คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธงชัย เสนามนตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 235 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14102/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาวางเงินชดใช้ค่าเสียหายเพื่อขอรอการลงโทษ แม้ศาลไม่อนุญาต ก็ไม่มีสิทธิถอนเงินคืน
การที่ระหว่างฎีกา จำเลยยื่นคำร้องขอวางเงิน 20,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายโดยมีเจตนาที่จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในคำร้องของจำเลยให้นัดพร้อมเพื่อสอบถามผู้เสียหายว่าประสงค์จะรับเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่แล้ว ทั้งฎีกาของจำเลยก็อ้างเหตุที่จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเหตุหนึ่งที่ขอให้ศาลฎีการอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยด้วย เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษให้แก่จำเลยเท่ากับศาลฎีกาได้วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยพยายามบรรเทาความเสียหายด้วยการวางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการตามคำร้องของจำเลยที่ขอวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายและศาลฎีกานำข้อเท็จจริงตามคำร้องดังกล่าวมาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้ว แม้ศาลชั้นต้นเพิ่งออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้นหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่การวางเงินเพื่อให้ผู้เสียหายมารับไปย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่าจำเลยจะไม่ถอนเงินดังกล่าวกลับไป หากผู้เสียหายยังประสงค์จะรับเงินนั้น เมื่อต่อมาปรากฏตามคำร้องของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายประสงค์จะรับเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13990/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบสวนผู้ต้องหาคดียาเสพติดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ หากไม่ปฏิบัติตาม พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
เจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติดเพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตรวจวินิจฉัยว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดหรือไม่ เพื่อจะได้คัดแยกว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือต้องถูกดำเนินคดีต่อไปตาม ป.วิ.อ.
การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนมาก่อนและย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. 120 ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13674/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาบุกรุก: แม้ไม่มีเจตนาแย่งการครอบครอง แต่การเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่มีสิทธิ ถือเป็นการละเมิด
การที่จำเลยจะมีความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องได้ต้องปรากฏด้วยว่า จำเลยมีเจตนาที่จะเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากผู้ร้องทั้งๆ ที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า ผู้ร้องมีสิทธิดีกว่าตน แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยที่ได้โต้แย้งสิทธิของนายสมนึกและผู้ร้องในที่ดินพิพาทโดยกล่าวอ้างถึงสิทธิของตนในที่ดินพิพาทและท้าทายให้ไปฟ้องศาลตลอดมา ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าผู้ร้องกับจำเลยเป็นญาติกัน ทั้งจำเลยยังเป็นทายาทคนหนึ่งของ จ. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เดิมด้วยแล้ว เห็นว่า จำเลยอาจเข้าใจโดยสุจริตว่าช่วงเวลาเกิดเหตุยังอยู่ในช่วงที่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่และจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้องก็เป็นได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีข้อน่าสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ตามแม้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอาญาเพราะขาดเจตนา แต่การกระทำของจำเลยเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ร้อง แม้ในคดีส่วนอาญาจำเลยจะไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ในคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคแรก ดังนั้นเมื่อผู้ร้องไม่ประสงค์ให้จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป จำเลยจึงต้องออกไปจากที่ดินพิพาทและชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13113/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมฆ่าผู้อื่น: เจตนาและเหตุการณ์ที่เล็งเห็นผลได้ในการลงโทษ
จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปยังบ้านที่เกิดเหตุพร้อมกับ ว. แล้ว จำเลยที่ 2 เรียกชื่อเล่นของ น. ว่า ปู เมื่อผู้ตายตะโกนว่าปูไม่อยู่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้านถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยทั้งสองและ ว. พากันหลบหนีไป ว. ไปถอดหมวกนิรภัยและเสื้อที่สวมใส่ในขณะก่อเหตุที่บ้านของจำเลยทั้งสองก่อนจะหลบหนีไป การกระทำของจำเลยทั้งสองบ่งชี้ว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับ ว. จึงเป็นตัวการร่วมกัน แต่การที่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้าน 2 นัด หลังจากผู้ตายตะโกนบอกว่าปูไม่อยู่ กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกคนในบ้านถึงแก่ความตายเท่านั้น มิได้ประสงค์ต่อผลโดยตรงที่จะยิงให้ถูก น. เนื่องจากมองไม่เห็นว่า น. อยู่ที่ใด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงลงโทษได้ในฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยบุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12789/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดต่างกรรม: ครอบครองวิทยุเถื่อน vs. หลีกเลี่ยงข้อห้ามนำเข้า การระงับคดีหนึ่งไม่กระทบอีกคดี
การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานรับไว้ด้วยประการใด ๆ อันของซึ่งตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดนั้นแยกออกจากกันได้ชัดเจน ทั้งเจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำ ตลอดจนกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ก็เป็นคนละฉบับกัน จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรม แม้อธิบดีกรมศุลกากรอนุมัติให้ระงับการดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานรับไว้ด้วยประการใด ๆ อันของซึ่งตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด ก็ไม่ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตระงับไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12670/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีซ้ำซ้อนและประเด็นการเพิ่มโทษในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้าและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนเมษายน 2548 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลาประมาณ 18.45 นาฬิกา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศกัมพูชา เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง...อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนในคดีเดิมหมายเลขแดงที่ อย. 3475/2550 ของศาลชั้นต้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2548 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยเป็นคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศกัมพูชา เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง...อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นได้ว่า เวลากระทำความผิดตามฟ้องคดีนี้กับคดีเดิมก่อนวันที่ 9 กันยายน 2552 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยพ้นโทษในคดีเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเวลาเดียวกัน เมื่อฟ้องคดีนี้ระบุว่า จำเลยกระทำผิดระหว่างเดือนเมษายน 2548 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลาประมาณ 18.45 นาฬิกา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จึงอาจเป็นการกระทำความผิดก่อนวันที่ยังจะต้องรับโทษอยู่หรือก่อนวันพ้นโทษในวันที่ 9 กันยายน 2552 ดังที่ระบุในคำฟ้องคดีเดิมก็ได้ มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลังวันที่จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12114/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อในการซ่อมรถบรรทุกน้ำมัน ทำให้เกิดระเบิดและเสียชีวิต
การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปซ่อมรอยรั่วซึมของถังน้ำมัน โดยจำเลยไม่ได้แจ้งให้นายจ้างทราบก่อน กลับแจ้งผู้ตายโดยตรงให้ซ่อมถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการทำงานที่มีขึ้นเพื่อความปลอดภัย และจำเลยไม่ได้บอกผู้ตายว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกน้ำมันเบนซินมาด้วย ทำให้ผู้ตายไม่ทราบข้อเท็จจริงจึงไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงาน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันเกิดระเบิดขึ้นและผู้ตายถึงแก่ความตาย นับเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียวที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วยไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12085/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสพยาเสพติดขณะขับขี่: การพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และองค์ประกอบความผิด
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะบัญญัติไว้ในลักษณะ 3 ว่าด้วยการใช้ทางเดินรถ แต่ก็ไม่ได้บัญญัติว่าผู้ขับขี่ซึ่งเสพยาเสพติดให้โทษอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 43 ทวิ ต้องขับรถในทางเดินรถด้วย และเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษเข้าร่างกายเนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ ดังนี้ จึงต้องพิจารณาเพียงว่าผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถหรือไม่ หากผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ขับรถไม่ว่าจะเสพในขณะขับรถหรือก่อนหน้านั้น ผู้นั้นก็ได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ในขณะที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ปริมาณไม่ปรากฏชัด โดยวิธีสูดดมควันเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12037/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารปลอมประกอบฉ้อโกง: พิจารณาเป็นกรรมเดียว แม้เอกสารต่างประเภท
แม้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี แผ่นป้ายแสดงการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์และสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของกลางจะเป็นเอกสารและเอกสารราชการต่างประเภทกันแยกออกจากกันเป็นคนละฉบับ แต่การติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีและแผ่นป้ายแสดงการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ปลอมของกลางไว้ที่รถยนต์ของกลางคันเดียว พร้อมกับนำสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถปลอมของกลางไปใช้แสดงต่อผู้เสียหายในคราวเดียวกันโดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาอย่างเดียวกันเพื่อประกอบข้อความอันเป็นเท็จในการฉ้อโกงโดยมุ่งหมายให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่ารถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11959/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้อง, แบบพิมพ์ฟ้อง, และอำนาจฟ้องในคดีเช็ค - การจับกุมและการแจ้งข้อหา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคาร ก. สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า รวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้จำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ส่วนที่ว่าหนี้เงินกู้ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยและวันที่ลงในเช็คพิพาท จำเลยมีเงินในบัญชีหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้
แม้การยื่นหรือส่งคำคู่ความต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และโจทก์ยื่นฟ้องโดยมิได้ใช้กระดาษแบบพิมพ์ฟ้อง แบบ อ.ก. 20 ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบถึงขนาดที่จะรับไว้พิจารณาไม่ได้
การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลดังที่บัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด
of 24