พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในคดีอาญา: พฤติการณ์พิเศษและการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 4 โดยอ้างเหตุเดียวกันว่า ขอถ่ายสำเนาคำพิพากษารวมทั้งบรรดาสรรพเอกสารต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและสั่งสำนวนในชั้นอุทธรณ์ แต่ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาและสรรพเอกสาร และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์เพราะเหตุดังกล่าวทั้งสี่ครั้งเป็นเวลานานถึง 5 เดือนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของโจทก์ ครั้งที่ 4 ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2552 ว่า คำพิพากษาจัดพิมพ์เสร็จแล้ว แสดงว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพิ่งจัดพิมพ์เสร็จก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 4 แม้โจทก์จะมีระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 4 จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ก็ตาม แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง หากโจทก์ในฐานะพนักงานอัยการจะไม่ยื่นอุทธรณ์ต้องส่งสำนวนและคำสั่งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความเห็นแย้งให้ส่งสำนวนและความเห็นไปให้อัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 อันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 5 ของโจทก์ที่ว่า เสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา แต่ยังไม่ทราบผลการพิจารณา ทั้งโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 5 โดยเพิ่งอ้างเหตุดังกล่าว แสดงว่า เมื่อโจทก์ได้รับสำเนาคำพิพากษาและสรรพเอกสารในสำนวนแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการเกี่ยวกับอุทธรณ์คดีนี้ตามกฎหมายทันที ตามรูปคดีนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุอันควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตามคำร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5727/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดหลายกรรมต่างกันจากการจัดให้มีการเล่นการพนันและร่วมเล่นพนัน ศาลลงโทษได้ทั้งสองกรรม
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 ให้ศาลบันทึกใจความแห่งฟ้องไว้เป็นหลักฐานไม่จำต้องบันทึกโดยละเอียด แต่ก่อนบันทึกฟ้อง ศาลอาจจะสอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่จำเลยกระทำผิด และจะบันทึกไว้เฉพาะข้อความสำคัญ ส่วนบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาของโจทก์เท่านั้น เมื่อบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์และคำฟ้องที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ปรากฏว่าโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันและร่วมกันเล่นไพ่รัมมี่ ย่อมเข้าใจได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันแล้ว แม้โจทก์จะไม่บรรยายว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมและบรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดของจำเลยที่ 1 ในแต่ละข้อหาเป็นข้อย่อยมาให้ชัดเจน อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ก็ตาม ไม่อาจถือว่าบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ไม่ชัดเจนว่าโจทก์ไม่ประสงค์ลงโทษจำเลยที่ 1 ในแต่ละข้อหาแยกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ทั้งการที่คำขอท้ายฟ้องไม่ได้ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ไม่เป็นการเกินคำขอ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่นการพนันไพ่รัมมี่ แล้วจำเลยที่ 1 เข้าร่วมเล่นการพนันกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย สภาพแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่มีเจตนาต่างกัน คือ จัดให้มีการเล่นก็โดยมีเจตนาเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน เมื่อจำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่น จำเลยที่ 1 ก็ได้ผลประโยชน์แห่งตนแล้ว เป็นความผิดสำเร็จไปกรรมหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าร่วมเล่นการพนันด้วยเป็นการที่จำเลยที่ 1 มีเจตนาเข้าพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นกับผู้ร่วมเล่นคนอื่น จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขอบเขตความผิดฐานกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 หลังแก้ไข: การสัมผัสภายนอกไม่ใช่ความผิด
การกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 เดิม คือ การร่วมประเวณีหรือการร่วมเพศ โดยต้องเป็นการกระทำถึงขั้นใช้อวัยวะเพศของชายใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า "การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำ กระทำกับอวัยะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น" เห็นได้ว่า การแก้ไขดังกล่าวเป็นการขยายขอบเขตของการกระทำชำเราให้กว้างขึ้นเฉพาะในส่วนเพศของผู้กระทำกับเพศของผู้ได้รับการกระทำ อวัยวะและสิ่งที่ใช้กระทำกับอวัยวะที่ได้รับการกระทำกับเจตนาพิเศษในการกระทำ โดยจากเดิมเพศชายกระทำกับเพศหญิงเท่านั้น เป็นเพศใดกระทำกับเพศใดก็ได้ จากเดิมใช้อวัยวะเพศชายกระทำกับอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น เป็นใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำเพศใดก็ได้กระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นเพศใดก็ได้ หรือใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศ หรือทวารหนักของผู้อื่นเพศใดก็ได้ แล้วแต่กรณี และต้องกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ อันเป็นการทำให้บุคคลทุกเพศได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน แต่ในส่วนลักษณะของการกระทำนั้น มิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด จึงยังต้องเป็นการกระทำถึงขั้นใช้อวัยวะเพศหรือสิ่งอื่นใดใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะต่างๆ ดังกล่าวอันเป็นอวัยวะที่เป็นช่องหรือรูเปิดของร่างกาย ดังนั้น การที่จำเลยใช้อวัยวะเพศถูไถบริเวณอวัยวะเพศของผู้เสียหายอันเป็นการสัมผัสภายนอก ไม่มีการล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศผู้เสียหาย จึงยังไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 แต่เป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ อันเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคแรก การกระทำชำเรารวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว ศาลจึงลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารตามที่พิจารณาได้ความ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5592/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้กฎหมายอาญาในคดีคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย: พิจารณาบทกฎหมายที่ใช้บังคับ ณ ขณะกระทำผิด
พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 33 บัญญัติว่า "คนต่างด้าวผู้ใดทำงานฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ส่วน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คนต่างด้าวผู้ใดทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และมาตรา 57 บัญญัติว่า "ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดงานที่คนต่างด้าวอาจทำได้ตามมาตรา 7 ให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงตามมาตรา 7 ให้นายทะเบียนอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานใดๆ ได้ เว้นแต่งานที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521" การกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ทั้งกฎหมายทั้งสองฉบับมีระวางโทษเท่ากัน จึงต้องใช้กฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำความผิด ดังนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 และมีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 6, 33 โดยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551 ขณะที่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5419/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา: ผู้กระทำผิดไม่อาจเป็นผู้เสียหาย
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ ซึ่งมาตรา 2(4) ให้ความหมายของคำว่า "ผู้เสียหาย" ว่า หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองต่างขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาท จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนในการกระทำความผิดทางอาญาด้วยดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4)
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ต้องพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนดไว้และข้อเท็จจริงในขณะที่ยื่นคำร้องว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่ยื่นคำร้องได้และขณะยื่นคำร้องจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าว
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ต้องพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนดไว้และข้อเท็จจริงในขณะที่ยื่นคำร้องว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่ยื่นคำร้องได้และขณะยื่นคำร้องจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5184/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเจ้าของกรรมสิทธิ์เช่าซื้อ - การคืนทรัพย์สิน - ไม่รู้เห็นเป็นใจ - ใช้สิทธิไม่สุจริต
ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง หมายเลขทะเบียน บน 5774 ลพบุรี จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ของกลางไป ต่อมาจำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิด และศาลมีคำพิพากษาให้ริบ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ข้อเท็จจริงต้องรับฟังตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย แม้สัญญาเช่าซื้อระบุให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเท่าราคาเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกยึดหรือถูกริบ และผู้ร้องไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างหรือบอกเลิกสัญญา แต่ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ร้องในฐานะผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งผู้ร้องจะใช้สิทธิตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ การที่ผู้ร้องไม่ใช้สิทธิดังกล่าวกับผู้เช่าซื้อและร้องขอรถยนต์ของกลางคืนเป็นเพียงการไม่ถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญาที่กำหนดไว้เท่านั้น และเมื่อผู้เช่าซื้อผิดสัญญา ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของกลางที่ให้เช่าซื้อคืนได้ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหรือศาลมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางแล้ว ผู้ร้องยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้ออีก กรณียังไม่พอฟังว่าผู้ร้องมีเจตนาเพียงต้องการที่จะได้รับค่าเช่าซื้อหรือขอคืนรถยนต์ของกลางเพื่อประโยชน์แก่ผู้เช่าซื้อ อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องของคณะกรรมการสำนักสงฆ์ที่มิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลในการฟ้องคดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) คำว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ฯลฯ ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สำหรับนิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่น ดังบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 65 โจทก์เป็นคณะกรรมการสำนักสงฆ์วัดหนองเวียนโสภาศรัทธารามหรือวัดหนองเวียนวัฒนาราม เป็นเพียงกลุ่มบุคคลซึ่งรวมตัวกันโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจเป็นคู่ความได้ เมื่อตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่ากรรมการโจทก์คนใดได้ฟ้องคดีในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4773/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปรับบทลงโทษตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไขใหม่ และการขอปรับมาตราบทลงโทษหลังคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2547 ซึ่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาแล้วว่า ให้ใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 กรณีจึงมิได้เป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด แต่เป็นกรณีบังคับใช้กฎหมายลงโทษจำเลย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยไม่ถูกต้อง ชอบที่จะใช้สิทธิฎีกาปัญหาดังกล่าวไปยังศาลฎีกา แต่จำเลยกลับยื่นฎีกาเฉพาะประเด็นที่ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่เท่านั้น และศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 4 จนคดีถึงที่สุดไปนานแล้ว จำเลยจึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่โดยอ้างเหตุข้างต้น พยานหลักฐานโจทก์เป็นเท็จ และมีเหตุอันควรปรานีลดโทษให้จำเลย ดังนี้ หากศาลฟังข้อที่จำเลยอ้างดังกล่าวแล้ววินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ซึ่งห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4541/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับวินิจฉัยคดียาเสพติด: ฟ้องรวมหลายบท ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถือเป็นที่สุดตามกฎหมายเฉพาะ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ, 151 ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท อันเป็นฟ้องที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอยู่ด้วยจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้ศาลอุทธรณ์จะยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 แต่ก็ยังคงลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การละเมิดสิทธิทางผ่านและการรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางเข้าออกที่ดิน
โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถว ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของทางพิพาทซึ่งมีสภาพเป็นถนนผ่านหน้าที่ดินโจทก์ทั้งสอง แม้จำเลยจะเบิกความรับว่า ว. เจ้าของที่ดินและตึกแถวเดิมได้ก่อสร้างถนนหรือทางพิพาทไว้เพื่อให้ผู้มาเช่าเซ้งตึกแถวใช้เป็นทางเข้าออก ซึ่งถ้าหากนับถึงขณะที่โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเป็นเวลาเกิน 10 ปี ก็ตาม แต่การใช้สิทธิของผู้เช่านั้นหาใช่เป็นการใช้ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่ อีกทั้งโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำหรืออ้าง อ. ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวก่อนโจทก์ทั้งสองมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลว่าได้ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมหรือไม่เช่นกัน พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินทั้งเจ็ดแปลงของโจทก์ทั้งสอง
เดิมจำเลยก่อสร้างกำแพงสูงปิดกั้นทางพิพาทถัดแนวเขตที่ดินกับแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินเข้าไปประมาณ 16 เมตร ซึ่ง ก. ผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ว. เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ให้รื้อถอนกำแพงดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพง สิ่งปลูกสร้างออกจากทางพิพาท ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ว. เจ้าของเดิมก่อสร้างทางพิพาทไว้สำหรับให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ การที่จำเลยซื้อทางพิพาทจาก ว. และได้ก่ออิฐเป็นกำแพงปิดกั้นทางพิพาทบริเวณปากทางออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ที่ไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อ ก. โจทก์ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้เช่ารายหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยอมให้ อ. ผู้เช่าทำประตูเหล็กและคานเหล็กปิดกั้นทางพิพาทก็ดี จำเลยนำท่อระบายน้ำไปวางไว้บนทางพิพาทก็ดี ล้วนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถวติดทางพิพาทไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
เดิมจำเลยก่อสร้างกำแพงสูงปิดกั้นทางพิพาทถัดแนวเขตที่ดินกับแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินเข้าไปประมาณ 16 เมตร ซึ่ง ก. ผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ว. เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ให้รื้อถอนกำแพงดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพง สิ่งปลูกสร้างออกจากทางพิพาท ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ว. เจ้าของเดิมก่อสร้างทางพิพาทไว้สำหรับให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ การที่จำเลยซื้อทางพิพาทจาก ว. และได้ก่ออิฐเป็นกำแพงปิดกั้นทางพิพาทบริเวณปากทางออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ที่ไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อ ก. โจทก์ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้เช่ารายหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยอมให้ อ. ผู้เช่าทำประตูเหล็กและคานเหล็กปิดกั้นทางพิพาทก็ดี จำเลยนำท่อระบายน้ำไปวางไว้บนทางพิพาทก็ดี ล้วนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถวติดทางพิพาทไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง