พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7403/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุดมีผลผูกพันคดีแพ่งที่เกี่ยวข้อง การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
คดีนี้ ในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์มิได้ฎีกา ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายมิได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ อันจะใช้สิทธิฎีกาในคดีส่วนอาญาดังกล่าวได้ คดีส่วนอาญาย่อมยุติและถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์จึงถือได้ว่า จำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิดกับพวก แม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาท และไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญารับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิด ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ข้อเท็จจริงในส่วนคดีแพ่งจึงต้องฟังว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ตายอันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของนายจ้างต่อการละเมิดของลูกจ้าง และการพิพากษาเกินคำฟ้อง
ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้แม้จะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษากลับในส่วนนี้ คดีจึงไม่ห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก เดิมศาลฎีกาจึงไม่จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2มีหน้าที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ตามคำฟ้องดังกล่าวต้องฟังว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดแต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่พึงกระทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่อาศัยคำฟ้องไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกและวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2419/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำเลยมีหน้าที่จัดหาสัตวแพทย์ตรวจเนื้อสุกรชำแหละ หากละเลยถือเป็นการละเมิด โจทก์มีส่วนละเลยไม่บรรเทาความเสียหาย
โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่เกินห้าหมื่นบาท ส่วนโจทก์ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมกันมาเป็นคดีเดียวกัน แต่โจทก์ทั้งสามต่างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้โดยลำพังตนเอง แม้จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวกันเพื่อความสะดวกแต่การพิจารณาถึงสิทธิในการฎีกาต้องพิจารณาตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้อง การฟ้องคดีรวมกันหรือแยกกันย่อมไม่มีผลทำให้สิทธิในการฎีกาเปลี่ยนแปลงไป เมื่อปรากฏว่าค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 แต่ละคนเรียกร้องมาไม่เกินห้าหมื่นบาทการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นฎีกา จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดให้มีโรงฆ่าสัตว์ และต้องดูแลควบคุมให้การดำเนินการเป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ออกอาชญาบัตรให้แก่โจทก์เพื่อฆ่าสุกรในโรงฆ่าสัตว์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องจัดหาสัตวแพทย์มาตรวจเนื้อสุกรชำแหละก่อนนำออกไปจำหน่ายแก่ประชาชนในระหว่างเวลา 0.01 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกาการที่สัตวแพทย์เพิ่งมาตรวจเนื้อสุกรชำแหละ และตีประทับตราให้นำเนื้อสุกรชำแหละออกจากโรงฆ่าสัตว์ได้ในเวลาประมาณ 10 นาฬิกาจนเป็นเหตุให้เนื้อสุกรชำแหละของโจทก์เน่าเสียหาย เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มิได้จัดหาสัตวแพทย์มาตรวจเนื้อสุกรชำแหละภายในเวลาที่จะต้องตรวจตามหน้าที่ ถือได้ว่าเป็นการละเลย ประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ การที่โจทก์มีส่วนละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายโดยไม่นำเนื้อสุกรชำแหละที่ผ่านการตรวจจากสัตวแพทย์ และตีประทับตราแล้วออกจำหน่าย ทั้งที่อยู่ในช่วงเวลาที่จะสามารถจำหน่ายได้บ้างอันจะเป็นการบรรเทาความเสียหายให้ลดน้อยลงได้ ศาลเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินหลังการสมรส และผลกระทบต่อสิทธิในการอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึดในคดีล้มละลายของคู่สมรส
การยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ไม่ใช่เป็นการร้องต่อศาลเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ถอนยึดทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯมาตรา 158 แต่เป็นกรณีที่ร้องต่อศาลตามมาตรา 146 ว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ถอนการยึดไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์ต่อไป เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 เดิม ผู้ร้องร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปล่อยทรัพย์ที่ยึดจำนวน 20 รายการ เป็นเครื่องปรับอากาศและเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งผู้ร้องนำมาติดตั้งและประดับบ้านของผู้ร้อง และผู้ร้องได้ให้จำเลยทั้งสองอยู่อาศัยกับใช้สอยทรัพย์ 20 รายการนั้น โดยมิได้ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยทั้งสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่บุตรสาวโดยมิได้แยกทรัพย์ที่ยึดทั้ง 20 รายการมาเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยเฉพาะจึงฟังว่า ผู้ร้องได้ยกกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ยึดทั้ง 20 รายการให้บุตรสาวไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่ยึดทั้ง20 รายการ ไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปล่อยทรัพย์ที่ยึดทั้ง 20 รายการ นั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3482/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองปรปักษ์และการสิ้นสุดการครอบครองประโยชน์ โจทก์ฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้าม
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยบุกรุกและเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในที่พิพาทเป็นเงินเดือนละ 1,000 บาท ถือได้ว่าที่พิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท เมื่อจำเลยให้การว่า จำเลยได้ขอใช้ที่พิพาทจาก ส. ตลอดมาจนถึงปัจจุบันมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ยึดถือทำประโยชน์ในที่พิพาทมานานแล้วการครอบครองของโจทก์ย่อมสิ้นสุดลง โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทมาโดยตลอดมิได้ทิ้งร้าง การครอบครองจึงยังไม่สิ้นสุดลง เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248