คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
โสฬส สุวรรณเนตร์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานอกเหนือจากอุทธรณ์: ประเด็นการชดใช้ค่าเสียหายจากประกันภัยและการถอนฟ้องกระทบสิทธิเรียกร้อง
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน เมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 4 แต่ต่อมากลับถอนฟ้องจำเลยที่ 4 โดยอ้างว่าจะไปดำเนินคดีต่างหาก ถ้ารับฟังว่ามีการรับประกันภัยจริง เท่ากับสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 มีผลให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่โจทก์ต้องไปรับชดใช้จากจำเลยที่ 4 เอง การถอนฟ้องดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เหตุดังกล่าวจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จนเป็นที่พอใจ ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก จึงเข้าเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดใด ๆ กับโจทก์มีผลให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยเช่นกัน ทั้งจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 3 ไม่ถูกต้อง นั้น ถือเป็นฎีกาที่นอกเหนือไปจากอุทธรณ์เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 และมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อพาร์ตเมนต์ไม่ถือเป็นโรงแรม: การรับผิดในความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ของผู้เช่า
พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 4 โรงแรม หมายความว่า สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน ดังนี้ สถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 674 จะต้องเป็นสถานที่ซึ่งให้บริการทำนองเดียวกันกับโรงแรมหรือโฮเต็ล คือเป็นสถานที่ซึ่งมีลักษณะให้บริการเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใด สำหรับอพาร์ตเม้นท์ของจำเลยนั้น ศ. เช่าห้องพักของจำเลยสำหรับอยู่อาศัยและเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปสถานศึกษา แม้จะมีบุคคลอื่นเช่าห้องพักดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน แต่เห็นได้ว่าการให้บริการห้องพักของจำเลยมีลักษณะเป็นการให้เช่าพักอยู่อาศัยโดยคิดค่าบริการเป็นรายเดือนขึ้นไปเท่านั้น มิใช่เป็นการให้เช่าบริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลใด ดังนี้ การประกอบธุรกิจของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น กล่าวคือ เช่นดังเจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ลที่จะนำบทบัญญัติวิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรมตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับให้จำเลยต้องรับผิดตามคำฟ้องของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลเรื่องรวมหรือแยกขายทอดตลาดเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 วรรคสอง ศาลไม่รับฎีกา
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแบ่งที่ดินที่ยึดออกเป็น 3 แปลง แล้วขายแยกทีละแปลงเพื่อให้ขายทรัพย์สินได้ในราคาที่สูงขึ้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจแยกการขายทอดตลาดทรัพย์ตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอได้ เนื่องจากที่ดินทั้งสามแปลงเป็นส่วนประกอบของสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการโรงแรม การแยกขายที่ดินไม่มีประโยชน์แก่การบังคับคดีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการขายทอดตลาดทรัพย์ตามที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งชี้ขาดในเรื่องให้รวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาด จึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน – ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน – การผ่อนเวลาชำระหนี้ – การเวนคืนหนังสือค้ำประกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อเม็ดเงิน (แร่เงิน) จากโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 สั่งซื้อและรับสินค้าจากโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 50,791,081 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว ส่วนที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าอะไร แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าไร ราคาเท่าไร เมื่อใดและครบกำหนดชำระหนี้เมื่อใด อีกทั้งมิได้แนบเอกสารที่แสดงรายละเอียดมาท้ายคำฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาเกินกว่าสองหมื่นบาท กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อซึ่งได้รับมอบสินค้าจากโจทก์ผู้ขายแล้วผิดนัด ขอให้บังคับชำระค่าสินค้า กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายหรือไม่
สัญญาค้ำประกันมิได้มีข้อความว่าเป็นการค้ำประกันการซื้อขายสินค้าเฉพาะที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่สัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับเท่านั้น ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจึงต้องรวมถึงหนี้ตามสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนมีการทำสัญญาค้ำประกันด้วย
จำเลยที่ 2 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่ค้ำประกัน อันเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสาม ว่า หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว มิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 จำเลยที่ 2 จะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และจำเลยที่ 2 คืนหลักประกันไป จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วใน ป.พ.พ. มาตรา 698 ถึงมาตรา 701
การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องร้องไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้แก่โจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามมูลหนี้ซื้อขายได้ กรณีไม่ใช่เป็นการตกลงกำหนดวันหรือระยะเวลาชำระหนี้ให้เป็นการแน่นอน จึงไม่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 700 (เดิม) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม – ละเมิดอำนาจศาล – รัฐธรรมนูญสิ้นสุด – ไม่เป็นสาระวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำเลยฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 วรรคท้าย ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จำเลยอุทธรณ์เพียงขอให้ลดโทษจำคุกเหลือ 15 วัน หรือรอการลงอาญาโทษจำคุกส่วนที่เหลือเท่านั้น ดังนี้การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงยุติไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยไม่อาจฎีกาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้อีก ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นดำเนินคดีแก่จำเลยโดยไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 40 (2) บัญญัติไว้ นั้น เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สิ้นสุดลงแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงไม่เป็นสาระอันควรวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ: การฟ้องละเมิดต้องฟ้องหน่วยงาน ไม่ใช่ตัวเจ้าหน้าที่
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไปโดยไม่ได้วินิจฉัยเป็นประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบ มาตรา 183 และศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้สิ้นกระแสความเสียก่อน แต่กลับรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติและวินิจฉัยคดีไปเลย ย่อมเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไปเสียทีเดียวก่อนที่จะวินิจฉัยเนื้อหาฎีกาของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลและความรับผิดของผู้ค้ำประกันในคดีผิดสัญญาเช่าและการละเมิด
คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ตามฟ้องระบุสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำที่โรงแรมเรดิสัน ตั้งอยู่ที่เลขที่ 92 ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นได้ว่า เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแพ่ง โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลแพ่งได้
การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่โจทก์หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงและยังคงครอบครองต่อมา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการผิดสัญญาเช่าและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องชำระค่าเสียหายในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ละเมิด: ป.ป.ช. และหน่วยงานรัฐ
แม้โจทก์มิใช่ข้าราชการในกรมอัยการแต่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคสอง บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลตามความหมายของคำว่า พนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (5) และเนื่องจากตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1
ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" ซึ่งมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง" จึงเห็นได้ว่า พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติให้สิทธิหน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ จึงไม่ใช่บทบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้อง ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18279/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุนการฆ่าผู้อื่น: การกระทำที่ต่อเนื่องและการไม่มีเจตนาช่วยเหลือ
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับ ย. วางแผนฆ่าผู้ตายและไม่รู้มาก่อนว่า ย. มีและพาอาวุธปืนติดตัวมาด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องและโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติว่า ขณะที่ ย. ยิงผู้ตายนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย จำเลยที่ 1 จะมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ ย. ฆ่าผู้ตายนั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 รู้มาก่อนแล้วว่า ย. ให้จำเลยที่ 1 ขับรถพาไปหาผู้ตายเพื่อฆ่าผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาก่อน การที่ ย. ยิงผู้ตายนัดแรกขณะที่นั่งซ้อนท้ายรถที่จำเลยที่ 1 ขับมาแล้วลงจากรถตรงไปยิงผู้ตายซ้ำ อันเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ขับรถหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ แต่ขับรถวกกลับมารับ ย. ตามเสียงตะโกนเรียกของ ย. และพาหลบหนีไป ก็มิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ย. ฆ่าผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18217/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต้องยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่ฟ้องคดี
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้" วรรคสอง บัญญัติว่า "คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด..." วรรคสาม บัญญัติว่า "ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า... (ง) คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ... (จ)... กระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้..." ดังนั้น หากโจทก์ซึ่งเป็นคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสามารถกระทำได้โดยการขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยในฐานะคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) (จ) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งมีคำขอบังคับให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยในฐานะคณะอนุญาโตตุลาการ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง หาใช่ฟ้องจำเลยเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งการกระทำที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงสภาพแห่งข้อหาดังกล่าว จำเลยไม่ว่าจะในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะคณะอนุญาโตตุลาการหาได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ไม่และกรณีหาใช่เป็นการเสนอคดีมีข้อพิพาทหรือคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 หรือกรณีควรคืนคำฟ้องนั้นไปให้โจทก์ทำมาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ไม่
of 15