครองโดยกรรมการ ผู้มาเยือนและลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหมายความรวมถึงความสูญหายด้วยตามนิยามศัพท์ข้อ 11.11 โดยจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าเงื่อนไขความรับผิดส่วนแรกที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลย จำเลยร่วมเป็นเพียงผู้รับประกันภัยจากจำเลยมีความผูกผันที่จะร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เท่านั้นไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยร่วมชำระหนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนโจทก์ฟ้องคดี โดยจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
อนึ่ง คดีนี้จำเลยและจำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้โดยจำเลยและจำเลยร่วมต่างยื่นอุทธรณ์และฎีกาแยกกัน ต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยและจำเลยร่วมจะต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่จะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยและจำเลยร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากผลตรวจสุขภาพคลาดเคลื่อน และประเด็นอายุความฟ้องร้อง
แม้อาการป่วยของโจทก์จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติในร่างกายของโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นหรือกระทำการใด ๆ ให้โจทก์เกิดโรคมะเร็งก็ตาม แต่การแจ้งผลการตรวจผิดพลาดทำให้อาการโรคมะเร็งไตของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกโดยตามใบมรณบัตรยังระบุว่าโรคมะเร็งของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังสมองเป็นเหตุให้โจทก์ถึงแก่ความตายในที่สุด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น อายุความจะเริ่มนับต่อเมื่อผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งผลการตรวจสุขภาพประจำปีผิดพลาดไปจากความจริงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 1,687,592 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 33,751 บาท แต่จำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเพียงคนละ 32,711 บาท จึงชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ขาดไปคนละ 1,040 บาท ส่วนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 315,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 6,300 บาท และจำเลยทั้งสองเสียถูกต้องครบถ้วน แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นจำเลยร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยทั้งสองต่างได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาแยกกัน โดยต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาดังกล่าวซึ่งค่าขึ้นศาลเช่นว่านั้น เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และยื่นฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสองตามส่วนของค่าชั้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่แต่ละคนได้ชำระเกินไป เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไข้ให้ถูกต้องได้