คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
โสฬส สุวรรณเนตร์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10327/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษจำเลยในฐานะกรรมการสถานบริการที่ปล่อยปละละเลยการนำอาวุธปืนเข้าสถานบริการ แม้ไม่ได้อ้างมาตรา 28/4 ในฟ้อง
จำเลยในฐานะผู้แทนและกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ม. ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการชื่อ ซ. เพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ทางการค้า ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการนำอาวุธปืนเข้าไปในสถานบริการในระหว่างเวลาที่เปิดทำการ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยจึงเป็นบุคคลที่กฎหมายระบุไว้ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกับนิติบุคคลซึ่งได้กระทำความผิด แม้โจทก์จะไม่ได้อ้างมาตรา 28/4 ในคำขอท้ายฟ้อง แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ไม่เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องอันต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10243/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความเจตนาในการทำหนังสือมอบทรัพย์สิน ต้องพิจารณาจากข้อความในหนังสือเป็นหลัก หากไม่มีการกำหนดการเผื่อตาย ไม่ถือเป็นพินัยกรรม
การตีความเจตนาต้องอาศัยข้อความในหนังสือเป็นสำคัญ การที่ ว. ทำหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับแรกแม้จะใช้ชื่อหนังสือว่า หนังสือมอบมรดก แต่มีข้อความตอนหนึ่ง ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นต่อจาก ว. นับแต่วันทำหนังสือฉบับนั้นเป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้คัดค้านในวันนั้น หาใช่ให้ทรัพย์ตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายไม่ ส่วนหนังสืออีกฉบับหนึ่งใช่ชื่อว่า หนังสือมอบกรรมสิทธ์ มีข้อความสรุปว่า ว. ขอยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่ ว. ค้างชำระแก่ผู้คัดค้าน ทั้งยังมีข้อความว่า ว. พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ในที่ดินและบ้านให้แก่ผู้คัดค้านหากผู้คัดค้านร้องขอ โดยไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายแล้วเช่นกัน หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวที่ไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายไว้ จึงมิใช่พินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 เมื่อหนังสือทั้งสองฉบับไม่เป็นพินัยกรรมตามที่ผู้คัดค้านฎีกา ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ว. ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนั้น จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ว. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10072/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตำรวจสมรู้ร่วมคิดทำร้ายร่างกาย: ตัวการร่วม, พฤติการณ์ร้ายแรง, เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
ก่อนเกิดเหตุจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ บ. ไปยังที่เกิดเหตุ ขณะที่ บ. ใช้ไม้ตีศีรษะผู้เสียหาย จำเลยก็ยืนอยู่ข้างๆ บ. ในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือให้การกระทำของ บ. สัมฤทธิ์ผล เมื่อพิเคราะห์ว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาสวัสดิภาพของประชาชน แต่กลับเข้าสมทบให้กำลังใจ บ. ให้เข้าทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส นอกจากนี้ยังได้ความว่า หลังจากที่ บ. ตีผู้เสียหายแล้ว แทนที่จำเลยจะเข้าจับกุม บ. ไปดำเนินคดี จำเลยกลับกล่าวหนุนให้ บ. ทำร้ายผู้เสียหายซ้ำอีก พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับ บ. ทำร้ายผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9822/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดอกเบี้ยหลังฟ้องคดีอาญา ศาลวินิจฉัยสิทธิการเรียกร้องและค่าธรรมเนียม
คดีนี้พนักงานอัยการมีคำขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 42,500 บาท แก่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนเป็นเงินจำนวน 42,500 บาท อีกไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมต้องเสียค่าธรรมเนียมในเงินจำนวน 42,500 บาท หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยของเงินจำนวน 42,500 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เพราะฉะนั้นพนักงานอัยการจึงฟ้องเรียกค่าดอกเบี้ยไม่ได้ แต่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยขอดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 42,500 บาท ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้ ซึ่งตามมาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วมเว้นแต่ในกรณีศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงมิต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 42,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9805/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระชากทรัพย์ทำให้ล้ม: ไม่ถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายโดยเล็งเห็นผล
การกระทำโดยเล็งเห็นผลนั้นหมายความว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ขณะที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยทั้งสองประกบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่แขวนอยู่ที่กระจกรถจักรยานยนต์อย่างแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสองไม่อาจเล็งเห็นผลได้แน่นอนว่าการกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 จะทำให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับล้มลงเพราะรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอาจจะล้มหรือไม่ล้มก็ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น แม้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจะล้มลงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายอันเป็นผลมาจากแรงกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 ก็หาใช่จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลอันถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายของกฎหมายแต่ประการใดไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามฟ้อง คงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9585/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้พิพากษาทำคำพิพากษาหลังย้ายไปรับราชการอื่น และการดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์
คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ เนื่องจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี โดยมีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) การที่ศาลอุทธณ์ภาค 9 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่มิได้สั่งให้ทำคำพิพากษาใหม่แต่เพียงประการเดียว ถือได้ว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากฎีกาของจำเลยว่า ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี นั้นไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไปได้ ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 (3) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมอบหมายนั่งพิจารณาคดีแทนต่อไปได้ เมื่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมอบหมายให้ ว. นั่งพิจารณาคดีแทน ว. จึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาและทำคำพิพากษาได้ กรณีมิใช่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทำคำพิพากษาทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจทำคำพิพากษาในคดีต่อไปได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9127/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาจากการเบิกความเท็จ ขึ้นอยู่กับการได้รับความเสียหายโดยตรงจากกรรมสิทธิ์ที่ถูกกระทบ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบิกความเท็จและแสดงพยานหลักฐานเท็จในคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยกับพวก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อนโดยโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก ช. ให้ดำเนินคดีแทน และคำฟ้องคดีนี้มิได้กล่าวว่าโจทก์มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิในบ้านพิพาทอย่างไร แม้สำเนาคำฟ้องคดีก่อนระบุว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อบ้านพิพาทจาก ช. แต่ก็ปรากฏตามคำฟ้องดังกล่าวว่า โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ได้จดทะเบียนการซื้อขายบ้านพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และโจทก์ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยถามค้านว่า บ้านพิพาทยังคงเป็นของ ช. จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทแล้ว ดังนี้ โจทก์จึงไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนเสื่อมเสียกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาท จึงมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) อันจะมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8900/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีถังก๊าซหุงต้มของผู้อื่น และบรรจุก๊าซลงในถังนั้น โดยไม่เป็นผู้ค้าน้ำมันตามกฎหมาย
ผู้ค้าน้ำมันตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ได้แก่ ผู้ค้าน้ำมันที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่หนึ่งแสนเมตริกตันขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าน้ำมันชนิดก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ห้าหมื่นเมตริกตันขึ้นไป โดยที่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เป็นการกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง บทบัญญัติตามข้อ 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีก๊าซสำหรับประชาชนใช้ในการหุงต้มอย่างพอเพียง จึงกำหนดเป็นบทบังคับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ซึ่งจัดว่าเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติด้วยการจัดให้มีการบรรจุก๊าซใส่ถังก๊าซหุงต้มและจำหน่ายให้ทั่วถึงทุกอำเภอที่มีการใช้ถังก๊าซหุงต้มซึ่งแสดงเครื่องหมายการค้าของตน หรือมอบหมายให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 รายอื่นหรือผู้บรรจุก๊าซ เป็นผู้ดำเนินการแทนได้แต่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน การฝ่าฝืนคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3 และ 8 ผู้กระทำจะต้องเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และกระทำการฝ่าฝืนด้วยการไม่จัดให้มีการบรรจุก๊าซหุงต้มและจำหน่ายให้ทั่วถึงทุกอำเภอที่มีการใช้ถังก๊าซหุงต้มซึ่งแสดงเครื่องหมายการค้าของตนหรือได้มอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8877/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพรากผู้เยาว์และการกระทำชำเรา โดยพิจารณาเจตนาในการเลี้ยงดูฉันสามีภริยา
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นย่า แต่เมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาและผู้เสียหายที่ 2
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์กระทงแรกนั้น จำเลยโทรศัพท์นัดหมายเด็กหญิง จ. ผู้เสียหายที่ 3 ให้ไปพบแล้วพาผู้เสียหายที่ 3 ไปบ้านจำเลย แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 ฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 สมัครใจไปจากผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 เอง หลังจากที่จำเลยกระทำชำเราแล้ว จำเลยไปหาผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ต่อว่าจำเลยและเรียกค่าสินสอดจากจำเลย แต่จำเลยไม่มีเงินให้ จากนั้นจำเลยรับผู้เสียหายที่ 3 ไปอยู่ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยได้ว่าประสงค์จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 เป็นภริยา เมื่อจำเลยยังมิได้มีภริยาจึงสามารถที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 ฉันสามีภริยาได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม แต่เป็นการกระทำที่ล่วงล้ำต่ออำนาจปกครองดูแลของบิดาและย่าผู้เสียหายที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาหรือผู้ดูแล จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก
ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยกระทงที่สองนั้น เมื่อจำเลยได้มาเจรจาสู่ขอผู้เสียหายที่ 3 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยไม่มีเงินค่าสินสอด ในวันรุ่งขึ้นจำเลยก็ไปรับผู้เสียหายที่ 3 มาอยู่ด้วย กระทั่ง ม. มารับผู้เสียหายที่ 3 กลับไป แสดงว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 3 ไปเพื่อร่วมอยู่กินฉันสามีภริยา ฟังไม่ได้ว่าจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 3 ไปจากบิดาหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8833/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: การใช้บัตร ATM เพื่อหวังผลประโยชน์จากบัญชีผู้เสียหายเป็นเจตนาต่อเนื่อง
การที่จำเลยนำบัตรเอ ที เอ็ม ของผู้เสียหายไปใช้เบิกถอนเงินสดและโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเพราะจำเลยมีจุดประสงค์ที่จะได้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย จำเลยใช้บัตรเอ ที เอ็ม ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาต่อเนื่องกันและจุดมุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินของผู้เสียหาย หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งจะเป็นความผิดสำเร็จก็ไม่ทำให้เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
of 15