คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 27

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 855 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7018/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งริบทรัพย์สินและการไม่มีอำนาจฟ้องคดีใหม่ หากศาลพิพากษายกฟ้องในคดีอาญา
มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง..." ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า ในส่วนคดีอาญาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกฟ้อง เป็นผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์เป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์อีกต่อไป จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นในคดีริบทรัพย์สินตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ดำเนินกระบวนพิจารณามีคำสั่งริบทรัพย์สินโดยมิชอบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งริบทรัพย์สินและคืนเงินที่ริบแก่โจทก์ต่อไป โจทก์จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่ยื่นฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2458-2459/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมขายทอดตลาด และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 98/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "กรณีที่มีการฟ้องคดีผู้ถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดี ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดียึดรายงานและสำนวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยใช้ระบบไต่สวน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" แสดงว่าจะนำบทบัญญัติมาตราดังกล่าวตามวรรคสองมาใช้บังคับได้ต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ออกระเบียบในเรื่องนี้มาใช้บังคับแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายังไม่ได้ออกระเบียบการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน ที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไต่สวนมูลฟ้อง และสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองจนเสร็จและพิพากษาคดีแล้ว โดยที่โจทก์ไม่ได้ยกข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นโต้แย้งคัดค้านศาลชั้นต้นว่าดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ จนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี โจทก์เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แม้จะกล่าวอ้างว่าศาลดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะส่งเพิกถอนได้ แต่ก็เป็นดุลยพินิจของศาล เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้สั่งเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและพิจารณาพิพากษาต่อไป จึงฟังได้ว่าศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสซ้อนและการมีสิทธิในทรัพย์มรดก ศาลวินิจฉัยตามกฎหมายเดิม แม้มีการแก้ไขกฎหมาย
เมื่อ บ. จดทะเบียนสมรสกับ ช. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2496 บ. กับ ช. จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างนั้นแม้ บ. จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยร่วมที่ 1 ซ้อนอีก ซึ่งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ในปี 2533 ทำให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะซึ่งผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตามมาตรา 1497 ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 70 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." ดังนั้น ปัญหาที่ว่าการสมรสของ ช. หรือของจำเลยร่วมที่ 1 ฝ่ายใดสมบูรณ์ จึงต้องวินิจฉัยตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาตรา 1488 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น บัญญัติว่า "บุคคลใดจะอ้างว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น" ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำให้การและฟ้องแย้งของตน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังมีความสมบูรณ์อยู่ ดังนี้ เมื่อการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังสมบูรณ์อยู่ จำเลยร่วมที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ บ. จึงมีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ จึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์ภาคพิจารณาคดียาเสพติด: การพิจารณาไม่ชอบตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
คดีที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระค่าปรับเนื่องจากผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า "ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้น เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: การเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ชี้ขาดอำนาจศาล
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ได้บัญญัติไว้ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ถ้าศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลที่ส่งความเห็นให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้นหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลใด และวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวยังบัญญัติให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเองก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดยะลา) ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนเบื้องต้นแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องโจทก์ไว้เป็นไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งฟ้องได้บรรยายถึงการกระทำโดยการใช้อำนาจทางกฎหมายของจำเลยทั้งสองอันเป็นที่มาของการก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) นั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นเองว่าคดีโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก่อนมีคำพิพากษา ซึ่งกรณีนี้ได้แก่ศาลปกครองสงขลา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ศาลชั้นต้นต้องจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองสงขลา หากศาลปกครองสงขลาเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองสงขลา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะโอนคดีไปยังศาลปกครองสงขลา หรือจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองสงขลา แต่ถ้าศาลปกครองสงขลามีความเห็นแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้เป็นไม่รับฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8539/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ: ศาลไทยมีอำนาจเฉพาะคำชี้ขาดที่ทำขึ้นในไทย
การขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น คู่ความอาจมีคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วได้ ประกอบกับคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้นมีผู้พิพากษาสมทบซึ่งลงชื่อเป็นองค์คณะได้ทำความเห็นแย้งว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศสหราชอาณาจักรตามคำร้องขอของผู้ร้อง ซึ่งความเห็นแย้งที่ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9476/2558 โดยไม่ว่าจะพิจารณาจากความหมายในข้อความตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตราต่าง ๆ หรือความสอดคล้องของบทกฎหมายต่าง ๆ ดังกล่าวกับอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศหรืออนุสัญญานิวยอร์กตามพันธกรณีที่ประเทศยอมรับ ล้วนแต่เป็นกรณีที่จะต้องถือว่าศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ศาลไทยไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศ
ดังนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร อันเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศแต่อย่างใด การที่ศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว รวมตลอดถึงการมีคำสั่งและออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดคดีนี้ให้แก่ผู้ร้องล้วนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปราศจากอำนาจ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องพิพากษายกคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวและเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลดังกล่าวทั้งหมด ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7069/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขข้อบกพร่องของอุทธรณ์และการวินิจฉัยสิทธิอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะพิจารณาต่อไป
อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ที่ ป. ซึ่งถูกถอนออกจากการเป็นทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียง/พิมพ์ โดยไม่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์นั้น ถือเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 ลงชื่อในอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ได้ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเท่ากับศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 แก้ไขข้อบกพร่องนั้นแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 นั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามลำดับชั้นศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากจำเลยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการยื่นฎีกาในคดียาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
แม้คดีนี้เป็นคดีที่จำเลยร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่คำร้องของจำเลยเป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนั้น เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4576/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการยื่นคำร้องในคดีอาญา: ผู้เสียหายที่ไม่ใช่คู่ความไม่มีสิทธิเพิกถอนกระบวนพิจารณา
การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีจะต้องกระทำโดยคู่ความ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) คู่ความ หมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง และตามมาตรา 2 (14) โจทก์หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน แม้ผู้ร้องอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม แต่เมื่อผู้ร้องไม่ใช่คู่ความตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเข้ามาในคดีเพื่อขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่อ้างว่าผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3538/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาที่ยื่นเกินกำหนด: ศาลฎีกายกคำสั่งขยายเวลาและฎีกาของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ผู้คัดค้านฟังเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 23 กันยายน 2559 ซึ่งตรงกับวันศุกร์อันเป็นวันทำงานของราชการ ไม่ใช่ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 24 กันยายน 2559 ซึ่งตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ ดังที่ทนายผู้คัดค้านระบุไว้ในคำร้องฉบับลงวันที่ 26 กันยายน 2559 ที่ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งที่ 1 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ซึ่งต่อมาผู้คัดค้านได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตนั้น โดยข้ออ้างในคำร้องเป็นเพียงเหตุที่อ้างเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปเท่านั้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันจะทำให้สามารถขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 นับได้ว่าเป็นความผิดหลงของทนายผู้คัดด้าน จึงไม่อาจพิจารณาขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ตามคำร้องของทนายผู้คัดค้านที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลายื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ตามคำร้องของทนายผู้คัดค้านดังกล่าวและต่อมาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้คัดค้าน จึงเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้วเช่นกัน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำสั่งรับฎีกาในเวลาต่อมา ก็เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
of 86