คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ม. 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7243/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สนับสนุนการกระทำผิดคดียาเสพติด: ความผิดฐานสนับสนุนและบทลงโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 และข้อ 1.2 แยกต่างหากจากกัน โดยฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนีไปยังไม่ได้ตัวมาฟ้องสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมิได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งกรณีไม่อาจนำเอาการบรรยายฟ้องข้อ 1.2 มาประกอบฟ้องข้อ 1.1 ได้ เพราะเป็นการฟ้องคนละฐานความผิดกัน ฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาในคำฟ้องด้วยก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์ข้อดังกล่าวได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวโดยการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำนิยาม ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ว่าหมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย จึงพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจำหน่ายให้แก่สายลับในที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 2 ขับรถกระบะของกลางพาจำเลยที่ 1 กับ จ. ไปดูเงินที่จะใช้ล่อซื้อและมารับจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13989/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลจำเลยให้ความร่วมมือไม่ถึงขั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปราบปรามยาเสพติด ศาลไม่ลดโทษ
เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบกัญชาอัดแท่งของกลางแล้วจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และสอบถามเกี่ยวกับของกลาง ในระหว่างนั้น ด. ได้โทรศัพท์มาที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 บอกเปลี่ยนสถานที่ส่งกัญชาอัดแท่ง โดยให้ส่งแก่ ก. เจ้าพนักงานตำรวจจึงควบคุมพาจำเลยที่ 1 และที่ 2 เดินทางไปเพื่อติดต่อส่งกัญชาอัดแท่งให้แก่ ก. ตามที่ ด. สั่ง แล้วให้จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อนัดพบ ก. เมื่อพบ ก. กับพวกแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจึงแสดงตัวทำการจับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น เป็นแต่เพียงการสืบสวนขยายผลติดตามจับผู้กระทำผิดตามกฎหมายไปตามปกติของเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งกระทำอยู่แล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2025/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบซื้อขายยาเสพติด, ครอบครองเพื่อจำหน่าย, เจตนาเดียว, โทษหนักสุด, ยกฟ้องจำเลยที่ 2
การที่ ล. และ น. สามีภริยากันติดต่อซื้อขายยาเสพติดให้โทษกับจำเลยที่ 1 โดยใช้โทรศัพท์และ ล. กับ น. ตกลงว่าจ้างให้ ก. กับ จ. ลำเลียงยาเสพติดให้โทษไปจากจังหวัดเชียงรายเพื่อส่งมอบให้ อ. ผู้มารับช่วงลำเลียงต่อที่กรุงเทพมหานคร โดย อ. ไม่เคยรู้จัก ก. กับ จ. มาก่อน แต่จะติดต่อกันทางโทรศัพท์ หลังจาก อ. ได้รับยาเสพติดให้โทษจาก ก. กับ จ. แล้ว ก็จะลำเลียงต่อไปยังอำเภอหาดใหญ่เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ซื้ออีกทอดหนึ่ง ลักษณะการตกลงกันเพื่อให้มีการขายและส่งมอบยาเสพติดให้โทษเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการคบคิดร่วมกัน อันเป็นความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานเป็นผู้สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 และข้อเท็จจริงได้ความว่าในที่สุดได้มีการส่งมอบยาเสพติดให้โทษของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 รับไว้ในครอบครองแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและความผิดฐานเป็นผู้สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม มาตรา 8 วรรคสอง อีกด้วย แต่การกระทำความผิดทั้งสองข้อหามีเจตนาเดียวกันคือ เจตนาเพียงเพื่อต้องการมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4816/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานอ่อนแอ ไม่สามารถลงโทษจำเลยในข้อหายิงผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ศาลฎีกาแก้ไขโทษและรอการลงโทษ
แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพและไม่สืบพยาน แต่พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนัก จึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยในข้อหาร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายตามฟ้องได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยรวม 2 กระทง จำคุก 1 ปีและให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีกำหนด 1 ปี ศาลอุทธรณ์เห็นไม่สมควรเปลี่ยนโทษจำเลยโดยส่งตัวไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จึงเป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 219 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534 มาตรา 6
ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่มีเครื่องกระสุนปืนเท่านั้น แต่เครื่องกระสุนปืนตามฟ้องคือกระสุนซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามฟ้อง ทั้งโจทก์ก็ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดตาม มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง เมื่อฟังว่าเป็นอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 7, 72 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1491/2540 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดสิทธิอุทธรณ์และฎีกาในคดีเยาวชน กรณีศาลใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนเกิน 3 ปี
ในคดีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวได้กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 ที่มิใช่การพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปีแล้ว ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีสำหรับเด็กและเยาวชน และคู่ความจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อดังกล่าวได้เท่านั้น ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121, 122
สำหรับการฎีกา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124 บัญญัติว่า คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 121ซึ่งมีความหมายว่า คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 นั้น ย่อมต้องห้ามฎีกาไปด้วยโดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาได้ดังเช่นกรณีอุทธรณ์
ศาลเยาวชนและครอบครัวพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 จำคุก4 ปี และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน เมื่อจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษแก่จำเลยโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ได้และศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามมาตรา 124 ทั้งคดีไม่อาจมีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้แล้ว ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา122 และกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ การที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 3 โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 3 มานั้น เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่รับวินิจฉัยให้