คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 21

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7616/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลต้องพิจารณาความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และคอมพิวเตอร์ควบคู่กัน หากเป็นการกระทำกรรมเดียว หากฟ้องไม่ชัดเจน ศาลมีสิทธิยกฟ้อง
แม้ฟ้องของโจทก์จะไม่บรรยายระบุว่าได้ทำการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด แต่โจทก์อาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางานได้เมื่อโจทก์มีสัญชาติไทยและเป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่ายนั้นเอง โจทก์ก็ย่อมได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวทันทีที่สร้างสรรค์งานเสร็จแม้จะยังมิได้โฆษณางานนั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (1) ซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายนั้น มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 21 เมื่อขณะฟ้องโจทก์มีอายุเพียง 25 ปี แม้จะฟังว่าโจทก์ได้สร้างสรรค์งานนั้นตั้งแต่เกิด งานภาพถ่ายของโจทก์ก็ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครอง จึงถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นและยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงไม่ขาดองค์ประกอบของความผิดในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายของโจทก์
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยการคัดลอกงานภาพถ่ายของโจทก์ อีกทั้งจำเลยยังเจตนาทำให้โจทก์เสียหายด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์บางส่วนของโจทก์โดยมิชอบ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดทั้งสองเป็นเจตนาเดียวกันอันถือเป็นการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ขาดองค์ประกอบของความผิดและพิพากษายกฟ้องความผิดส่วนดังกล่าวไป ก็ยังต้องวินิจฉัยต่อไปด้วยว่าฟ้องโจทก์ในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 มีมูลให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ด้วย การที่ศาลดังกล่าวออกจากสารบบความจึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 35
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 บัญญัติว่า "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุก..." แต่ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเพียงทำนองว่า จำเลยได้คัดลอกข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์จากเว็บไซต์ของโจทก์ไปไว้ในเว็บไซต์ของจำเลยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์อย่างไร แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าว ก็ไม่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 ได้ ฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2336/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระบุรายละเอียดอายุการคุ้มครองและประเภทงานที่ถูกละเมิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่าบริษัท ต. ผู้เสียหาย เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ละครเรื่อง "วันพีช" แม้ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ แต่เมื่องานสร้างสรรค์ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นภาพยนตร์ที่มีอายุความคุ้มครองห้าสิบปีนับแต่สร้างสรรค์งาน แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานในระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรกตามมาตรา 19 และมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นอกจากโจทก์จะต้องบรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องบรรยายฟ้องด้วยว่างานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ที่จำเลยกระทำละเมิดนั้นได้สร้างสรรค์หรือมีการนำออกโฆษณาครั้งแรกเมื่อใด เพื่อแสดงให้เห็นว่างานภาพยนตร์ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างอายุการคุ้มครองคือห้าสิบปีนับแต่วันที่สร้างสรรค์หรือนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรกด้วย เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องดังกล่าวฟ้องโจทก์จึงมิชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ละครเรื่อง "วันพีช" แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า จำเลยนำสมุดภาพระบายสีที่มีตัวละครเรื่อง "วันพีช" ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมวางจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต มิใช่การนำภาพยนตร์ออกจำหน่าย อันจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ของผู้เสียหายตามฟ้อง กรณีจึงไม่แน่ชัดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานประเภทใด ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)