คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119 วรรคท้าย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างสามารถยกเหตุเลิกจ้างที่ไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างขึ้นอ้างในภายหลังได้ในการต่อสู้คดีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การวินิจฉัยว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 มิได้บัญญัติว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้ และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าชดเชยมาใช้บังคับแก่กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นนายจ้างย่อมยกเหตุเลิกจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อต่อสู้คดีกับลูกจ้างที่ฟ้องว่านายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ แม้นายจ้างมิได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่แจ้งเหตุในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง ทำให้ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าวันหยุดพักผ่อนตามกฎหมาย
การเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้ายนั้น นายจ้างต้องระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างหรือแจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างเมื่อวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 และตามหนังสือของจำเลยฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยมิได้แจ้งเหตุและระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ที่จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ไปทำงานให้บริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งขันทางการค้าของจำเลยให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4)
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30" และมาตรา 119 วรรคท้าย บัญญัติว่า "การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้" แม้ศาลแรงงานกลางจะฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (2) แต่เมื่อจำเลยมิได้ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในหนังสือที่แจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน ฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2551 และไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้าง จำเลยจึงยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามมาตรา 67 ไม่ได้และยังต้องถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3645/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการแจ้งเหตุเลิกจ้างใหม่ นายจ้างต้องแจ้งเหตุเลิกจ้างให้ชัดเจนและทันเวลา หากไม่แจ้งสิทธิในการอ้างเหตุภายหลังไม่มี
โจทก์ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างทุกคนรวมทั้ง ม. และ ป. ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 1 สิงหาคม 2551 โดยระบุเหตุเลิกจ้างว่าโจทก์ประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรงไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ เท่ากับโจทก์ประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุดังกล่าวเป็นเหตุเลิกจ้าง แม้ต่อมาโจทก์จะมีหนังสือยกเลิกการเลิกจ้างไปถึง ม. และ ป. ก่อนวันที่การเลิกจ้างมีผลก็ตาม แต่ในหนังสือดังกล่าวอ้างเหตุจำเป็นต้องจ้าง ม. และ ป. ต่อไปเพื่อดำเนินงานบางส่วนให้แล้วเสร็จ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และลูกค้าของโจทก์ โดยกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอนตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 อันมีลักษณะเป็นการจ้างทำงานต่อเพื่อให้งานที่มีอยู่ก่อนปิดกิจการเสร็จไปเท่านั้น เหตุผลในการเลิกจ้าง ม. และ ป. เมื่อครบระยะเวลาจ้างต่อจึงยังคงเป็นเหตุเดิมคือเหตุปิดกิจการนั่นเอง ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเพิ่งทราบภายหลังการประกาศเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดว่าเครื่องจักรของโจทก์หายไปและเชื่อว่า ม. กับ ป. มีส่วนในการลักเครื่องจักร เป็นการพ้นวิสัยที่จะแจ้งเหตุเลิกจ้างว่าจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง กรณีไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องแจ้งเหตุเลิกจ้างในขณะเลิกจ้างนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ยังอยู่ในช่วงเวลาก่อนวันที่มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 1 สิงหาคม 2551 และก่อนสิ้นระยะเวลาที่โจทก์จ้าง ม. กับ ป. ให้ทำงานต่อ จึงอยู่ในวิสัยที่โจทก์อาจแจ้งเหตุเลิกจ้างใหม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แจ้งเหตุเลิกจ้างใหม่ให้ ม. และ ป. ทราบในขณะเลิกจ้าง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะยกเหตุดังกล่าวมาอ้างในภายหลังเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ ม. และ ป. ได้เพราะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้าย