คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 27

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 855 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5418/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีของบุคคลล้มละลาย: การให้สัตยาบันและการดำเนินการในชั้นบังคับคดี
ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทราบดีถึงพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างที่จำเลยที่ 2 นำมาร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้นับแต่เจ้าพนักงานได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องคดีนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบถึงพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตามคำร้องนี้ และไม่ไปศาลในวันนัดพิจารณาคดี จนศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาและมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ ทั้งหลังจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 กลับดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีมาตลอด โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดหลายครั้ง อันเป็นการดำเนินการขึ้นใหม่อีกด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้สัตยาบันแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวแล้ว ประกอบกับตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจดำเนินการแทนบุคคลล้มละลายเกี่ยวด้วยเรื่องทรัพย์สินรวมตลอดถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย แม้ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลแพ่งที่ให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนี้ของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับคดีของคดีล้มละลาย กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4633/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่สมบูรณ์หากไม่มีลายมือชื่อ การรับฟ้องที่ไม่ชอบทำให้กระบวนการพิจารณาเป็นโมฆะ
คำฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่บริบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) หากโจทก์หรือทนายโจทก์ไม่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ลงลายมือชื่อในคำฟ้องภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ย่อมเป็นการไม่ชอบ มีผลทำให้กระบวนพิจารณาภายหลังจากนั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไปด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4448/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาหลังพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด: เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิดำเนินคดีแทนจำเลย
เมื่อจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลย ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้ยกเลิกหรือเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่โจทก์จำเลยทำมาก่อนหน้านี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากจำเลย และมีสิทธิเช่นเดียวกับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายหนึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่งทนายความยื่นคำให้การใหม่ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2751/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีรื้อถอนและการชำระค่าเสียหายเป็นหน้าที่แยกต่างหาก การชำระค่าเสียหายไม่เป็นอุปสรรคต่อการบังคับคดี
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาในคดีนี้นอกจากจะบังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจนกว่าจะรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำแล้ว ยังมีหนี้ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 80003 ของโจทก์ พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองด้วย อันเป็นคำพิพากษาที่ให้จำเลยกระทำการแยกต่างหากจากหนี้ในส่วนหลังที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ทั้งสอง มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยมีสิทธิที่จะชำระค่าเสียหายรายเดือนให้แก่โจทก์ทั้งสองได้จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยให้รื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองชอบแล้ว ไม่มีการพิจารณาใดที่ผิดระเบียบอันเป็นเหตุจะให้เพิกถอนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1186/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกคดีมโนสาเร่ด้วยวิธีปิดหมายต้องรอ 15 วันก่อนมีคำสั่งขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยยื่นคำร้องว่า การส่งหมายของพนักงานเดินหมายด้วยวิธีปิดหมาย กฎหมายกำหนดให้ระยะเวลามากขึ้นเพิ่มเติมออกไปอีก 15 วัน เมื่อเจ้าพนักงานส่งหมายเรียกคดีมโนสาเร่ให้แก่จำเลยโดยวิธีการปิดหมายวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 กรณีจึงต้องให้ระยะเวลาแก่จำเลยสามารถยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ตามที่ระบุในหมายเรียก ศาลมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยให้โจทก์นำพยานเข้าสืบไปฝ่ายเดียว และรอฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าว เท่ากับจำเลยอ้างว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งคำคู่ความ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 มิใช่คำร้องเพื่อขอใช้สิทธิ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี จัตวา และเบญจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาต้องยื่นคำร้องภายใน 8 วันนับแต่ทราบข้อผิดพลาด มิฉะนั้นขาดสิทธิ
คำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเกิดจากการจูงใจของผู้ทำการไกล่เกลี่ยที่ปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์สันติวิธีและสมานฉันท์ ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ และมีคำสั่งให้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไปนั้น เป็นกรณีที่กล่าวอ้างว่ามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการพิจารณาคดี ซึ่งกรณีที่มิได้ปฏิบัติเช่นนั้นและศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจของศาลเองสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นคำร้องขอก็ตาม แต่สำหรับกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ต้องเสียหายเป็นผู้ยกขึ้นอ้าง ต้องตกอยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ว่า จะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่เกินแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องเกินกำหนดแปดวันนับแต่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าศาลเห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่อีก เพราะเป็นคนละกรณีกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัด, อายุความ, และการบังคับคดีในหนี้เบิกเกินบัญชีและเงินกู้ รวมถึงบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์
คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้นเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี และมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งห้ามิได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ส่วนที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โดยไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งห้าคัดค้านนั้น แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลยทั้งห้าอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นทำให้คู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรมหรือการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าโต้แย้งคัดค้านกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยทั้งห้าเสียหายจึงยังไม่มีเหตุอื่นใดอันสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว
การที่จำเลยทั้งห้าไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธมาในศาลชั้นต้นว่าสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาปลอม และจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจทำสัญญาจำนองแทน ส. จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การที่ ป. และ บ. ลงลายมือชื่อในช่องพยานในสัญญาค้ำประกันเพื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. แม้จะไม่ระบุว่า เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ถือว่าเป็นการรับรองลายพิมพ์นิ้วมือแล้ว การลงลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. จึงถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง และการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 19 ต่อปี นั้น ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินควรศาลย่อมลดเบี้ยปรับได้ แต่เนื่องจากมีการโอนหนี้ของโจทก์คดีนี้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แล้ว สิทธิในการคิดดอกเบี้ยจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19431/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาซื้อขาย, การนำสืบหลักฐานนอกฟ้อง, และการร่วมรับผิดของหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด
ป.วิ.พ. มาตรา 90 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า การอ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ต้องยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน และมาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า พยานหลักฐานใดที่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ศาลปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้ การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างว่า โจทก์ยื่นโดยฝ่าฝืนมาตรา 90 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐาน ย่อมเป็นกระบวนพิจารณาโดยผิดระเบียบตามมาตรา 27 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวภายใน 8 วัน นับแต่วันแต่วันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งได้อีก
ชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารคนละฉบับ โจทก์เพิ่งนำสืบเอกสารหมาย จ.1 ในชั้นพิจารณา จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยว่า เอกสารทั้งสองฉบับต่างระบุเงื่อนไขการประมูลขายแผ่นฟิล์ม และโจทก์นำเอกสารหมาย จ.1 ประกอบคำถามค้านของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ก็เบิกความรับว่า เงื่อนไขการประมูลตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ได้ส่งให้จำเลยที่ 1 ก่อนพิจารณาเสนอราคา จึงเป็นเอกสารที่สนับสนุนข้ออ้างของโจทก์เกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลแผ่นฟิล์ม การนำสืบของโจทก์ไม่เป็นการนอกฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาแต่เพียงว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารคนละฉบับและคนละความหมายกันใช้แทนกันไม่ได้เป็นการนำสืบนอกฟ้อง ไม่มีข้อความโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ส่วนข้อที่อ้างว่าเอกสารหมาย จ.1 ยื่นฝ่าฝืนมาตรา 90 นั้น เป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในส่วนนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12894/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาโดยไม่ได้มีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขออนุญาตโดยตรงต่อศาลฎีกาให้แก่โจทก์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ทั้งหากโจทก์ได้รับคำร้องและใช้สิทธิคัดค้านคำร้องของจำเลยที่ 2 แล้ว ศาลชั้นต้นก็ไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น และถือได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ใหม่ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11418/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งทนายความของนิติบุคคล ต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย มิฉะนั้นเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ
ในการยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ที่แต่งตั้งพนักงานอัยการจังหวัดตราดเป็นทนายความของจำเลยที่ 4 ระบุความว่า (กองทัพเรือ) จำเลยที่ 4 โดยพลเรือเอก พ. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนกองทัพเรือ และต่อมาในการยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ที่แต่งตั้งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นทนายความของจำเลยที่ 4 ระบุความว่า กองทัพเรือ (จำเลยที่ 4) โดยพลเรือเอก ส. (ไม่ปรากฏในฐานะอย่างใด) เหล่านี้ หาได้มีเอกสารใดยื่นประกอบให้สื่อความไว้ เมื่อกองทัพเรือ (จำเลยที่ 4) มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ การแต่งตั้งทนายความของจำเลยที่ 4 ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือจึงต้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อแต่งทนายความ ดังนั้น การที่พลเรือเอก พ. หรือพลเรือเอก ส. ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือลงลายมือชื่อแต่งทนายความจำเลยที่ 4 โดยมิได้แนบหนังสือมอบอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ทั้งมิได้นำสืบพยานเอกสารในเรื่องเหล่านี้ไว้แต่อย่างใดด้วย จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61 อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือว่าเป็นการกระทำของบุคคลภายนอกที่ไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 4 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 4 กรณีดังกล่าวเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ดี ความบกพร่องในการแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และแก้ไขได้โดยง่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาไปถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
of 86