คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธงชัย เสนามนตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 235 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีบุกรุกป่าและการดำเนินคดีอาญาที่ศาลล่างพิพากษาผิดพลาดเรื่องอายุความและบทลงโทษ
การที่จะนำกฎหมายฉบับใดมาใช้เพื่อพิจารณาพิพากษาให้บุคคลได้รับโทษทางอาญานั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คดีนี้จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ต้นปี 2558 และได้กระทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 การกระทำความผิดของจำเลยจึงมีขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุ และยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยช่วงระหว่างต้นปี 2558 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 การยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) และเมื่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 จำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานจับกุมจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายฉบับเดิมยังมีผลใช้บังคับ และขณะที่กฎหมายฉบับใหม่ใช้บังคับแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยภายหลังวันที่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ด้วย คดีนี้จึงชอบที่ต้องนำ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย กรณีมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด และหาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังการกระทำความผิดขึ้นไม่อาจมีผลย้อนหลังไปเอาผิดหรือลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นดังที่จำเลยฎีกาไม่ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขเพิ่มเติมโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแก่จำเลยแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
ความผิดฐานเข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 16 (13) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 27 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิด ระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท มีอายุความหนึ่งปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อต้นปี 2558 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกันตลอดมา แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 จึงเกินกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิด ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4907/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกป่าสงวน การปรับบทลงโทษตามกฎหมายใหม่ และการรอการลงโทษจำคุก
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 เป็นคำสั่งที่สืบเนื่องมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งตั้งหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยรวม โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ข้อ 1 เป็นการเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ส่วนข้อ 2 กำหนดให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องยึดถือนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน และในข้อ 2.1 ระบุว่า การดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงเนื้อหาแล้วคำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่งทางบริหารที่กำหนดนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว กำหนดวิธีการให้หน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามคำสั่งดังกล่าวถือปฏิบัติเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไม่มีที่ดินทำกินเท่านั้น ที่สำคัญผู้ที่จะได้รับการยกเว้นจะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องอยู่ในที่ดินมาก่อนคำสั่งมีผลใช้บังคับ ส่วนผู้ที่บุกรุกใหม่ต้องดำเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบตามขั้นตอนที่กำหนด โดยเฉพาะข้อ 2.4 ระบุว่า กรณีใด ๆ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการที่กำหนด โดยไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลใช้บังคับไม่มีความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่บทบัญญัติที่ปกป้องหรือให้ความคุ้มครองแก่บุคคลดังกล่าวข้างต้น และต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวยังมีความผิดตามกฎหมายไม่ว่าบุคคลนั้นจะบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ก่อนหรือหลังคำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียงแต่หากเป็นการบุกรุกก่อนคำสั่งมีผลใช้บังคับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีนโยบายให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติดำเนินการเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อบุคคลบางจำพวกดังกล่าวข้างต้นเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ไม่มีผลเป็นการยกเลิกความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจอ้างคำสั่งดังกล่าวมาลบล้างความผิดของจำเลยได้
การที่จะนำกฎหมายฉบับใดมาใช้เพื่อพิจารณาพิพากษาให้บุคคลได้รับโทษทางอาญานั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คดีนี้จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2558 และได้กระทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2559 การกระทำความผิดของจำเลยจึงมีขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุและยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยช่วงระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 การยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) และเมื่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 จำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2559 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานจับกุมจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายฉบับเดิมยังมีผลใช้บังคับและขณะที่กฎหมายฉบับใหม่ใช้บังคับแล้ว ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยภายหลังวันที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ด้วย คดีนี้จึงชอบที่ต้องนำพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย กรณีมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด และหาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังการกระทำความผิดซึ่งไม่อาจมีผลย้อนหลังไปเอาผิดหรือลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นดังที่จำเลยฎีกาไม่ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขเพิ่มเติมโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแก่จำเลยแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4139/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฝ่าฝืนคำสั่งรื้อถอนอาคารหลังได้รับแจ้งโดยชอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองและดำเนินกิจการจึงมีความผิด
แม้อาคารที่เกิดเหตุจะปลูกสร้างภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 ซึ่งต่อมามี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 บังคับใช้ โดยที่มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก็ได้บัญญัติบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 75 ถึงมาตรา 80 โดยมาตรา 80 บัญญัติว่า ท้องที่ใดได้มี พ.ร.ฎ.ให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479... อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ในท้องที่นั้นแล้ว อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลบังคับต่อเนื่องกับ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 จึงหาได้มีผลทำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่มีการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีผลบังคับใช้ ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 คดีก่อน เมื่อพิจารณาจากสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับ พ. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 77 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล โดยเหตุว่าบริเวณชายหาดหัวหินที่เกิดเหตุมีอาคารก่อสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ และเป็นท้องที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารแล้ว ซึ่งเทศบาลเมืองหัวหินได้มีคำสั่งให้เจ้าของอาคารมาทำสัญญาเช่าที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินกับทางเทศบาล ตามความในมาตรา 77 (4) วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงมาตรการผ่อนปรนชั่วคราว โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างของตนออกจากบริเวณที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา คดีดังกล่าวศาลจึงต้องพิจารณาจากหลักฐานสัญญาเช่าที่ดินเป็นหลักและรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องรื้อถอนอาคารตามมาตรา 77 วรรคสี่ แต่คดีนี้เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่บัญญัติในหมวด 4 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2) และมาตรา 42 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการแจ้งคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารห้ามใช้อาคารและให้รื้อถอน หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันและเป็นความผิดคนละข้อหากับคดีก่อน คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในคดีนี้จึงเป็นการกระทำตามกรอบอำนาจของกฎหมาย มิได้ซ้ำซ้อนกับคดีก่อนและข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีก่อนก็ไม่ผูกพันศาลในคดีนี้ให้ต้องถือตาม แต่ต้องรับฟังพยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากทางนำสืบในสำนวนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4107/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีอาญา: ศาลไม่รับคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีและฎีกา กรณีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำน้ำ
คดีนี้เป็นคดีอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษปรับกับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตภายใน 60 วัน นับแต่มีคำพิพากษา โทษที่ลงแก่จำเลยเป็นโทษทางอาญาและเมื่อคดีถึงที่สุด ต้องมีการบังคับตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในภาค 6 แห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยอ้างถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 มีผลเท่ากับเป็นการของดการบังคับโทษทางอาญาอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น จำเลยไม่มีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าว ทั้งกรณีมิใช่เป็นเรื่องของการบังคับคดีส่วนแพ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 247 ที่ต้องขออนุญาตฎีกา ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิจำเลยยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในกรณีเช่นนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขออนุญาตฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกป่าสงวน: ลดโทษรอการลงโทษเนื่องจากจำเลยสำนึกผิดและบรรเทาความเสียหาย
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ตอนท้าย และคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งจะต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง กับต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยยังมิได้สอบคำให้การจำเลย จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ จึงให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง แล้วพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย: การยกข้อเท็จจริงใหม่ขัดกับคำรับสารภาพ และการลงโทษที่ไม่สมเหตุผล
โจทก์บรรยายในคำฟ้องอย่างแจ้งชัดว่า จำเลยทำไม้ปอเลียง ในบริเวณป่าบางไต เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงต้องรับฟังตามคำฟ้องว่าจำเลยทำไม้ในป่าอันเป็นการทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป ที่จำเลยอ้างว่าเป็นการทำไม้ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่เป็นไม้หวงห้ามในชั้นฎีกา จึงขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นการยกข้อเท็จจริงเพิ่มเติมขึ้นใหม่โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้กล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การกำหนดค่าเสียหายต้องมีการสืบพยานและสอบคำให้การอย่างถูกต้อง
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ตอนท้าย และคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจะต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง กับต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลยทั้งสองและโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการส่วนนี้ให้ถูกต้อง กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2482/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายอุทยานฯ และการใช้กฎหมายที่เป็นคุณต่อจำเลยในการกำหนดโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 18 ฐานเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 25 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แต่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 47 ให้ระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท โทษตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุก จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดที่มีโทษจำคุกด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนของโทษปรับที่ศาลจะนำมาลงโทษจำเลยนั้น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 25 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าจะในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2365/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ ชายทะเล การพิพากษาให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและการบังคับใช้กฎหมายที่ดิน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ชายทะเล และอยู่นอกเขต น.ส. 3 ก. ของบิดาจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าบุคคลใดมีเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าว จึงถือว่าเป็นที่ดินของรัฐ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคสอง โดยไม่จำต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน ป.ที่ดิน มาตรา 108 วรรคหนึ่ง หรือต้องมีการเวนคืนให้ที่ดินตกมาเป็นของรัฐ หรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเสียก่อน
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคห้า บัญญัติว่า ในระหว่างอุทธรณ์ ไม่ให้ผู้อุทธรณ์หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกระทำการใดแก่อาคารอันเป็นมูลกรณีแห่งการอุทธรณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในข้อหาความผิดตาม ป.ที่ดิน แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคสอง ระหว่างจำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 52 ได้
เมื่อจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 360 และ ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคสอง โดยมีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารพักอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และให้จำเลยกับบริวารออกจากที่ดินของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ ได้ โดยไม่จำต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งต่างหาก เพราะเป็นการบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1686/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับที่มาของไม้ผิดกฎหมาย แม้ยังไม่ถูกแจ้งข้อหา
จำเลยที่ 2 แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ถูกจับกุมพร้อมไม้ประดู่ 12 ท่อน ของกลาง โดยแจ้งว่าไม้ของกลางเป็นไม้ที่ซื้อมาจาก ม. ขณะนั้นเจ้าพนักงานยังไม่ได้จับกุมหรือแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 2 แต่อย่างใด เพียงแต่สอบปากคำในฐานะพยานเท่านั้น การจับกุมผู้ต้องหาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 มีเพียงการจับกุมจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ด้วย เพิ่งมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 2 ในภายหลัง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าไม้ของกลางเป็นไม้ที่ตนเองซื้อมาจาก ม. เป็นไม้เสาบ้านเก่าของ ม. ซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน
of 24