คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 27

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 855 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่วางเงินค่าธรรมเนียม ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่ มีผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ได้ทันที โดยไม่ต้องกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวเสียก่อนเพราะกรณีมิใช่เรื่องของการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 18
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยมิได้สั่งให้จำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว ถือได้ว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงและเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้ส่งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์หลังจากที่มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์แต่มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งเท่ากับศาลชั้นต้นเปิดโอกาสให้แก่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ว่าจะให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์อันเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ตามมาตรา 232 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะ คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 154/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาโดยวิธีปิดหมายที่ไม่ชอบ ศาลเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาและให้นัดฟังใหม่
ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดหมาย การที่เจ้าหน้าที่ของศาลนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปส่งให้จำเลยและทนายจำเลยโดยวิธีปิดหมายจึงไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยและทนายจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปในวันนัดจึงถือไม่ได้ว่าได้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังโดยชอบ ศาลฎีกาเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เฉพาะในส่วนที่อ่านให้จำเลยฟัง และให้ศาลชั้นต้นนัดจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 154/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาโดยวิธีปิดหมายที่ไม่ชอบ ศาลเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาและให้นัดฟังใหม่
การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีปิดคำคู่ความหรือเอกสารตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 79 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏว่าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นไม่สามารถจะกระทำได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 ถึง 78 และศาลจะต้องมีคำสั่งอย่างเป็นกิจจะลักษณะว่าให้ส่งโดยวิธีปิดคำคู่ความหรือเอกสารได้ แต่คดีนี้ไม่ปรากฏชัดว่าการส่งหมายนัดโดยวิธีธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 ถึง 78 ไม่สามารถจะกระทำได้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปิดหมายนัดเป็นกิจจะลักษณะแต่ประการใด การที่ในหมายนัดมีข้อความเป็นตรายางประทับว่าไม่มีผู้รับให้ปิดหมายนั้น ข้อความดังกล่าวอาจประทับในภายหลังจากที่ผู้พิพากษาได้ลงลายมือชื่อในหมายแล้วก็เป็นได้เมื่อเจ้าหน้าที่ของศาลชั้นต้นนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปส่งให้จำเลยและทนายจำเลยโดยวิธีปิดหมายดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยและทนายจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้ว และถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยฟังโดยชอบ ศาลฎีกาชอบที่จะเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เฉพาะในส่วนที่อ่านให้จำเลยฟัง และให้ศาลชั้นต้นนัดจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7550/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ อย่างเคร่งครัด
ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ บัญญัติหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า ผู้อุทธรณ์จะต้องทำเป็นคำร้องมาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องแก่จำเลยอุทธรณ์แล้ว หากไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ ก็ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องนั้นว่าจะอนุญาตหรือไม่และให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด คดีนี้ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า "เมื่อจำเลยทั้งสี่แก้อุทธรณ์หรือไม่แก้ภายในกำหนดแล้ว ให้ส่งศาลฎีกาโดยเร็ว" ซึ่งมีความหมายว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตคำร้องของโจทก์ไปทันทีโดยที่ยังมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสคัดค้านก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่อาจมีผลทำให้อุทธรณ์ของโจทก์ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวโดยชอบได้ คดีจึงยังไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ให้โจทก์ได้ และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5390/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขัดทรัพย์และการบังคับคดี: สิทธิในการยื่นคำร้องเพิกถอนหลังการขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องขออ้างว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของผู้ร้องซึ่งมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา การออกหมายบังคับและการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินกระบวนบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการบังคับคดีและการขายทอดตลาด ดังนี้ ตามคำร้องขอของผู้ร้องมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องไปในที่สุด จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีตามมาตรา 296 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และการจะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดนั้น ตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง ก็กำหนดให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาด เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5204/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยานศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประเด็นความเสียหายพิเศษจากการรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์
อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น และเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในทางสาธารณประโยชน์อันเป็นการกีดขวางทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร และได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นจึงไม่ถูกต้อง
เมื่อข้อเท็จจริงที่จะนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ยังไม่ปรากฏจากคำฟ้องและการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบต่อไปจนสิ้นกระแสความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสองหลังจากสืบพยานโจทก์ได้เพียงปากเดียวแล้วพิพากษายกฟ้องจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนคำพิพากษาและคำสั่งงดสืบพยานของศาลชั้นต้นได้ แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอเช่นนั้นในอุทธรณ์ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 243 (2), 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5118/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย: กำหนดเวลาการยื่นคำร้องคัดค้านการส่งหมาย
ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายกล่าวอ้างว่าการส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องของธนาคารผู้รับจำนองที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างพฤติการณ์การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญติในข้อที่ว่าด้วยการส่งคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวได้ แม้เป็นระยะเวลาภายหลังจากศาลมีคำสั่งแล้ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น เมื่อตามคำร้องผู้ร้องยอมรับว่าได้ทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 การที่ผู้ร้องเพิ่งยื่นคำร้องยกข้อคัดค้านเรื่องผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2546 อันเป็นเวลาเกินกว่า 8 วัน จึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5118/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายที่ล่าช้าเกิน 8 วัน นับแต่ทราบข้อเท็จจริง
คำร้องของผู้ร้องที่กล่าวอ้างว่าการส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ ถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างพฤติการณ์การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่ว่าด้วยการส่งคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวได้ แม้เป็นระยะเวลาภายหลังจากศาลมีคำสั่งแล้ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ตามคำร้องของผู้ร้องยอมรับว่า ได้ทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 การที่ผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2546 เกินกว่า 8 วัน จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3593/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีใหม่เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาตามยอมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยหลอกลวงในการแต่งตั้งทนายความ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเพื่อให้จำเลยนำไปถอนฟ้อง แต่จำเลยกับ อ. กลับสมคบกันกรอกข้อความลงในแบ่งทนายความดังกล่าวเป็นว่าโจทก์แต่งตั้ง อ. เป็นทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ แล้วจำเลยกับ อ. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 138 อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ระเบียบนั้นเสียได้ โจทก์จึงชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวกันในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3593/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแพ่ง: การอ้างการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องยกขึ้นในคดีเดิม
โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความและเอกสารหลายฉบับที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเพื่อให้จำเลยนำไปถอนฟ้อง แต่จำเลยกับ อ. กลับสมคบกันกรอกข้อความในใบแต่งทนายความดังกล่าวเป็นว่าโจทก์แต่งตั้ง อ. เป็นทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ แล้วจำเลยกับ อ. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่างอ้างมาในคำฟ้อง กระบวนพิจารณาที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นตามนั้นด้วยแต่อย่างใดจึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวกันในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณาที่ผิดระเบียบจะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
of 86