คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 74 (3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการอายัดสิทธิเรียกร้อง: เงินที่ได้รับจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอิสระไม่อยู่ในข้อยกเว้นการบังคับคดี
ป.วิ.พ. มาตรา 286 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี... (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (2) ที่นายจ้างจ่ายให้...เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือตามที่ศาลเห็นสมควร..." ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี มี 4 กรณี คือตาม (1) ถึง (4) แห่งมาตรา 286 ดังนั้น หากเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน มิใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นตามมาตรา 286 (3) แล้ว แม้ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ย่อมอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีการที่โจทก์ทำงานที่โรงพยาบาล ส. ของบริษัท ป.
โดยสถานพยาบาลเป็นผู้เก็บค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์กำหนดเอง เมื่อหักค่าใช้จ่ายไว้ส่วนหนึ่งจึงจะจ่ายเงินให้โจทก์ตามสัญญาการใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพอิสระ เงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ป. แม้ไม่ใช่ค่าจ้างเนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวก็อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเนื่องจากไม่ใช่เงินที่อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 286 (3) เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อบริษัท ป. ได้ กรณีไม่มีเหตุต้องเพิกถอนการอายัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10272/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจารและการยินยอมของผู้เสียหายเยาวชน ศาลพิจารณาโทษและการคุมประพฤติ
พฤติการณ์ที่จำเลยเป็นฝ่ายโทรศัพท์นัดหมายผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถจักรยานยนต์พา อ. นั่งซ้อนท้ายไปรับผู้เสียหายที่ 1 หน้าโรงเรียนและพาออกนอกเส้นทางไปที่ร้านถ่ายรูป และไปขายบริการที่โรงแรมก็ดี และมีการรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปพักที่บ้าน ด. ก็ดี แล้วผู้เสียหายที่ 1 ถูก อ. กระทำชำเราล้วนบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยกับ อ. ได้นัดกันไว้แล้วล่วงหน้า แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมสมัครใจเดินทางไปทุกหนแห่งกับจำเลยและ อ. รวมทั้งยินยอมให้ อ. กระทำชำเราก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 1 มิได้ตกลงยินยอมด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก้าวล่วง กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุเพียง 14 ปีเศษ ความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 หาได้มีผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่ พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารและร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่
ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี แต่ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุสิบแปดปี ตาม ปอ. มาตรา 74 (5) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของจำเลยให้กลับตนเป็นคนดี แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยมีอายุครบสิบแปดปี ศาลจึงไม่อาจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมได้ จึงสมควรที่จะดำเนินการแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 74 ประการอื่นที่เหมาะสมแก่จำเลย โดยเห็นว่าควรมอบตัวจำเลยให้มารดา หรือผู้ปกครองซึ่งยังสามารถดูแลจำเลยได้ไป โดยวางข้อกำหนดให้มารดาหรือผู้ปกครองปฏิบัติตามและเพื่อให้จำเลยหลาบจำตามมาตรา 74 (2) เห็นสมควรกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติจำเลยตามมาตรา 74 (3) ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงื่อนไขคุมประพฤติเด็กต้องมุ่งแก้ไขฟื้นฟู ไม่ซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง
แม้ ป.อ. มาตรา 74 (3) กำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติเด็ก ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 โดยมาตรา 56 (5) กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่เงื่อนไขดังกล่าว ย่อมต้องเป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นคุ้มครองสังคมและฟื้นฟูตัวผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ผู้กระทำความผิดหลาบจำไม่ก่อเหตุซ้ำอีก โดยเงื่อนไขดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปในทำนองที่บัญญัติไว้ใน (1) (2) (3) หรือ (4) คือเป็นบทบังคับเกี่ยวกับตัวเด็กซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายในทางแพ่งก็มีกฎหมายบัญญัติไว้ต่างหากแล้ว และคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 520,000 บาท แล้ว การกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลย โดยกำหนดให้จำเลยและผู้ปกครองเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลย และเงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันไม่ให้กระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 (5) การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12008/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คดีอาญาเด็ก – ศาลใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน – การจำกัดสิทธิอุทธรณ์ – การแก้ไขบทกฎหมายอาญา
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นอุทธรณ์ กำหนดว่า จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดโดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 12 ปีเศษ ยังไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 (1) (2) (3) ศาลชั้นต้นได้ว่ากล่าวตักเตือนจำเลยแล้วมอบตัวให้ผู้ปกครองรับไปอบรมดูแล โดยวางข้อกำหนดผู้ปกครองต้องระวังมิให้จำเลยก่อเหตุร้ายอีกภายใน 2 ปี นับแต่วันพิพากษา มิฉะนั้นผู้ปกครองของจำเลยต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 3,000 บาท และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่ได้กระทำโดยประมาท เป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์โดยขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็เป็นการชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 เพราะผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะรับอุทธรณ์ของจำเลยก็ตาม แต่ก็มิได้มีข้อความที่จะจับใจความได้ว่าได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้อุทธรณ์ได้และจำเลยก็มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี จึงถือว่าคดีไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาใหม่อีก ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74 วรรคแรก แห่ง ประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ข้อความใหม่แทน มาตรา 74 (2) (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดกำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น โดยตาม มาตรา 74 (2) ที่แก้ไขใหม่ กำหนดไว้ว่า ให้ศาลกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น ดังนั้นกฎหมายเดิมจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่ศาลชั้นต้นนำมาตรา 74 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาบังคับแก่จำเลยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5331/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีอาญาผู้กระทำผิดอายุไม่เกิน 18 ปี และการแก้ไขคำพิพากษาเดิมเมื่อจำเลยพ้นสภาพผู้เยาว์ รวมถึงการริบของกลาง
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จนกว่าจำเลยจะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยมีอายุครบ 18 ปีแล้ว จึงไม่อาจส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (5) ได้ จึงเห็นควรมอบตัวจำเลยให้บิดามารดาจำเลยโดยวางข้อกำหนดให้บิดามารดาจำเลยปฏิบัติตามและกำหนดวิธีการดำเนินการและเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 80, 288, 371 และขอให้ริบปลอกมีดของกลาง แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยว่าจะริบของกลางนั้นหรือไม่ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้คู่ความมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และการริบทรัพย์สินของกลางไม่เป็นการเพิ่มโทษจำเลย จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 เมื่อปลอกมีดของกลางเป็นส่วนประกอบของมีดที่จำเลยใช้กระทำความผิด จึงให้ริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2518

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลเพื่อส่งเสริมการกลับตัวของเด็กอาชญากรรม โดยพิจารณาจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยซึ่งมีอายุ 14 ปี กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยให้การขอให้ศาลมอบจำเลยให้บิดารับตัวไป แต่หามีบิดามารดาจำเลยมาขอรับจำเลยไปดังคำให้การของจำเลยไม่ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมยังสถานพินิจฯมีกำหนด 3 ปี จำเลยอุทธรณ์ขอให้มอบตัวจำเลยให้บิดา ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ายังไม่มีเหตุอันสมควรมอบตัวให้บิดา แต่พิพากษาแก้เป็นว่าให้ส่งตัวไปฝึกอบรมมีกำหนด 1 ปี บิดามารดาของจำเลยมายื่นคำร้องอ้างว่า ในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยประพฤติตัวดีน่าจะกลับตัวได้ หากได้อยู่กับบิดามารดา ขอรับตัวจำเลยไปดูแลแทนการส่งตัวไปสถานพินิจฯ การที่มีบิดามารดามาขอรับตัวจำเลยไปเช่นนี้ ถือได้ว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งเดิมได้เปลี่ยนแปลงไป มีทางให้ศาลเลือกใช้วิธีการที่จะเป็นผลดีแก่จำเลยมากกว่าวิธีการเดิมที่ได้สั่งไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 วรรคท้ายแห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว หาจำเป็นต้องมีการดำเนินการตามคำสั่งเดิมเสียก่อนจึงจะมีคำสั่งใหม่ได้ไม่ เมื่อศาลเห็นด้วยกับคำร้องก็มีอำนาจพิพากษาแก้เป็นให้มอบจำเลยให้แก่ผู้ร้อง ให้ผู้ร้องระวังจำเลยไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 212/2511 และ 1209/2511)