คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 57 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 300 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4472/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่ของผู้เช่าช่วง และสิทธิร้องสอดของเจ้าของที่ดินเมื่อผู้เช่าช่วงผิดสัญญา
การที่โจทก์ร่วมเอาที่ดินและอาคารพิพาทออกให้โจทก์เช่าเพื่อพัฒนานั้น โจทก์และโจทก์ร่วมย่อมมุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จและผลประโยชน์จากสัญญาที่ตกลงกันไว้และต่างมีสิทธิหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน การที่โจทก์ร่วมไม่ได้ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทภายหลังสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์และปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ทำไว้กับโจทก์ร่วมได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือเป็นการรอนสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินและอาคารพิพาทโดยขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ปรากฏว่าระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมได้ร้องสอดเข้ามาในคดีเพราะว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ร่วมด้วย โจทก์ร่วมจึงมีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมในคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของโจทก์ร่วมที่มีอยู่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ซึ่งแม้ว่าโจทก์ร่วมจะเป็นฝ่ายร้องสอดเข้ามาในคดีด้วยตนเอง มิใช่โจทก์ขอให้ศาลออกหมายเรียกให้โจทก์ร่วมเข้ามาในคดีก็ตาม ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ร่วมที่จะเข้ามาในคดีเพราะผลแห่งคดีย่อมกระทบถึงส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมที่มีอยู่กับโจทก์ตามสัญญาเช่า และไม่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโดยเจตนารมณ์ของ ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ที่เมื่อมีการรบกวนขัดสิทธิเป็นคดีระหว่างผู้เช่ากับบุคคลภายนอก ให้ผู้เช่าเรียกผู้ให้เช่าเข้ามาในคดีนั้นก็เพื่อให้ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีทั้งหลายรวมไปในคราวเดียวกัน ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมร้องสอดเข้ามาจึงเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6607/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าตกเป็นโมฆะเนื่องจากขัดต่อกฎหมายความปลอดภัยสถานีบริการก๊าซ ผู้เช่าต้องรื้อถอนและชดใช้ค่าเช่า
ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้ตายตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของทายาทตามกฎหมายในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ที่จะกระทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์ย่อมอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมาฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท และเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์หลังจากวันฟ้องตลอดเวลาที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาทได้ แม้วันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องจะเป็นวันเดียวกับวันที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย อำนาจฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาท ซึ่งบริบูรณ์อยู่แล้วก็ยังคงมีอยู่ต่อไปหาได้สิ้นสุดลงไม่ ส่วนโจทก์ร่วมผู้รับโอนที่ดินพิพาท เป็นบุคคลที่อาจได้รับผลกระทบโดยคำพิพากษาในคดีนี้โดยตรง เพราะหากศาลพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีย่อมกระทบต่อสิทธิของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ย่อมมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้อง
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2529) หมวดที่ 3 ว่าด้วยลักษณะและระยะปลอดภัยของสถานีบรรจุก๊าซ ข้อ 15 (5) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ข้อ 3 กำหนดว่า สถานีบริการต้องมีกำแพงกันไฟสูงไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร โดยรอบยกเว้นด้านที่ใช้เป็นทางเข้าและทางออกของสถานีบริการ กำแพงกันไฟต้องมีระยะห่างจากตู้จ่ายก๊าซไม่น้อยกว่า 6 เมตร... ถ้ากำแพงกันไฟด้านใดห่างจากผนังถังเก็บและจ่ายก๊าซเกิน 20 เมตร จะทำประตูเหล็กทึบชนิดบานเลื่อนเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสถานที่ของเจ้าของที่ดินเดียวกันก็ได้ แต่ประตูดังกล่าวต้องกว้างไม่เกิน 3 เมตร และต้องปิดประตูตลอดเวลา จะเปิดได้เมื่อมีการเข้าออก และตามข้อ 6 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวกำหนดว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามข้อ 3 (2) (3) หรือ (5) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท เห็นได้ว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้สถานีบริการก๊าซรถยนต์ต้องมีกำแพงกันไฟโดยรอบสูงไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร เพื่อป้องกันอัคคีภัยอันอาจเกิดจากก๊าซมิให้ลุกลามจากสถานีบริการ ไปก่ออันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบสถานีบริการ ผู้ฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา จึงเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่สัญญาเช่าที่ดินพิพาทมีข้อตกลงให้จำเลยต้องเปิดแนวกำแพงกันไฟด้านหลังสถานีบริการก๊าซรถยนต์กว้าง 10 เมตร เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกของ อ. และบริวาร โดยไม่มีประตูเหล็กทึบชนิดบานเลื่อนสำหรับเปิดปิด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นิติกรรมการเช่าที่ดินพิพาทจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่อาจแยกข้อตกลงในส่วนที่เป็นโมฆะออกจากข้อตกลงอื่นที่ไม่เป็นโมฆะได้ และไม่ต้องคำนึงว่าคู่สัญญาจะรู้หรือไม่ก็ตามว่านิติกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันตกเป็นโมฆะ โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อาจยกความไม่รู้ของ อ. ขึ้นอ้างเพื่อให้มีผลลบล้างกฎหมายได้ เมื่อสัญญาเช่าที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่แรก ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการเช่าที่ดินพิพาทเกิดขึ้นเลย โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ กรณีเช่นนี้ต้องบังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 406 จำเลยจึงต้องรื้อถอนกำแพง สิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท แล้วส่งมอบคืนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมในสภาพเรียบร้อย นอกจากนี้การที่จำเลยเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ด้วยการเปิดสถานีบริการก๊าซรถยนต์ในที่ดินพิพาทมาแต่แรก ประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการใช้ที่ดินพิพาทตลอดมาย่อมสามารถคำนวณราคาเป็นเงินได้ เงินที่คำนวณได้นี้ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้รับจากโจทก์และโจทก์ร่วม โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์และโจทก์ร่วมเสียเปรียบ จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมฐานลาภมิควรได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9740/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเนื่องจากฉ้อฉลและการรู้เห็นของผู้ซื้อต่อการเสียเปรียบของผู้ขาย
ผู้ร้องสอดเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาภายหลังฟ้อง และร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) อันเป็นไปเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตน โดยไม่ได้ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) เพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น คำขอบังคับของผู้ร้องสอดเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด และห้ามโจทก์กับจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด เท่ากับเป็นการตั้งประเด็นฟ้องทั้งโจทก์และจำเลย และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง คดีร้องสอดคดีนี้จึงเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์และจำเลยเป็นคดีใหม่และเป็นอีกคดีหนึ่งแยกกันได้กับคดีเดิม อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การแก้ร้องสอดได้ ผู้ร้องสอดจะยกข้อต่อสู้ที่เป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีเดิมมาเป็นข้อต่อสู้ของตนในคดีร้องสอดและฟ้องแย้งนี้ไม่ได้
ขณะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้จำเลยและผู้ร้องสอดทราบแล้วว่า โจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินเนื่องจากจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2555 แต่จำเลยไม่ยอมมาโอนตามสัญญา เจ้าพนักงานที่ดินได้รับคำขออายัดมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2555 และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 จำเลยและผู้ร้องสอดรับทราบและยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้ หากเกิดความเสียหายใดๆ ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าเงื่อนไขที่โจทก์ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง แล้ว
ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เพื่อขอให้มีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด กับห้ามโจทก์และจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด และที่โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดและฟ้องแย้งในคดีร้องสอด ก็เป็นไปเพื่อเพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันเป็นการเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอดและการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ที่มีผลให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลย แล้วโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามคำฟ้องอีกทอดหนึ่ง ระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดจึงไม่ใช่พิพาทกันด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือของผู้ร้องสอด คดีร้องสอดและฟ้องแย้งคดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) (2) (ก).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและการสวมสิทธิเป็นคู่ความ รวมถึงการพิสูจน์การสั่งซื้อสินค้าและการร่วมรับผิดชอบ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ ตามทางไต่สวนได้ความว่า โจทก์ได้โอนขายกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วย โดยผู้ร้องได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสามแล้ว แม้กรณีของผู้ร้องจะไม่ต้องด้วย พ.ร.ก.ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หรือกฎหมายอื่นใดทำนองเดียวกันที่กำหนดให้ ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความเดิมได้ ดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตมาก็ดี แต่การที่ผู้ร้องรับโอนกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดจากโจทก์ ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วยนั้น ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องทำให้ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีและถือว่าโจทก์ยินยอมให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์แล้ว จึงชอบที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990-991/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง การมอบอำนาจ และสิทธิการครอบครองห้องเช่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุด
ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 808 ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจให้ตัวแทนช่วงทำการได้ เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนกับให้มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อกระทำการแทนได้ ดังนั้น บริษัท ซ. มีอำนาจตั้ง ข. เป็นตัวแทนช่วงให้ทำการฟ้องคดีแทนต่อไป แต่ ข. ต้องดำเนินการตามที่ได้รับมอบอำนาจด้วยตนเอง เนื่องจากตามหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุว่า โจทก์ให้อำนาจผู้รับมอบอำนาจช่วงตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนช่วงทำการแทนต่อไปอีกได้ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงมีข้อความว่า ให้ ข. มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อให้มีอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจช่วง ก็เป็นเรื่องนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ ข. ไม่มีอำนาจตั้งให้ อ. เป็นตัวแทนช่วงดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายมานั้นแทนตน อ. ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ร่วมเข้ามาเป็นโจทก์ในคดีนี้เพราะโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และ 549 อันเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเรื่องใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วมไม่ ดังนั้น แม้ฟ้องเดิมโจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมก็เข้ามาในคดีได้
แม้การเช่าของจำเลยถือเป็นการเช่าช่วงโดยชอบเพราะโจทก์ร่วมตกลงให้บริษัท ว. นำห้องเช่าพิพาทออกให้เช่าช่วงได้ แต่เมื่อโจทก์ร่วมกับบริษัท ว. ได้เลิกสัญญาเช่ากันแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในห้องเช่าพิพาทต่อไป เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เช่าช่วงย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าบริษัท ว. ผู้เช่าเดิม และเหตุที่ห้องเช่าพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมก็เป็นไปตามข้อตกลงการเช่า ไม่ใช่เป็นกรณีโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 จำเลยไม่อาจยกสัญญาเช่าช่วงขึ้นอ้างต่อโจทก์เพื่อครอบครองห้องเช่าพิพาทได้ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าพิพาทได้ แต่โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากตามคำร้องขอของโจทก์ร่วมมิได้ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17870/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกัน การใช้ก่อนยื่นขอจดทะเบียน และเงื่อนไขการจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า
จำเลยร่วมยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ชี้สองสถานแล้ว โดยที่จำเลยร่วมได้ระบุในคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมขอถือเอาคำให้การและบัญชีพยานของจำเลยเป็นคำให้การและบัญชีพยานของจำเลยร่วมส่วนหนึ่งด้วย ในระหว่างพิจารณาจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้ว่าไม่ถูกต้องประการใด ด้วยเหตุนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท ข้อ 1. ว่า เครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 654920 ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ ตามคำขอเลขที่ 442167 และ 442168 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ และได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวในคำพิพากษาต่อมา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยร่วมไม่อาจโต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้อีกเพราะจำเลยร่วมไม่อาจใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นจำเลยร่วม และไม่อาจใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของจำเลยเดิมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) และมาตรา 58 วรรคสอง การกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบแล้ว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมซึ่งได้ขอจดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเหมือนหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมอยู่ที่คำว่า "VALENTINO" ซึ่งสะกดเหมือนกันทั้งเก้าตัวอักษร มีสำเนียงเรียกขานเหมือนกันว่า "วาเลนติโน" แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยที่ตัวอักษรซึ่งเครื่องหมายการค้าของโจทก์เขียนคำดังกล่าวเป็นลายมือเขียน ส่วนคำนี้ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ และในเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า "Rudy" ต่อท้าย ส่วนในเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีตัวอักษร "V" ประดิษฐ์ในวงรีบนคำว่า "VALENTINO" ซึ่งคำว่า "Rudy" กับตัวอักษร "V" ประดิษฐ์ในวงรีดังกล่าวเป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเท่านั้น มิใช่ส่วนอันเป็นสาระสำคัญหรือเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานว่า "วาเลนติโน รูดี้" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเรียกขานว่า "วี วาเลนติโน" นับว่ามีสำเนียงเรียกขานคล้ายกันมากเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันกับที่จำเลยร่วมยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 442167 และมีรายการสินค้าหลายรายการที่เหมือนกัน หากเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ซึ่งคล้ายกันมากกับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วม ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อน ได้รับการจดทะเบียนและใช้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้าเดียวกัน ย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าชอบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ได้ยื่นไว้ก่อน เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ไม่อาจได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 20
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้ขอจดทะเบียนไว้ก่อนตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 กรณี ดังนี้คือ หากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริตกรณีหนึ่ง หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรรับจดทะเบียนอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งการที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของแต่ละคนมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตนั้น ต้องเป็นกรณีที่ต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้น ส่วนกรณีมีพฤติการณ์พิเศษก็ต้องเป็นกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าที่ระบุในคำขอจดทะเบียนไม่ว่าจะเป็นการใช้กับตัวสินค้าหรือเป็นการใช้โดยโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องเป็นตามหลักดินแดน กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนภายในอาณาเขตประเทศไทยด้วย ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นและได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อปรากฏว่า ว. เป็นผู้อนุญาตให้โจทก์นำชื่อตัวและชื่อสกุลของตนมาใช้เป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าตั้งแต่ปี 2518 การที่โจทก์นำคำว่า "VALENTINO RUDY" มาใช้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายซึ่งเป็นสินค้าในจำพวก 25 จึงเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริต และปรากฏตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าว่า โจทก์ได้อนุญาตให้บริษัท บ. ในประเทศไทยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "VALENTINO RUDY" กับสินค้าในจำพวก 25 ที่โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "VALENTINO RUDY" ในลักษณะที่เป็นลายมือชื่อ โดยบริษัท บ. ได้ผลิตสินค้าเสื้อเชิ้ตบุรุษออกจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยร่วมจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถึงประมาณ 3 ปีเศษ ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าเสื้อในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยร่วมจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับสินค้าจำพวก 25 ชอบที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์โดยกำหนดเงื่อนไขและข้อกำจัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าชุด การใช้เครื่องหมายแต่ละเครื่องหมายเป็นอิสระ การเพิกถอนเครื่องหมายจากการไม่ใช้
การแสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมัน SM ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 ย่อมทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมัน SM แต่อักษรโรมัน SM ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ตามที่โจทก์จดทะเบียนไว้
การพิจารณาว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ๆ หรือไม่ยังต้องพิจารณาทั้งเครื่องหมาย ไม่ใช่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใด ดังนั้น แม้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า VITARAL S.M. ไวตารอล เอส.เอ็ม. ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว หรือ VITANA - EZ ที่อยู่ระหว่างการขอจดทะเบียน แต่เมื่อไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ก็ถือไม่ได้ว่า การใช้เครื่องหมายการค้า VITARAL S.M. ไวตารอล เอส.เอ็ม. หรือ VITANA - EZ เป็นการใช้เครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ไปด้วยเพราะต่างเครื่องหมายกัน การใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายการค้าใดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 63 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้ ไม่อาจอ้างการใช้เครื่องหมายการค้าอื่นกับสินค้าที่จดทะเบียนไว้มาเป็นการใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้
การที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 50 บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุดนั้นจะโอนหรือรับมรดกกันได้ ต่อเมื่อเป็นการโอนหรือรับมรดกกันทั้งชุด" นั้น เป็นเรื่องการโอนหรือสืบสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่โอนหรือตกทอดกันทางมรดกได้ ไม่ได้มีผลทำให้เครื่องหมายการค้าทั้งหมดของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน และไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่อาจถูกเพิกถอนตามกฎหมายเนื่องจากการไม่ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ เพราะความมุ่งหมายของกฎหมายนั้นเป็นไปเพื่อให้สิทธิและความคุ้มครองแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนที่มีการใช้เครื่องหมายนั้นกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ไม่ใช่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เพียงเพื่อกีดกันผู้อื่น การจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดจึงไม่มีผลทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่จำต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายสำหรับเครื่องหมายการค้าแต่ละเครื่องหมาย
แม้ตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดจะใช้ข้อความสรุปว่าขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1) เช่นกันก็ตาม แต่ตามเนื้อหาของคำร้องสอดอ้างเหตุผลว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่สั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ของโจทก์ตามคำร้องขอของผู้ร้องสอดชอบแล้ว อันเป็นกรณีร้องขอเข้ามาในคดีเพราะตนมีส่วนได้เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) มิใช่กรณีตามมาตรา 57 (1) แต่อย่างใด และเป็นเรื่องต้องถือตามเนื้อหาแห่งคำร้องสอดดังกล่าวมาเป็นสำคัญ ซึ่งย่อมมิใช่กรณีที่ร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10327/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีออกจากสารบบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิจารณาคดีเสร็จสิ้นก่อนศาลฎีกาตัดสินเรื่องการเข้าเป็นจำเลยร่วม
โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบเอ็ด (คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) ที่สั่งให้โจทก์รับผู้ร้องซึ่งเป็นลูกจ้างที่โจทก์เลิกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบเอ็ดต่อไปโดยไม่รอว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมของผู้ร้องก่อน แล้วมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา หากศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นจำเลยร่วมก็ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ทั้งหมดซึ่งจะทำให้คดีต้องล่าช้าออกไป ไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องต่อไป จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจร้องสอด: ศาลวินิจฉัยสถานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อพิจารณาการมีส่วนได้เสียในคดีมรดก
การพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดหรือไม่ มีประเด็นต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ ประเด็นว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีอันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีอำนาจร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความได้หรือไม่ และประเด็นว่ากรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้เข้ามาในคดีได้หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในคดีนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจร้องสอดของผู้ร้อง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกคำร้องสอดหรือนอกประเด็น แม้คำวินิจฉัยที่ว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบ ของเจ้ามรดกมีผลกระทบต่อสิทธิ ของโจทก์ในฐานะทายาทของเจ้ามรดก ซึ่งทำให้โจทก์มีสิทธิฎีกา ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ใช่ภริยาโดยชอบก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาสำคัญที่สมควรนำไปวินิจฉัย ในคดีที่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาโดยตรงของคดีเมื่อคดีนี้ผู้ร้องไม่ได้ ฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ที่ยกคำร้องสอด เพราะไม่เห็นสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ปัญหาในเรื่องการร้องสอดของผู้ร้องจึงยุติไปแล้ว การที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของโจทก์ ไม่ว่าวินิจฉัยในทางใดย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลล่าง ฎีกาข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ในคดีนี้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมต้องใช้สิทธิเท่าจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การจำเลยร่วมได้
จำเลยร่วมร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) จำเลยร่วมจึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 58 วรรคสอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การจนศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว จำเลยร่วมย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การของตนเข้ามา อันเป็นการใช้สิทธินอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ได้ และเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมไว้โดยผิดหลงศาลชั้นต้นชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมแล้วสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยร่วมให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
การที่จำเลยร่วมจะเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วยหรือไม่ ไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงไป จำเลยร่วมในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตามกฎหมายการถอนฟ้องจำเลยร่วมซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ของโจทก์จึงไม่กระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ในการต่อสู้คดีรวมทั้งไม่เป็นการใช้สิทธิ โดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
of 30