คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 70 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 47 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9150/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีจากกำไรที่จำหน่าย การประเมินโดยวิธีอื่นเมื่อไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิได้ และการนำบทบัญญัติอนุสัญญาภาษีซ้อนมาใช้
บทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มิได้ห้ามเจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการออกหมายเรียกที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ เจ้าพนักงานประเมินยกเลิกหมายเรียกฉบับเดิมและออกหมายเรียกฉบับใหม่ เพราะเห็นว่าหมายเรียกฉบับเดิมมีข้อบกพร่องเนื่องจากไม่ครอบคลุมถึงการไต่สวนในส่วนภาษีอากรที่โจทก์ไม่ยื่นรายการ มิใช่เพราะการเรียกตรวจสอบตามหมายเรียกฉบับเดิมได้เสร็จสิ้นลงแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการออกหมายเรียกโจทก์มาตรวจสอบไต่สวนซ้ำกับปีที่เคยออกหมายเรียกไปแล้ว เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจแก้ไขโดยยกเลิกหมายเรียกฉบับเดิมและออกหมายเรียกฉบับใหม่อีกครั้ง เพื่อสั่งให้โจทก์นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องการจำหน่ายเงินกำไรมาแสดงได้ตามมาตรา 23
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรโจทก์พร้อมขออนุมัติขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกเนื่องมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงอากร ซึ่งผู้อำนวยการสำนักบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ได้อนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบตามมาตรา 19 แห่ง ป.รัษฎากร แล้ว โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดว่าเจ้าพนักงานประเมินจะต้องขออนุมัติขยายเวลาการออกหมายเรียกภายในระยะเวลา 2 ปี และคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรที่อนุมัติให้ขยายเวลาออกหมายเรียกดังกล่าวเป็นเพียงการสั่งการภายในส่วนราชการ ยังไม่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างกรมสรรพากรและผู้ยื่นรายการที่จะทำให้ผู้ยื่นรายการมีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากร จึงไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ การที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543 เกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการจึงชอบแล้ว
ส่วนการออกหมายเรียกสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 เจ้าพนักงานประเมินได้ขออนุมัติขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกและออกหมายเรียกใหม่ ซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว แม้จะเป็นการอนุมัติภายหลังจากที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่เจ้าพนักงานประเมินก็ได้ยกเลิกการประเมินภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบตามหมายเรียกเดิมนี้ไปด้วย และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็มีมติให้จำหน่ายคำอุทธรณ์แล้ว ต้องถือเสมือนไม่มีการประเมินที่จะทำให้เสียหายแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินครั้งใหม่ตามหมายเรียกฉบับใหม่ต่อไป การออกหมายเรียกตรวจสอบใหม่ของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 เกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการจึงชอบแล้วเช่นกัน
ส่วนกรณีจำหน่ายเงินกำไรนั้น เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยออกหมายเรียกและทำการประเมินตามมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกรณีไม่มีกำหนดเวลาในการออกหมายเรียก การออกหมายเรียกตรวจสอบในส่วนนี้จึงชอบแล้ว
ข้อที่โจทก์หยิบยกอ้างว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยเป็นเพียงเหตุผลข้ออื่นและรายละเอียดที่โจทก์กล่าวอ้างเพิ่มเติมจากเดิมเพื่อสนับสนุนคำอุทธรณ์ฉบับเดิม เมื่อคำวินิจฉัยอุทธรณ์เพียงพอที่จะเข้าลักษณะเป็นเหตุผลแห่งการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว แม้เหตุผลจะแตกต่างจากข้ออ้างของโจทก์ แต่ก็เป็นการโต้แย้งในประเด็นเรื่องเดียวกันซึ่งเหตุผลย่อมแตกต่างกันไป ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยโดยจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว
พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร แก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ข้อ 7 วรรคหนึ่ง ระบุว่า เงินได้ที่จะต้องเสียภาษีในประเทศไทย จะต้องเป็นเงินได้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยผ่านสถานประกอบการถาวร อีกทั้งจะต้องเก็บจากกำไรเพียงเท่าที่พึงถือว่าเป็นของสถานประกอบการถาวรนั้นเท่านั้น โจทก์และกิจการร่วมค้าทำสัญญากับบริษัท ท. เพื่อการวิศวกรรม ออกแบบ และการติดตั้ง เคเบิลใยแก้วในโครงการส่วนขยายโครงข่ายสื่อสัญญาณสำหรับชุดเคเบิลใยแก้วนำแสง ซึ่งได้ลงนามในสัญญาที่ทำไว้ฉบับเดียวกัน และเมื่อพิจารณาข้อสัญญาดังกล่าวเป็นลักษณะของการจ้างทำของจนสำเร็จที่ตกลงให้ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ ไม่มีข้อความตอนใดระบุให้เห็นชัดแจ้งว่าคู่สัญญามีเจตนาแยกเป็นสัญญาซื้อขายสัมภาระและสัญญาจ้างทำของออกจากกัน แม้การจัดหาเคเบิลใยแก้วเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าผลิตจากโรงงานในต่างประเทศของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การจัดหาเคเบิลใยแก้วของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจรับจ้างทำของในประเทศไทย ค่าเคเบิลใยแก้วจึงเป็นรายได้จากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย และปรากฏจากสัญญาว่า โจทก์มีสำนักงานในประเทศไทย มี บ. ผู้จัดการทั่วไปเป็นผู้แทน สำนักงานโจทก์โดย บ. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การเจรจาต่อรองทำสัญญารายพิพาทด้วย จึงเข้าลักษณะที่โจทก์มีสถานประกอบการถาวรประเภท ค) สำนักงาน ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้สาขาโจทก์ในประเทศไทยอันเป็นสถานประกอบการถาวรประเภท ข) สาขา ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าว ยังได้เข้าดำเนินการในส่วนการรับจ้างติดตั้งทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการประกอบธุรกิจตามสัญญาเดียวกันที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย กำไรของวิสาหกิจจึงย่อมต้องเสียภาษีในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าว
เจ้าพนักงานประเมินเรียกให้สาขาโจทก์ในประเทศไทยส่งเอกสารเกี่ยวกับต้นทุนสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพื่อตรวจสอบภาษีที่จะต้องเสียในนามโจทก์ แต่โจทก์มิได้ส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับต้นทุนสินค้าเคเบิลใยแก้วให้แก่เจ้าพนักงานประเมิน ย่อมทำให้เจ้าพนักงานตรวจสอบไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทในส่วนการจัดหาเคเบิลใยแก้วได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีเหตุที่จะนำบทบัญญัติมาตรา 71 (1) มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอาจแลกเปลี่ยนข้อสนเทศอันจำเป็นแก่การปฏิบัติการตามอนุสัญญาและตามกฎหมายภายในเกี่ยวกับภาษีอากรตามข้อ 26 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับดังกล่าวก็ไม่เป็นการลบล้างอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินที่มีอยู่ตามมาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1) ไปได้ และแม้ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน จะไม่มีข้อบทใดกำหนดให้ประเมินภาษีโดยวิธีการตามมาตรา 71 (1) แต่อนุสัญญาฉบับดังกล่าวก็มิได้มีข้อบทใดกำหนดให้ใช้วิธีการแบ่งผลกำไรทั้งสิ้นของวิสาหกิจไปยังสถานประกอบการถาวรหรือวิธีการคำนวณอย่างอื่นในกรณีที่ไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิได้ไว้เป็นการเฉพาะ จึงย่อมนำบทบัญญัติใน ป.รัษฎากร มาใช้บังคับแก่กรณีได้เท่าที่ไม่ขัดกับส่วนอื่นของอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ก็มิได้นำสืบพิสูจน์ว่ากำไรสุทธิของโจทก์ในความเป็นจริงมีจำนวนน้อยกว่าภาษีที่ประเมินตามมาตรา 71 (1) การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินกำไรสุทธิโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1) จึงถูกต้องและเหมาะสมแล้ว
กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่ง ป.รัษฎากร คือกำไรสุทธิที่คำนวณจากรายได้รายจ่ายจากกิจการทุกส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ๆ มิใช่แยกคำนวณเป็นรายกิจการไป โจทก์จึงชอบที่ต้องจะคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิจากรายได้รายจ่ายของการจัดหาเคเบิลใยแก้วรวมกันไปกับการรับจ้างทำของด้วย และเมื่อรายได้ในส่วนการจัดหาเคเบิลใยแก้วของโจทก์เป็นกรณีที่ไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิได้ กรณีก็ย่อมถือได้ว่ารายได้ทั้งหมดของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทนั้นไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิได้ไปด้วย เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับทั้งหมดของรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท ตามมาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1) ซึ่งการประเมินตามมาตรา 71 (1) นี้ ไม่คำนึงว่ารายรับส่วนหนึ่งส่วนใดของรอบระยะเวลาบัญชีจะมีกำไรหรือขาดทุน ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงต้องนำยอดรายรับจากการรับจ้างทำของในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทที่โจทก์อ้างว่าขาดทุนมารวมเป็นฐานรายรับในการประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) ด้วยหาใช่ต้องแยกกิจการรับจ้างทำของออกมาคำนวณรายได้หักด้วยรายจ่ายดังที่โจทก์อ้าง
คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) ย่อมต้องถือว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทโดยคำนวณจากยอดกำไรสุทธิ แต่ต้องเสียโดยคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งกรณีเช่นนี้เป็นการเสียภาษีโดยไม่คำนึงถึงรายจ่ายใด ๆ ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจนำรายจ่ายซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไป ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 7 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับดังกล่าวมาหักจากยอดรายรับได้
โจทก์ต้องคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิจากรายได้รายจ่ายของการจัดหาเคเบิลใยแล้วรวมกันไปกับการรับจ้างทำของด้วย แม้โจทก์จะอ้างว่าการรับจ้างทำของจะมีผลขาดทุนก็ตาม แต่เมื่อรวมกับการจัดหาเคเบิลใยแก้วซึ่งไม่สามารถคำนวณกำไรหรือขาดทุนได้แล้ว กรณีไม่อาจจะรับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์ไม่มีเงินกำไรในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท เงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ท. จึงมิใช่เฉพาะส่วนที่เป็นเงินค่าต้นทุนเคเบิลใยแก้วเท่านั้น แต่เป็นเงินที่เป็นส่วนของเงินกำไรหรือถือได้ว่าเป็นเงินกำไรรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงต้องเสียภาษีในจำนวนเงินกำไรที่จำหน่ายนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร
การที่โจทก์ชำระภาษีไม่ถูกต้องเนื่องมาจากโจทก์ไม่พิสูจน์ต้นทุนสินค้าและกำไรของโจทก์ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ทราบดีอยู่แล้ว เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิที่แท้จริงของโจทก์ได้ จึงต้องใช้การประเมินโดยวิธีอื่น แล้วโจทก์ก็อาศัยบทบัญญัติอนุสัญญาภาษีซ้อนมาเป็นข้อโต้แย้งการประเมินเพื่อจะไม่ต้องเสียภาษี อันเป็นลักษณะของการพยายามปกปิดจำนวนเงินกำไรที่แท้จริง และหาทางตีความสัญญารายพิพาทไปในทางที่จะนำบทบัญญัติอนุสัญญาภาษีซ้อนมาใช้อ้างเพื่อประโยชน์แก่ตน นอกจากนี้จำนวนเงินภาษีที่โจทก์ชำระไม่ถูกต้องดังกล่าวก็เป็นจำนวนสูงมาก และยังเป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายรอบระยะเวลาบัญชี จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7323/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายเงินกำไรออกนอกประเทศและค่าใช้จ่ายที่หักลดหย่อนได้ การประเมินภาษีถูกต้องตามกฎหมาย
พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร แก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ" ดังนั้น หากข้อตกลงตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ขัดแย้งกับบทบัญญัติใน ป.รัษฎากร จะต้องถือตามความตกลงดังกล่าวซึ่งเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติตาม ป.รัษฎากร และความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ข้อ 7 (3) ระบุว่า "ในการกำหนดกำไรของสถานประกอบการถาวร ให้ยอมให้หักค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรนั้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการถาวรนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น" ข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่า นอกจากค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้แล้ว ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธินำค่าใช้จ่ายที่มีขึ้นเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะและค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในประเทศไทยซึ่งสถานประกอบการถาวรของโจทก์ตั้งอยู่หรือที่อื่นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้
แต่ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ฯ ข้อ 7 (3) ไม่ได้วางหลักเกณฑ์ว่าค่าใช้จ่ายที่ปันส่วนมาจากต่างประเทศต้องคำนวณโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์และพยานหลักฐานใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 โจทก์มีค่าใช้จ่ายปันส่วนจากสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาคเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิสำหรับสาขาในประเทศไทย 223,525,955.62 บาท โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์ว่า จำนวนรายจ่ายที่ปันส่วนจากสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาคมีจำนวนที่เหมาะสมไม่เกินสมควร เป็นไปเพื่อความจำเป็นของกิจการสาขาในประเทศไทยเพียงใด แต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวิธีการที่โจทก์นำมาใช้มีความเหมาะสม เป็นไปเพื่อความจำเป็นของกิจการสาขาในประเทศไทยเพียงใด จึงนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้
กรณีจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ตามมาตรา 70 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ให้เสียภาษีเงินได้โดยหักภาษีจากจำนวนเงินที่จำหน่ายนั้น..." และวรรคสอง "การจำหน่ายเงินกำไรตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง (1) การจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรจากบัญชีกำไรขาดทุนหรือบัญชีอื่นใด ไปชำระหนี้หรือหักกลบลบหนี้หรือไปตั้งเป็นยอดเจ้าหนี้ในบัญชีของบุคคลใด ๆ ในต่างประเทศ..." เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายปันส่วนจำนวน 223,525,955.62 บาท มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ และโจทก์ไม่โต้แย้งว่าได้จ่ายเงินดังกล่าวออกไปต่างประเทศจริงในปี 2541 จำนวน 25,482,207.62 บาท ที่เหลือจำนวน 198,043,748 บาท โจทก์บันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 โดยตั้งสำนักงานในต่างประเทศเป็นเจ้าหนี้แล้วจ่ายเงินดังกล่าวทั้งหมดออกไปต่างประเทศจริงในปี 2542 จึงถือว่าเงิน 223,525,955.62 บาท เป็นเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13986/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรออกต่างประเทศ: การคำนวณและฐานภาษีที่ถูกต้อง
การจัดเก็บภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไร กฎหมายกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย จะต้องหักภาษีจากจำนวนเงินที่จำหน่ายแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการจำหน่ายเงินกำไร อันแสดงความหมายอยู่ในตัวว่า เมื่อมีการส่งเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยเมื่อใด ภาระภาษีย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้น
เมื่อลูกค้าได้โอนเงินค่าบริการให้แก่โจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรงหลายครั้ง เงินค่าบริการที่จำหน่ายออกไปมีส่วนของกำไรหรือถือได้ว่าเป็นเงินกำไรรวมอยู่ด้วย เนื่องจากการกำหนดราคาขายสินค้าหรือการให้บริการโดยทั่ว ๆ ไป ผู้ประกอบธุรกิจย่อมต้องคิดค่าสินค้าหรือค่าจ้างรวมเอาส่วนที่เป็นผลกำไรไว้ในราคาสินค้าหรือค่าจ้างนั้นด้วย จึงต้องถือว่าสาขาของโจทก์ในประเทศไทยเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร สาขาของโจทก์ในประเทศไทยจึงต้องหักภาษีจากจำนวนเงินที่จำหน่ายในอัตราร้อยละ 10 และนำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลูกค้าชำระค่าบริการแก่โจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกาในแต่ละครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สาขาของโจทก์จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1229/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเว้นภาษีซ้อน: ค่าใช้จ่ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่างประเทศ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรแก่บุคคลตามสัญญา ว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ ดังนั้น หากข้อตกลงตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุนขัดแย้งกับบทบัญญัติใน ป.รัษฎากร จะต้องถือตามความตกลงดังกล่าวซึ่งเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติตาม ป.รัษฎากร เมื่อความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีดังกล่าว ข้อ 7 (3) ระบุว่า "ในการกำหนดกำไรของสถานประกอบการถาวรให้ยอมให้หักค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการนั้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการถาวรนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น" ข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่า นอกจากค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้แล้ว ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะหากตีความว่าแม้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปก็ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่มีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรเท่านั้นแล้ว ข้อตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนก็ไม่จำต้องมีขึ้น เพราะรายจ่ายใดที่มีขึ้นเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะย่อมนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้โดยไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (14) อยู่แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายที่สำนักงานใหญ่ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสำนักงานภูมิภาคสาธารณรัฐสิงค์โปร์เฉลี่ยมาไม่ได้คำนวณมาอย่างเหมาะสมและตามสัดส่วนของจำนวนสาขาที่มีอยู่ทั่วโลกอย่างไร โจทก์จึงมีสิทธินำค่าใช้จ่ายเฉลี่ยดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และไม่อาจถือว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นเงินกำไรที่โจทก์จำหน่ายออกไปจากประเทศไทย อันจะต้องเสียภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายเงินกำไรออกจากไทยโดยผ่านตัวแทน: ภาระภาษีตามมาตรา 70 ทวิ
บริษัท ซ. จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นนิติบุคคลต่างประเทศและไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย ส่วนโจทก์เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แม้โจทก์จะเป็นเพียงนายหน้าทำหน้าที่ชี้ช่องให้แก่บริษัท ซ. จำกัดและผู้ซื้อหรือหน่วยงานในประเทศไทยเจรจาซื้อขายสินค้าระหว่างกันเอง และผลตอบแทนที่โจทก์ได้รับมีเพียงค่านายหน้าจากบริษัท ซ. จำกัด และการชำระราคาสินค้า ผู้ซื้อสินค้าจะชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัท ซ. จำกัด โดยตรงด้วยวิธีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต หรือหน่วยงานเจ้าของโครงการจ่ายเงินค่าสินค้าและค่าจ้างให้แก่บริษัท ซ. จำกัดโดยตรง โดยจ่ายให้แก่สำนักงานชั่วคราวของบริษัทที่ประจำอยู่ ณ หน่วยงานในโครงการเพื่อเป็นรายจ่ายในประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานได้จ่ายเงินบาททั้งหมดในประเทศไทย หรือจ่ายให้แก่บริษัท ซ. จำกัด โดยตรงโดยวิธีเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัท ซ. จำกัดไปเบิกเงินจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลประเทศญี่ปุ่นโดยตรงก็ตาม แต่เมื่อการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการกรณีนี้ระหว่างผู้ซื้อในประเทศไทยกับบริษัท ซ. จำกัดเป็นการทำสัญญาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีโจทก์เป็นผู้กระทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อให้กับบริษัท ซ. จำกัด ในประเทศไทย อีกทั้งโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัท ซ. จำกัด การที่โจทก์เข้าไปผูกพันกับบริษัท ซ. จำกัดในการยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน โจทก์ย่อมรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของบริษัทดังกล่าวเป็นอย่างดี โจทก์มีความใกล้ชิดกับบริษัทดังกล่าวเป็นอย่างมาก มิเช่นนั้นโจทก์คงไม่เข้าไปผูกพันกับบริษัทดังกล่าวเช่นนั้นโจทก์จึงมิใช่เป็นเพียงตัวแทนธรรมดาทั่วไปที่หาลูกค้าให้บริษัทดังกล่าวเท่านั้น การที่บริษัท ซ. จำกัด มีข้อตกลงกับลูกค้าเกี่ยวกับการส่งเงินหรือค่าตอบแทนโดยตรงหรือการเบิกเงินจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ก็เป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการตามที่โจทก์ตกลงกับบริษัท ซ. จำกัด เท่านั้น โจทก์จะนำความแตกต่างเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าหรือค่าจ้างเพียงเท่านี้มาเป็นเหตุให้เกิดภาระภาษีที่แตกต่างกันหาได้ไม่ แม้ลูกค้าจะเป็นผู้ส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่บริษัท ซ. จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศญี่ปุ่นโดยตรงก็หามีผลแตกต่างไปจากการที่ลูกค้าส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อแล้วโจทก์จึงส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างดังกล่าวไปให้บริษัท ซ. จำกัด อีกทอดหนึ่ง เพราะไม่ว่าโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อจะเป็นผู้ส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างออกไปเองหรือให้ลูกค้าของบริษัทดังกล่าวชำระค่าสินค้าหรือค่าจ้างทั้งหมดให้ในต่างประเทศโดยตรงด้วยวิธีการต่าง ๆ ข้างต้น ก็มีผลทำให้บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่ถือว่าประกอบกิจการในประเทศไทยได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย และเมื่อเงินที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยมีส่วนของกำไรหรือถือว่าเป็นกำไรรวมอยู่ด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 70 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษี, ผู้ทำการแทนบริษัทต่างประเทศ, ภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย, การประเมินภาษี
โจทก์เป็นผู้ทำการแทนบริษัท ม. ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัทดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ ซึ่งให้ถือว่าบริษัท ม. ประกอบกิจการในประเทศไทย และบุคคลผู้เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นเป็นตัวแทนของบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่กล่าวแล้ว ซึ่งการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีการจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ อยู่ในส่วนนี้ด้วย ดังนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยด้วย หากเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 70 ทวิ กำหนดไว้
บริษัท ม. เป็นนิติบุคคลต่างประเทศและไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย ส่วนโจทก์เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเป็นนายหน้าทำหน้าที่ชี้ช่องให้บริษัท ม. และผู้ซื้อในประเทศไทยได้ซื้อขายสินค้ากันเท่านั้น โจทก์จะหาข้อมูลตามความต้องการของผู้ซื้อในประเทศไทยว่ามีผู้ซื้อรายใดที่ประสงค์จะซื้อสินค้าประเภทใด เมื่อโจทก์ทราบข้อมูลแล้วจะแจ้งให้บริษัท ม. ทราบ เพื่อให้บริษัท ม. ติดต่อกับผู้ซื้อและเจรจาซื้อขายในรายละเอียดกันเอง ผลตอบแทนที่โจทก์ได้รับมีเพียงค่านายหน้าจากบริษัท ม. เมื่อผู้ซื้อในประเทศไทยและบริษัท ม. ตกลงซื้อขายสินค้ากันแล้ว ผู้ซื้อจะชำระเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัท ม. โดยตรงด้วยวิธีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต เมื่อการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ซื้อในประเทศไทยกับบริษัท ม. เป็นการทำสัญญาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีโจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อให้แก่บริษัท ม. ในประเทศไทย อีกทั้งโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัท ม. โจทก์จึงมิใช่เป็นเพียงตัวแทนธรรมดาทั่วไปที่หาลูกค้าให้บริษัท ม. เท่านั้น ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะเป็นผู้ส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างออกไปเองหรือให้ลูกค้าของบริษัท ม. ชำระค่าสินค้าหรือค่าจ้างทั้งหมดให้แก่บริษัท ม. ในต่างประเทศโดยตรงด้วยการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต หรือบริษัท ม. ไปเบิกเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ก็ถือได้ว่ามีผลทำให้บริษัท ม. ได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทยและเมื่อเงินที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยมีส่วนของกำไรหรือถือได้ว่าเป็นกำไรรวมอยู่ด้วย เนื่องจากในการกำหนดราคาขายสินค้าหรือให้บริการ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะต้องคิดค่าสินค้าหรือค่าจ้างรวมเอาส่วนที่เป็นผลกำไรไว้ด้วย เมื่อไม่ปรากฏปัจจัยอื่นที่จะมีผลทำให้กำไรที่คำนวณไว้โดยปกติธรรมดาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะทำให้มีการขาดทุน จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ
ตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนบริษัท ม. ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ ว่า ในกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการที่จะเรียกให้ผู้ทำการแทนรับผิดตามมาตรา 76 ทวิ วรรคแรกนั้น เจ้าพนักงานประเมินจะต้องดำเนินการตามมาตรา 19 และ 20 ก่อน โจกท์จึงเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย แม้ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จะแจ้งแก่โจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนบริษัท ม. แต่โจทก์ในฐานะสถานประกอบการถาวรของบริษัท ม.ได้จ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเข้ามาควบคุมติดตั้งเครื่องจักรในโครงการต่างๆ ที่บริษัท ม. ได้รับอนุญาตให้ทำในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินคือโจทก์ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไปแล้วแต่กรณี ตามมาตรา 54 โจทก์ย่อมเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรงเช่นกัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและหัก ณ ที่จ่าย กรณีบริษัทต่างประเทศมีสำนักงานสาขาในไทย และบทบาทหน้าที่ของผู้ทำการแทน
ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นระบุว่า กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใด จะยังคงใช้บังคับในการเก็บภาษีอากรจากเงินได้ในรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ เว้นแต่ในกรณีที่บทของอนุสัญญานี้ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การที่บริษัทดังกล่าวจะนำรายจ่ายค่ารับรองและเงินสำรองบำเหน็จพนักงานมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย บริษัทดังกล่าวจะต้องปฏิบัติไปตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ด้วย
ผู้เป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทยอยู่ในขอบข่ายที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยด้วย หากเข้าเงื่อนไขตามที่ ป. รัษฎากร มาตรา 70 ทวิ กำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อความเสมอภาคในการเสียภาษีให้แก่รัฐบาลไทยเช่นเดียวกับกรณีที่บริษัทต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยในลักษณะของสำนักงานสาขา ซึ่งหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีตามมาตรา 70 ทวิ ให้จัดเก็บจากจำนวนเงินกำไรที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลต่างประเทศที่ได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย เมื่อการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการระหว่างผู้ซื้อในประเทศไทยกับบริษัท ม. เป็นการทำสัญญาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การที่โจทก์เข้าไปผูกพันกับบริษัท ม. ในการยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน โจทก์ย่อมรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของบริษัท ม. เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัท ม. อย่างมาก มิฉะนั้นโจทก์คงไม่เข้าไปผูกพันกับบริษัท ม. เช่นนั้น ดังนั้น การที่บริษัท ม. มีข้อตกลงให้ลูกค้าในประเทศไทยส่งเงิน หรือจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัท ม. ด้วย วิธีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารพาณิชย์ชำระให้แก่บริษัท ม. โดยตรง หรือบริษัท ม. ไปเบิกเงินจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลประเทศญี่ปุ่นโดยตรง จึงเป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้า หรือค่าบริการตามที่โจทก์ตกลงกับบริษัท ม. เท่านั้น โจทก์จะนำความแตกต่างเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าหรือค่าจ้างเพียงเท่านี้ มาเป็นเหตุให้เกิดภาระภาษีที่แตกต่างกันหาได้ไม่ แม้ลูกค้าจะเป็นผู้ส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่บริษัท ม. ซึ่งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยตรงก็ตาม ก็หามีผลผิดแผกแตกต่างไปจากการที่ลูกค้าส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ แล้วโจทก์จึงส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างดังกล่าวไปให้บริษัท ม. อีกทอดหนึ่ง จึงต้องถือว่าโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 ทวิ (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)
กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย แม้ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จะแจ้งแก่โจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนบริษัท ม. แต่โจทก์ในฐานะสถานประกอบการถาวรของบริษัท ม. ได้จ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเข้ามาควบคุมติดตั้งเครื่องจักรในโครงการต่าง ๆ ที่บริษัท ม. ได้รับอนุญาตให้ทำในประเทศไทย เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นผู้จ่ายเงินตาม ป. รัษฎากร มาตรา 50 มิได้หักและนำส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินคือโจทก์ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 54 โจทก์จึงเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรงย่อมมีอำนาจฟ้อง
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 6/2548)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6647/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายเงินกำไรไปต่างประเทศเพื่อประโยชน์สำนักงานใหญ่ และการหักค่าภาษีที่ไม่สมควรเป็นรายจ่าย
เมื่อรายจ่ายที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทผู้รับจ้างที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ไม่ใช่รายจ่ายตามสัญญาการให้บริการด้านจัดหาพัสดุเคมีภัณฑ์และตามสัญญาการให้บริการด้านการบริหารที่โจทก์ทำกับบริษัทผู้รับจ้าง รายจ่าย ดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์กำหนดจ่ายขึ้นเองโดยไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ที่แท้จริง ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่ รายจ่ายเพื่อกิจการของโจทก์ในประเทศไทยโดยเฉพาะตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (14)? โจทก์จึงไม่อาจนำรายจ่ายดังกล่าวมาคิดคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทได้
การจัดเก็บภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ให้จัดเก็บจากจำนวนเงินกำไรที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ มิใช่จัดเก็บจากจำนวนกำไรสุทธิ หากเป็นรายจ่ายที่แท้จริงของกิจการที่กิจการจ่ายออกไปจากประเทศไทย แม้จะเป็นรายจ่ายที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1) ไม่ให้ถือเป็น รายจ่าย จำเลยก็ไม่มีอำนาจจัดเก็บภาษีจากจำนวนเงินดังกล่าวเพราะมิใช่จำนวนเงินกำไรที่แท้จริงของกิจการที่ได้มี การจำหน่ายออกไปจากประเทศไทย เมื่อสาขาของโจทก์ในประเทศไทยส่งเงินที่อ้างว่าเป็นส่วนเฉลี่ยรายจ่าย ซึ่งเป็น รายจ่ายที่โจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ที่แท้จริงให้แก่บริษัทผู้รับจ้างซึ่งเป็นบริษัทตั้งอยู่ใน ต่างประเทศ โดยโจทก์ให้บริษัทผู้รับจ้างเรียกเก็บหนี้จากผู้ว่าจ้างโจทก์ให้โจทก์ แล้วผู้ว่าจ้างโจทก์จะจ่ายเงินค่าตอบแทนดังกล่าวไปยังบริษัทผู้รับจ้าง ดังนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าสาขาของโจทก์ในประเทศไทยจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตาม ประมวลรัษฎากรมาตรา 70 ทวิ อีกส่วนหนึ่งด้วย
เมื่อไม่ปรากฏว่าสาขาของโจทก์ในประเทศไทยมีพฤติการณ์จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรที่แท้จริงออกไปจากประเทศไทย เพื่อผลประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ใน ต่างประเทศ แม้เป็นกรณีมิใช่หนี้สูญที่แท้จริงหรือมิใช่หนี้สูญที่ได้ตัดจ่ายจากบัญชีของโจทก์จริง หรือโจทก์จำหน่ายหนี้สูญโดยไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (9) ประกอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 181(พ.ศ. 2532) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่สามารถนำหนี้สูญจำนวนดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ แม้จะเป็นผลให้โจทก์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นตามรายจ่ายต้องห้ามดังกล่าวก็ตาม แต่จะนำมาถือว่าโจทก์จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยหาได้ไม่
ภาระภาษีการค้าและภาระภาษีอากรแสตมป์ที่เกิดขึ้นจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถกำหนดจ่ายได้จริงและแน่นอนจนกว่าหนี้ค่าภาษีอากรตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นที่ยุติโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมิน หรืออุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยประเมินภาษีการค้าและอากรแสตมป์โจทก์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 และโจทก์ชำระภาษีดังกล่าวในวันที่ 15 มีนาคม 2538 โดยมิได้อุทธรณ์การประเมิน รายจ่ายค่าภาษีการค้าและอากรแสตมป์ที่พิพาทจึงยังไม่สามารถกำหนดจ่ายได้จริงและแน่นอนในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตรวจสอบ รายจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่รายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ถูกตรวจสอบภาษีอากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8327/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายได้จากค่าวัสดุอุปกรณ์ได้รับการยกเว้นภาษีตามสนธิสัญญาฯ การประเมินภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรไม่ชอบ
สัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย คู่สัญญามีเจตนาแยกเป็นสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์และสัญญาจ้างทำของ ในส่วนสัญญาซื้อขายถือไม่ได้ว่าเกิดจากการประกอบธุรกิจโดยผ่านสถานประกอบการถาวรของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย เมื่อขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีสถานประกอบการถาวรตั้งอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น รายได้จากค่าวัสดุอุปกรณ์โจทก์จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรฯ โจทก์จึงไม่ต้องนำรายได้ค่าวัสดุอุปกรณ์ในปี 2532 และปี 2533 มาเป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 71(1) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 และปี 2533 ตามลำดับ
รายได้ค่าวัสดุอุปกรณ์โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และจำเลยไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการจำหน่ายเงินกำไรส่วนอื่นออกไปจากประเทศไทย การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เกณฑ์สิทธิในการคำนวณภาษี, การเว้นภาษีซ้อน, และข้อจำกัดในการอุทธรณ์คดีภาษีอากร
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2527 มาตรา 20 บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี โดยรายได้ที่นำมาคำนวณให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะใช้เกณฑ์อย่างอื่นแทนเกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร เมื่อโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิเพื่อคำนวณรายได้และรายจ่าย ทั้งกิจการของโจทก์มิใช่กิจการตามประเภทระบุไว้ในคำสั่งกรมสรรพากรที่จะทำให้โจทก์สามารถใช้เกณฑ์อื่นในการคำนวณกำไรสุทธิได้แต่อย่างใด ดังนั้นโจทก์จึงต้องใช้ระบบบัญชีเกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี โจทก์จะใช้ระบบบัญชีเกณฑ์เงินสดในการคำนวณกำไรสุทธิหาได้ไม่
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าดอกเบี้ยค้างรับมิใช่รายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องใช้เกณฑ์สิทธินั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ค่าใช้จ่ายที่จะถือว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามตาม ป.รัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18) หรือไม่นั้น โจทก์ต้องพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงิน เมื่อโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินจำนวนดังกล่าว ย่อมเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (18)
แม้เงินกำไรที่พิพาทจะเป็นเงินกำไรที่บริษัท น.ประเทศญี่ปุ่นได้มาจากการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยโดยตรง ไม่ได้ขายสินค้าโดยผ่านโจทก์ซึ่งเป็นสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยเลย แต่เมื่อเงินกำไรที่บริษัท น.ประเทศญี่ปุ่น ได้จากการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยโดยตรงนั้นเป็นกิจกรรมเช่นที่โจทก์ซึ่งเป็นสถานประกอบการถาวรได้ประกอบอยู่โดยปกติ และโจทก์สามารถปฏิบัติได้ จึงถือว่ากำไรที่พิพาทกันเป็นกำไรที่เกิดจากโจทก์ตามความในวรรค 4 ของหนังสือที่ผู้แทนรัฐบาลไทยและผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นจัดทำขึ้น ประกอบกับข้อ 3 วรรค 1 แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ โจทก์จึงต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 66 วรรคสองดังนั้น เมื่อมีการส่งเงินกำไรดังกล่าวออกจากประเทศไทย แม้ว่าลูกค้าในประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งให้แก่บริษัท น.ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของโจทก์ ก็ย่อมถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นสาขาเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรนั้นออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตาม มาตรา 70 ทวิ
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์คำนวณกำไรขั้นต้นถูกต้อง และในการคำนวณกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่ โจทก์มีสิทธินำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรับรองและค่าเสื่อมราคามาเฉลี่ยในการคำนวณได้นั้น โจทก์มิได้ยกข้อดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำฟ้อง แม้ว่าโจทก์และจำเลยจะได้สืบพยานและศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 5